เปิดบันทึกคดี ม.112 จากห้องพิจารณา #แฮรี่พอตเตอร์2 เมื่อ ‘อานนท์ นำภา’ ยืนยันว่าสิ่งที่ปราศรัยทั้งหมดเป็นความจริง 

ในวันที่ 29 เม.ย. 2567 เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 703 ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาคดีของ อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในแกนนำกลุ่มคณะราษฎร 2563 วัย 39 ปี ในคดีที่ถูกฟ้องใน 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ เหตุจากการปราศรัยถึงข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในกิจกรรม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชน’ หรือ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 

ย้อนไปเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) และเครือข่าย ได้จัดกิจกรรม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชน’ หรือ #ม็อบแฮรี่พอตเตอร์2 ที่ลานหน้าหอศิลป์ฯ เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปี ที่บทบาทของสถาบันกษัตริย์ถูกนำมาพูดถึงอย่างเป็นทางการบนเวทีปราศรัยกิจกรรม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย’ หรือ #ม็อบแฮรี่พอตเตอร์ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 


ในวันดังกล่าวเริ่มการชุมนุมประมาณ 16.00 น. มีผู้ชุมนุมผลัดเปลี่ยนกันขึ้นรถกระบะเพื่อปราศรัยในประเด็นต่าง ๆ สำหรับ อานนท์ นำภา ได้ขึ้นกล่าวปราศรัยอย่างตรงไปตรงมาอีกครั้งถึงข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์, การแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ปี 2560 และ 2561 รวมถึงการบริหารจัดการและการนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด

ย้อนอ่านเหตุการณ์ชุมนุม >> #ม็อบ3สิงหา : #เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชน : Mob Data Thailand

หลังจากการปราศรัยผ่านไปไม่ถึง 1 สัปดาห์ ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้ออกหมายจับอานนท์ โดยพบว่ามี ‘นพดล พรหมภาสิต’ เลขาธิการ ศชอ. (ณ ขณะนั้น) ไปแจ้งความที่ สน.ปทุมวัน นอกจากนั้นแล้วยังมี พ.ต.ท.ธนพล ติ้นหนู สารวัตรสืบสวน สน.ปทุมวัน ได้แจ้งความดำเนินคดีกับอานนท์และผู้ชุมนุมคนอื่น ๆ ในข้อหาร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย

หลังจากอานนท์เข้ามอบตัวในวันที่ 9 ส.ค. 2564 ก็ถูกแจ้ง 3 ข้อกล่าวหา และควบคุมตัวอยู่ที่สถานีตำรวจ จนกระทั่งวันที่ 11 ส.ค. 2564 พนักงานสอบสวนนำตัวอานนท์ไปขอฝากขังต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง และ อาคม รุ่งแจ้ง อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างสอบสวน ทำให้อานนท์ถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

7 ต.ค. 2564 พนักงานสอบสวนได้เข้าแจ้งข้อหาอานนท์เพิ่มเติมในเรือนจำ ว่าร่วมกันฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ​ ซึ่งอานนท์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ต่อมาอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ได้มีคำสั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2564 

โดยสรุปกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2564 จําเลยได้ลงประกาศเชิญชวนผ่านเฟซบุ๊ก ให้ประชาชนทั่วไปมาร่วมกิจกรรม ซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลเพื่อชุมนุมทางการเมือง  ต่อมาในวันที่ 3 ส.ค. 2564 ได้มีการจัดกิจกรรมชุมนุมทางการเมืองชื่อ ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย’ ซึ่งมีประชาชนประมาณ 400 คนร่วมกิจกรรมบริเวณลานหน้าหอศิลป์ กรุงเทพฯ​ โดยมีจำเลยเป็นแกนนำ และเป็นกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ซึ่งมีการรวมตัวของกลุ่มบุคคลมากกว่า 5 คน ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

นอกจากนั้นการชุมนุมยังมีผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมากในลักษณะมั่วสุม มีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย อีกทั้งมีเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อได้แจ้งคำสั่งด้วยวาจาด้วยเครื่องขยายเสียงให้จำเลยและผู้ชุมนุมทราบถึงข้อกฎหมาย และแจ้งให้ยุติการชุมนุมเนื่องจากเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่จำเลยกับกลุ่มผู้ชุมนุมก็ไม่ได้ยุติการชุมนุม อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ 

ต่อมาระหว่างการปราศรัย จำเลยกับพวกได้ปราศรัยผ่านไมโครโฟนที่เชื่อมต่อกับลำโพงบริเวณท้ายรถยนต์กระบะ เป็นการร่วมกันทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

จำเลยยังได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายในหลวงรัชกาลที่ 10 ด้วยการปราศรัยให้ประชาชนที่มาร่วมชุมนุม ผู้ที่สัญจรไปมา รวมถึงประชาชนที่รับชมการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก มีความสำคัญดังต่อไปนี้

ข้อความที่ 1 ตามคำฟ้อง: 

“…เราเปลี่ยนวิธีคิดของกษัตริย์จากเดิมเป็นเจ้าชีวิต เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นสิ่งที่แตะต้องไม่ได้ เราก็เปลี่ยนความคิดกลายเป็นคนเท่ากัน มึงกูเท่ากัน … หนึ่งปีหลังจากนั้นสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ได้มีการตอบโต้พวกเราอย่างรุนแรงเช่นกัน …. เราเรียกร้องให้ในหลวงเสด็จกลับมาอยู่ในประเทศไทย ไม่ต้องไปอยู่เยอรมัน สุดท้ายท่านก็กลับมา แต่ไม่ได้กลับมาเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง … มีการระดมคนใส่เสื้อเหลืองมาเข้าเฝ้ามาให้กําลังใจมาวัดกันว่าใครเยอะกว่ากัน ท่านหน้าแตกไปครั้งหนึ่งแล้ว คือ คนมาแค่หยิบมือ ไม่เป็นไร ท่านก็ยังไปต่อ … สุดท้ายหน้าแตกเป็นครั้งที่สอง น้องมัธยมชูสามนิ้วกันหมด…”

ข้อความที่ 2 ตามคำฟ้อง: 

“..การชุมนุมของพวกเราได้ถูกตีแผ่ออกไปทั่วโลกถึงปัญหาของสถาบันกษัตริย์ …. เราพูดถึงการที่ กษัตริย์โอนเอาทรัพย์สินของหลวงไปเป็นของตัวเอง ทําให้พวกเราโดนคดีหลายคน สถาบันก็ยังอยู่เหมือนเดิม คือ ยังไม่ยอมปรับตัว”  

ข้อความที่ 3 ตามคำฟ้อง: 

“คุณจุลเจิมจะกล้าพิพากษาไหมว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ไม่เคยโอนเอาทรัพย์สินของสาธารณะไป เป็นของตัวเอง หุ้นไทยพาณิชย์ เป็นต้น…”

ข้อความที่ 4 ตามคำฟ้อง: 

“พวกเขาตอบโต้สิ่งที่สถาบันกษัตริย์ทํากับประชาชน .. หนึ่งปีผ่านไปนอกจากเราจะไม่ได้รับคําตอบว่าท่านจะยอมปรับตัวหรือไม่ แต่เรากลับถูกตอบโต้อีกหลายอย่าง … ในหลวงท่านยังไม่ได้มีท่าทีที่จะหยุดพฤติการณ์ที่เราเรียกร้องให้ท่านหยุด ยังมีการถ่ายโอนทรัพย์สินเดิมเป็นของพวกเราที่ใช้ร่วมกันไปอยู่ในการครอบครองของตัวเอง … ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ลานพระบรมรูปทรงม้า หลายคนที่รักศรัทธาก็ไปกราบไหว้ ไปทํากิจกรรม ไปชุมนุม ตอนนี้ในหลวงรัชกาลที่ 10 ล้อมรั้วเป็นของตัวเองแล้ว … ไม่รวมถึงรัฐสภาเดิม สวนสัตว์ หรือแม้แต่สนามม้านางเลิ้ง ตอนนี้ก็มีการปรับปรุงไปเป็นของตัวเอง…” 

ข้อความที่ 5 ตามคำฟ้อง: 

“ไอ้ประยุทธ์มันเชื่อว่ามันห้อยพระดี ที่ชื่อว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ ในวันที่มันสาบานตน เข้ารับหน้าที่ สาบานไม่ครบ ก็มีการชูรูปชูข้อความของในหลวงรัชกาลที่ 10 บอกว่านี่กูมีแบ็ค เพราะอะไร การมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับสถาบันพระมหากษัตริย์ …ถ้าบริษัทสยามไบโอไซน์ ไม่ใช่คนที่ถือหุ้นใหญ่ ชื่อ วชิราลงกรณ์ ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเอาเงินภาษีเราไปอุดหนุนไหม … ถ้าบริษัทนั้นไม่ใช่ของกษัตริย์ ทําไมประยุทธ์ไม่นําวัคซีนดีๆ มาฉีดให้พวกเราทุกคน เหตุผลเดียวก็คือ มันกลัววัคซีนของกษัตริย์ขายไม่ได้ … ถ้ามีการนําวัคซีน mRNA Pfizer ก็ดี Moderna ก็ดีเข้ามา มาฉีดให้พวกเรา มาฉีดป้องกันให้พวกเรา แล้วพวกเราหาย พวกเราไม่เป็นโควิด วัคซีนของกษัตริย์ก็ขายไม่ได้ เรื่องมันมีอยู่แค่นี้จริงๆ … ขอแค่ว่าให้มีซีนให้สถาบันกษัตริย์มาโปรยวัคซีนเมตตาให้พวกเรา เขาคิดแค่นั้น…” 

ทั้งนี้ คำบรรยายฟ้องมีลักษณะเป็นการตัดข้อความคำปราศรัย มาเรียงต่อกัน โดยใช้ “…” ข้ามเนื้อหาปราศรัยบางส่วนไป

อัยการบรรยายฟ้องต่อว่า การกล่าวปราศรัยและข้อความที่กล่าวถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 และสถาบันกษัตริย์ฯ ในลักษณะการใส่ความ และยืนยันข้อเท็จจริงของจําเลยข้างต้นนั้น เป็นการใช้เสรีภาพ อันเป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือปวงชนชาวไทยที่จะต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์

อัยการระบุว่า จากข้อความทั้งหมด เป็นเหตุให้ นพดล พรหมภาสิต ประชาชนซึ่งติดตามสถานการณ์การชุมนุมผ่านเฟซบุ๊ก และผู้เข้าร่วมชุมนุม หรือประชาชนโดยทั่วไป เมื่อได้รับฟังแล้วอาจเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในบรรดาพฤติกรรมซึ่งจําเลยกล่าวหากษัตริย์อย่างร้ายแรง หรือเสื่อมความเคารพศรัทธา หรือดูหมิ่น ดูแคลนในพระจริยวัตร และพระเกียรติยศของกษัตริย์ได้ 

ในคดีนี้อานนท์ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำและไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว แม้จะมีการยื่นประกันหลายต่อหลายครั้ง จนกระทั่งการยื่นขอประกันตัวเป็นครั้งที่ 11 ในวันที่ 28 ก.พ. 2565 ศาลจึงอนุญาตให้ประกันตัว โดยให้ติดกำไล EM พร้อมเงื่อนไขอื่นรวม 7 เงื่อนไข รวมเวลาที่ถูกขังครั้งนั้นยาวนานถึง 202 วัน หรือเกือบ 7 เดือน 

.

ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 703 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ได้นัดสืบพยานทั้งสิ้น 9 นัด โดยอัยการจะนำพยานโจทก์เข้าสืบทั้งหมด 13 ปาก ระหว่างวันที่ 17-20 ต.ค., 18, 25 ธ.ค. 2566 และ 29 ม.ค. 2567 แต่ในช่วงวันดังกล่าว แน่งน้อย อัศวกิตติกร ไม่เดินทางมาศาลตามนัด ทำให้ศาลสั่งตัดพยานออก จึงเหลือพยานโจทก์ที่มาเบิกความทั้งสิ้น 12 ปาก ได้แก่ ประชาชนและตำรวจผู้กล่าวหา,​ พนักงานตำรวจอีก 4 ปาก, เจ้าหน้าที่เทศกิจ 1 ปาก และพยานความเห็นตามมาตรา 112 อีก 5 ปาก

ส่วนทนายความนำพยานจำเลยเข้าสืบพยานทั้งหมด 5 ปาก ในระหว่างวันที่ 19 ก.พ. และ 4 มี.ค. 2567 ได้แก่ อานนท์ ผู้เป็นจำเลยในคดีนี้ และพยานความเห็นทางวิชาการอีก 4 ปาก คือ ธนาพล อิ๋วสกุล, พวงทอง ภวัครพันธุ์, สมชาย ปรีชาศิลปกุล และนายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

ถึงแม้ว่าการสืบพยานตลอด 9 นัด อานนท์ผู้เป็นจำเลยในคดีนี้จะถูกคุมขังอยู่และเบิกตัวมาศาลเพื่อร่วมพิจารณาคดี ก็จะมีประชาชนมาร่วมฟังการพิจารณาคดี และให้กำลังใจเขาอย่างต่อเนื่อง โดยการถามค้านพยานโจทก์บางปากในคดีนี้ อย่างเช่น ณฐพร โตประยูร และ กันตเมธส์ จโนภาส อานนท์ได้เป็นผู้ถามค้านด้วยตนเอง

การนำสืบของโจทก์ พยายามกล่าวหาว่า

  • ในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ คือ จำเลยโพสต์เชิญชวนไปชุมนุมบนเพจเฟซบุ๊กของตนเอง ซึ่งเป็นสาธารณะและคนทั่วไปเข้าถึงได้ อีกทั้งจำเลยก็ใช้เครื่องขยายเสียงขณะปราศรัย โดยไม่ได้ขออนุญาตชุมนุมและใช้เครื่องขยายเสียงก่อน
  • ในข้อหามาตรา 112 การปราศรัยของจำเลยเป็นการกล่าวหาและมุ่งโจมตีรัชกาลที่ 10 ทั้งในเรื่องว่าไม่ได้ทรงอยู่เหนือทางการเมือง มุ่งแสวงหาผลประโยชน์และมีพฤติกรรมไม่ชอบในทางทรัพย์สิน ทำให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติและภาพลักษณ์

ด้านจำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและมีข้อต่อสู้ในคดีดังนี้

  • ในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ มีข้อต่อสู้ว่า จำเลยเป็นเพียงผู้ปราศรัย ไม่ได้เป็นผู้จัดชุมนุม จึงไม่มีหน้าที่ในการขออนุญาตชุมนุม และขอใช้เครื่องขยายเสียง รวมถึงจัดเตรียมมาตรการป้องกันโควิด อีกทั้งขณะปราศรัยจำเลยก็ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และมีการเว้นระยะห่างกับผู้ชุมนุม ลานหน้าหอศิลป์เป็นพื้นที่โล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก และไม่ปรากฏว่ามีระบาดของโรคจากการชุมนุม
  • ในข้อหามาตรา 112 มีข้อต่อสู้ว่า สิ่งที่จำเลยพูดทั้งหมดเป็นความจริง และไม่มีพยานโจทก์ปากใดยืนยันว่าได้ว่าเป็นข้อความเท็จ และในการสั่งฟ้องคดีก็ไม่ได้นำ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ปี 2560 และ 2561 มาพิจารณาประกอบ การพิจารณาความผิดตามมาตรา 112 ต้องคำนึงถึงมาตรา 6 และมาตรา 34 แห่งรัฐธรรมนูญที่บัญญัติเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนมาดูควบคู่กันไป มิอาจใช้หลักการตามมาตรา 6 มาทำลายหลักเสรีภาพ ซึ่งเป็นหลักคุณค่าของรัฐธรรมนูญเสมอกัน

ก่อนฟังคำพิพากษาในวันที่ 29 เม.ย. 2567 นี้ ชวนอ่านใจความสำคัญของคำเบิกความพยานโจทก์และพยานจำเลยที่มาให้การต่อศาลในคดีนี้

บันทึกการสืบพยานโจทก์

นพดล พรหมภาสิต อายุ 60 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี นิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นประธานมูลนิธิเอื้อมถึง ซึ่งช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสที่ถูกกลั่นแกล้งทางด้านกฎหมาย เกี่ยวกับคดีนี้ ช่วงเย็นของวันที่ 2 ส.ค. 2564 พยานเห็นประกาศของกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยในเฟซบุ๊กเพื่อเชิญชวนไปชุมนุม พยานรู้ว่าเป็นการชุมนุมต่อเนื่องเพื่อโจมตีสถาบันกษัตริย์

ในวันเกิดเหตุพยานอยู่ที่บ้านและเปิดดูเฟซบุ๊ก เห็นเพจประชาไทถ่ายทอดสดการชุมนุมที่หน้าหอศิลป์ จึงแคปหน้าจอไว้ ซึ่งในวันดังกล่าวจำเลยขึ้นปราศรัยบนรถกระบะประมาณครึ่งชั่วโมง พยานเห็นว่ามีข้อความ 5 บริบทที่น่าจะเป็นการล่วงละเมิดจาบจ้วงพระมหากษัตริย์ โดยโจทก์ได้เปิดวิดีโอให้พยานดู

ข้อความที่หนึ่ง ทำให้พยานเข้าใจว่ารัชกาลที่ 10 จะสร้างความแตกแยกให้กับคนในสังคมโดยปลุกระดมคนเสื้อเหลืองให้มาเป็นหน่วยของท่านเพื่อมาต่อสู้กับกลุ่มที่คิดจะปฏิรูปสถาบันฯ 

ข้อความที่สอง ทำให้เข้าใจว่าที่จําเลยพูดเป็นการสื่อว่าสถาบันกษัตริย์เอาทรัพยากรของประเทศชาติและงบประมาณของรัฐบาลไปใช้ส่วนตัวอย่างฟุ่มเฟือย และพระมหากษัตริย์ก็ฉ้อราษฎร์บังหลวง เอาทรัพย์สินของหลวงเป็นของตนเอง และเป็นการประจานไปทั่วโลกทําให้เสื่อมเสีย

ข้อความที่สาม การที่จําเลยพูดเป็นการพิพากษาว่ารัชกาลที่ 10 ผิดจริง เอาทรัพย์สินของสาธารณะมาเป็นของตนเอง เป็นการใส่ร้ายป้ายสี มีเจตนาโจมตีรัชกาลที่ 10 อย่างรุนแรง 

ข้อความที่สี่ ทําให้รู้สึกว่าในหลวงเป็นคนไม่ดี เป็นการใส่ความว่าในหลวงเป็นคนโลภมาก เอาทรัพย์สินของสาธารณะไปเป็นของตนเอง

ข้อความที่ห้า เป็นคําพูดที่โจมตีรัชกาลที่ 10 โดยตรงในเรื่องวัคซีน ว่าไม่เอาวัคซีนดี ๆ เข้ามา ผูกขาดโรงงานผลิตวัคซีนโดยสถาบันกษัตริย์ ทําให้คนเข้าใจว่าในหลวงทําตัวเป็นพ่อค้า และค้าความตาย ในการที่ผลิตวัคซีนออกมาเพื่อช่วยเหลือประชาชน ให้ประชาชนสรรเสริญให้ดูในหลวงเป็นคนไม่ดี เหมือนหวังดีแต่ประสงค์ร้าย

การที่จําเลยกล่าวมาข้างต้นเป็นการโจมตีสถาบันกษัตริย์ พุ่งโจมตีไปที่รัชกาลที่ 10 โดยตรงด้วยข้อความเท็จ ทําให้เป็นคนไม่ดี เป็นที่เกลียดชัง

พยานเห็นจําเลยจากสื่อต่าง ๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกิจกรรมการจาบจ้วงสถาบันสถาบันฯ จึงได้นําคลิปวีดีโอพร้อมภาพถ่ายไปแจ้งความที่ สน.ปทุมวัน และลงบันทึกประจําวันไว้ในวันที่ 5 ส.ค. 2564 ซึ่งวันดังกล่าวพยานไปกับ แน่งน้อย อัศวกิตติกร และแน่งน้อยได้ดูคลิปการปราศรัยของจำเลยด้วย ทั้งนี้พยานไม่มีสาเหตุโกรธเคืองจำเลยมาก่อน

ตอบทนายจำเลยถามค้าน จำเลยจะพูดถึงวัคซีนในบริบทอื่นอีกหรือไม่ พยานไม่ขอตอบ และที่มาของการชุมนุมดังกล่าวจะเป็นอย่างไร พยานทราบแต่ไม่ขอตอบ ทนายถามว่าการชุมนุมเป็นการล้มล้างสถาบันกษัตริย์หรือไม่ พยานกล่าวว่าไม่ตอบ

พยานรับว่าเคยร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรและกลุ่ม กปปส. ที่ไม่เห็นด้วยกับการทำงานของทักษิณ ชินวัตร และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นการชุมนุมตามสิทธิรัฐธรรมนูญ เนื่องจากพยานไปชุมนุมอย่างสงบ แต่การชุมนุมของจำเลยเป็นการโจมตีกษัตริย์ ซึ่งไม่เหมือนกับพยาน จากนั้นทนายจึงถามว่าจำเลยจะมีข้อเรียกร้องอื่นหรือไม่ พยานไม่ขอตอบ

การที่พยานส่งหลักฐานภาพถ่ายและวิดีโอให้พนักงานสอบสวนตามกระบวนการทางกฎหมาย โดยไม่ใช่หน้าที่ของพยานว่าสิ่งดังกล่าวจะผิดหรือไม่ พยานรับว่าไม่ได้ส่งเป็นหลักฐานว่าสิ่งที่จำเลยพูดเป็นเท็จ

นพดลทราบเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จากการดูดีเบตระหว่าง อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ กับรุ้ง ปนัสยา ทนายจึงให้จำเลยอ่าน พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ปี 2560 มาตรา 10 วรรคสอง แล้วไม่เข้าใจ ส่วนคนอื่นจะอ่านแล้วแปลความต่างจากพยานหรือไม่ ก็ไม่ทราบ และการจัดการทรัพย์สินจะเป็นไปตามที่จำเลยพูดหรือไม่ พยานก็ไม่ทราบ อีกทั้งไม่ทราบว่าในสมัยรัชกาลที่ 9 จะมีการออกกฎหมายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หรือไม่

พยานไม่ทราบว่าสิ่งที่จำเลยพูดจะนำมาจากที่ใด และไม่ทราบอีกว่าสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จะมีการออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือทรัพย์สินไปเป็นของรัชกาลที่ 10 ทนายถามพยานต่อว่าว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงแผ่นดินจะมีการจัดการทรัพย์สินกันอย่างไร พยานตอบว่าไม่อยากก้าวล่วง

การที่พยานกล่าวหาจำเลยในคดีนี้เป็นความรู้สึกของพยาน การที่จําเลยพูดปราศรัยเป็นข้อความเท็จและใส่ร้าย ส่วนความจริงจะเป็นอย่างไรเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน อัยการ และผู้พิพากษา 

พยานไม่ทราบว่ากษัตริย์จะมีอำนาจในการออกกฎหมายหรือไม่ อีกทั้งไม่ทราบและไม่เชื่อว่าหลังรัฐธรรมนูญมีการลงประชามติแล้ว รัชกาลที่ 10 จะสั่งให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนจะเคยแจ้งความ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าพูดให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสียหรือไม่ พยานไม่ตอบ

รัชกาลที่ 10 จะเสด็จไปประทับที่เยอรมันหรือไม่ พยานไม่ทราบ แต่จะไปประเทศไหนก็แล้วแต่ท่าน ทนายจึงถามอีกว่าสรุปแล้วท่านไปเยอรมันหรือไม่ พยานตอบว่าใช่ และไปหลายประเทศ ทนายจึงถามว่าการที่จำเลยปราศรัยให้ท่านกลับมาจากเยอรมันก็เป็นความจริงหรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบ ซึ่งพยานเคยได้ยินข่าวว่ามีสื่อมวลชนต่างชาติโจมตีท่านเพื่อดิสเครดิต ส่วนเรื่องที่รัฐสภาเยอรมันอภิปรายเรื่องการประทับอยู่ที่ประเทศเยอรมันนานหรือไม่ พยานไม่ทราบ

พยานทราบข่าวที่รัชกาลที่ 10 ได้พูดกับชายชื่อฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ ว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจมาก” ซึ่งฐิติวัฒน์ คือคนที่ไปยืนชูป้ายคัดค้านการชุมนุมของกลุ่มเยาวชน

จากนั้นทนายถามเกี่ยวกับการปราศรัยเรียกร้องให้ในหลวงกลับจากเยอรมัน มาอยู่ในไทย พยานตอบว่าเป็นคำถามไร้สาระ ไม่เกิดประโยชน์ ไม่ขอตอบ 

อานนท์ นำภา ได้ยกมือขึ้นแล้วกล่าวว่า อยากให้ศาลบันทึกอากัปกิริยาของพยานด้วย ใน ป.วิอาญา มีการกำหนดว่าถ้าพยานเลี่ยงการตอบคำถาม ศาลสามารถออกข้อกำหนดได้ ทนายกล่าวต่อว่าจะยื่นคำร้องขอให้ศาลนี้สืบพยานแบบบันทึกวิดีโอ เนื่องจากกระบวนพิจารณาจะได้ดำเนินไปโดยเร็ว พยานเบิกความอย่างไรจะได้เห็น

ศาลจึงเลื่อนให้สืบพยานปากนี้อีกครั้งในวันถัดไป ก่อนสืบพยานวันที่สอง นพดลแจ้งกับศาลว่าเมื่อวานจำเลยได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่าวันนี้จะมีการสืบพยาน โดยโพสต์ชื่อ-สกุล บอกว่าพยานได้แจ้งความ 10 คน ซึ่งมีผู้แชร์กว่า 100 คน พยานไม่ทราบจำเลยมีวัตถุประสงค์อย่างไร จึงรู้สึกไม่สบายใจและไม่ปลอดภัย 

จำเลยจึงแถลงว่าเป็นเรื่องที่ควรเปิดเผย ท่านควรภูมิใจที่ได้มาเป็นพยานคดีมาตรา 112 และถามพยานว่าที่ท่านแจ้งความไป 10 คน เป็นความเท็จหรือไม่ พยานไม่ตอบ

นพดลตอบทนายถามค้านต่อว่า ที่พยานกล่าวว่าไม่มีสาเหตุโกรธเคืองจำเลย แต่ว่าเป็นผู้มีความคิดเห็นคนละฝั่งกัน จำเลยตอบว่าใช่ ในวันที่พยานไปให้การที่ สน.ปทุมวัน พยานไปพร้อมกับแน่งน้อย โดยให้การต่อหน้าพนักงานสอบสวนคนเดียว ในเวลาเดียวกัน 

พยานเป็นประธานศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิดทางสังคมออนไลน์ หรือ ศชอ. ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ก็ถือว่าเป็นผู้ถูกบูลลี่ทางสังคมออนไลน์เช่นกัน และตอบว่าไม่เคยเห็นเอกสารของสถาบันพระปกเกล้าเกี่ยวกับเรื่อง ศชอ. เอกสารดังกล่าวจัดทำก่อนที่พยานจะขึ้นเป็นประธาน ซึ่งตามเอกสารระบุไว้ว่า แน่งน้อย อัศวกิตติกร เป็นประธาน และพยานเป็นเลขาฯ

ศชอ. เคยมีกิจกรรมแจกพิซซ่าให้กับกลุ่มคนที่ล่วงละเมิดพระมหากษัตริย์-พระราชินี ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ กลุ่มคนที่ข้าฯ แจกพิซซ่า คือกลุ่มคนที่มีความคิดเรื่องสถาบันกษัตริย์ต่างจากพยาน

พยานยืนยันตามข่าวที่ ศชอ. แจ้งความด้วยมาตรา 112 ไปมากกว่า 1,000 คน โดยจะมีภาพที่กลุ่มมินเนี่ยนพร้อมกับพยานนำกล่องกระดาษขนาดใหญ่ไป บก.ปอท. ซึ่งภายในจะมีรายชื่อพร้อมพยานหลักฐานของบุคคลจำนวน 1,275 คน ที่พยานเห็นว่าทำความผิดในสื่อออนไลน์ รายชื่อดังกล่าวจะมีอาสาสมัครกว่า 10 คน มาช่วยกันตรวจสอบในโลกออกไลน์ จากนั้นก็จะแคปหน้าจอพร้อม URL ของโพสต์ และส่งมายังศูนย์ ศชอ. ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยรวบรวม

นอกจากนั้นแล้ว สมาชิกกลุ่มมินเนี่ยน ซึ่งเป็นพันธมิตรของศูนย์ ศชอ. ได้นำชื่อ นามสกุล อายุ ที่อยู่ อาชีพ สถานที่ทํางาน สถานที่ศึกษา รวบรวมและเปิดเผยข้อมูลทาง Google Maps แต่ต่อมาทาง Google Maps ได้ทําลบข้อมูลของกลุ่มมินเนี่ยนที่ลงไว้ออก หลังพบละเมิดนโยบายด้านสิทธิส่วนบุคคลของบริษัท 

ตามที่พยานโพสต์เฟซบุ๊กว่า “เหตุการณ์เมื่อวานหน้าศาลอาญารัชดา ทําไมตํารวจถึงปล่อยให้บานปลาย ไม่จัดการตั้งแต่มีคนขึ้นไปนั่งบนป้ายทรงพระเจริญ จน ศปปส. ต้องออกโรงจัดการเอง” พยานไม่เห็นด้วยกับหลักการใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด พยานมีสิทธิตั้งคำถามกับตำรวจว่าไม่ทำหน้าที่

ทนายเปิดวิดีโอบันทึกเหตุการณ์หน้าศาลอาญาเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2566 จากนั้นพยานก็กล่าวว่าพยานทราบว่ามีผู้ถูกทำร้ายร่างกายทั้งสองฝ่าย และตามภาพจะมี อานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานกลุ่ม ศปปส. อยู่ด้วย พยานไม่รู้จักชายที่ขึ้นไปนั่งบนป้าย แต่เมื่อมีการไลฟ์สดไปทั่วโลก และกลุ่ม ศปปส. เห็นว่าตำรวจไม่จัดการเสียที จึงไปตรงนั้นเพื่อนำชายคนนั้นลงมา จึงมีคนปาขวดน้ำและของไปที่ชายคนนั้น

พยานเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรรจะเกิดขึ้น กล่าวคือชายคนดังกล่าวไม่ควรขึ้นไปนั่งบนป้ายทรงพระเจริญ การที่กลุ่ม ศปปส. ขว้างปาและทำร้ายร่างกาย ถ้าหากเป็นพยานจะไม่ทำ พยานจะใช้วิธีอื่นที่เป็นไปตามกฎหมาย เนื่องจากไม่ชอบความรุนแรง พยานไม่ขอตอบว่า เราสามารถทําร้ายร่างกายคนอื่นโดยอ้างความจงรักภักดีได้หรือไม่ ซึ่งการใช้ความรุนแรงกับคนที่เห็นต่างจะไม่กระทบกับสถาบันฯ เพราะเป็นเรื่องที่ตัวบุคคล

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว พยานก็โพสต์สนับสนุนกลุ่ม ศปปส. นั่นหมายความว่าจะทํางานร่วมกันต่อไป เรื่องอะไรที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ กลุ่ม ศปปส. ไม่ได้นิ่งนอนใจ

ทนายถามว่าความจงรักภักดี การปกป้องสถาบันฯ ของพยาน ไม่ได้หมายถึงเฉพาะพระมหากษัตริย์ แต่หมายถึงความยั่งยืนของสถาบันกษัตริย์ด้วยใช่หรือไม่ พยานตอบว่าตนทำตามรัฐธรรมนูญปี 2560 หมวดที่ 1 ถึง 4 ทนายจึงถามต่อว่าตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 50 อนุ 2 บัญญัติหน้าที่ของปวงชนชาวไทยว่าต้องพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชาติและสาธารณสมบัติของแผ่นดินไว้ ซึ่งพยานไม่ทราบว่าสาธารณสมบัติของแผ่นดินจะมีส่วนหนึ่งที่อยู่ในทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ทนายถามว่า ที่จําเลยพูดเรื่องการโอนทรัพย์สินของหลวงก็คือสาธารณสมบัติไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ จําเลยพูดไปตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ปี 2479 ซึ่งทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ทรัพย์สินส่วนพระองค์ ส่วนที่ 2 ส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน คือทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ และส่วนที่ 3 ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 

ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ในปี 2560 ซึ่งมาตรา 10 วรรคสอง ให้ทรัพย์สินสาธารณสมบัติของแผ่นดินและทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จากนั้นพยานอ่านดูแล้วว่าไม่มีอะไรซับซ้อน

ทนายถามพยานว่า ข้อแตกต่างในการแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ปี 2560 เดิมทรัพย์สินทั้งสามส่วนจะอยู่ในความดูแลของกระทรวงการคลังและสํานักงานทรัพย์สินฯ แต่พอแก้ไขกฎหมายปี 2560 ทรัพย์สินต่าง ๆ ตกไปอยู่ภายใต้การดูแลของสํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และให้รัชกาลที่ 10 ใช้ได้ตามอัธยาศัย 

ทนายถามว่า หากสมมติว่าทรงสละราชสมบัติ แต่ได้โอนพระราชวังในพระปรมาภิไธย รวมถึงทรัพย์สมบัติอื่น ๆ แล้วกษัตริย์องค์ใหม่ก็จะไม่มีทรัพย์ของแผ่นดิน และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พยานพอจะเห็นหรือไม่ ว่ากฎหมายฉบับนี้จะส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนของสถาบันอย่างไร พยานไม่ขอตอบเพราะเป็นเรื่องสมมติ และไม่อยากก้าวล่วง ไม่อยากวิพากษ์วิจารณ์

ทนายถามพยานต่อว่า การแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ปี 2560 และฉบับที่เกี่ยวข้อง จะมีผลต่อสถาบันในอนาคต เช่น ในกรณีที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงสวรรคต จะส่งผลให้ทรัพย์สินตามพระราชบัญญัตินี้ เช่น พระราชวัง ถูกตกทอดไปตามกฎหมายมรดก ก็คือทายาทของพระองค์ พยานพอจะเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสถาบันกษัตริย์หรือไม่ พยานไม่ขอแสดงความคิดเห็น

ร่างกฎหมายหรือกฎหมายที่บังคับใช้แล้ว ประชาชนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น จะเห็นด้วย จะคัดค้าน หรือวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีเหมาะสมหรือไม่อย่างไร นั้นเป็นไปตามหลักการหรือไม่ พยานตอบว่าทำได้ แต่ต้องทําอยู่ในกรอบของกฎหมาย

ทนายถามว่า การที่จำเลยพูดว่าอ่านกฎหมายแล้วกังวลว่ารัชกาลต่อไปจะไม่คงเหลือทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ขณะขึ้นครองราชย์ แล้วจำเลยพูดอย่างตรงไปตรงมาเพื่อให้เกิดการแก้ไขกฎหมายให้กลับไปเหมือนเดิม เพื่อที่จะให้สถาบันกษัตริย์ยังคงมั่นคงถาวรสืบไป นั่นเป็นสิ่งที่สามารถทําได้ ถูกต้องหรือไม่ พยานตอบว่าจําเลยมีสิทธิ แต่ต้องอยู่ที่วิธีและเจตนา ถ้าเป็นเรื่องทางวิชาการก็กระทําได้อย่างสุจริตใจ แต่ที่เป็นคดีปัจจุบันนี้เป็นเพราะว่าจําเลยใช้ความรู้สึกส่วนตัวมานําเสนอ

ทนายถามว่า รูปแบบในการปกป้องสถาบันฯ มีได้หลายหลายรูปแบบ ไม่จําต้องผูกขาดที่แบบใดแบบหนึ่ง การที่จําเลยพูดเอาเนื้อหากฎหมายมาพูดอย่างตรงไปตรงมาว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต แต่มันอาจจะไม่ลื่นหูบ้าง แต่ก็ต้องพิจารณาตามเนื้อความที่สื่อ ซึ่งจําเลยสื่อถึงอนาคตของสถาบันกษัตริย์ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ พยานได้ลองคิดตามหรือไม่ พยานตอบว่าได้คิดตามในสิ่งที่จําเลยพูด คือไม่ถูกต้อง จึงมีการแจ้งความเป็นคดีนี้

ทนายถามพยานว่า การโอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไม่ถูกต้องใช่หรือไม่ พยานตอบว่า จำเลยพูดทําให้รัชกาลที่ 10 เป็นคนไม่ดี และก่อนที่จะไปแจ้งความคดีนี้พยานไม่ได้ดู พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ มาก่อน

ตามที่จําเลยพูดว่ามีการโอนหุ้นไทยพาณิชย์ไปเป็นของส่วนพระองค์ นั้นจะมีการโอนจริงก่อนที่พยานจะมาแจ้งความหรือไม่ พยานไม่ทราบ 

อีกทั้งพยานไม่ทราบข่าวสำนักทรัพย์สินฯ ที่ประกาศเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นไทยพาณิชย์เป็นชื่อพระปรมาภิไธยรัชกาลที่ 10 แต่หลังจากที่พยานอ่านเอกสารแล้ว จึงรับว่ามีการโอนหุ้นไปจริง อีกทั้งมีข่าวว่ามีการโอนหุ้นจากปูนซีเมนต์ไทยไปเป็นพระปรมาภิไธยรัชกาลที่ 10 ซึ่งพยานตอบว่าเป็นไปตามเอกสาร

ตามที่จําเลยปราศรัยเรื่องการล้อมรั้วพระบรมรูปทรงม้า พยานไม่ติดใจ เพราะตามพระราชประสงค์ของเจ้าของบ้าน การจะเข้าบ้านใครก็ต้องขออนุญาต ซึ่งการไปสักการะพระบรมรูปทรงม้า สามารถที่ไปได้ตลอดเวลา พยานเคยไปหลัง 18.00 น. ก็สามารถเข้าไปได้ โดยต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่เข้าไป แต่ก่อนหน้านี้ไม่มีรั้ว รถยนต์สามารถวิ่งรอบพระบรมรูปทรงม้าได้ และตอบทนายต่อว่าไม่เคยเห็นและไม่เคยตรวจสอบว่าโฉนดที่ดินของสนามม้านางเลิ้งจะเป็นของใครก่อนที่จะมาแจ้งความในคดีนี้

ในเรื่องวัคซีน พยานทราบตามข่าวว่าบริษัทสยามไบโอไซน์ มีรัชกาลที่ 10 เป็นผู้ถือหุ้น จากนั้นพยานจึงยืนยันตามเอกสารหลังอ่านรายชื่อผู้ถือหุ้น ซึ่งจะเห็นว่ารัชกาลที่ 10 ถือหุ้นอยู่จำนวน 47,999,998 หุ้น และในการนำเข้าวัคซีนโควิด จะเห็นว่ารัฐบาลจะใช้วัคซีน Sinovac และ AstraZeneca เพียง 2 ตัว ถือว่าเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพหรือไม่ พยานตอบว่าไม่จริง โควิดเป็นโรคอุบัติใหม่ จึงไม่ทราบว่าวัคซีนไหนดีหรือไม่ดี การที่รัฐบาลสั่ง Sinovac มาก่อนก็ถูกต้องแล้ว

หลังจากที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ทราบแล้วว่า บริษัทสยามไบโอไซน์ไม่สามารถส่งมอบวัคซีนตามกําหนด แต่แทนที่จะไปสั่งยี่ห้ออื่นมาเพิ่มอีกหลายประเภท แต่กลับไปสั่ง Sinovac เพิ่มมาตัวเดียว ประชาชนจํานวนมากตั้งคําถามว่า วัคซีน Sinovac มีประสิทธิภาพในการป้องกันแพร่ระบาดของโรคต่ํากว่ายี่ห้ออื่นหรือไม่ พยานตอบว่าไม่เห็นด้วยที่ด้อยค่าวัคซีน Sinovac เหมือนไม่มีความรู้ องค์กรอนามัยโลกยังชื่นชมประเทศไทย จากนั้นจำเลยขอให้พยานถอนคำว่าทนายไม่มีความรู้ พยานจึงถอนคำพูดดังกล่าว

ในการบริหารวัคซีน ตามบทความของ TDRI มีหลายองค์กรออกมาทักท้วงว่า ปัญหาสําคัญเกิดจากการผูกขาดการผลิตวัคซีนในประเทศจากการให้บริษัทสยามไบโอไซน์ ผลิตวัคซีน AstraZeneca ส่งผลให้กําลังการผลิตอาจเกิดข้อจํากัดจากการให้มีผู้ผลิตในเพียงประเทศรายเดียวใช่หรือไม่ พยานดูแล้วตอบว่าใช่ แต่ไม่เคยเห็นเอกสารฉบับนี้มาก่อน

พยานทราบข่าวว่า วันที่ 12 มี.ค. 2564 พล.อ.ประยุทธ์มีกําหนดรับวัคซีน AstraZeneca เป็นคนแรกของประเทศ แต่กําหนดการถูกเลื่อนออกไปอย่างกะทันหัน เพราะไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้ามีรายงานว่าบางประเทศในยุโรประงับการฉีดวัคซีนยี่ห้อนี้ เนื่องจากพบผลข้างเคียงคืออาการลิ่มเลือดอุดตันในผู้ที่ได้รับวัคซีนบางราย

พยานยืนยันข่าวว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิดในประเทศไทย และกล่าวต่อว่าถ้าเทียบกับทั่วโลกถือว่าตายน้อย ทนายจึงถามต่อว่าที่มีประชาชนล้มตายจำนวนมาก เนื่องจากการจัดการวัคซีนที่ล่าช้าใช่หรือไม่ พยานตอบว่าเป็นบางส่วน บางส่วนรับวัคซีนแล้วตายก็มี และผู้ที่ได้รับวัคซีนสูตรไขว้แล้วตายน่าจะเป็นแค่ข่าวลือ 

นอกจากบุคลากรทางการแพทย์แล้ว ยังมีอีกหลายภาคส่วนออกมาเรียกร้องเรื่องวัคซีน รวมถึงในวันเกิดเหตุคดีนี้ด้วย ทนายถามว่าการออกมาเรียกร้องมีผลต่อให้รัฐบาลให้ทํางานเร็วขึ้นหรือไม่ ความเห็นของพยานคือไม่มีผล ซึ่งที่จริงแล้วจะมีหรือไม่ก็ไม่ทราบ ซึ่งในขณะที่ประชาชนเรียกร้องวัคซีน พยานก็รอวัคซีนอยู่ที่บ้าน ลงทะเบียนและไปรับวัคซีนตามปกติ และไม่ทราบว่าวัคซีนที่ได้ฉีดจะเป็นผลจากการที่ประชาชนออกมาเรียกร้องหรือไม่

ทนายถามว่า ในการระดมพลคนเสื้อเหลืองออกมาวัดกําลังกันในโอกาสสําคัญ พยานก็ออกไปร่วมแสดงพลัง รวมทั้งเชิญชวนคนเสื้อเหลืองออกมาแสดงพลังปกป้องสถาบันฯ ด้วยหรือไม่ พยานตอบว่าไม่ใช่ เพราะว่าการที่จะไปรับเสด็จหรือไม่ ไม่จําต้องไปแสดงพลัง เราไปเพราะจงรักภักดี ถ้าหากไปกันมาก คนก็จงรักภักดีมาก

พยานเคยโพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนชาวนครปฐมปกป้องสถาบันฯ ให้สวมเสื้อสีเหลืองพร้อมกันในวันที่ 24 ต.ค. 2563 ที่องค์พระปฐมเจดีย์ อีกทั้งยังเคยโพสต์เชิญชวนใส่เสื้อเหลืองเฝ้ารับเสด็จในหลวงและพระราชินีในวันที่ 5 ธ.ค. 2563 พยานกล่าวว่าเป็นเรื่องเรื่องปกติในวันสําคัญของสถาบันกษัตริย์ นอกจากพยานจะไปเองแล้ว ก็จะโพสต์เชิญชวนให้ประชาชนสวมเสื้อเหลืองไปรับเสด็จ 

รัฐธรรมนูญ มาตรา 6 พระมหากษัตริย์อยู่ในสถานะเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดไม่ได้ ซึ่งจะต้องมีผู้สนองพระบรมราชโองการ และในหลวงก็ทรงใช้อํานาจผ่าน 3 สถาบันหลัก คือนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ซึ่งผู้ที่รับสนองฯ จะต้องไม่นําสิ่งที่ปรึกษาหารือมาเผยแพร่ต่อสาธารณะ เพราะจะส่งผลให้พระองค์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ ซึ่งจะไม่เป็นไปตามมาตรา 6 ใช่หรือไม่ พยานเบิกความว่า ไม่ใช่ และตอบทนายว่าเคยได้ยิน แต่ไม่เชื่อข่าวที่ พล.อ.ประยุทธ์ เคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่ารัชกาลที่ 10 ทรงรับสั่งให้มีการแก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติแล้ว 

ทนายถามว่าที่รัชกาลที่ 10 มีชื่ออยู่ในเอกสารโฉนดที่ดิน ใบถือหุ้น โอกาสที่จะมีการฟ้องร้องหรือนําไปเผยแพร่ วิพากษ์วิจารณ์ จะกระทบต่อหลักการตามมาตรา 6 รัฐธรรมนูญ ปี 2560 หรือไม่ พยานคิดว่าไม่ ใครจะฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ และไม่มีผลกระทบต่อการเป็นที่เคารพสักการะ

อีกทั้งพยานเคยได้ยินข่าวว่าประชาชนต้องการแก้ไข และวิพากษ์วิจารณ์ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ทนายถามว่าจะมีผลกระทบต่อสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะตามมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ พยานไม่ขอแสดงความคิดเห็น

ทนายถามว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ถวายสัตย์ไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อมีนักข่าวไปสอบถาม พล.อ.ประยุทธ์ กลับโชว์ลายพระราชหัตถ์รัชกาลที่ 10 ส่งให้กําลังใจแทนการตอบคําถามเรื่องการถวายสัตย์ไม่ครบ จึงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เหมาะสม พยานเคยได้ยินหรือไม่ พยานตอบว่าเคยได้ยิน แต่ไม่สนใจ ถ้าเป็นความผิดทำไมจึงอยู่มาได้ 4 ปี ไม่มีใครมาคว่ำได้

ทนายถามว่า การที่พยานนำวิดีโอการปราศรัยส่งเจ้าพนักงานตํารวจเพื่อดําเนินการตามกฎหมาย พยานได้หาหลักฐาน หรืออ่านเอกสารที่ทนายนำมาให้ดูหรือไม่ พยานตอบว่าเป็นเพียงการรวบรวมสิ่งที่พยานเห็นว่าผิดไปให้ตำรวจ ถ้าตำรวจไม่เห็นว่าผิดก็คงไม่มีวันนี้

ตามบัญชีพยานโจทก์ พยานรู้จักเฉพาะ แน่งน้อย อัศวกิตติกร และระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ อีกทั้งรู้จัก ณฐพร โตประยูร ตามสื่อที่มีชื่อเสียง และเป็นคนที่ไปยื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่านักศึกษาฝ่ายประชาธิปไตยชุมนุมกันเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองฯ

พยานมีความเชื่อ จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ การที่จําเลยพูดจะพูดอย่างไรไม่ส่งผลในความคิดของพยานให้อ่อนไหว ให้เกลียดชัง ไม่เห็นค่า และไม่เคารพเทิดทูนรัชกาลที่ 10 ทนายจึงถามว่า ในการที่พยานมาแจ้งความว่าการปราศรัยของจําเลย ทําให้ประชาชนรู้สึกหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 10 พยานเคยไปนั่งคุยกับคนที่ฟังแล้วรู้สึกอย่างนั้นหรือไม่ พยานฟังแล้วไม่รู้สึกเกลียดชัง

พยานยืนยันตามที่เอกสารว่าพยานเคยไปแจ้งความให้ดําเนินคดีแก่แกนนําหลายคดี และกล่าวว่าเอกสาร 20 กล่องที่นำไปส่งที่ บก.ปอท. จะเป็นเพียงแกนนำเท่านั้น มหกรรมพิซซ่าเป็นเพียงคอนเทนต์ หากลองสังเกตดูพยานจะไม่ดำเนินคดีกับเด็ก จากนั้นทนายให้พยานดูบทสัมภาษณ์ของพยานต่อสำนักข่าวท็อปนิวส์เรื่องการวางแผนแจ้งความข้ามจังหวัดของแน่งน้อยและพยาน พยานกล่าวว่าเป็นเพียงการเล่นใหญ่ แต่ไม่ได้ทำจริง ๆ

ตามข่าวว่า “เอ มินเนี่ยน” ได้ให้เงินสนับสนุนกลุ่ม ศชอ. จํานวน 500,000 บาท แล้วก็มีการสร้างกองกําลังมินเนี่ยน และจัดทํากิจกรรมพิซซ่า ต่อมาในเชิงลึกพยานกล่าวว่าตนได้ข่าวว่า “เอ มินเนี่ยน” เกี่ยวข้องกับการพนันออนไลน์ การฟอกเงิน จึงได้คืนเงินจำนวนนั้นไป 

พยานเคยได้ยินข่าวในหลวงรับสั่งไม่ให้ใช้มาตรา 112 กับประชาชน แต่ไม่แน่ใจว่าจะเป็นรัชกาลที่ 9 หรือ 10 ซึ่งต่อมาหลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีได้พูดว่า จะใช้มาตรา 112 เอาผิดกับผู้ชุมนุม ซึ่งพยานไม่เคยได้ยินรัชกาลที่ 10 พูดว่าจะใช้มาตรา 112 หรือไม่ และไม่เคยตรวจสอบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะพูดจริงหรือไม่

พยานยืนยันตามที่กล่าวว่าตามโปสเตอร์เชิญชวนไปชุมนุมในวันเกิดเหตุ กลุ่มผู้จัดชุมนุมจะมีโลโก้ปรากฏอยู่ด้านล่างภาพ ซึ่งประกอบไปด้วย กลุ่มคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน กลุ่มซัพพอร์ตเตอร์ไทยแลนด์ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย กลุ่มศาลายาเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มมอเกษตร 

ทนายกล่าวว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยพูดว่ากษัตริย์สามารถที่จะถูกวิจารณ์และตําหนิได้ ถ้าทําไม่ถูก พูดถึงแตะต้องไม่ได้เลย ในหลวงก็จะไม่ดี พยานกล่าวว่ารัชกาลที่ 9 หมายถึงการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต แต่นํามาใช้กับในสถานการณ์ปัจจุบันไม่ได้ เพราะมีเรื่องเฟคนิวส์ใส่ร้ายมากมาย ถ้าหากวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต สามารถทําได้ และสุดท้ายทนายถามว่า พยานลองคิดตามหรือไม่ว่าสิ่งที่จำเลยปราศรัยในข้อกฎหมายและผลกระทบจะเป็นอย่างไร พยานตอบว่าคิดตามและรู้สึกว่าไม่ถูกต้อง จึงมาแจ้งความ

นพดลตอบอัยการถามติงว่า การปราศรัยของจำเลยในคดีนี้ ไม่ทําให้พยานรู้สึกไม่ดี แต่ไม่ทราบว่าคนอื่นจะรู้สึกเช่นเดียวกับพยานหรือไม่ แต่พยานสันนิษฐานว่าเด็กรุ่นใหม่ซึ่งไม่เคยผูกพันกับสถาบันกษัตริย์จะมีแนวโน้มเชื่อและคล้อยตามจำเลย แต่พยานเป็นคนรุ่นเก่าที่ผูกพันอยู่กับสถาบันกษัตริย์ จึงมีภูมิต้านทาน ซึ่งการที่จําเลยพูดในครั้งนี้เป็นการโจมตี ไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต 

ส่วนเรื่องสนามม้านางเลิ้ง ขณะนี้ได้จัดสร้างเป็นสวนสาธารณะแห่งใหญ่กลางกรุงเทพมหานคร ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าใช้ได้

พ.ต.ท.ธนพล ติ้นหนู อายุ 36 ปี ขณะเกิดเหตุรับราชการเป็นสารวัตรสืบสวนอยู่ที่ สน.ปทุมวัน 

พ.ต.ต.อัษฎางศ์ เนตรพุดซา อายุ 52 ปี ขณะเกิดเหตุรับราชการเป็นสารวัตรสืบสวน กองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 6 

ส.ต.ท.กฤศน์วัต นกแก้ว อายุ 28 ปี ขณะเกิดเหตุรับราชการเป็นผู้บังคับหมู่สืบสวน สน.ปทุมวัน

ก่อนเกิดเหตุ พ.ต.ท.ธนพล ตรวจสอบเฟซบุ๊กอานนท์ นำภา และรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ จากนั้น พ.ต.ท.ธนพลได้รับมอบหมายให้ดูแลความปลอดภัยโดยรอบและรวบรวมพยานหลักฐาน ส่วน พ.ต.ต.อัษฎางศ์ ได้รับแจ้งว่าจะมีการชุมนุม ผู้บังคับบัญชาจึงมอบหมายให้ติดตามจับกุมรถเครื่องขยายเสียงที่ใช้ปราศรัย ส่วน ส.ต.ท.กฤศน์วัต ได้รับมอบหมายให้พยานลงตรวจสอบพื้นที่ในวันเกิดเหตุ 

ในวันเกิดเหตุ พ.ต.ท.ธนพล และ ส.ต.ท.กฤศน์วัต เบิกความตรงกันว่าเวลา 16.00 น. พ.ต.อ.พันษา อมราพิทักษ์ ผู้กำกับการ สน.ปทุมวัน เข้ามาประกาศถึงการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และแจ้งให้ยุติการชุมนุม เนื่องจากเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ผู้ชุมนุมยังจัดกิจกรรมต่อไป 

พ.ต.ท.ธนพล กล่าวต่อว่า จำเลยมาปราศรัยในเวลา 17.30 น. โดยพูดเรื่องการเมืองการปกครอง การควบคุมโรคโควิด เรื่องวัคซีน และสถาบันกษัตริย์ ซึ่งในวันดังกล่าวมีผู้ชุมนุมประมาณ 400 คน เท่าที่พยานทราบคือไม่มีการตั้งจุดคัดกรอง ไม่มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาดูแล ผู้ชุมนุมยืนติดชิดกัน บางคนใส่หน้ากากอนามัย แต่บางคนก็ไม่ใส่

หลังจากกิจกรรมเสร็จสิ้นในเวลา 19.30 น. ส.ต.ท.กฤศน์วัต กลับมาที่ สน.ปทุมวัน และทําหน้าที่รับผิดชอบถอดเทปบันทึกคำของผู้ปราศรัยคนอื่น ไม่ได้ถอดเทปจำเลย  ส่วน พ.ต.ท.ธนพล และ พ.ต.ต.อัษฎางศ์ ได้รับมอบหมายให้ติดตามจับกุมรถยนต์บรรทุกเครื่องขยายเสียง ชุดจับกุมได้ขับรถติดตามไปจนจับกุมได้บริเวณทางด่วนพระราม 9 – รามอินทรา และได้จับผู้ต้องหา 5 คน ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมทั้งยึดของกลางไว้ จากนั้นพ.ต.ต.อัษฎางศ์ได้ตรวจสอบกับสำนักงานเขตปทุมวัน พบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง

จากนั้น พ.ต.ท.ธนพล ติดตามหาตัวผู้กระทำผิดที่มาร่วมชุมนุม โดยดูจากภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวที่ถ่ายไว้ พบว่ามีสองส่วน ส่วนแรกเป็นผู้ที่ขึ้นปราศรัย อีกส่วนเป็นกลุ่มที่มาร่วมกิจกรรม จึงไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในข้อหาร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต 

ต่อมา พ.ต.ท.ธนพล ทราบว่าพนักงานสอบสวนได้ขอออกหมายจับจำเลยไว้ และจำเลยมาปรากฏตัวที่ สน.ปทุมวัน ในวันที่ 9 ส.ค. 2564  พ.ต.ท.ธนพล และ ส.ต.ท.กฤศน์วัต จึงได้จัดทำบันทึกจับกุมในข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในชั้นจับกุมจำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ในช่วงทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.ท.ธนพล ตอบว่าในวันที่ 3 ส.ค. 2564 มีมาตรการผ่อนคลายให้ประชาชนไปเที่ยวหรือใช้ชีวิตอื่น ๆ ได้ และเหตุการณ์ในวันที่ 3 ส.ค. พยานได้ไปเบิกความไว้ที่ศาลอาญาว่าคำพูดของจำเลยไม่ได้ก่อให้เกิดการยุยงส่งเสริมหรือการก่อให้เกิดความแตกแยกแต่อย่างใด 

พ.ต.ท.ธนพล ไม่ทราบว่าที่จำเลยโพสต์เชิญชวนนั้นจะทำโปสเตอร์ขึ้นเองหรือนำรูปมาจากที่ใด ซึ่งรูปโปสเตอร์ดังกล่าวจะระบุองค์กรที่จัดไว้อยู่แล้ว ส.ต.ท.กฤศน์วัต ไม่ได้สืบสวนว่าจําเลยจะสังกัดองค์กรกลุ่มใด และเห็นข้อความโพสต์เชิญชวนจากเพจอานนท์ นําภา ว่า “มาร่วมฟังปราศรัยการเมืองแบบตรงไปตรงมากันอีกครั้งครับ” ไม่จําเป็นจะต้องเป็นผู้จัดเสมอไป

ส.ต.ท.กฤศน์วัต ยืนยันตามเอกสารจำเลยโพสต์ลงในเฟซบุ๊กเวลา 14.28 น. ส่วนผู้จัดชุมนุมได้โพสต์เฟซบุ๊กเวลา 14.22 น. เป็นเวลาก่อนที่จำเลยจะโพสต์ ซึ่งตามโลโก้ที่ปรากฏในโปสเตอร์ไม่ได้ปรากฏชื่อของจำเลย และในทางสืบสวนก็ไม่ปรากฏว่าจําเลยเป็นผู้จัดชุมนุม

ส.ต.ท.กฤศน์วัต ตอบทนายว่าในการรายงานข่าวว่าผู้จัดเป็นใคร มีแกนนําหรือบุคคลใดเข้ามาปรากฏตัวในพื้นที่การชุมนุม พยานจะใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพนิ่ง ไม่ได้บันทึกวิดีโอ และส่งไปในกลุ่มไลน์ของเจ้าพนักงานตํารวจสายสืบ สน.ปทุมวัน 

ส.ต.ท.กฤศน์วัต รับว่า ผู้จัดกิจกรรมจะต้องมีหน้าที่ในการจัดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด ส่วนผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมหรือผู้ปราศรัยไม่จําเป็นต้องทำ

พ.ต.ท.ธนพล ไม่ทราบว่า สน.ปทุมวัน จะมีหนังสือถึงเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้มาร่วมสังเกตการณ์หรือมาคัดกรองผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมครั้งนี้หรือไม่ พยานเห็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเดินดูการชุมนุม แต่พยานไม่ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าให้สอบสวนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขแต่อย่างใด  ส่วนส.ต.ท.กฤศน์วัต ไม่พบเห็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และกล่าวเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะเป็นผู้ประเมินว่ามีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโควิดหรือไม่ ซึ่งพยานไม่ได้รวบรวมรายงานจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาประกอบ

ตามภาพถ่ายที่พ.ต.ท.ธนพลจัดทำ พ.ต.ท.ธนพล, พ.ต.ต.อัษฎางศ์ และ ส.ต.ท.กฤศน์วัต เบิกความตรงกันว่าผู้ชุมนุมส่วนใหญ่จะใส่หน้ากากอนามัย ที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่โล่ง ไม่แออัด อากาศถ่ายเทได้สะดวก โดย พ.ต.ท.ธนพลเบิกความต่อว่า ถ้าหากยืนรวมตัวกันเป็นกลุ่มเบียดกันก็เป็นการแพร่เชื้อโรคได้ และในพื้นที่ สน.ปทุมวัน มีตลาดนัด แต่ไม่มีคนเคยมาร้องทุกข์กับพ.ต.ท.ธนพล เรื่องการรวมตัวกันซื้อของเบียดเสียดแต่อย่างใด

หลังจากที่ พ.ต.ต.อัษฎางศ์ และ ส.ต.ท.กฤศน์วัต ลงพื้นที่แล้วกลับไปทั้งสองก็ไม่ได้ติดเชื้อโควิด เนื่องจากสวมหน้ากากอนามัยแล้วล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ในขณะปฏิบัติหน้าที่

พ.ต.ท.ธนพล และ ส.ต.ท.กฤศน์วัต กล่าวตรงกันว่า จำเลยใส่หน้ากากอนามัยยืนปราศรัยบนรถกระบะ และรอบรถจะมีแผงรั้วมากั้น ผู้ชุมนุมจะอยู่ถัดออกไป และขณะที่จำเลยปราศรัยก็ไม่ได้เบียดเสียดกับผู้ใด โดย ส.ต.ท.กฤศน์วัต กล่าวเพิ่มเติมรับว่าถือเป็นการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิดแล้ว

ขณะที่ผู้กำกับพูดประกาศเกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ จำเลยยังไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ อีกทั้งขณะที่จำเลยขึ้นปราศรัยอยู่ ผู้กำกับ สน.ปทุมวัน ก็ไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบเกี่ยวกับประกาศดังกล่าว และ พ.ต.ท.ธนพล ก็ไม่เห็นประกาศเป็นหนังสือแปะไว้บริเวณที่ชุมนุมในฐานะเจ้าพนักงานควบคุมโรค

พ.ต.ท.ธนพล ไม่เคยอบรมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขว่าจะต้องเว้นระยะห่างเท่าใดจึงจะไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด และที่พยานระบุในเอกสารว่าไม่ได้มีการเว้นระยะห่างตามมาตรการนั้น เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของพยาน และไม่ทราบว่าในวันเกิดเหตุจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดรายวันในประเทศเท่าใด 

พ.ต.ท.ธนพล รับว่า ก่อนที่จำเลยจะมาถึง มีคนจัดเตรียมเวทีและสถานที่ไว้ก่อนแล้ว เครื่องเสียงที่ใช้ไม่ได้เสียบปลั๊กไฟฟ้า ซึ่งผู้จัดจะต้องไปขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงก่อน ซึ่งพยานไม่ทราบว่าบุคคลที่มาจัดเตรียมสถานที่และเครื่องเสียงจะเกี่ยวข้องกับจำเลยหรือไม่ 

พ.ต.ท.ธนพล รับว่า ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องขยายเสียงฯ ผู้ชุมนุมจะต้องไปขออนุญาตใช้เครื่องเสียงกับเจ้าหน้าที่สํานักงานเขต แต่ในคดีนี้ไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่สํานักงานเขตจะมาร้องทุกข์หรือไม่ อีกทั้งเครื่องเสียงที่ใช้ในวันเกิดเหตุไม่ได้เชื่อมต่อกับไฟฟ้า ซึ่ง พ.ต.ท.ธนพล ก็รับว่าไม่ทราบว่าจะอยู่ในขอบข่ายที่ต้องขออนุญาตหรือไม่ ทั้ง พ.ต.ท.ธนพล และ พ.ต.ต.อัษฎางศ์ ก็ไม่ทราบว่าความดังของเสียงจะอยู่ในขอบเขตที่ต้องขออนุญาตหรือไม่ โดยไม่ได้นำเครื่องวัดระดับความดังของเสียงมาวัดการใช้เสียงกลุ่มผู้ชุมนุม

พ.ต.ท.ธนพล กล่าวว่าของกลางที่ตรวจยึดเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 เป็นการตรวจยึดจากบุคคลอื่นไม่ใช่ตัวจําเลย และจากการตรวจสอบ ก็ไม่ทราบว่าเป็นทรัพย์สินของใคร อีกทั้งหลังตรวจยึดโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหาทั้ง 5 คน กับรถเครื่องเสียง ก็ไม่ทราบว่าจะมีการโทรติดต่อกับจำเลยหรือไม่ 

เมื่อผู้กํากับ สน.ปทุมวัน ประกาศเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พยานก็ไปบอกคนควบคุมเสียงว่าห้ามใช้เสียงดังบริเวณนี้ เพราะใกล้เขตพระราชฐาน ซึ่ง พ.ต.ท.ธนพล ไม่เคยให้การประเด็นนี้ไว้ต่อพนักงานสอบสวน

ในช่วงอัยการถามติง พ.ต.ท.ธนพล ไม่มั่นใจว่าเครื่องเสียงที่ใช้ในวันเกิดเหตุจะเสียบปลั๊กไฟฟ้าแบบใด แต่เข้าใจว่าน่าจะใช้กำลังไฟฟ้า ซึ่งตามบันทึกการตรวจยึดจากรถกระบะจะมีเครื่องปั่นไฟด้วย และในวันเกิดเหตุจำเลยใช้ไมค์ แอมป์ ลำโพง ในการปราศรัย

พ.ต.ท.ธนพล ได้บอกคนของรถเครื่องขยายเสียงว่าห้ามจอดบริเวณนี้ และห้ามใช้เครื่องขยายเสียง หากจะใช้ให้ไปขออนุญาตที่สำนักงานเขต แล้วให้หันลำโพงมาทางบีทีเอส อย่าหันไปทางเขตพระราชฐาน คนควบคุมเสียงก็หันลำโพงมาตามที่พยานบอก แต่ก็ยังคงเสียงดัง และขณะที่จำเลยปราศรัยก็มีเสียงดังชัดเจน 

ด้าน ส.ต.ท.กฤศน์วัต ตอบว่าได้เห็นโปสเตอร์จากเพจจำเลยด้วยตนเอง ซึ่งโพสต์เป็นสาธารณะ แต่โลโก้ที่อยู่ใต้โปสเตอร์นั้นไม่เคยเห็นมาก่อน และโลโก้ดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับการชุมนุมอย่างไรก็ไม่ทราบ

.

พ.ต.ท.เวียงแก้ว สุกาการณ์ อายุ 51 ปี ขณะเกิดเหตุพยานรับราชการเป็นพนักงานสอบสวนอยู่ที่ สน.ปทุมวัน 

เกี่ยวกับคดีนี้ในวันเกิดเหตุ พยานปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนเวรอยู่ที่ สน.ปทุมวัน ในเวลากลางคืนมี พ.ต.ท.ธนพล ติ้นหนู เจ้าพนักงานฝ่ายสืบสวน สน.ปทุมวัน ได้เข้ามาพร้อมกับผู้ต้องหา 5 คน และของกลาง เช่น รถยนต์ เครื่องเสียง และแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พฤติการณ์ที่จับกุมเป็นเหตุการณ์ชุมนุมหน้าหอศิลป์ฯ ในวันที่ 3 ส.ค. 2564 พยานจึงจัดทำแผนที่เกิดเหตุและบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุ

ต่อมาในวันที่ 5 ส.ค. 2564 นพดล พรหมภาสิต และ แน่งน้อย อัศวกิตติกร ได้มาร้องทุกข์ โดยนพดลแจ้งความให้ดำเนินคดีกับอานนท์ นำภา ตามมาตรา 112 ในเหตุการณ์ชุมนุมวันที่ 3 ส.ค. 2564 เนื่องจากได้ขึ้นเวทีปราศรัยกล่าวคำหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10  

ต่อมาพยานได้นำดีวีดีเหตุการณ์ชุมนุมให้ตำรวจถอดเทปคำปราศรัย โดยประเด็นในการปราศัยหลายคนพูดเกี่ยวกับเรื่องการเมือง และใช้อุปกรณ์ปราศรัย เช่น ไมค์ เครื่องเสียง ลำโพง จากการสืบสวนสอบสวนพบว่าการชุมนุมไม่มีมาตรการป้องกันโรคโควิด ไม่ได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่เว้นระยะห่าง มีการใส่หน้ากากอนามัยเพียงบางคน

ในขณะเกิดเหตุมีการประกาศและขยายระยะเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นครั้งที่ 13 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ส.ค. 2564 ถึง 30 ก.ย. 2564 และมีการออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นฉบับที่ 15 ซึ่งในข้อ 3 ระบุว่า ห้ามมีการทํากิจกรรมหรือมั่วสุมกันในสถานที่แออัดหรือกระทําการดังกล่าวเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย อีกทั้ง ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกําหนด ข้อที่ 3 ห้ามมิให้ชุมนุมหรือทํากิจกรรมที่มีการเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคําสั่งกำหนให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ซึ่งขณะเกิดเหตุในคดีนี้ กรุงเทพฯ ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

อีกทั้งยังมีประกาศข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 30) ข้อที่ 4 ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าว ห้ามจัดกิจกรรมของกลุ่มบุคคลซึ่งมีการรวมกลุ่มของคนที่มีจํานวนรวมกันมากกว่า 5 คน เว้นแต่กรณีที่ได้รับอนุญาตจากผู้ว่าฯ หรือพนักงานที่ได้รับมอบหมาย นอกจากนั้นยังมีประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 36) ข้อที่ 7 ระบุว่า ห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจํานวนรวมกันมากกว่า 5 คน

กระทรวงสาธารณสุขประกาศแต่งตั้งพนักงานควบคุมโรคติดต่อฯ และแต่งตั้งให้ตํารวจสัญญาบัตรยศตั้งแต่ร้อยตํารวจตรีขึ้นไปเป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรค ซึ่งผู้กำกับ สน.ปทุมวัน ถูกแต่งตั้งตามประกาศให้เป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรคฯ  ต่อมาพยานได้สอบปากคำเจ้าหน้าที่เทศกิจเขตปทุมวัน ได้ความว่าในการชุมนุมครั้งนี้ไม่ได้มีการขออนุญาต และผู้ชุมนุมไม่ได้เว้นระยะห่าง ไม่มีการจัดหน่วยแพทย์เข้ามาดูแลผู้ชุมนุม และไม่ได้ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง

ในคดีความผิดเกี่ยวกับมาตรา 112 ได้เรียกพยานมาสอบปากคำ 6 ปาก ได้แก่ ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์, คมสัน โพธิ์คง, ณฐพร โตประยูร, นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย, กันตเมธส์ จโนภาส และ แน่งน้อย อัศวกิตติกร โดยพยานนำบันทึกคำถอปเทปให้พยานทุกปากอ่าน และให้พยานแต่ละปากให้ความเห็น ซึ่งพยานทั้ง 6 ปากให้ความเห็นทำนองเดียวกันว่าเป็นข้อความที่หมิ่นประมาทใส่ร้ายกษัตริย์ และมีการเอ่ยชื่อวชิราลงกรณ์ 

จากนั้นพยานจึงได้สอบปากคำ วันดี จิตโสภา เจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนเขตปทุมวัน และสอบถามไปยังราชบัณฑิตยสภา ต่อมามีการออกหมายจับและจับกุมจำเลย มีการแจ้งสิทธิให้จำเลยทราบและสอบปากคำ จำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จากการตรวจสอบประวัติของจำเลยจะพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง

ทนายจำเลยถามค้าน ในการสั่งคดี พยานพิจารณาตามพยานหลักฐานของผู้กล่าวหา พยานได้ทำคดีข้อหามาตรา 112 ในคดีนี้เป็นคดีแรก และเป็นคดีเดียว ซึ่งการรวบรวมพยานหลักฐานได้ปฏิบัติตาม ป.วิอาญาฯ มาตรา 131 พยานหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย จำเลยให้การปฏิเสธ จึงไม่ได้แสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลย

พยานได้คัดเลือกพยานผู้ที่มีความรู้ความสามารถ รวบรวมจากหลายวิชาชีพ และหลายความเห็นทางการเมือง ซึ่งได้เรียกพยานความเห็นมา 6 คน ทั้งหมดจะอยู่กลุ่มใดพยานไม่ทราบ ซึ่งหลังจากพยานทั้ง 6 คนได้ดูบันทึกถอดเทปคำปราศรัยแล้วให้ความเห็น ก็ไม่ได้มีหลักฐานมาแสดงต่อพยาน นอกจากนี้พยานได้สอบปากคำผู้กล่าวหาไว้คือ นพดล พรหมภาสิต อยู่ในกลุ่มปกป้องสถาบันฯ

พยานไม่ทราบว่าแน่งน้อย อัศวกิตติกร จะเคยเป็นประธานศูนย์ ศชอ. หรือไม่, ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ จะอยู่ในกลุ่ม ศปปส. หรือไม่, คมสันต์ โพธิ์คง จะเคยขึ้นเวที กปปส. หรือไม่, ณฐพร โตประยูร จะเป็นคนไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญกล่าวหาว่าอานนท์กับพวกล้มล้างการปกครองหรือไม่ และนาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย จะเป็นผู้จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์หรือไม่ ก็ไม่ทราบแต่อย่างใดว่ามีแนวคิดตรงข้ามกับจำเลย และถ้าหากรู้ก็อาจจะนำหรือไม่นำมาก็ได้ อีกทั้งพยานไม่ได้สอบปากคำว่าจะอยู่ฝ่ายจำเลยหรืออยู่ตรงข้ามฝ่ายจำเลย 

ทนายถามว่า ในวันนี้พยานทราบแล้วว่าพยานความเห็นทั้ง 6 คน อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับจำเลยแล้ว พยานจะเรียกพยานความเห็นทั้ง 6 คน มาให้ความเห็นหรือไม่ พยานไม่ขอตอบ และถามต่อว่าในการสั่งคดีเสนอต่ออัยการ ปรากฏว่าพยานทั้ง 6 คน ให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อจำเลยและอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับจำเลย ความเห็นในทางคดีของพยานจะเปลี่ยนไปหรือไม่ พยานไม่ขอตอบ

ทนายถามว่า พยานบุคคลที่มาให้การเรื่องการโอนหุ้นไทยพาณิชย์ที่จำเลยพูดว่าเป็นความเท็จ พยานได้ตั้งประเด็นสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานว่ามีการโอนหุ้นดังกล่าวจริงหรือไม่ พยานตอบว่าไม่ได้ทำ ทนายถามว่า หากสิ่งที่จำเลยพูดเป็นความจริง ก็ไม่เป็นการใส่ความใช่หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ

ในเรื่องการโอนทรัพย์สิน การระดมคนเสื้อเหลืองมาวัดกำลังกัน และเรื่องบริษัทสยามไบโอไซน์เกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีน พยานตอบทนายว่าไม่ได้รวบรวมเอกสารหลักฐานในแต่ละประเด็นว่าสิ่งที่จำเลยพูดเป็นความจริงหรือเท็จอย่างไร เพื่อที่จะมาใช้ประกอบดุลยพินิจสั่งคดี อีกทั้งยังไม่ได้รวบรวมหลักฐานถึงผู้ที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์สนามม้านางเลิ้ง พระบรมรูปทรงม้า รัฐสภา และสวนสัตว์ดุสิต และพยานไม่ได้เรียกเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาสอบ

พยานไม่ทราบว่า ทั้ง 6 คนที่พยานเรียกมาสอบจะมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หรือไม่ทนายจึงถามว่า ประเด็นที่จำเลยพูดเรื่องการโอนทรัพย์สินของหลวงไปเป็นของพระองค์ ผู้ที่ทราบข้อมูลนี้ดีที่สุดและมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันว่ามีการถ่ายเททรัพย์สินของหลวงไปเป็นของพระองค์หรือไม่อย่างไร คือ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ใช่หรือไม่ พยานไม่ทราบและไม่ได้เรียกมาสอบ

ทนายถามว่า การดูหมิ่นเกลียดชังหรือเคารพเทิดทูนสถาบันกษัตริย์เป็นประเด็นหนึ่งในองค์ประกอบความผิดมาตรา 112 หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ ทนายจึงถามต่อว่า จากคำให้การของพยานความเห็นทั้ง 6 ปาก ไม่มีใครบอกว่าเทิดทูนกษัตริย์น้อยลงหรือไม่ พยานตอบว่าไม่ได้สอบในประเด็นนี้ไว้

พยานตอบทนายว่า ไม่ได้รวบรวมทั้งหลักฐานเกี่ยวกับการเอาเงินของรัฐไปสนับสนุนบริษัทสยามไบโอไซน์ และข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีน ทนายจึงถามว่าเหตุใดรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ นำเงิน 600 ล้าน ไปสนับสนุนบริษัทสยามไบโอไซน์ พยานได้เรียก พล.อ.ประยุทธ์ มาสอบคำให้การไว้หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ได้เรียกพล.อ.ประยุทธ์ หรือพนักงานบริษัทสยามไบโอไซน์ มาสอบเกี่ยวกับเรื่องวัคซีนไว้

พยานยืนยันว่าคำให้การของนพดล กับคำให้การของแน่งน้อย พยานทั้งสองให้ความเห็นเหมือนกันทั้งหมด เปลี่ยนเฉพาะข้อมูลส่วนตัว

พยานกล่าวว่าตามคำให้การของนพดลได้ให้การไว้ว่าผู้จัดชุมนุมคือกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยและองค์กรภาคี ซึ่งจะมีโลโก้อยู่ใต้ภาพประชาสัมพันธ์ผู้จัด แต่จำเลยเป็นผู้จัดหรือไม่ต้องไปดูจากรายงานการสืบสวน และยืนยันว่าผู้จัดมีหน้าที่ในการขออนุญาตและดูแลการชุมนุม ส่วนผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมจะต้องสวมหน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่าง ซึ่งตามภาพถ่ายจำเลยปราศรัยก็สวมหน้ากากอนามัย ไม่ได้ใกล้ชิดกับบุคคลอื่น

พยานไม่ได้สอบปากคำเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือบุคลากรทางการแพทย์ไว้ และไม่ได้มีหนังสือแจ้งให้ประเมินความเสี่ยงในการชุมนุมครั้งนี้ไว้ อีกทั้งไม่ทราบว่าจะมีการแพร่ระบาดโรคโควิดเป็นกลุ่มก้อนจากการชุมนุมครั้งนี้หรือไม่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไปปะปนกับกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมในครั้งนี้ ไม่ปรากฏว่ามีใครติดโควิด-19 และตามภาพถ่าย ผู้กำกับการ สน.ปทมุวัน กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไปแจ้งข้อกฎหมายให้กลุ่มผู้ชุมนุมทราบ ซึ่งจะยืนจะห่างกัน 1 เมตรหรือไม่ พยานไม่ได้วัด และกลุ่มผู้ชุมนุมที่ยืนอยู่จะยืนห่างกัน 1 เมตรหรือไม่ ก็ไม่ได้วัดเช่นกัน

การขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง จะเป็นหน้าที่ของผู้จัดหรือผู้ได้รับมอบอำนาจ บุคคลที่ขึ้นปราศรัยไม่ได้มีหน้าที่ในการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง และหลังจากตรวจสอบโทรศัพท์ของผู้ต้องหาทั้ง 5 คนแล้ว จะเกี่ยวข้องกับจำเลยหรือไม่ พยานจำไม่ได้ ต้องดูจากรายงานการสืบสวน

เบอร์โทรของพยานความเห็นทั้ง 6 คน ชุดสืบสวนสืบมาว่าจะต้องเอาคนนี้ จะหามาด้วยวิธีใดนั้น พยานไม่ทราบ แต่ไม่ทราบว่าที่ สน.ปทุมวัน จะมีรายชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของกลุ่ม ศปปส. อยู่ที่สถานีตำรวจ เพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจสืบหาได้โดยง่ายหรือไม่ 

พยานไม่ทราบเกี่ยวกับ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ปี 2560 และ 2561 และไม่ได้นำมาพิจารณาก่อนที่จะสั่งคดี และไม่เคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับ อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ กับ รุ้ง ปนัสยา มาดีเบตกันเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เมื่อปลายปี 2563

พยานไม่ทราบว่าจำเลยไม่ได้พูดเรื่องนี้เป็นครั้งแรก พยานไม่รู้ว่าเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จำเลยพูดในเนื้อหาตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ปี 2560 และ 2561 ทนายจึงถามว่า หากรู้ว่าสิ่งที่ปราศรัยไม่ใช่ความเท็จ เป็นการนำกฎหมายที่ประกาศใช้แล้วมาพูด ก็ไม่เป็นความเท็จใช่หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ ทนายจึงถามต่อว่าการวิจารณ์กฎหมาย ประชาชนสามารถที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ

พยานไม่ได้รวบรวมเอกสารเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นไทยพาณิชย์เข้ามาในสำนวนคดี แต่เมื่อมีการโอนหุ้นจริง ความเห็นของพยานในการสั่งคดีก็จะไม่เปลี่ยนแปลง

พ.ต.ท.เวียงแก้วตอบอัยการถามติงว่า พยานไม่ทราบว่าผู้กล่าวหาและพยานความเห็นทั้ง 6 ปากจะมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไร หรือจะมีความเห็นทางการเมืองที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับจำเลยหรือไม่ 

พยานไม่ได้สอบปากคำพยานพร้อมกัน ในการถามพยานทั้ง 6 คน จะให้อ่านข้อความบันทึกถอดเทปปราศรัย ซึ่งอ่านแล้วเข้าใจว่าเป็นการใส่ความต่อรัชกาลที่ 10 ทำให้ผู้อ่านและฟังว่าพระองค์ไม่ดี และเอาผลประโยชน์มาใส่ตนเอง อีกทั้งพยานกล่าวว่านพดลและแน่งน้อยมาด้วยกัน แต่แยกกันสอบคำให้การ ไม่ได้จัดทำเอกสารพร้อมกัน ซึ่งในเอกสารข้อความไม่เหมือนกันทุกตัวอักษร และให้พยานอ่านข้อความก่อนลงลายมือชื่อ

.

พ.ต.อ.พันษา อมราพิทักษ์ อายุ 42 ปี ขณะเกิดเหตุรับราชการเป็นผู้กำกับการ สน.ปทุมวัน โดยก่อนเกิดเหตุได้รับแจ้งจากฝ่ายสืบสวนว่า เพจเฟซบุ๊ก อานนท์ นําภา ได้โพสต์ข้อความเชิญชวนมาชุมนุมหน้าหอศิลป์ พยานจึงสั่งการผู้ใต้บังคับบัญชาให้ดูแลความสงบเรียบร้อยให้แก่ผู้ชุมนุมและประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบ ในการจัดชุมนุมดังกล่าวไม่ได้มีการขออนุญาตจาก สน.ปทุมวัน 

ในช่วงเวลาดังกล่าว รัฐบาลประกาศให้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เนื่องจากมีการแพร่ระบาดโรคโควิด และมีผู้เสียชีวิตจํานวนมาก จึงมีการประกาศตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามมิให้มีการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มกัน การเสี่ยงต่อการแพร่โรคหรือการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

ในวันเกิดเหตุ พยานลงพื้นที่เวลา 14.00 น. ต่อมาพบรถกระบะบรรทุกเครื่องขยายเสียงขับมาจอด หลังจากนั้นก็มีมวลชนมาประมาณ 200 คน พยานเห็นว่าเข้าฐานความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงประกาศข้อกำหนดให้ผู้ชุมนุมทราบผ่านเครื่องขยายเสียงแบบพกพา โดยยืนห่างจากผู้ชุมนุมประมาณ 5 เมตร จึงสามารถได้ยินเสียงประกาศจากพยานได้อย่างชัดเจน แต่ผู้ชุมนุมก็ไม่ได้มีทีท่าจะยุติการชุมนุม และจัดกิจกรรมต่อจนถึงเวลา 19.20 น.

ในการจัดกิจกรรม จะมีการผลัดกันขึ้นปราศรัยบนรถกระบะเครื่องเสียง กลุ่มผู้ชุมนุมมีทั้งใส่และไม่ใส่หน้ากากอนามัย แต่ไม่พบว่ามีจุดคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิหรือแจกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือแต่อย่างใด อีกทั้งยังยืนรวมกลุ่ม ไม่เว้นระยะห่างที่เหมาะสม เบียดเสียดเสี่ยงต่อการแพร่โรค

พยานรู้จักจำเลยผ่านสื่อว่าเป็นนักเคลื่อนไหวทางประชาธิปไตย ซึ่งในขณะที่จำเลยขึ้นปราศรัย พยานยืนอยู่ที่สี่แยกปทุมวัน และไม่ได้ฟังการปราศรัยอย่างต่อเนื่อง แต่ได้ยินว่าจำเลยปราศรัยโจมตีการทำงานของนายกฯ และสถาบันกษัตริย์ แต่ไม่ทราบรายละเอียด ซึ่งได้มอบหมายให้ผู้ใต้บังคับบัญชาฝ่ายสืบสวนเป็นผู้ติดตามเนื้อหา ทั้งนี้การชุมนุมในวันดังกล่าว ไม่มีเหตุวุ่นวายและไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ

พ.ต.อ.พันษา ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในวันดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ตํารวจ สน.ปทุมวันกว่า 60 นายเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนี้ยังมีกําลังจากตํารวจควบคุมฝูงชนและจราจรกลางด้วย โดยชุดสืบนอกเครื่องแบบของ สน.ปทุมวัน มีประมาณ 15 นาย และมีนักข่าวจํานวนมากไม่ต่ํากว่า 20 สำนัก พยานได้อ่านประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้ผู้ชุมนุมทราบ แต่เป็นฉบับใดจำไม่ได้ อีกทั้งพยานไม่ได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมงดหรือลดการใช้เสียง

สืบเนื่องจากการชุมนุมดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคเนื่องจากเป็นการรวมกลุ่มกัน แต่ไม่มีข่าวการแพร่ระบาดโรคเป็นระลอกใหม่ออกมา และไม่มีรายงานการสอบสวนโรคส่งมาถึงพยาน

พยานไม่ทราบว่าใครเป็นผู้จัดชุมนุม แต่จากที่ฝ่ายสืบสวนติดตามเฟซบุ๊กอานนท์ นำภา มีการเชิญชวนมาทำกิจกรรมในวันดังกล่าว ซึ่งด้านล่างของโปสเตอร์เชิญชวนจะมีโลโก้องค์กรปรากฏอยู่ พยานไม่ทราบว่าเป็นโลโก้ใด 

ในขณะที่พยานอ่านประกาศในเวลา 16.00 น. ผู้ที่อยู่รอบข้างจะเป็นนักข่าว และไม่ทราบว่าจำเลยจะอยู่ด้วยหรือไม่ แต่พยานไม่เห็นภาพของจำเลยปรากฏ และตอบทนายว่าจำเลยขึ้นปราศรัยประมาณ 17.30 น. และคนขึ้นปราศรัยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้จัดชุมนุม ซึ่งเฉพาะผู้จัดจะต้องมีหน้าที่และมีมาตรการป้องกันโรคโควิด 

วัตถุประสงค์ในการประกาศของพยานก็เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดต่อ ซึ่งโดยปกติแล้ว สน.ปทุมวัน จะส่งหนังสือถึงสาธารณสุขพื้นที่หรือโรงพยาบาลตำรวจให้จัดเจ้าหน้าที่มาดูแล แต่ในวันดังกล่าวพยานจำไม่ได้ว่ามีการส่งหนังสือไปหรือไม่

พยานยืนยันว่า ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่จะสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัย เนื่องจากเป็นการป้องกันโรคที่ดีที่สุด และยืนยันตามเอกสารอ้างอิงของโรงพยาบาลราชพฤกษ์ว่า หากทั้งสองคนสวมหน้ากากอนามัยจะลดความเสี่ยงได้ 89.5% แต่ถ้าคนติดเชื้อสวมหน้ากากอนามัย คนไม่ติดเชื้อไม่สวมจะลดความเสี่ยงได้ 95% แต่ถ้าคนติดเชื้อไม่สวมหน้ากากอนามัย คนปกติสวมหน้ากากอนามัย จะลดความเสี่ยงได้ 30% และยืนยันตามคําแนะนําขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับโควิด-19 หากไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ การสวมหน้ากากอนามัย ก็สามารถที่จะป้องกันได้เช่นกัน

ตามภาพพบว่านักข่าวและคนอื่น ๆ ยืนห่างจากพยานน้อยกว่า 1 เมตร และหลังจากที่พยานปฏิบัติหน้าที่ในวันดังกล่าว ก็ไม่ได้ติดเชื้อโควิด และพบว่าจำเลยได้สวมหน้ากากอนามัยขณะขึ้นปราศรัย โดยรถยนต์ปราศรัยก็อยู่ห่างจากบุคคลอื่นมากกว่า 1 เมตร  อีกทั้งพยานเห็นว่าในวันดังกล่าวผู้ชุมนุมก็อยู่กระจัดกระจายกัน ไม่ได้อยู่กันใกล้ชิดตลอดเวลา และเห็นว่าจุดที่ชุมนุมเปิดโล่ง ไม่ใช่สถานที่แออัดที่มีคนคับคั่งตลอดเวลา 

พยานรับว่า กลุ่มผู้ชุมนุมออกมาทํากิจกรรมเพราะโจมตีการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาลที่ล้มเหลว วัคซีนมาไม่ทันเวลา ทําให้มีคนจํานวนมากตาย แต่รัฐบาลจะไม่นำเข้าวัคซีน mRNA เพราะอะไรพยานไม่ทราบ และกล่าวว่าการเรียกร้องวัคซีนเป็นเรื่องจําเป็น เพราะวัคซีนควบคุมดูแลโรคได้ แต่มีวิธีการเรียกร้องหลายรูปแบบที่ไม่ผิดกฎหมาย ไม่จําเป็นต้องมาจัดกิจกรรมหรือชุมนุมกัน 

ในส่วนของเครื่องขยายเสียง พยานไม่ได้แจ้งให้งดหรือลดใช้เสียง เนื่องจากผู้อำนวยการเขตจะเป็นผู้อนุญาต หน้าที่พยานคือออกคำสั่งตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 6 กําหนดให้เจ้าพนักงานตํารวจชั้นผู้ใหญ่มีอํานาจในการให้ผู้ใช้เสียงลดการใช้เสียงลงได้ ไม่ได้มีอํานาจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาต

พ.ต.อ.พันษาตอบโจทก์ถามติงว่า ในฐานะที่พยานเป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรค จึงมีหน้าที่ตามที่กฎหมายให้อํานาจ เหตุที่อ่านประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดโรคจากการรวมกลุ่มกัน และพยานเพิ่งทราบตามเอกสารที่ทนายให้อ่าน และไม่ได้ตรวจสอบมาก่อนว่าเป็นเช่นนี้จริงหรือไม่

อีกทั้งหลังจากวันเกิดเหตุ โรคโควิดในประเทศยังคงแพร่ระบาดรุนแรง และกรุงเทพฯ ถูกประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 

.

อภิวัต ไชยทองพันธุ์ อายุ 46 ปี ขณะเกิดเหตุพยานรับราชการเป็นเจ้าพนักงานเทศกิจปฏิบัติการ สํานักงานเขตปทุมวัน มีหน้าที่ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ  และระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร 

ในวันเกิดเหตุ พยานได้รับแจ้งจาก สน.ปทุมวัน ว่าจะมีผู้มาชุมนุมบริเวณหน้าหอศิลป์ฯ เวลาประมาณ 15.00 น. พยานจึงแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ผู้อํานวยการเขตปทุมวันได้มอบหมายให้พยาน ฝ่ายเทศกิจ และฝ่ายสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อมร่วมสังเกตการณ์ชุมนุม 

พยานไปถึงที่เกิดเหตุเห็นว่าผู้ชุมนุมสวมหน้ากากอนามัยแต่ไม่ได้เว้นระยะห่าง อีกทั้งไม่เห็นการตั้งจุดคัดกรอง ไม่เห็นเจลแอลกอฮอล์ และไม่เห็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอยู่ในพื้นที่ชุมนุม ส่วนในการจัดชุมนุมและใช้เครื่องขยายเสียงจะต้องแจ้งไปยังที่สํานักงานเขตปทุมวัน แต่ในการชุมนุมครั้งนี้สํานักงานเขตปทุมวันไม่ได้รับแจ้ง 

ตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานและเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทศกิจคนอื่นอีกประมาณ 10 คน ได้รับคําสั่งเป็นวาจาและลงพื้นที่ในวันเกิดเหตุ มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของสํานักงานเขตลงพื้นที่ด้วย ซึ่งไม่ได้ไปชี้แจงให้คําแนะนํากับผู้ชุมนุม รวมถึงไม่ได้จัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันโควิดไปแจกจ่าย อีกทั้งพยานไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะจัดทํารายงานประเมินความเสี่ยงเสนอต่อผู้บังคับบัญชาหรือไม่

ในการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงจะเป็นหน้าที่ของผู้ที่จัด ไม่ใช่หน้าที่ของผู้เข้าร่วมชุมนุมหรือผู้ที่ถูกเชิญขึ้นไปพูด หลังจากที่ลงพื้นที่เสร็จ พยานก็รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ผู้บังคับบัญชาไม่ได้มอบอำนาจให้พยานหรือคนอื่นไปร้องทุกข์ในข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
ในวันเกิดเหตุ พยานยืนอยู่ห่างจากกลุ่มผู้ชุมนุมกว่า 100 เมตร จุดเกิดเหตุเป็นพื้นที่โล่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก กลุ่มผู้ชุมนุมยืนฟังปราศรัย บางส่วนก็เดินไปเดินมา และบริเวณหน้าหอศิลป์จะล้อมรอบด้วยห้างสรรพสินค้า และเป็นทางขึ้นลงรถไฟฟ้าบีทีเอส ผู้ร่วมชุมนุมส่วนใหญ่จะเดินเท้ามา ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่จะเดินทางโดยรถไฟฟ้าหรือรถสาธารณะ และบริเวณทางขึ้นทางออกรถไฟฟ้าและทางเข้าออกห้างสรรพสินค้าจะมีจุดคัดกรองโควิด จากนั้นอภิวัติก็ตอบอัยการถามติงว่า พยานยืนห่างจากผู้ชุมนุมกว่า 100 เมตร แต่ยังคงเห็นเหตุการณ์ชุมนุม

.

คมสัน โพธิ์คง อายุ 58 ปี พยานจบการศึกษาระดับปริญญาโทกฎหมายมหาชน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาตรีนิติศาสตร์บัณฑิต ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ประกอบอาชีพนักวิชาการมาแล้วกว่า 20 ปี โดยก่อนหน้านี้รับราชการเป็นนิติกรอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 13 ปี และเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชประมาณ 11 ปี นอกจากนี้ยังเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยรังสิต 8 ปี

เกี่ยวกับคดีนี้ ได้มีพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน เรียกไปให้ปากคำเกี่ยวกับเรื่องความผิดตามมาตรา 112 พยานจำได้ว่าเป็นการกล่าวปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เมื่อต้นเดือน ส.ค. 2564 ในวันปราศรัย พยานไม่ได้อยู่ในที่ชุมนุม แต่พนักงานสอบสวนได้นำบันทึกการถอดเทปปราศรัยของจำเลยมาให้ดู พยานเห็นว่ามีข้อความที่เฉียดไปเฉียดมากับการกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 


หลังจากอ่านแล้วเห็นว่าข้อความที่ไม่ถูกต้องสมควรคือ “ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ ลานพระบรมรูปทรงม้าหลายคนที่รักศรัทธาก็ไปกราบไหว้ไปทำกิจกรรม ไปชุมนุมตอนนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 10 ล้อมรั้วเป็นของตนเอง และไม่มีใครเถียงว่ามันเป็นทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่มันเป็นของประชาชนที่จะใช้ร่วมกัน มันเป็นของสาธารณะ ไม่เป็นของผู้ใดผู้หนึ่ง รวมถึงรัฐสภาเดิม สวนสัตว์ หรือแม้แต่สนามม้านางเลิ้ง ตอนนี้ก็มีการปรับปรุงไปเป็นของตนเอง” พยานอ่านแล้วมีความเข้าใจว่ารัชกาลที่ 10 นำสิ่งที่เป็นของประชาชนไปเป็นของส่วนตัว และข้อความที่กล่าวค่อนข้างชัดว่าหมายถึงรัชกาลที่ 10 ว่ามีการเบียดบังทรัพย์ของแผ่นดินไปเป็นของส่วนตัว เป็นการหมิ่นประมาท พยานไม่เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ

ตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานเบิกความว่าพนักงานสอบสวนมีเบอร์โทรของตน และโทรมาขอให้ไปเป็นพยานโดยไม่มีหมายเรียก ปัจจุบันพยานเป็นนักวิชาการอิสระ ไม่สังกัดองค์กรใด แต่เคยเป็นสมาชิกกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิชาการที่เคยเคลื่อนไหวในสมัยขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ หลังจากที่หมดกิจกรรมแล้วก็ไม่ได้มีการรวมตัวและพูดคุยกัน กลุ่มดังกล่าวมีการเสนอแนวคิดการปฏิรูปประเทศหลายเรื่อง ซึ่งกลุ่ม กปปส. ได้นำแนวคิดบางส่วนไปเป็นแนวทางในการขับเคลื่อน ซึ่งพยานและจำเลยมีแนวคิดไม่ตรงกัน เนื่องจากกลุ่มของพยานไม่มีแนวคิดเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

พยานไม่ทราบว่ากลุ่ม กปปส. จะมีแนวคิดเรื่องการถวายคืนพระราชอำนาจหรือไม่ แต่เห็นด้วยเฉพาะในกรณีที่ไม่มีทางออกที่จะแก้ไขปัญหาทางการเมืองได้ เพราะในทางวิชาการกษัตริย์ประมุขของรัฐก็จะมีพระราชอำนาจที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับประเทศได้

การออกกฎหมายที่ประกาศใช้แล้วในราชกิจจานุเบกษาและร่างกฎหมาย ประชาชนสามารถที่จะแสดงความคิดเห็นได้ เนื่องจากกฎหมายบางฉบับมีผลกระทบในบางเรื่อง หลักการประชาชนสามารถที่จะแสดงความคิดเห็นได้ว่ากฎหมายดังกล่าวดีหรือไม่ มีผลกระทบอะไรบ้าง

สถาบันกษัตริย์ หมายถึงสถาบันประมุขของรัฐ ซึ่งไม่ได้หหมายถึงกษัตริย์เท่านั้น ซึ่งตามมาตรา 112 มุ่งคุ้มครองกษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งทั้งหมดจะอยู่ในองคาพยพของสถาบันกษัตริย์

ทนายกล่าวว่า ตามหลักการแล้วไม่สามารถทำเอาทรัพย์สินของหลวงไปเป็นของตนเองได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ ตามที่จำเลยพูดถึงทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์แต่เดิมแล้วจะแบ่งเป็นสามส่วน ส่วนแรกคือ ทรัพย์สินที่ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์เป็นส่วนตัว อีกสองส่วนเป็นของหลวงที่กษัตริย์พระองค์ถัดไปจะได้ใช้ต่อ คือทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินและทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ต่อมาในปี 2560 และ 2561 ได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งจะเหลือทรัพย์สินอยู่ 2 ส่วน คือ ทรัพย์สินส่วนพระองค์และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งตามมาตรา 5 ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้ไปรวมอยู่ในทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ทนายถามว่าตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ปี 2561 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง มีผลทำให้สาธารณสมบัติของแผ่นดินสามารถสิ้นสุดลงไปหากมีพระบรมราชานุญาตหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ใช่ ผลจากมาตรา 5 ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ปี 2561 เนื่องจากกฎหมายนี้กำหนดไม่ให้มีอยู่แล้ว หมายถึงสาธารณสมบัติของแผ่นดินสิ้นผลไปตั้งแต่ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ปี 2560

หลังจากที่มีการออก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ปี 2560 และ 2561 แล้ว พยานได้ยินว่ามีการโอนหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์และปูนซีเมนต์ไทย จากเดิมชื่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ไปเป็นชื่อของรัชกาลที่ 10 แต่ไม่ทราบว่าแต่เดิมหุ้นทั้งสองจะเป็นของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หรือส่วนพระองค์

ทนายถามว่า ทรัพย์สินที่เป็นของส่วนพระองค์ก็ใส่ชื่อพระปรมาภิไธยของพระองค์ ส่วนทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือว่าทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็จะเป็นชื่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ระบุไว้แทนหรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบ

พยานไม่เคยเห็นสำเนาโฉนดที่ดิน จากเดิมคือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นชื่อของรัชกาลที่ 10 ใช่หรือไม่ แต่หลังจากพยานดูแล้วก็ตอบว่าไม่ทราบ

ทนายถามว่า หลังจากแก้ไขระเบียบทรัพย์สินกษัตริย์ ทรัพย์สินที่เป็นของสาธารณสมบัติแผ่นดิน เช่น พระบรมมหาราชวัง เครื่องราชกกุธภัณฑ์ หรืออสังหาริมทรัพย์ ก็สามารถที่จะถูกถ่ายโอนเป็นทรัพย์ส่วนพระองค์ได้ทุกเมื่อใช่หรือไม่ พยานตอบว่าก็พออนุมานได้

ทนายถามว่า สิ่งที่จำเลยปราศรัยมีการนำของหลวงไปเป็นของส่วนพระองค์ เป็นการพูดถึงการนำทรัพย์สาธารณสมบัติของแผ่นดินไปเป็นของส่วนพระองค์ เป็นการพูดด้วยความเป็นห่วงว่าการทำแบบนั้นจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงยั่งยืนต่อสถาบันกษัตริย์ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าจำเลยไม่ได้อ้างอิงและวิจารณ์กฎหมาย แต่วิจารณ์ไปที่ตัวพระองค์

พยานตอบตามที่ทนายถามสิ่งที่จำเลยปราศรัยว่า “จริงอยู่ว่าทรัพย์สินเหล่านั้นมันมีอยู่ในชื่อของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มันไม่ได้หมายความว่าเป็นของกษัตริย์นะ มันหมายถึงเป็นของราชบัลลังก์ซึ่งกษัตริย์องค์ใดมาก็มาเป็นเจ้าของดูแล เมื่อท่านไป กษัตริย์องค์ใหม่มาก็มาเป็นเจ้าของสิ่งที่เป็นของราชบัลลังก์ที่พวกเขาใช้ร่วมกัน”​ เมื่ออ่านข้อความแล้วบุคคลทั่วไปจะไม่ทราบว่ามีความหมายถึงเนื้อหาใน พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ เนื่องจากจำเลยไม่ได้พูดถึงข้อกฎหมายใด ๆ ซึ่งประชาชนทั่วไปจะรับรู้ได้ค่อนข้างยาก

ทนายถามว่า ช่วงปลายปี 2563 ได้มีการจัดรายการทางยูทูปและสื่อโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ว่าการแก้ไขมีผลกระทบเสียหายหรือไม่อย่างไร พยานตอบว่าทราบอยู่ว่ามีการจัดรายการดังกล่าว

ทนายถามว่า ในฐานะที่พยานเป็นนักวิชาการด้านกฎหมาย มีความจงรักภักดี อยากเห็นความมั่นคงยั่งยืนของสถาบันกษัตริย์ฯ แล้วนั้น การแก้ไขการจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามที่จำเลยปราศรัย จะส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนของสถาบันกษัตริย์ในรัชสมัยต่อไปหรือไม่ พยานไม่มีความเห็น

ทนายถามว่า ในการแก้ไขกฎหมายให้ทรัพย์สินไปเป็นชื่อของพระองค์ จะเป็นทรัพย์มรดกที่ตกทอดตามกฎหมายมรดกใช่หรือไม่ พยานเบิกความว่าไม่แน่ใจ ต้องไปดูกฎหมายการจัดระเบียบทรัพย์สินด้วย ทนายถามต่อว่า ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ปี 2560 และ 2561 มีการบัญญัติไว้เกี่ยวกับเรื่องการตกทอดทางทรัพย์มรดกหรือไม่ พยานตอบว่าไม่มี ทนายจึงถามต่อว่า ในเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายมรดกหรือไม่ พยานตอบว่าไม่มีความเห็น

ทนายกล่าวว่า ตามประมวลกฎหมายอาญาที่ต้องตีความเคร่งครัด ถ้าหากมาตรา 112 จะคุ้มครองถึงมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ก็ต้องบัญญัติไว้ด้วย พยานตอบว่ามาตรา 6 วางหลักการให้กษัตริย์อยู่ในฐานะที่จะล่วงละเมิดมิได้ เป็นแม่บทกฎหมาย ทนายถามต่อว่าองค์ประกอบมาตรา 112 จะสามารถขยายองค์ประกอบความผิดไปถึงมาตรา 6 หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ใช่ แต่ยึดโยงกัน และกล่าวต่อว่ามาตรา 112 ไม่สามารถขยายองค์ประกอบความผิดไปถึงมาตรา 6 ได้ แต่เป็นการตีความองค์ประกอบภายนอกของการกระทำ มาตรา 6 ใช้ตีความประกอบภายนอกของมาตรา 112 พยานเห็นว่าสามารถวิจารณ์ได้ แต่ต้องไม่ละเมิดมาตรา 6

พยานยืนยันตามที่ทนายถามว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 6 ต้องบังคับต่อกษัตริย์ว่าจะต้องดำรงตนให้อยู่ในที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ ทนายจึงถามต่อว่า หากกษัตริย์ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์หรือตำหนิติติงให้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง โดยไม่ถือว่าเป็นการไม่เคารพสักการะใช่หรือไม่ พยานตอบว่าสามารถวิจารณ์ติติงได้ แต่ไม่สามารถการกล่าวว่าร้ายให้เสียหาย

พนักงานสอบสวนได้นำบันทึกถอดเทปคำปราศรัยมาให้พยานอ่านทั้งฉบับ และก่อนที่จะไปให้การ พยานไม่ได้อ่าน พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ และไม่เคยศึกษาวิจัยหรือเขียนตำราวิชาการเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ตอบอัยการถามติง พยานเป็นสมาชิกกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ แต่กลุ่มดังกล่าวไม่ได้มีการเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งสมาชิกกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์บางคนก็เห็นด้วยกับแนวทางการเคลื่อนไหวของจำเลย แต่บางส่วนก็ไม่เห็นด้วย และยืนยันว่าคำปราศรัยของจำเลยหมายถึงรัชกาลที่ 10

.

ณฐพร โตประยูร อายุ 70 ปี พยานเรียนจบปริญญาตรีนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จบปริญญาเอกมหาวิทยาลัยรามคำแหง นอกจากนี้ยังจบการศึกษาปริญญาอื่นอีก 13 ปริญญา

พยานเป็นผู้ร้องศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ร้องจำเลยกับพวก ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2564 วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นการล้มล้างการปกครองฯ ตามมาตรา 49 จึงมีคำสั่งให้จำเลยและกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกทำการ

เกี่ยวกับคดีนี้ พนักงานสอบสวนได้โทรศัพท์เรียกพยานให้ไปให้ปากคำเกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยมากล่าวปราศรัยที่ลานหอศิลป์ ช่วงเดือนสิงหาคม 2564 พนักงานสอบสวนได้นำบันทึกถอดเทปคำปราศรัยมาให้และอ่าน เมื่ออ่านแล้วก็พอรู้ว่าวัตถุประสงค์ของจำเลยมีแนวคิดที่จะล้มล้างการปกครอง 

พยานอ่านข้อความแล้วเห็นว่าข้อความที่ไม่ถูกต้องสมควรคือ “เราเปลี่ยนวิธีคิดของกษัตริย์แบบเดิมเป็นเจ้าชีวิต เป็นสิ่งศักดิสิทธิ์ เป็นสิ่งที่แตะต้องไม่ได้ เราก็เปลี่ยนความคิดกลายเป็นคนเท่ากัน มึงกูเท่ากัน” หลังจากอ่านแล้วพยานเข้าใจว่าจำเลยหมายถึงกษัตริย์ เป็นความคิดของจำเลยเองที่จะดูหมิ่นกษัตริย์ ที่อ้างว่ากษัตริย์เป็นเจ้าชีวิต ข้อเท็จจริงแล้วพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ไม่เคยมีแนวคิดที่จะเป็นเจ้าชีวิตใคร ส่วนคำว่าเจ้าชีวิต มันมาจากประชาชนที่เคารพยกย่องเทิดทูน

คำปราศรัยของจำเลยว่า “สถาบันกษัตริย์ได้มีการตอบโต้พวกเราอย่างรุนแรงเช่นกัน” พยานอ่านแล้วเข้าใจว่าจำเลยมีเจตนากล่าวหา สร้างข้อความอันเป็นเท็จอันไม่ปรากฏข้อเท็จจริง พระมหากษัตริย์ไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้องหรือโต้แย้งการชุมนุมทางการเมืองแต่อย่างใด

คำปราศรัยของจำเลยว่า “มีความพยายามวัดกำลังกัน มีการระดมคนใส่เสื้อสีเหลืองมาเข้าเฝ้าให้กำลังใจและวัดกันว่าใครเยอะกว่ากัน ท่านหน้าแตกไปครั้งหนึ่งแล้ว คือคนมาแค่หยิบมือ” พยานอ่านแล้วเข้าใจว่าจำเลยแสดงความเห็นที่ต้องการจะกล่าวโจมตีพระมหากษัตริย์ การที่คนเสื้อเหลืองมาเข้าเฝ้าเกิดจากความศรัทธาของประชาชนและไม่ได้เกิดในยุคนี้อย่างเดียว เกิดตั้งแต่รัชกาลที่ 9 แล้ว

คำปราศรัยของจำเลยว่า “จากเดิมนักเรียนนักศึกษาเขามีอินเตอร์เน็ต น้อง ๆ มัธยมเขามีอินเตอร์เน็ต มีเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เขาเรียนรู้กันด้วยตนเอง มีอาจารย์สอนออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ปวิน อาจารย์สมศักดิ์ และคนอื่น ๆ รัฐไทยก็พยายามยัดเยียด” พยานอ่านแล้วเข้าใจว่า กลุ่มคนที่จำเลยอ้างถึงคือกลุ่มคนที่มีแนวคิดที่จะล้มล้างการปกครองโดยเฉพาะเรื่องการสร้างความเสื่อมเสียในพระมหากษัตริย์ เรื่องที่รัฐไทยไปปิดบังก็ไม่เป็นความจริง หากมีการกระทำเป็นความผิดทางกฎหมาย เจ้าหน้าที่ของรัฐก็จะต้องปิดกั้นเป็นธรรมดา

จากการปราศรัย จำเลยหมายถึงกษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบัน ประเทศไทยปกครองโดยมีประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ในมาตรา 6 ว่าองค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ การที่จำเลยเป็นนักกฎหมายย่อมรู้ดีว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด เมื่อมีบัญญัติห้ามไว้ จำเลยยังฝ่าฝืน จึงได้มีมาตรา 112 เพื่อที่จะปกป้องประมุขของประเทศ และเป็นการใช้ทั่วไป ไม่ใช่ใช้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ตามรัฐธรรมนูญกำหนดว่าการใช้สิทธิต้องไม่กระทบสิทธิของผู้อื่น และต้องไม่กระทบต่อความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย แต่การกระทำของจำเลยเป็นการกระทบต่อความมั่นคงและสถาบันกษัตริย์

จากนั้นจำเลยเป็นผู้ถามค้านพยานปากนี้ด้วยตนเอง ณฐพรตอบจำเลยถามค้านว่า พยานเรียนจบปริญญา 13 ใบ แต่พยานไม่ได้จบเนติบัณฑิตสภาเพราะเคยสอบแต่ไม่ผ่าน พยานไม่ทราบว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 6 จะเทียบเคียงกับกฎหมายของประเทศใด 

จำเลยถามว่า ก่อนที่พยานจะมาให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวน พยานเคยศึกษาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมาตรา 6 หรือไม่ พยานตอบว่าศึกษาจากหนังสือรัฐสภาเรื่องการอธิบายที่มาและวัตถุประสงค์ของแต่ละมาตรา แต่จะเคยศึกษาจากตำรานักวิชาการท่านใดนั้นจำไม่ได้ และไม่ได้อ้างส่งตำราต่อพนักงานสอบสวน

จำเลยถามพยานว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7 ที่ระบุว่า พระมหากษัตริย์เป็นพุทธมามกะ มุ่งหมายจะบังคับใครหรือไม่ พยานไม่ขอตอบ ต่อมาจำเลยถามพยานว่าตามรัฐธรรมนูญมาตรา 8 ที่ระบุว่า กษัตริย์ทรงเป็นจอมทัพไทย มุ่งหมายจะบังคับใครหรือไม่ พยานไม่ขอตอบ และจำเลยถามพยานอีกว่า ตามความมุ่งหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 กษัตริย์จะทำตนให้เป็นที่เคารพสักการะหรือไม่ก็ได้ ใช่หรือไม่ พยานไม่ขอตอบอีกเช่นกัน

ทนายถามว่า กษัตริย์ดำรงตนเป็นที่เคารพสักการะ ตามมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีความหมายว่าจะมุ่งหมายบังคับให้กษัตริย์ทำตัวเป็นที่เคารพสักการะหรือไม่ พยานตอบว่าไม่ มาตรา 6 บัญญัติเพื่อคุ้มครองกษัตริย์ไม่ให้ถูกล่วงละเมิดโดยประชาชน ทนายจึงถามว่ากษัตริย์จะทำตนให้เป็นที่เคารพสักการะหรือไม่ก็ได้ใช่หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ

พยานทราบว่ารัฐธรรมนูญมีหลักการ The King Can do No Wrong หรือปกเกล้าไม่ปกครอง เป็นหลักในเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญ และกษัตริย์จะต้องเป็นกลางทางการเมือง พยานตอบจำเลยว่าไม่ทราบและไม่เคยได้ยินข่าวว่าหลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติแล้ว กษัตริย์ทรงสั่งให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

จำเลยถามว่าเคยได้ยินข่าวในหลวงรัชกาลที่ 10 อยู่เยอรมันหรือไม่ พยานไม่ขอตอบ จำเลยถามว่าเหตุที่ไม่ขอตอบเพราะว่ากลัวจะถูกลงโทษทางอาญาใช่หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ใช่ 

หลักการตามรัฐธรรมนูญเรื่องการปกเกล้าไม่ปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยไว้ในคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติแล้วใช่หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบ เพราะไม่ได้เชี่ยวชาญในทุกเรื่อง แต่พยานทราบว่าทูลกระหม่อมฯ เคยเป็นแคนดิเดตนายกฯ ทนายจึงถามว่าการลงสมัครนายกฯ ทำให้สถาบันกษัตริย์ไม่เป็นกลางทางการเมืองใช่หรือไม่ พยานกล่าวว่าไม่จำเป็นต้องตอบ

จำเลยถามพยานว่า หากกษัตริย์ไม่ดำรงตนอยู่เป็นกลางทางการเมือง สามารถที่จะวิพากษ์วิจารณ์ติชมได้หรือไม่ พยานตอบว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด และบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่ากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ และรัฐธรรมนูญมาตรา 50 กำหนดหน้าที่ของประชาชนคนไทยรักษาไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ กษัตริย์ ตีความรวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ แต่ไม่แน่ใจว่าจะตีความรวมไปถึงองคมนตรีด้วยหรือไม่

พยานเคยเห็นข่าวหนังสือพิมพ์ปี 2551 ที่มีเหตุการณ์ทางการเมืองกลุ่มคนเสื้อเหลืองเสียชีวิต แล้วสมเด็จพระพันปีหลวงและสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ได้เสด็จไปงานศพ แต่ไม่ทราบว่าพระองค์ทรงขอบใจผู้เสียชีวิตที่มาปกป้องสถาบันกษัตริย์หรือไม่ อีกทั้งไม่เคยได้ยินข่าวว่าในปี 2557 ที่มีกลุ่ม กปปส. ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง แล้วฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯ ถักเปียลายธงชาติ

พยานไม่แน่ใจว่าเคยได้ยินข่าวคนรุ่นใหม่ชุมนุมเรียกร้องให้รัชกาลที่ 10 กลับจากเยอรมันมาอยู่ในประเทศไทย จำเลยจึงถามพยานต่อว่า เคยได้ยินข่าวว่ากษัตริย์ไปพักอยู่ที่เยอรมันและเช่าโรงแรมในแคว้นบาวาเรีย จนสภาของบาวาเรียเปิดอภิปรายการใช้พระราชอำนาจนอกอาณาจักรหรือไม่ พยานตอบว่าไม่บังควรที่จะถามเรื่องนี้ ไม่สบายใจที่จะฟังคำถามหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะไม่มีประโยชน์เกี่ยวกับคดีแม้แต่น้อย และตอบอีกว่าพยานไม่เคยได้ยินข่าวรัชกาลที่ 10 ไปปั่นจักรยานที่เยอรมัน และไม่ทราบตามที่ถามว่ารัฐธรรมนูญของประเทศนอร์เวย์หากกษัตริย์ไม่ประทับอยู่ในประเทศเกิน 6 เดือน จะต้องสละราชสมบัติ 

พยานทราบเกี่ยวกับการล้อมรั้วพระบรมรูปทรงม้า การย้ายสวนสัตว์เขาดิน และรัฐสภาไปอยู่แห่งใหม่ และเปลี่ยนสนามม้านางเลิ้งไปเป็นสวนสาธารณะ พยานตอบจำเลยว่าไม่เคยศึกษา พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่หากจะมีการแก้ไขก็ต้องแก้ไขที่กระบวนการรัฐสภา และตามมาตรา 6 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว จึงไม่ก้าวล่วงที่จะอธิบายความหมาย

การจัดการทรัพย์สินตามพระราชอัธยาศัยจะแปลความให้เข้าใจอย่างง่ายว่าใช้ตามใจหรือไม่ พยานไม่ขอก้าวล่วง และตอบจำเลยว่าในมาตรา 6 พยานจะไม่ก้าวล่างและไม่วิจารณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น การออกกฎหมายทุกฉบับต้องผ่านสภา หากจะมีการแก้ไขก็ต้องแก้ที่สภา 

จำเลยถามพยานว่า เมื่อทรัพย์สินมีการโอนไปเป็นของส่วนตัวแล้ว ก็จะตกทอดไปตามกฎหมายมรดกใช่หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ จำเลยจึงถามต่อว่าหากทรัพย์สินตกทอดไปตามกฎหมายมรดก ทายาทโดยธรรมของรัชกาลที่ 10 ก็จะมีมากกว่าพระบรมวงศานุวงศ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันใช่หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ พยานกล่าวว่าอะไรที่ก้าวล่วงสถาบันก็จะไม่ขอตอบ

จากนั้นจำเลยจึงถามว่ารัชกาลที่ 10 โอนทรัพย์สินของราชบัลลังก์ไปเป็นของตนเองแล้วเท่าใด พยานกล่าวว่าไม่ตอบ เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน พยานจะไม่เซ็นคำให้การด้วยเพราะไม่เกี่ยวกับคำให้การของพยาน ถ้าออกสื่อไปแล้วจะเป็นอย่างไร การโอนหรือไม่โอนทรัพย์สินเป็นเรื่องที่ประชาชนไม่อาจทราบได้ และไม่มีสิทธิจะก้าวล่วง และไม่เหมาะสม

จำเลยกล่าวว่าพยานจะไม่ทราบได้อย่างไร ทั้งที่ไปแจ้งความคนรุ่นใหม่หลายคนขนาดนี้ แต่เมื่อมาเบิกความจะเลือกตอบหรือไม่ตอบบางข้อได้อย่างไร พยานตอบว่าเป็นคำถามที่หมิ่นเหม่ ตนเองให้การเพียง 4 ประเด็นตามที่ตอบอัยการไปเท่านั้น

พยานแถลงว่าไม่ประสงค์จะตอบคำถามค้านของจำเลยอีกต่อไป ขอจบคำเบิกความต่อศาลไว้เพียงเท่านี้ เนื่องจากคำถามของจำเลยหมิ่นเหม่ต่อการฝ่าฝืนกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 6 และ ป.อาญา มาตรา 112 ทำให้จำเลยแถลงว่ายังประสงค์ที่จะถามค้านอีกหลายประเด็น 

ส่วนโจทก์ประสงค์ที่จะถามติงส่วนที่จำเลยถามค้านไปแล้ว แต่จำเลยคัดค้านคัดค้านไม่ให้โจทก์ถามติง เนื่องจากพยานยังตอบคำถามค้านไม่จบ

ทั้งนี้ ศาลจดบันทึกคำถามค้านดังกล่าวเพียงบางส่วน และเมื่อพยานไม่ให้ถามต่อ การสืบพยานปากนี้จึงสิ้นสุดลง

.

พลเรือตรีทองย้อย แสงสินชัย อายุ 78 ปี พยานรับราชการอยู่ที่กองทัพเรือตั้งแต่ปี 2524 – 2548 และจบการศึกษาเปรียญธรรม 9 ประโยค เกี่ยวกับคดีนี้ พนักงานสอบสวนได้โทรเรียกให้พยานไปให้การที่ สน.ปทุมวัน เกี่ยวกับคำปราศรัยของจำเลย จากนั้นประมาณเดือน ส.ค. 2564 พยานไปพบพนักงานสอบสวน และได้ดูบันทึกคำถอดเทปคำปราศรัย ซึ่งหลังจากอ่านแล้วก็มีความเห็นอยู่ 3-4 ข้อความ ดังนี้

ข้อความแรก “คุณจุลเจิมจะกล้าพิพากษาไหมว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ไม่เคยโอนทรัพย์สินของสาธารณะไปเป็นของตัวเอง หุ้นไทยพาณิชย์ เป็นต้น” เห็นว่าจำเลยกล่าวว่ารัชกาลที่ 10 โอนเอาทรัพย์สินสาธารณะไปเป็นของส่วนพระองค์ ผู้ฟังจะรู้สึกว่าในหลวงไม่ดี และจำเลยไม่ได้นำหลักฐานมาพิสูจน์ความจริง

ข้อความที่สอง “นอกจากการตอบโต้อย่างที่ผมพูดเมื่อกี้ ในหลวงท่านยังไม่ได้มีท่าทีที่จะหยุดพฤติการณ์ที่เราเรียกร้องให้ท่านหยุด จะมีการถ่ายโอนทรัพย์สินเดิมเป็นของพวกเราที่ใช้ร่วมกันไปอยู่ในการครอบครองของตัวเอง” เห็นว่าจำเลยกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 ว่ายังไม่หยุดยั้งที่จะโอนทรัพย์สินไปเป็นของตน พยานฟังแล้วรู้สึกไม่ดี และเห็นว่าหากจำเลยไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าข้อความที่พูดเป็นความจริง ก็จะทำให้ในหลวงได้รับความเสียหาย

ข้อความที่สาม “ถ้าบริษัทสยามไบโอไซน์ ไม่ใช่คนที่ถือหุ้นใหญ่ชื่อวชิราลงกรณ ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเอาเงินภาษีเราไปอุดหนุนไหม บริษัทซึ่งมีแต่ขาดทุนไม่ได้มีประสบการณ์ในการผลิตวัคซีน้ลย ทำไมรัฐบาลจึงเอาเงินไปสนับสนุนถึง 600 ล้านบาท ถ้าบริษัทนั้นไม่ใช่ของกษัตริย์ ทำไม่ประยุทธ์ไม่นำวัคซีนที่ดีมาฉีดให้พวกเราทุกคน เหตุผลเดียวก็คือมันกลัววัคซีนของกษัตริย์ขายไม่ได้” อ่านแล้วรู้สึกว่ารัชกาลที่ 10 เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพราะฉะนั้นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงเอาทรัพย์สินของพวกเราไปอุดหนุนบริษัทนี้ ผู้ฟังจะรู้สึกว่ารัชกาลที่ 10 มายุ่งเกี่ยวกับวัคซีน บริษัทที่ผลิตวัคซีนไม่ดี หาไม่ได้ จึงต้องเอาเงินพวกเราไปอุดหนุน

ข้อความที่สี่ “เขาใจร้ายพอที่จะดูพวกเราตายข้างถนน เขาโหดเหี้ยมพอ มึงจะตาย ๆ ไป รอวัคซีนพระราชทาน มึงจะตาย ๆ ไป นี่คือความโหดเหี้ยมของเขา” พยานอ่านแล้วรู้สึกว่าเป็นการกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 ผู้ฟังจะรู้สึกว่ารัชกาลที่ 10 ไม่เอาวัคซีนมาฉีดให้ประชาชนเพื่อจะดูประชาชนตาย ต้องการที่จะบอกให้รู้ว่าท่านโหดเหี้ยม

หลังจากที่ได้อ่านข้อความทั้งหมดแล้ว เห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่สมควรที่จะกล่าวถึงในหลวงเช่นนั้น หากจำเลยไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าคำกล่าวนั้นเป็นจริง ความเสียหายก็จะเกิดขึ้นแก่ในหลวง จำเลยมีสิทธิเสรีภาพที่จะพูดได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่พยานเห็นว่าคำกล่าวนั้นไม่ถูกต้องเพราะกฎหมายบัญญัติไว้ไม่ให้ลบหลู่พระบรมเดชานุภาพ

พลเรือตรีทองย้อยตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานเคยไปให้การต่อพนักงานสอบสวนในคดีความผิดตามมาตรา 112 มาแล้วหลายคดี โดยพนักงานสอบสวนจะโทรเรียกให้พยานไปให้การ และตามบันทึกคำให้การของพยานเป็นการอธิบายสรุปโดยรวม ไม่ได้มีรายละเอียดว่ามีความผิดตามมาตรา 112 อย่างไร 

ก่อนที่จะไปให้การต่อพนักงานสอบสวนในคดีนี้ พยานไม่มีความรู้เกี่ยวกับกองทรัพย์สินของกษัตริย์ แต่เข้าใจว่าทรัพย์สินน่าจะมีสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นของพระองค์ อีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าเป็นของกษัตริย์ หากมีกษัตริย์ขึ้นครองราชย์ต่อก็จะสามารถใช้ทรัพย์สินส่วนนี้สืบทอดราชบัลลังก์ต่อไปได้ พยานเข้าใจว่าของหลวงคือของที่พระองค์มีสิทธิใช้ได้ในฐานะที่เป็นกษัตริย์ หากในหลวงองค์ต่อมาขึ้นครองราชย์ก็จะสามารถใช้ต่อได้

พยานไม่ทราบว่าจำเลยพูดถึงเรื่องการแก้กฎหมายที่ทำให้ทรัพย์สินของราชบัลลังก์ไปรวมกับทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่เป็นของส่วนตัว และไม่ทราบอีกว่านอกจากนั้นยังบัญญัติให้รัชกาลที่ 10 สามารถใช้ทรัพย์สินดังกล่าวได้ตามพระราชอัธยาศัย สามารถจำหน่ายจ่ายโอนไปให้ผู้ใดก็ได้

พยานทราบว่า แต่เดิมหุ้นไทยพาณิชย์มีชื่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของ แต่พยานไม่เคยเห็นประกาศเปลี่ยนผู้ถือหุ้นเป็นชื่อรัชกาลที่ 10 มาก่อน พยานเห็นว่าหากมีบทบัญญัติว่าเป็นสิทธิที่กษัตริย์จะทำได้ ก็ไม่เป็นความผิด

การที่จำเลยเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้จะกระทบต่อความมั่นคงยั่งยืนของกษัตริย์ในอนาคต เพราะสามารถให้กษัตริย์องค์ปัจจุบันถ่ายโอนทรัพย์สินไปเป็นของส่วนตัวได้ จะกระทบต่อความยั่งยืนนั้น พยานเห็นด้วยกับสิ่งที่จำเลยพูด แต่หากจะพูดความจริงก็ต้องอยู่ในกรอบที่เหมาะสม ไม่ใช่นำมาพูดต่อสาธารณะ

พยานเคยได้ยินในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสว่า การวิพากษ์วิจารณ์ติติงกษัตริย์สามารถทำได้ หากมีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 พระองค์จะเดือดร้อน ทนายจึงถามต่อว่า พระองค์ไม่ได้บอกว่าห้ามวิจารณ์ในที่สาธารณะใช่หรือไม่ พยานตอบว่าแม้จะไม่ได้ห้ามวิจารณ์ต่อสาธารณะ แต่ถ้าหากมีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าไม่ให้ดูหมิ่นพระบรมราชานุภาพ ก็ต้องนำมาพิจารณาว่าวิจารณ์เข้าข่ายกฎหมายนั้นหรือไม่

ทนายถามว่าการพูดความจริงจะเข้าข่ายหรือไม่ พยานตอบว่าจะต้องดูกรอบกฎหมายด้วย แต่ผู้วินิจฉัยจะต้องเป็นนักกฎหมายหรือศาล

พยานยืนยันตามเอกสารเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งต่อมาถูกเปลี่ยนเป็นชื่อในหลวงรัชกาลที่ 10 และกล่าวเพิ่มเติมว่าแต่กษัตริย์ไม่อาจตกเป็นโจทก์หรือจำเลยได้ เนื่องจากมีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 6 วรรคสอง  แต่พยานไม่ทราบตามที่ถามว่าหลักการฟ้องร้องกษัตริย์ไม่ได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 6 วรรคสอง คือควรให้สำนักงานทรัพย์สินมีชื่อเป็นเจ้าของ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงกษัตริย์ถูกฟ้องร้องหรือเป็นคู่กรณี

ทนายถามว่า การแก้ไขทรัพย์สินกษัตริย์และสุดท้ายมีการโอนทรัพย์สินในชื่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ไปเป็นชื่อรัชกาลที่ 10 เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 วรรคสองหรือไม่ พยานตอบว่าต้องพิจารณาที่ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ และตอบทนายต่อว่าจำเลยสามารถพูดถึงการแก้ไขกฎหมายที่จะส่งผลกระทบถึงสถาบันกษัตริย์ นั้นทำได้แต่ต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย

พยานตอบที่ถามว่าสถาบันกษัตริย์คือเป็นสถาบันสูงสุดในบ้านเมือง หมายถึงบุคคลในสถาบันกษัตริย์ ไม่เกี่ยวกับข้าราชบริพาร ซึ่งรวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย และพระบรมวงศานุวงศ์หมายถึงพระบรมวงศ์และพระอนุวงศ์ ซึ่งหม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล ก็ถือว่าเป็นพระอนุวงศ์ด้วย แต่ไม่ขอออกความเห็นว่าหม่อมเจ้าจุลเจิมดำรงตนอยู่เหนือการเมืองหรือไม่ 

พยานยืนยันตามคำพูดของจำเลยที่ว่า “สถาบันกษัตริย์ก็ตอบโต้เราอย่างรุนแรงเช่นกัน” ไม่ได้ระบุถึงรายละเอียดหรือยืนยันข้อเท็จจริงว่าตอบโต้เรื่องใด และไม่ทราบว่าจะมีการถ่ายโอนทรัพย์สินของหลวงไปเป็นของส่วนพระองค์มากน้อยเพียงใด และปัจจุบันในหลวงรัชกาลที่ 10 จะหยุดถ่ายโอนแล้วหรือไม่

ตามข้อความที่สาม ที่จำเลยพูดถึงบริษัทสยามไบโอไซน์ เป็นการพูดถึงการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่พยายามหาซีนให้สถาบันกษัตริย์ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ส่วนหนึ่งเป็นเช่นนั้น ทนายถามต่อว่าหากบริษัทสยามไบโอไซน์ ในหลวงไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ รัฐบาลจะนำเงินไปสนับสนุนบริษัทที่ประกอบกิจการขาดทุนหรือไม่ พยานไม่ขอตอบ แต่พยานเห็นด้วยว่าการที่รัฐบาลนำเงินไปสนับสนุนบริษัทสยามไบโอไซน์ ไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างปกติ

การที่จำเลยตั้งคำถามว่าเหตุที่รัฐบาลไม่นำเข้าวัคซีน mRNA มาฉีดให้ประชาชน เนื่องจากบริษัทสยามไบโอไซน์ผลิตวัคซีน Astrazeneca อยู่ ถ้านำเข้ามากลัวจะขายวัคซีนไม่ได้ เป็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับอุปสงค์อุปทานโดยทั่วไปหรือไม่ พยานตอบว่าสามารถตั้งคำถามได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย

พยานยืนยันตามที่ถามว่า รัฐบาลควรจะนำเข้าวัคซีนหลากหลายชนิดและบริษัท เพื่อเป็นหลักประกันให้ประชาชนในสถานการณ์โควิด แต่ไม่ทราบว่าที่รัฐบาลประยุทธ์นำเข้าเพียงวัคซีน Sinovac ส่วนอีกตัวรอบริษัทสยามไบโอไซน์ผลิต จะเป็นการผูกขาดวัคซีนโดยบริษัทสยามไบโอไซน์หรือไม่ 

ตามข้อความที่สี่ ในส่วนที่ว่า ประยุทธ์ไม่นำวัคซีนดี ๆ มาฉีดให้พวกเราทุกคนเหตุผลเดียวกันก็คือ มันกลัววัคซีนของกษัตริย์ขายไม่ได้ มีอยู่แค่นี้ เรื่องของเรื่องมันมีอยู่แค่นี้ กับการไม่นำเอาวัคซีนดี ๆ เข้ามาฉีดให้พวกเราทันที เขาใจร้ายพอที่จะดูพวกเราตายข้างถนน เขาโหดเหี้ยมพอ มึงจะตาย ๆ ไป” ในเฉพาะส่วนนี้คำว่า “เขา” หมายถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และพยานทราบว่า พล.อ.ประยุทธ์ เคยเป็นทหารเสือราชินี และการที่จำเลยกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีความแนบแน่นกับสถาบันกษัตริย์ก็เป็นเรื่องปกติ

ทนายถามว่า ระหว่างจำเลยเอากฎหมายที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แก้ไขเรื่องทรัพย์สินของสถาบันกษัตริย์มาพูดในที่สาธารณะ กับการที่ พล.อ.ประยุทธ์แก้ไขกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันกษัตริย์ การกระทำของใครที่กระทบต่อสถาบันกษัตริย์มากกว่า พยานไม่มีความเห็น

แม้พยานเห็นว่าข้อความทั้งสี่ จำเลยไม่ควรกล่าวเช่นนั้น แต่ข้อความจะเข้าข่ายตามมาตรา 112 หรือไม่ พยานไม่ใช่นักกฎหมาย ข้อความที่จำเลยพูด พยานเห็นว่าเป็นข้อความที่ควรรับฟัง และเห็นด้วยว่าเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 50 อนุ 2 ที่มีหน้าที่รักษาปกป้องทรัพย์สาธารณสมบัติของแผ่นดิน แต่ต้องแสดงออกอย่างเหมาะสม

ตอบอัยการถามติงว่า จากที่พยานตอบทนายจำเลยว่า ‘เขา’ หมายถึง รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แต่พยานตอบอัยการว่า ‘เขา’ คือรัชกาลที่ 10 พยานจึงขอตอบว่า ‘เขา’ หมายถึงทั้งสองแบบ แต่ที่ชัดที่สุดคือหมายถึงรัชกาลที่ 10 เพราะว่าเอาไปเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินส่วนพระองค์ และมีการพูดถึงรัชกาลที่ 10 มีการโอนทรัพย์สินสาธารณะไปเป็นของส่วนพระองค์

ตามบันทึกคำถอดเทปปราศรัยทั้งสี่ข้อความที่พยานให้ความเห็น ไม่มีการใช้คำว่าสถาบันกษัตริย์ แต่จะใช้คำว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 วชิราลงกรณ์​ และกษัตริย์ และข้อความที่จำเลยกล่าว การแสดงความเห็นติชมเป็นเรื่องที่ควรรับฟัง แต่ขอยืนยันว่าจำเลยแสดงออกไม่เหมาะสม การกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ไม่ควรใช้คำหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

.

กันตเมธส์ จโนภาส อายุ 42 ปี ประกอบอาชีพทนายความ จบการศึกษาระดับการปริญญาโท สาขากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เกี่ยวกับคดีนี้ พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้โทรมาขอให้พยานไปให้การเกี่ยวกับการปราศรัยของกลุ่มผู้ชุมนุม และต่อมาก็ได้ไปพบพนักงานสอบสวน จึงทราบว่าเป็นเรื่องที่กลุ่มผู้ชุมนุมพูดถึงสถาบันกษัตริย์ แล้วให้พยานดูบันทึกถอดเทปคำปราศรัยของจำเลย หลังพยานได้อ่านทั้งหมดแล้วและจับประเด็นได้ 4 ข้อความ

ข้อความที่หนึ่ง พยานอ่านแล้วเข้าใจว่า เป็นการพูดถึงรัชกาลที่ 10 ว่าอยู่เหนือประชาชน ไม่สามารถที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้ เป็นคำพูดที่จาบจ้วงสถาบันกษัตริย์ว่าควรอยู่ในระดับเดียวกันกับประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นสิ่งที่มิบังควร กษัตริย์ทรงอยู่ในตำแหน่งที่มิควรผู้ใดจะละเมิดหรือจาบจ้วงมิได้

ข้อความที่สอง พยานอ่านแล้วเข้าใจว่า ผู้พูดกล่าวหากษัตริย์ว่ามีการเอาสมบัติของแผ่นดินของส่วนรวมไปเป็นของตนเอง ซึ่งเป็นการพูดลอย ๆ ทำให้สถาบันกษัตริย์และรัชกาลที่ 10 ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติ และทำให้ประชาชนที่ได้รับฟังดูหมิ่นเกลียดชัง

ข้อความที่สาม พยานเข้าใจว่า ผู้พูดต้องการสื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่ารัชกาลที่ 10 โอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นของตนเอง เป็นการใส่ร้ายรัชกาลที่ 10 ให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชัง

ข้อความที่สี่ พยานอ่านแล้วเข้าใจว่า ผู้พูดต้องการสื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่ารัชกาลที่ 10 เป็นคนสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เอาเงินของรัฐบาลมาอุดหนุนในการซื้อวัคซีนของบริษัทซึ่งมีในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ เป็นการใส่ร้ายว่าให้มีการซื้อวัคซีนแค่เพียงจากบริษัทนี้เท่านั้น ซึ่งความเป็นจริงแล้วในขณะนั้นมีการนำวัคซีนยี่ห้อและของบริษัทอื่นเข้ามาด้วย คำพูดดังกล่าวทำให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังว่าใช้อำนาจที่มิควร

คำพูดดังกล่าวกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 เพราะมีคำว่าวชิราลงกรณ์อยู่ด้วย ซึ่งคนทั่วไปที่ได้ยินชื่อดังกล่าวก็จะรู้ทันทีว่าหมายถึงรัชกาลที่ 10 อีกทั้งพยานเคยได้ยินชื่อจำเลยจากสื่อมวลชนเกี่ยวกับการชุมนุม การเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน ปฏิรูปรัฐธรรมนูญ และการแก้ไขมาตรา 112 ให้มีความเท่าเทียมเสมอภาคกันกับบุคคลทั่วไป แต่ไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว

ในการถามค้าน จำเลยได้เป็นผู้ถามค้านด้วยตนเอง พยานเบิกความว่าได้ไปให้การในฐานะนักกฎหมาย แต่ไม่ได้มีการนำหลักฐานไปเสนอต่อพนักงานสอบสวน  พยานจำไม่ได้ว่ามาตรา 112 จะมีการแก้ไขครั้งล่าสุดและโดยใคร และไม่ทราบว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ถูกนำเค้าโครงมาจากประเทศใด อีกทั้งยังไม่ทราบเกี่ยวกับ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ปี 2560 และ 2561

เรื่องการนำเข้าวัคซีน พยานไม่มีหลักฐานการนำเข้าวัคซีนมาเสนอต่อพนักงานสอบสวน แต่ทราบจากสื่อมวลชนว่าวัคซีนยี่ห้ออื่นโดยเฉพาะ Pfizer ประเทศไทยต้องไปต่อคิวจากประเทศอื่นทั่วโลก ไม่สามารถนำเข้าได้ในช่วงเวลานั้น พยานเคยสงสัยว่าทำไมประเทศไทยไม่ไปต่อคิวซื้อวัคซีน Pfizer และ Moderna แต่ไม่ได้หาคำตอบ

ในช่วงที่พยานไปให้การก็เชื่อว่ารัฐบาลบริหารจัดการวัคซีนได้ดีแล้ว และพยานติดตามข่าวเกี่ยวกับโควิดพอสมควร และทราบจากสื่อมวลชนในช่วงเกิดเหตุว่ามีประชาชนตาย มีผู้ติดเชื้อรายวัน และหลังจากที่มีการรับวัคซีน ยอดผู้ติดเชื้อและผู้ตายก็ลดจำนวนลงเรื่อย ๆ แต่พยานไม่เคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับกลุ่มหมอไม่ทนที่ออกมาเรียกร้องให้นำเข้าวัคซีนเชื้อเป็น พยานกล่าวอีกว่าในช่วงเกิดเหตุประชาชนก็แฮปปี้กับการบริหารจัดการวัคซีน

จำเลยถามพยานว่า การนำภาษีของประชาชนไปอุดหนุนบริษัทเอกชนโดยไม่ผ่านการประมูล ประชาชนไม่มีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ หากเห็นว่าเป็นความผิดและมีตัวสัญญาเป็นหลักฐานอยู่ในมือ ก็ควรไปดำเนินคดีตามกฎหมาย ไม่ควรนำมาสู่สาธารณะ กษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญมีสิทธิจะถูกดำเนินคดีได้ แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมาย พยานจบทางด้านกฎหมายมหาชน พยานมีความเชี่ยวชาญและมั่นใจในเรื่องนี้

พยานทราบตามสื่อมวลชนว่าบริษัทสยามไบโอไซน์ เป็นบริษัทที่ขาดทุนมาโดยตลอด แต่เรื่องจริงจะเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ จำเลยถามพยานต่อว่า ประหลาดหรือไม่ที่ตัดสินใจเอาเงินภาษี 600 ล้านบาท ไปจ่ายให้บริษัทที่ขาดทุนมาตลอด พยานตอบว่า เชื่อว่าในสถานการณ์เช่นนั้นรัฐบาลคงเล็งเห็นและนำวัคซีนที่สามารถเข้ามาได้เร็วที่สุด และเป็นวัคซีนถูกรับรองจากองค์การอนามัยโลก 

จำเลยกล่าวว่า การที่รัฐเอาเงิน 600 ล้านบาท สนับสนุนบริษัทสยามไบโอไซน์ ไม่ใช่เป็นการจ้างผลิต แต่เป็นการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อการผลิต ถ้าผลิตเสร็จไม่จำเป็นจะต้องส่งมอบให้คนไทยก่อน พยานทราบหรือไม่ พยานตอบว่าไม่เคยเห็นสัญญาจึงไม่สามารถตอบได้ แต่ถ้าหากข้อเท็จจริงเป็นเช่นนั้นก็แย่

จำเลยถามพยานว่า การชุมนุมของจำเลยกับพวกในการเรียกร้องวัคซีน mRNA จนรัฐบาลนำเข้าวัคซีน mRNA มาฉีดให้กับพี่น้องชาวไทย การถูกดำเนินคดีและการติดคุกแบบนี้คุ้มหรือไม่ พยานตอบว่า วัคซีนที่นำเข้ามาก็เป็นไปตามคิวที่ได้เบิกความไปตั้งแต่ต้น รวมถึงได้รับบริจาคมาจากต่างประเทศ

จำเลยถามพยานว่า หากจำเลยไม่ปราศรัยอย่างตรงมา ว่าที่นำเข้าวัคซีนช้าเพราะเกรงใจบริษัทที่ถือหุ้นโดยรัชกาลที่ 10 พยานตอบว่าในส่วนตัวไม่สามารถตอบได้เนื่องจากไม่ใช่รัฐบาล หากนำวัคซีน Pfizer และ Moderna มาช้า พยานไม่ทราบประชาชนอาจจะตายเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ เนื่องจากไม่ได้มีวุฒิทางการแพทย์

จำเลยถามพยานว่า หลังจากที่มีการนำเข้าวัคซีน Pfizer และ Moderna แล้วใช้ได้ผล และต่อมา Astrazeneca ผลิตเสร็จ ซึ่งเลยเวลาไปแล้ว โดยเอาวัคซีนมาฉีดไขว้กันเพื่อให้ขายออกหรือไม่ พยานตอบว่าการฉีดไขว้กันจริงแต่จะเป็นไปเพราะเหตุใดก็ไม่ทราบ

ตามบันทึกถอดเทปคำปราศรัยว่า รัฐบาลนำเงิน 600 ล้านมาสนับสนุนเป็นงบประมาณที่บริษัทที่มีในหลวงรัชกาลที่ 10 ถือหุ้นอยู่ ในคำพูดดังกล่าวไม่มีคำพูดว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 สั่ง แต่พยานเข้าใจได้ว่าเป็นแบบนั้น

ขณะที่พยานไปให้การต่อพนักงานสอบสวน มีการนำเข้าวัคซีนอื่นอยู่แล้ว แต่พยานไม่ได้นำหลักฐานการนำเข้าวัคซีนอื่นมาแสดงต่อพนักงานสอบสวน

พยานเคยได้ยินเรื่องวัคซีนพระราชทาน ซึ่งจะมี 2 ชนิด คือวัคซีน Astrazeneca ของบริษัทสยามไบโอไซน์ และวัคซีนซิโนฟาร์มของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ จำเลยถามพยานว่าการที่รัฐบาลนำเงินไปสนับสนุนบริษัทซึ่งไม่ใช่ของรัฐบาล เป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่ พยานตอบว่าไม่เคยเห็นสัญญาของทั้งสองหน่วยงาน จึงไม่สามารถตอบได้ แต่พยานเห็นด้วยกับจำเลยว่าในวิกฤตโควิดครั้งนี้ รัฐบาลควรคำนึงถึงประสิทธิผลมากกว่าการเอาใจสถาบันกษัตริย์

พยานทราบว่ามีการประกาศ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ปี 2560 และ 2561 แต่ไม่ทราบในรายละเอียด ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นทรัพย์สินของราชบัลลังก์ จำเลยถามว่าหุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ได้มีการเปลี่ยนชื่อเจ้าของเป็นรัชกาลที่ 10 หากมีการตกทอด จะมีการตกทอดทางมรดกใช่หรือไม่ พยานเบิกความว่า ต้องเป็นไปตามกฎหมายทั้งมรดกและครอบครัว

จำเลยถามต่อว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้นเป็นอันตรายต่อราชบัลลังก์หรือไม่ พยานตอบว่าหากการเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามกฎหมายก็สามารถทำได้ และตอบจำเลยต่อว่าถ้าหากรัชกาลที่ 10 ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้บุคคลอื่นนอกจากราชวงศ์ ก็รับไม่ได้

พยานเห็นด้วยว่าจำเลยสามารถพูดถึงการโอนทรัพย์สินของกษัตริย์จากของราชบัลลังก์เป็นของส่วนตัว แต่จะต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย จำเลยจึงถามต่อว่าการที่จำเลยออกมาพูดและถูกดำเนินคดีติดคุกเป็นเรื่องที่คุ้มหรือไม่ พยานตอบว่า ถ้าออกมาพูดต่อสาธารณะก็ต้องเป็นไปตามกรอบกฎหมาย ส่วนจะคุ้มหรือไม่ เจ้าตัวสามารถตอบได้ดียิ่งกว่าพยาน

จำเลยถามว่า ทั้งที่รู้ความจริงว่าเรื่องนี้เป็นอย่างไร ตัวพยานจะไม่ออกมาพูดใช่หรือไม่ พยานตอบว่าสามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย และหากทางราชการจดนิติกรรมต่าง ๆ ให้ได้ ตัวพยานเองก็เชื่อว่าเป็นไปตามกฎหมาย ไม่มีเหตุผลที่พยานจะต้องออกมาวิพากษ์วิจารณ์ จำเลยถามพยานว่า ระหว่างชอบกฎหมายบ้านเมืองกับชอบธรรมพยานเลือกอะไร พยานตอบว่าต้องดูเป็นกรณี แต่โดยทั่วไปจะต้องไปด้วยกันทั้งสองอย่าง

จำเลยถามว่า การนำของราชบัลลังก์นำของสาธารณะมาเป็นของตนเองเป็นเรื่องที่ชอบธรรมหรือไม่ พยานตอบว่า ถ้าสามารถจดนิติกรรมโดยเจ้าพนักงานได้ก็ถือว่าเป็นไปตามกฎหมาย จะชอบธรรมหรือไม่แต่ก็เป็นไปตามกฎหมาย

พยานทราบว่า พระบรมรูปทรงม้ามีการล้อมรั้วเป็นเขตพระราชฐานและมีเจ้าหน้าที่เฝ้า แต่ก็ยังคงเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปสักการะ รัฐสภามีการย้ายจากสถานที่เก่าไปสถานที่ใหม่ และได้ยินข่าวว่าหมุดคณะราษฎรหายไป แต่ไม่ทราบว่าค่ายพหลพลหเสนา และค่ายจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่จังหวัดลพบุรี มีการเปลี่ยนชื่อเป็นค่ายภูมิพลและค่ายสิริกิติ์

พยานทราบว่าในปี 2563 มีการเรียกร้องให้รัชกาลที่ 10 กลับจากประเทศเยอรมันมาอยู่ประเทศไทย ซึ่งพยานก็อยากให้ในหลวงกลับมาประทับที่ประเทศไทย แต่ก็ต้องเป็นไปตามพระราชหฤทัยของพระองค์ท่านเอง ทั้งนี้พยานตอบว่าไม่ทราบว่าค่าเดินทาง ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายในการไปประเทศเยอรมันจะใช้เงินส่วนใด

จำเลยถามว่าในวันที่พยานไปให้การต่อพนักงานสอบสวน พยานพูดลอย ๆ ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าตนตอบไปตามบันทึกคำถอดเทปปราศรัยของจำเลยเท่านั้น จำเลยถามต่อว่าการเอาทรัพย์สินสาธารณะมาเป็นของตนเองเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ พยานตอบว่าไม่สามารถทำได้ แต่ถ้าทำก็ต้องว่ากันตามกฎหมาย ถ้าหากเห็นว่าในหลวงทำผิดก็ให้ไปฟ้องตามกฎหมาย

พยานตอบที่จำเลยถามว่า หลังจากในหลวงกลับมาประเทศไทย จะเห็นมีคนเสื้อเหลืองจำนวนมากมารับเสด็จ แต่จะมีการนำมาหรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่ทุกที่ที่พระองค์เสด็จก็มีคนมาเฝ้ารับเสด็จทุกที่ และไม่เคยได้ยินข่าวที่ในหลวงทรงชื่นชมพูดว่า กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ และเพิ่งจะมาเห็นวันนี้ ผู้ชายที่ในหลวงชื่นชมเป็นคนที่ออกมาต่อต้านเยาวชนคนรุ่นใหม่หรือไม่ พยานไม่ทราบ

พยานทราบว่า กษัตริย์ที่เป็นประมุขของรัฐจะต้องเป็นกลางทางการเมือง และพยานเคยได้ยินข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกมาพูดว่าในหลวงทรงมีเมตตาไม่ให้ใช้มาตรา 112  และเคยได้ยินข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ถวายสัตย์ไม่ครบ ตกประโยคสำคัญไปว่า การรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญและระบบประชาธิปไตย มีคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันพอสมควร และต่อมา พล.อ.ประยุทธ์นำภาพถ่ายลายพระหัตถ์ที่ให้กำลังใจออกมาโชว์สื่อ พยานไม่ทราบการกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์ จะเกี่ยวข้องกับการถวายสัตย์ไม่ครบหรือไม่ แต่เท่าที่จำได้จะไม่มีนายกฯ คนใดทำเช่นนี้ อีกทั้งพยานทราบข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นทหารเสือราชินี และทหารราชองครักษ์มาก่อน ปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นองคมนตรี และจากสิ่งที่ปรากฏ รัชกาลที่ 9 และ 10 ก็คงไว้พระราชหฤทัย

พยานเคยติดตามการปราศรัยของจำเลย บางเรื่องก็ชื่นชมและเห็นด้วย บางเรื่องก็ไม่เห็นด้วย เรื่องที่ชื่นชมและเห็นด้วยคือเรื่องที่เสียสละตนเองออกมาเรียกร้องชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่ได้อำนาจมาจากการรัฐประหาร 

กันตเมธส์ตอบอัยการถามติงว่า พนักงานสอบสวนให้พยานไปให้การในประเด็นเรื่องคำพูดของจำเลยที่พูดปราศรัยในวันที่ 3 ส.ค. 2564 เท่านั้น และคำปราศรัยของจำเลยจาบจ้วงเกินเลยกว่าจะทำได้ตามกฎหมาย พยานได้มาให้การต่อพนักงานสอบสวน โดยจะดูจากบันทึกถอดเทปคำปราศรัยและความเห็นทางกฎหมายเท่าที่พยานทราบ

.

ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ อายุ 47 ปี ประกอบอาชีพรับจ้าง จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สถาบันราชมงคลวิทยาเขตเพาะช่าง กรุงเทพฯ เกี่ยวกับคดีนี้ ในวันเกิดเหตุพยานไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่ได้ดูไลฟ์สดจากยูทูปที่เรียกตนเองว่าฝั่งประชาธิปไตย ต่อมาวันที่ 10 ก.ย.​ 2564 พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้เรียกพยานมาดูคลิปวิดีโอและบันทึกบันทึกถอดเทปคำปราศรัยของจำเลย พยานเห็นว่าบางข้อความอาจเข้าข่ายตามมาตรา 112 มีลักษณะโจมตีใส่ร้ายสถาบันกษัตริย์

คำปราศรัยของจำเลยว่า “เราพูดถึงการโอนงบประมาณของรัฐไปให้สถาบันกษัตริย์อย่างล้นหลามและใช้อย่างเหลือเฟือ เราพูดถึงกษัตริย์โอนเอาทรัพย์สินของหลวงไปเป็นของตน” ทำให้พยานเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 นำงบประมาณแผ่นดินไปใช้ส่วนตัว ทำให้คิดว่า การที่พูดว่าเอาภาษีของพวกเราไปใช้อย่างฟุ่มเฟือย จะทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศและประชาชนเกลียดชัง

คำปราศรัยของจำเลยว่า “ในหลวงรัชกาลที่ 10 ไม่เคยโอนเอาทรัพย์สินของสาธารณะไปเป็นของตนเอง หุ้นไทยพาณิชย์ เป็นต้น” พยานเข้าใจว่าเหมือนเป็นการแซะสถาบันกษัตริย์ว่าไม่เคยโอนเอาทรัพย์สินไปเป็นของตนเองใช่ไหม ข้อความนี้ทำให้ผู้ฟังอาจจะสับสนในข้อมูลได้ ว่ามีการโอนหรือไม่โอนกันอย่างไร ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ

คำปราศรัยของจำเลยว่า “ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ ตามพระบรมรูปทรงม้่ หลายคนที่รักศรัทธาก็ไปกราบไหว้ ไปทำกิจกรรม ไปชุมนุมตอนนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 10 ล้อมรั้วเป็นของตนเองแล้ว ไม่มีใครเถียงว่ามันเป็นทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่มันเป็นของประชาชนที่ใช้ร่วมกัน มันเป็นของสาธารณะ ไม่ใช่ของผู้ใดผู้หนึ่ง ไม่รวมถึงรัฐสภาเดิม สวนสัตว์ หรือแม้แต่สนามม้านางเลิ้ง ตอนนี้ก็ปรับปรุงไปเป็นของตนเอง” อ่านแล้วทำให้เชื่อได้ว่า รัชกาลที่ 10 เบียดบังเอาที่สาธารณะประโยชน์ไปเป็นของตนเอง ทำให้คนฟังเข้าใจและเชื่อตามนี้ 

พยานขอโต้แย้งในประเด็นแรกเรื่องสนามม้านางเลิ้ง สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่ารัชกาลที่ 10 นำไปเป็นของตนเอง โดยจะสร้างคอมเพล็กซ์ แต่สิ่งต่อมาที่ประชาชนเห็นคือการนำสนามม้านางเลิ้งไปทำเป็นสวนสาธารณะให้ประโยชน์แก่ประชาชนในกรุงเทพฯ

ในส่วนสวนสัตว์เขาดินหรือสวนสัตว์ดุสิต ก็มีเฟคนิวส์ว่ารัชกาลที่ 10 ยึดไปเป็นของตนเอง แต่ความจริงแล้วท่านทรงสร้างโรงพยาบาลให้แก่ประชาชน และลานพระบรมรูปทรงม้า ประชาชนยังสามารถเข้าไปกราบไหว้ได้ แต่ที่มีการล้อมรั้วเพราะมีม็อบที่จะไปคุกคาม ซึ่งจากข้อความที่เบิกความมาข้างต้น จำเลยหมายถึงรัชกาลที่ 10 เพราะมีการเอ่ยพระนาม

ตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานเบิกความว่า พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้โทรเรียกพยานไปให้การ โดยไม่ได้มีหมายเรียกเป็นหนังสือ เนื่องจากพยานเป็นสมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และกลุ่ม ศปปส. จะไปกล่าวโทษร้องทุกข์เกี่ยวกับมาตรา 112 ในทุกท้องที่ที่มีม็อบจาบจ้วงสถาบันกษัตริย์ ไม่แปลกที่พนักงานสอบสวนจะมีเบอร์โทรของสมาชิกกลุ่ม ศปปส. 

หลังจากที่ให้พยานดูรายชื่อบัญชีพยานโจทก์และถามว่ารู้จักใครบ้าง จะมีรายชื่อบุคคลใดอยู่ในกลุ่ม ศปปส. หรือกลุ่มปกป้องสถาบันบ้างหรือไม่ พยานไม่ขอตอบ ทนายถามหลายครั้ง ทุกครั้งพยานจะไม่ขอตอบ 

พยานมาให้การต่อพนักงานสอบสวนในฐานะที่เป็นประชาชน ไม่ได้มีสาเหตุโกรธเคืองกันส่วนตัว และตอบทนายต่อว่า คดีมาตรา 112 ก็ไม่ใช่คดีทางการเมือง และที่จริงแล้วก็เป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง อย่านำไปเหมารวมเป็นคดีทางการเมือง ในความคิดเห็นทางการเมืองเราไม่เห็นต่างกันมาก แต่จำเลยมีความคิดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันกษัตริย์ ซึ่งพยานเข้าใจว่าจำเลยอยู่ในกลุ่ม “สามนิ้วสามกีบ และกลุ่มล้มเจ้า”

พยานไม่ได้ให้ความเห็นด้วยความคิดที่ว่าจำเลยเป็น “คนล้มเจ้า” เนื่องจากคดีที่จำเลยเคยว่าความและพยานเป็นผู้กล่าวโทษ บางคดียังยกฟ้อง และในบางข้อความและบางความเห็น พยานก็ยังเห็นค้านจากอัยการ พยานให้การโดยสุจริต ไม่มีอคติ

พยานตอบทนายว่าไม่ได้เป็นคนนิยมความรุนแรง แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ซึ่งกลุ่ม ศปปส. เป็นเช่นนั้น ทนายจึงให้พยานดูภาพถ่ายที่สายน้ำถูกกลุ่ม ศปปส. ทำร้ายร่างกายชกหน้าที่สนามหลวงจนเลือดอาบ พยานได้อธิบายว่าก่อนวันดังกล่าว ศปปส. ได้ประกาศเชิญชวนรับเสด็จ ก่อนที่จะเสด็จ สายน้ำได้เดินเข้าไปในเส้นทางขบวนเสด็จโดยไม่ผ่านจุดคัดกรอง ทำให้ต้องสกัดกั้นเพื่อไม่ให้ไปขวางขบวนเสด็จ จึงเกิดการชกต่อยกัน ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว 

พยานยืนยันตามข่าวอานนท์ กลิ่นแก้ว โพสต์ไลฟ์สดขู่เอาชีวิตนักกิจกรรมประชาชนถ้าไม่ยอมรับกระบวนการศาล และกล่าวว่าเป็นข่าวของประชาไท ซึ่งสำนักข่าวนี้จะลงข่าวบิดเบือนกลุ่ม ศปปส. มาตลอด ต่อมาทนายให้พยานดูข่าวที่มีการทำร้ายคนเห็นต่าง พยานกล่าวว่าไม่ใช่การกระทำของกลุ่มตน เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดที่หน้าหอศิลป์ ถึงแม้ว่ากลุ่ม ศปปส. จะไปที่หน้าหอศิลป์ด้วยก็จะใส่เสื้อสัญลักษณ์ของกลุ่ม

ในวันที่ 15 ต.ค. 2566 เหตุการณ์ที่หน้าศาลอาญา จะมีภาพและวิดีโอของพยานถือท่อนเหล็กปรากฏอยู่ แต่พยานไม่ได้ฟาดโดนใคร หากฟาดโดนใครในวันนั้นจะต้องมีคนไปแจ้งความดำเนินคดีแล้ว และกล่าวว่าทนายส่งเหตุการณ์ต่อศาลในวันนั้นไม่ครบ ซึ่งมีเหตุการณ์ก่อนหน้าประมาณ 3 ชั่วโมง

ก่อนที่จะไปให้การ พยานไม่ทราบและไม่เคยเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ มาก่อน ทนายถามต่อว่าในการที่จำเลยพูดเรื่องการโอนทรัพย์สิน ก็เป็นการที่จำเลยเอาสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกกฎหมายฉบับนี้มาพูด ถ้าการโอนทรัพย์สินเป็นไปตามกฎหมาย ก็ไม่เป็นความเท็จใช่หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ

พยานไม่ทราบว่าจะมีการโอนทรัพย์สินไปกันจริงตามที่จำเลยพูดหรือไม่ ทนายถามว่าหากรู้ว่ามีการโอนไปจริงตามที่จำเลยพูด ความเห็นของพยานจะเปลี่ยนไปหรือไม่ พยานไม่ขอตอบ ทนายจึงถามต่อว่าข้อความที่จำเลยพูดไม่มีส่วนใดที่เป็นเท็จใช่หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ

พยานกล่าวว่าสนามม้านางเลิ้งนำไปเป็นสวนสาธารณะ ประชาชนยังใช้ร่วมกันได้ สวนสัตว์ดุสิตก็ถูกสร้างเป็นโรงพยาบาล ประชาชนก็สามารถเข้าไปรักษาได้ ทนายถามว่าการเป็นที่สาธารณะและโรงพยาบาล ประชาชนจะใช้ร่วมกันหรือไม่ และที่ประชาชนใช้ร่วมกันได้ไม่จำเป็นต้องที่สาธารณะเสมอไปหรือไม่ พยานไม่ขอตอบ

พยานกล่าวว่าตนเป็นประชาชนคนไทย และทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 50 อนุ 2 มีหน้าที่ดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดินและของชาติ

ทนายกล่าวว่าจำเลยพูดด้วยความเป็นห่วงต่อสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกกฎหมายทำให้สาธารณสมบัติของแผ่นดินไปเป็นของส่วนพระองค์ และถามว่าพยานเป็นห่วงและได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อดูแลสาธารณสมบัติส่วนนี้หรือไม่ พยานตอบว่าหากจำเลยก็ต้องไปตรวจสอบที่รัฐบาล ไม่ใช่มาตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ ทนายจึงถามต่อว่า กฎหมายที่ให้โอนทรัพย์สินสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปเป็นของส่วนพระองค์ ส่งกระทบต่อกษัตริย์มากกว่าคนที่ออกมาพูดใช่หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ

ตามที่จำเลยพูดว่ามีการโอนงบประมาณของรัฐไปให้สถาบันกษัตริย์อย่างล้นหลาม พยานไม่ทราบว่าในแต่ละปีรัฐบาลจะให้งบประมาณเท่าใด หรือจะมากกว่างบบริหารจัดการวัคซีนในช่วงโควิดหรือไม่ 

ทนายถามว่า ในฐานะพยานเป็นผู้ปกป้องสถาบัน ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะออกกฎหมายที่กระทบต่อสถาบันกี่ฉบับ ก็จะมีหน้าที่ไปตรวจสอบด้วยหรือไม่ พยานตอบว่าไม่ใช่หน้าที่ในการตรวจสอบทุกมาตรา  ตามรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าประชาชนจะต้องทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 50 อนุ 2 ประชาชนจะอยู่เฉย ๆ ก็ได้ ก็จะไม่ถูกจับ ทนายจึงถามว่าหากมีคนออกมาพูดด้วยข้อเท็จจริงจะถูกจับหรือไม่ พยานไม่ขอตอบ

ทนายถามว่า หากมีคนตรวจสอบว่ามีกฎหมายกระทบต่อสถาบันกษัตริย์และออกมาพูดเพื่อให้มีการแก้ไขให้กลับไปเป็นเหมือนเดิมในโบราณราชประเพณี เป็นเรื่องที่จะควรทำได้หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ เพราะไม่รู้กฎหมาย แต่ถ้าหากรู้ก็เป็นเรื่องของอนาคต ไม่ขอตอบ

ทนายถามเกี่ยวกับ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ปี 2560 มาตรา 10 วรรคสอง บัญญัติว่า ให้ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินและทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 และที่แก้ไขเพิ่มเติมที่มีอยู่ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้เป็นทรัพย์สินส่วนกษัตริย์ฯ ตามพระราชบัญญัตินี้ 

และในมาตรา 6 บัญญัติว่า การจัดการ การดูแลรักษา การจัดหาผลประโยชน์ และการดำเนินการอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินฝ่ายกษัตริย์ฯ ให้เป็นไปตามราชอัธยาศัย กฎหมายเขียนไว้แบบนี้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าเขียนไว้ตามนั้น แต่ไม่ขอตอบเพราะไม่รู้ อ่านแล้วยังไม่เข้าใจ จะต้องศึกษาก่อน

เจ้าพนักงานตำรวจให้พยานอ่านบันทึกถอดเทปคำปราศรัย แล้วให้พยานให้ความเห็นใน 3 ข้อความที่พยานติดใจ ส่วนเนื้อหาอื่นพยานไม่ติดใจ และตอบทนายอีกว่าเคยไปแจ้งความมาตรา 112 ต่อกลุ่มผู้ชุมนุมตามมาแล้วกว่า 20 คดี

ระพีพงษ์ตอบอัยการถามติงว่ากลุ่ม ศปปส. ก่อตั้งเมื่อปี 2563 เนื่องจากมีกลุ่มผู้ชุมนุมได้ชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง แต่ที่จริงแล้วเป็นการเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ การสร้างกลุ่ม ศปปส. ไม่ได้สร้างมาเพื่อมุ่งโจมตีใคร ถ้ากลุ่มนั้นไม่ก้าวล่วงและไม่โจมตีสถาบันกษัตริย์ และตอบว่าคำปราศรัยของจำเลยไม่ได้มีการอธิบายข้อกฎหมายตามที่ทนายถาม

.

บันทึกการสืบพยานจำเลย

อานนท์ นำภา จำเลยอ้างตัวเองเป็นพยาน พยานจบปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ เป็นทนายความสิทธิมนุษยชนมาตลอด เคยทำคดีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและคดีมาตรา 112 อีกหลายคดี เคยได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนของประเทศเกาหลีใต้ 

เกี่ยวกับคดีนี้ หลังจากที่พยานได้รับการปล่อยตัวจากทุกศาล ได้เกิดปัญหาวิกฤตการณ์การจัดการวัคซีนโควิด รวมทั้งความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงนั้น กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) รวมทั้งองค์กรภาคีอื่น ๆ ก็ได้เชิญพยานไปพูดบนเวที

โปสเตอร์ที่ประกาศเชิญชวนจะปรากฏโลโก้ของกลุ่มที่จัด ซึ่งไม่ปรากฏว่าพยานมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้จัด ดังนั้น กลุ่มผู้จัดจะขออนุญาตจัดชุมนุมหรือใช้เครื่องขยายเสียงหรือไม่ พยานไม่ทราบและไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะถ้าหากพยานเป็นผู้จัดชุมนุมก็จะโพสต์ว่าเป็นผู้จัด และประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ และกลุ่มแพทย์อาสามาช่วยดูแลการชุมนุม 

หลังจากที่กลุ่ม DRG โพสต์เชิญชวนชุมนุมในวันที่ 2 ส.ค. 2564 เวลา 14.22 น. พยานก็โหลดเอาโปสเตอร์มาโพสต์ในเฟซบุ๊กของตนเองในเวลา 14.28 น. ซึ่งผู้กล่าวหาเห็นโพสต์ของกลุ่ม DRG ไม่ใช่ของพยาน

ในวันเกิดเหตุพยานเดินทางไปถึงเวทีปราศรัยประมาณ 17.30 น. พยานและผู้ชุมนุมก็ใส่หน้ากากอนามัยและรักษาระยะห่างระหว่างกัน หลังจากที่พยานปราศรัยเสร็จก็กลับบ้านทันที ซึ่งตามภาพถ่ายในสำนวนทั้งหมดก็ไม่ปรากฏว่าพยานไปคลุกคลีกับผู้ใด

ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 15 ข้อ 3 ที่ระบุว่า ห้ามมิให้มีการชุมนุมในสถานที่แออัดหรือกระทำการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย กล่าวคือข้อกำหนดใช้คำว่า ‘สถานที่แออัด’ อีกทั้งศาลอาญาและศาลจังหวัดอุดรธานีเคยมีคำพิพากษาโดยวินิจฉัยว่า ‘สถานที่’ หมายถึง สถานที่แออัด ไม่ใช่จำนวนผู้คนที่แออัด ซึ่งพยานเห็นว่าสถานที่เกิดเหตุเป็นที่โล่ง ไม่แออัด

ตามคำฟ้องที่โจทก์บรรยายว่า สถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์รวมทางจิตใจคนไทยทั้งชาติ และ คนไทยทุกคนล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ มีความจงรักภักดีและเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ พยานเห็นว่าเป็นการบรรยายฟ้องที่ประจบประแจงเกินจริง ความจริงคนไทยจำนวนมากก็ตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ด้วยความเคารพ แต่ก็จะถูกคนที่รักสถาบันกษัตริย์แบบไม่ลืมหูลืมตากล่าวหาว่าเป็นพวกล้มเจ้า จนหลายคนถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และต้องลี้ภัยทางการเมือง

พยานเชื่อว่าการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างตรงไปตรงมาจะทำให้สิ่งที่เราวิจารณ์ปรับตัวให้ดีขึ้นได้ ขณะเดียวกันถ้าหากชื่นชมอย่างเดียว ก็จะทำให้สิ่งที่เราชื่นชมไม่เห็นข้อบกพร่องของตนเอง และจะนำไปสู่ความเสื่อมในที่สุด

การวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา ไม่ได้เกี่ยวกับตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ เพราะมาตรา 6 บังคับต่อองค์พระมหากษัตริย์ ว่าจะต้องดำรงตนให้เป็นที่เคารพสักการะ หมายความว่า ตราบใดที่กษัตริย์ดำรงตนเป็นที่เคารพสักการะ ประชาชนจะละเมิดมิได้ หมายถึงฟ้องร้องและกล่าวหาไม่ได้ ในทางกลับกันถ้ากษัตริย์ไม่ทรงดำรงตนตามมาตรา 6 ประชาชนก็มีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ 

การที่สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการวิพากษ์วิจารณ์หรือติชม คือการที่สถาบันกษัตริย์ต้องไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมือง หรือปกเกล้าไม่ปกครอง ประชาชนก็ไม่มีสิทธิกล่าวหาวิพากษ์วิจารณ์หรือฟ้องร้อง ความหมายของมาตรา 6 เป็นเช่นนั้น 

คำปราศรัยตามคำฟ้อง “เราเปลี่ยนวิธีคิดของกษัตริย์จากเดิมเป็นเจ้าชีวิต เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นสิ่งที่แตะต้องไม่ได้ เราก็เปลี่ยนความคิดกลายเป็นคนเท่ากัน มึงกูเท่ากัน …” พยานพูดถึงการเปลี่ยนความคิดของคนในสังคม หลังจากการปฏิวัติ 2475 เป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ความคิดเดิมที่กษัตริย์เป็นเจ้าชีวิตก็เปลี่ยนไป

เจตนาในการพูดของพยาน คือสถาบันกษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยโดยรวม ซึ่งคำปราศรัยของพยานเกี่ยวกับเรื่องรัฐไทย โจทก์ก็ไม่ได้นำมาบรรยายในฟ้อง และตามคำฟ้องไม่มีคำปราศรัยที่ระบุว่ากษัตริย์อยู่เบื้องหลังสั่งการหรือสนับสนุนให้รัฐหรือประชาชนมาตอบโต้กับอีกฝ่าย ที่พยานพูดถึงหมายถึงองค์รวมของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งมีหลายบุคคลรวมอยู่ในนั้น หากพยานจะวิจารณ์กษัตริย์โดยตรงก็จะใช้คำว่ารัชกาลที่ 10 หรือระบุชื่อว่า วชิราลงกรณ์

คำปราศรัยตามคำฟ้อง “ท่านหน้าแตกไปครั้งหนึ่งแล้ว คือคนมาแค่หยิบมือ ไม่เป็นไร ท่านก็ยังไปต่อ… สุดท้ายหน้าแตกเป็นครั้งที่สอง น้องมัธยมชูสามนิ้วกันหมด” พยานหมายถึงรัชกาลที่ 10 พยานไม่ได้กล่าวหาว่ารัชกาลที่ 10 ไประดมคนมา แต่เมื่อมีภาพว่าคนมาไม่มากพอ คนที่รู้สึกใจแป้ว หน้าแตก ก็คือรัชกาลที่ 10 

ในกรณีนี้มีหลักฐานเอกสารราชการหลุดออกมา ว่าหน่วยงานรัฐเกณฑ์คนไปเข้าเฝ้ารับเสด็จ มีภาพข่าวขนคนใส่รถบรรทุกขยะไปรับเสด็จอย่างชัดเจน รวมทั้งมีการพยายามยัดเยียดความคิดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ให้นักเรียนมัธยม โดยให้ทหารไปอบรม แต่ก็ถูกต่อต้านโดยการชูสามนิ้วใส่ 

คำฟ้องของอัยการที่ว่า มิได้ทรงตนอยู่เหนือการต่อสู้ขับเคลื่อนทางการเมือง ทรงอยู่เบื้องหลังสั่งการ หรือสนับสนุนให้ภาครัฐ และประชาชนอีกกลุ่มซึ่งไม่ได้มีทัศนคติทางการเมืองตรงกันกับกลุ่มของจำเลย เข้าตอบโต้ต่อสู้กับกลุ่มของจำเลยอย่างรุนแรง พยานไม่ได้มุ่งหมายที่จะปราศรัยให้คนเข้าใจเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม พยานเห็นว่าอัยการบรรยายถูกข้อหนึ่ง คือพยานเห็นว่าสถาบันกษัตริย์ไม่ได้อยู่เหนือการต่อสู้ทางการเมือง พยานมีหลักฐานว่ากลุ่ม ศปปส. ที่ไปแจ้งความและเป็นพยานในชั้นศาลหลายคดี รวมถึงไปขัดขวางการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ เขาอ้างว่ามีการเซ็นให้กำลังใจบนธงของกลุ่ม ศปปส. ซึ่งกลุ่ม ศปปส. นำมาเคลื่อนไหวปกป้องสถาบันฯ

นอกจากนั้น กลุ่ม ศชอ. ที่ไปแจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 ก็จะถือป้ายสีเหลือง เมื่อค้นคว้าหาข้อมูลก็พบข่าว พระราชินีเขียนให้กำลังใจคนกลุ่มนี้ โดยในข่าวปรากฏภาพผู้กล่าวหาในคดีนี้ และแน่งน้อย พยานในคดีนี้อยู่ด้วย อีกทั้งสมาชิก ศปปส. ก็มาเป็นพยานในคดีนี้ด้วย อาจมีคนโต้แย้งว่าท่านอาจจะไม่ทราบข่าวสารบ้านเมือง แต่เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2563 มีชายคนหนึ่งไปรับเสด็จ พระราชินีก็เดินไปหาและพูดว่า “คนนี้ไปยืนชูป้ายกลางผู้ประท้วง ขอบคุณมาก ๆ เราจำได้ ขอบคุณมาก ๆ เป็นกำลังใจให้” จากนั้นในหลวงรัชกาลที่ 10 ก็พูดว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” ซึ่งจะเห็นได้ว่าท่านรู้ข่าวสารบ้านเมือง

คำปราศรัยตามคำฟ้อง “เราเรียกร้องให้ในหลวงเสด็จกลับมาอยู่ในไทย ไม่ต้องไปอยู่ที่เยอรมัน …” เป็นความจริง คือหลังจากที่ขึ้นครองราชย์ รัชกาลที่ 10 ก็ไปอยู่เยอรมันจริง สภาเยอรมันก็มีการอภิปรายตั้งคำถามว่า มีการใช้อำนาจนอกราชอาณาจักรหรือไม่ หรือมีการออกคำสั่งที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศเยอรมันหรือไม่ 

การที่พยานพูดเรื่องดังกล่าวมีเหตุมาจากก่อนที่จะขึ้นครองราชย์ รัชกาลที่ 10 ทรงอยู่ที่เยอรมัน ระหว่างนั้นรัชกาลที่ 9 ทรงป่วยหนักอยู่ ต่อมา เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 มีการลงประชามติผ่านร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้น นายกฯ ได้นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ แต่รัชกาลที่ 9 ยังไม่ทันได้ลงพระปรมาภิไธย ก็สวรรคตไปเสียก่อน 

กระทั่งต้นปี 2560 รัชกาลที่ 10 ก็ไม่ได้ลงพระปรมาภิไธยร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว แต่ให้นายกฯ นำกลับไปแก้ไขใน 2-3 ประเด็น เช่น แก้ว่าเมื่อกษัตริย์ไม่อยู่ในประเทศไม่ต้องตั้งผู้สำเร็จราชการฯ และมีการแก้เกี่ยวกับส่วนราชการในพระองค์ 

ผลจากการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็คือ ช่วงปี 2560 – 2563 กษัตริย์ไม่ได้อยู่ในประเทศเป็นหลัก แต่ไปอยู่ที่แคว้นบาวาเรียของเยอรมัน และมีการออกกฎหมายขยายพระราชอำนาจคือ 1. พ.ร.บ.ส่วนราชการในพระองค์ 2. พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ปี 2560 3. พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ปี 2561 และ 4. พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลไปเป็นส่วนราชการในพระองค์

เหตุผลที่พยานต้องพูดเรื่องการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญหลังผ่านประชามติแล้ว เพราะเป็นการขัดต่อหลักประชาธิปไตย ซึ่งประชาชนเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ การสั่งให้แก้ไขส่งผลตามมาอีกหลายประการ อย่างเช่น เมื่อกษัตริย์อยู่ต่างประเทศ การลงพระปรมาภิไธยหลาย ๆ เรื่องก็จะล่าช้า มีอยู่ปีหนึ่งงบประมาณไม่สามารถอนุมัติได้ทัน ผู้พิพากษาต้องเลื่อนเวลาเข้าเฝ้าก่อนเข้ารับตำแหน่ง 

คำปราศรัยของพยานที่ว่า “เราพูดถึงการที่กษัตริย์โอนเอาทรัพย์สินของหลวงไปเป็นของตัวเอง ทำให้พวกเราโดนคดีหลายคน สถาบันก็ยังอยู่เหมือนเดิม คือยังไม่ยอมปรับตัว…” เป็นความจริง เพราะมีการตรากฎหมายซึ่งก็คือ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ 2 ฉบับ ทำให้ทรัพย์สินซึ่งเดิมเป็นของราชบัลลังก์ถูกโอนไปเป็นของกษัตริย์ในนามส่วนตัวทั้งหมด ซึ่งพยานเห็นว่าไม่ใช่การออกกฎหมายจากรัฐบาล เพราะกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากการรัฐประหาร 3 วาระรวด ถ้าหากกษัตริย์ไม่เห็นด้วยก็ยับยั้งโดยการไม่ลงชื่อได้ แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการยับยั้ง

อีกทั้งหลังกฎหมายผ่าน ก็มีการโอนทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินฯ ไปเป็นของส่วนตัวหลายอย่าง เช่น หุ้น ไทยพาณิชย์, หุ้นปูนซีเมนต์ไทย รวมทั้งมีการเปลี่ยนสภาพ เช่น ย้ายสวนสัตว์ดุสิต, ล้อมรั้วลานพระบรมรูปทรงม้า, เปลี่ยนแปลงสนามม้านางเลิ้ง และการทำลายมรดกของคณะราษฎร เช่น การที่หมุดคณะราษฎรถูกขุดและเปลี่ยนเป็นหมุดหน้าใส, การเปลี่ยนชื่อค่ายพระยาพหลฯ และค่ายจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นค่ายภูมิพลและค่ายสิริกิติ์, การทำลายอนุสาวรีย์ปราบกบฏที่แยกบางเขน เป็นการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้ลืมคณะราษฎร

แม้หลายคนมีความเห็นว่า รัฐสภาเดิม, สนามม้านางเลิ้ง ฯลฯ ถูกนำไปสร้างเป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนใช้ร่วมกัน แต่ความเป็นเจ้าของถูกเปลี่ยนมือไปแล้วตามกฎหมาย นั่นคือจะหวงห้ามเมื่อไหร่ก็ได้และจะตกทอดเป็นมรดกไป ซึ่งจะทำให้ทรัพย์สินที่เป็นของสาธารณะหดหายไปในอนาคต

ความน่ากังวลคือ เมื่อทรัพย์สินที่เป็นของราชบัลลังก์ทั้งหมดเป็นของส่วนตัวไปแล้ว เราก็จะไม่มีทรัพย์สินของราชบัลลังก์หลงเหลืออยู่ และทรัพย์สินเหล่านั้นจะตกทอดไปยังทายาทโดยธรรม ซึ่งรัชกาลที่ 10 ก็มีทายาทหลายคน หรือจะทำพินัยกรรมมอบให้ใครอื่นอีกก็ได้ 

ถ้าหากโจทก์นำ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ปี 2560 และ 2561 มาพิจารณาประกอบดุลพินิจในการสั่งฟ้อง คำสั่งก็จะต้องเปลี่ยนแปลงไป เพราะว่ามันเป็นความจริงที่น่ากระอักกระอ่วน ไม่มีใครกล้าออกมาทักท้วง พยานจึงต้องออกมาทักท้วงเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ให้ทรัพย์สินกลับไปเป็นของราชบัลลังก์เหมือนเดิม เมื่อกษัตริย์พระองค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ก็จะมีราชสมบัติ สังคมไทยก็จะมีสถาบันกษัตริย์ต่อไป การรักษาไว้ซึ่งทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน

ตามคำฟ้องของอัยการที่บรรยายว่า คำปราศรัยของพยานทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติและภาพลักษณ์ พยานเห็นว่า หากจะมีการเสื่อมเสียพระเกียรติ ก็ไม่ได้เป็นเพราะพยานหรือคนอื่นออกมาพูดความจริง

คำปราศรัยตามคำฟ้อง “คุณจุลเจิมจะกล้าพิพากษาไหมว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 ไม่เคยโอนเอาทรัพย์สินของสาธารณะไปเป็นของตนเอง หุ้นไทยพาณิชย์ เป็นต้น…” พยานเห็นว่า แม้แต่ราชนิกุลที่สนิทก็ยังไม่กล้าออกมาพูดความจริงเรื่องนี้ ก็เท่ากับว่าคนที่รักสถาบันกษัตริย์ทำให้ทรัพย์สินของสถาบันกษัตริย์ลดน้อยถอยลง เพราะไม่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ แต่คนที่ออกมาตักเตือนกลับถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ส่วนคนไม่กล้าออกมาวิจารณ์ก็กลับเป็นผู้สนับสนุนให้ใช้มาตรา 112 และทำให้กระบวนการยุติธรรมปิดปากคนที่ออกมาพูดความจริง

คำปราศรัยตามคำฟ้อง “ประยุทธ์เชื่อว่าห้อยพระดีมีชื่อว่าสถาบันกษัตริย์…” เป็นความจริง เพราะหลังจากที่  พล.อ.ประยุทธ์ สาบานตนไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ จนมีคนวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง แทนที่จะไปสาบานตนให้ครบแต่ก็กลับนำข้อความของรัชกาลที่ 10 มาอ้างว่า ทรงให้กำลังใจในการทำงานแล้วก็ถือว่าจบไป ความแน่นแฟ้นระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประยุทธ์ก็เป็นความจริง ประยุทธ์เติบโตมาจากทหารเสือราชินี รับใช้พระราชินีในรัชกาลที่ 9 มาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรีในรัชกาลที่ 10 

คำปราศรัยตามฟ้องที่ว่า “ถ้าบริษัทสยามไบโอไซน์ไม่ใช่คนที่ถือหุ้นใหญ่ ชื่อ วชิราลงกรณ์ ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเอาเงินภาษีเราไปอุดหนุนไหม..” นั้น เป็นเรื่องวัคซีนซึ่งเป็นหัวใจหลักในการปราศรัยในวันดังกล่าว

ตอนแรกที่กลุ่ม DRG มาขอให้ปราศรัย พยานปฏิเสธเพราะเกรงจะถูกถอนประกัน ไม่อยากติดคุกอีก แต่ก็ตัดสินใจปราศรัยเพราะเห็นว่าช่วงนั้นโควิดระบาด มีคนตายรายวัน คนไข้ไม่มีเตียง ก็เป็นผลมาจากรัฐบาลจัดการวัคซีนผิดพลาด เพราะต้องการเอื้อประโยชน์ในทางธุรกิจ โดยการนำเงิน 600 ล้านบาท ไปสนับสนุนบริษัทสยามไบโอไซน์โดยไม่ผ่านการประมูล อีกทั้งรัฐบาลต้องการให้เกิดภาพวัคซีนพระราชทานมาคลี่คลายสถานการณ์ 

แต่ในความเป็นจริงแล้วโรคระบาดไม่สามารถรอกันได้ ไม่มีการจองวัคซีนดี ๆ เพราะต้องรอวัคซีนจากสยามไบโอไซน์ ระหว่างที่รอก็นำวัคซีนซิโนแวคที่จีนบริจาคให้มาใช้ ซึ่งไม่ได้ผลในการต่อต้านโรคโควิด และก็อดทนดูคนตายรายวัน พยานจึงเห็นว่าจำเป็นต้องออกมาพูดความจริงอย่างตรง ๆ รัฐบาลอยากให้ซีนกับสถาบันกษัตริย์ว่าทรงมีเมตตา ขณะเดียวกันก็ให้ผลประโยชน์ 600 ล้านด้วย ทั้งที่รู้ว่าบริษัทนี้ไม่มีประสิทธิภาพในการผลิตวัคซีน

ก่อนหน้านั้นมีกลุ่มหมอไม่ทนออกมาเรียกร้องให้มีการนำเข้าวัคซีนเชื้อเป็น แต่รัฐบาลก็ไม่ได้นำเข้าอย่างจริงจัง จนเมื่อกลุ่ม DRG มาขอให้พูด เพราะเห็นว่าพยานเป็นคนพูดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา แต่หลังจากที่พูดพยานก็ถูกศาลอาญากรุงเทพใต้ถอนประกันเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 หลังจากที่พยานปราศรัยและมีคนรุ่นใหม่ช่วยกันกดดัน ทำให้มีการนำเข้าวัคซีนเชื้อเป็นมาฉีดให้กับประชาชน พยานเห็นว่าเป็นการติดคุกที่คุ้มค่า 

แต่ความพยายามในการสร้างซีนให้กับสถาบันกษัตริย์ไม่ได้หยุดแค่นั้น สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้ไปนำเข้าวัคซีน Sinopharm ซึ่งในทางกฎหมายไม่สามารถทำได้ แต่รัฐบาลสั่งแก้กฎหมายในตอนเช้าและสั่งซื้อวัคซีนในตอนบ่าย มีการแจกจ่ายไปให้เอกชนโดยหักเอาไว้ 10% นำไปให้ประชาชน และบอกว่าเป็นวัคซีนพระราชทาน

อย่างไรก็ตามเมื่อสยามไบโอไซน์ผลิตวัคซีน Astrazeneca ออกมา ก็มีแนวคิดเอาไปไขว้กับวัคซีนอื่นเพื่อให้ขายออก พยานออกมาพูดเรื่องวัคซีนเพื่อให้เกิดการนำเข้า และให้เห็นความจริงว่าเหตุที่ล่าช้าเพราะอะไร อาจจะกระทบกับสถาบันกษัตริย์บ้าง แต่ก็เป็นความจริง

พยานไม่คิดว่า รัชกาลที่ 10 ต้องการเงิน 600 ล้านบาท หรือสั่งให้ประยุทธ์เอาเงินมาให้ แต่เกิดจากภาครัฐต้องการสร้างซีนให้สถาบันกษัตริย์มีความเมตตา แต่ในสภาวะฉุกเฉินที่มีการระบาดอย่างหนักเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะเป็นการล้อเล่นกับความเป็นความตายของคน

ข้อความที่นำมาฟ้องในคดีนี้ทั้งหมด ไม่มีพยานโจทก์ปากใดเบิกความยืนยันว่าเป็นข้อความเท็จ ในขณะเดียวกันก็มีพยานโจทก์หลายปากที่กระอักกระอ่วนที่จะพูดถึงเป็นความจริง เช่น ปฏิเสธการเบิกความ ไม่ตอบ หรือหนีกลับบ้าน เจตนาของพยานในการออกมาพูดมี 2 ส่วน ส่วนแรกเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ว่า 1 ปีที่ผ่านไปนั้นเป็นอย่างไรบ้าง และส่วนที่ 2 เรียกร้องให้มีการนำเข้าวัคซีน โดยชี้ปัญหาว่าทำไมถึงล่าช้า 

ปัญหาของมาตรา 112 ก็เป็นตามที่ปราศรัย การพูดความจริงก็ถูกตีความให้เป็นความผิด คนที่ต้องการให้ราชสมบัติคงอยู่ก็ถูกฟ้องว่าเป็นคนทำลายสถาบันฯ ซึ่งเป็นเรื่องประหลาด พยานหวังว่าเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ตัวแทนคนรุ่นใหม่ก็จะเข้าไปคลี่คลายสถานการณ์ในสภาโดยการออกกฎหมายต่าง ๆ 

พยานกล่าวต่อว่า ใครก็ตามในโลกนี้ที่ไม่สามารถติชมหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้ คำยกย่องหรือสรรเสริญก็จะกลายเป็นแค่เรื่องโกหก

ในช่วงอัยการถามค้าน อานนท์เบิกความตอบว่าเมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่มีผลบังคับใช้ และโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบว่ามีการไปขออนุญาตหรือไม่ ซึ่งในคดีนี้พยานไม่ได้เป็นผู้จัดชุมนุมจึงไม่ทราบว่าจะมีการขออนุญาตผู้ว่าฯ แล้วหรือไม่ และไม่ได้สอบถามกลุ่ม DRG ว่า ได้ขออนุญาตชุมนุมแล้วหรือไม่

เมื่อกลุ่ม DRG จัดการชุมนุมครั้งนี้ได้โทรมาชักชวนพยานให้ขึ้นปราศรัย แต่ปฏิเสธไปเพราะมีลูก เกรงว่าจะถูกถอนประกันและเข้าเรือนจำอีก แต่ทางกลุ่มได้มาพูดคุยถึงสถานการณ์ว่ามีคนตาย เด็กนักเรียนจะเปิดเทอม อยากไปโรงเรียน แต่ไม่มีวัคซีน และคำพูดที่ทำให้พยานตัดสินใจไปปราศรัยคือ “ไม่มีใครกล้าพูดแล้ว”

เพจเฟซบุ๊กของพยานมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมากและเปิดเป็นสาธารณะ ซึ่งการที่พยานไปพูดกับคนรุ่นใหม่ เขาก็ไม่ได้เชื่อที่พยานและตรวจสอบก่อน ซึ่งสิ่งที่พยานพูดเป็นความจริง สามารถตรวจสอบได้ และในช่วงทนายจำเลยถามติง พยานตอบว่าในการปราศรัยถึงจะพูดหรือไม่พูดถึงข้อกฎหมาย ก็ไม่ส่งผลต่อความจริงดังกล่าว

ย้อนอ่านคำเบิกความทั้งหมดของอานนท์ >> “ใครก็ตามในโลกนี้ที่ไม่สามารถติชมหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้ คำยกย่องหรือสรรเสริญก็จะกลายเป็นแค่เรื่องโกหก” เปิดคำเบิกความมาตรา 112 คดีที่ 3 ของ ‘อานนท์ นำภา’ จากการปราศรัยย้ำข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ใน #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2

.

ธนาพล อิ๋วสกุล จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประกอบอาชีพตั้งสํานักงานพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน 

สํานักพิมพ์ฟ้าเดียวกันตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มีเนื้อหาเกี่ยวข้องประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ การเมืองการปกครองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และทําหนังสือเกี่ยวกับเรื่องการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นหัวข้อที่ได้รับการศึกษาและตีพิมพ์ และมีความเชี่ยวชาญในประเด็นดังกล่าว อีกทั้งหนังสือก็ได้รับการอ้างอิงอย่างแพร่หลาย

พยานเคยมาให้การในฐานะพยานจําเลยคดีมาตรา 112 มาแล้ว 3 คดี ซึ่งคําถามที่ได้รับมาตลอดก็คือ การนำประโยคมาถาม แล้วให้ความเห็นว่าประโยคดังกล่าวหมิ่นหรือไม่ พยานคิดว่ากระบวนการอย่างนี้ไม่สามารถนําไปสู่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของจําเลยได้ 

ในคดีนี้พยานได้อ่านคําฟ้องและบันทึกถอดเทปคำปราศรัยทั้งหมดแล้ว และเห็นว่าวัตถุประสงค์ของจําเลยเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทํางานของรัฐบาลภายใต้ระบบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่กษัตริย์ไม่มีอํานาจทางการบริหาร การเมือง และเศรษฐกิจ ผู้ที่บริหารก็คือรัฐบาล รวมทั้งฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นฝ่ายออกกฎหมายมาจากรัฐสภา 

พยานขอยกตัวอย่างคําฟ้องของอัยการระบุว่า การกล่าวถึงนายกรัฐมนตรีของนายอานนท์ นําภา จึงเป็นเพียงลักษณะของการใช้สํานวนโวหารเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่แท้จริงในการใส่ความพระมหากษัตริย์ของจําเลยเท่านั้น อันเป็นการเสื่อมเสียอย่างมากต่อพระเกียรติและภาพลักษณ์ของพระองค์ พยานเห็นว่าเป็นการกล่าวอย่างเกินเลย เพราะสิ่งที่จำเลยวิจารณ์ภายใต้ระบบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

พยานขอชี้แจ้งว่าระบบดังกล่าวแตกต่างจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กษัตริย์มีทั้งอํานาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นประมุขของรัฐ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 กษัตริย์เป็นเพียงแค่ประมุข ไม่มีอํานาจทางบริหารและเศรษฐกิจ เป็นดังที่พระองค์เจ้าวรรณไวทยากรกล่าวไว้ว่า “ปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง” 

ดังนั้นสิ่งที่จำเลยพูดเป็นการวิจารณ์ภายใต้กรอบ คือการวิจารณ์รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อย่างการแก้กฎหมายจัดระเบียบทรัพย์สินฯ ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักการปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง และสิ่งที่จะตามมาก็จะเกิดสิ่งวิพากษ์วิจารณ์ ไม่เพียงแต่รัฐบาล แต่จะไปถึงกษัตริย์ด้วย 

ในข้อความที่ 5 ตามคำฟ้อง พยานอ่านแล้วเห็นว่าการที่กษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับเรื่องทางเศรษฐกิจ ซึ่งหมายถึงมีพระนามถือหุ้นบริษัทสยามไบโอไซน์ ทําให้เกิดการตําหนิติเตียนได้ เพราะประชาชนจํานวนมากไม่ต้องการวัคซีนของบริษัทสยามไบโอไซน์ ถ้าหากว่าไม่ได้มีการแก้กฎหมาย ชื่อนั้นก็ยังเป็นชื่อของสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มิใช่พระนามของในหลวงรัชกาลที่ 10

ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระมหากษัตริย์ไม่ควรมีทั้งพระราชอํานาจ พระราชทรัพย์ การบริหาร รัฐบาลเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ การวิจารณ์ใด ๆ ก็เป็นการวิจารณ์รัฐบาล ส่วนความคุ้มครองพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ ก็เป็นไปโดยปกติ ถ้าหากผู้ใดหมิ่นประมาทก็ดำเนินตามกฎหมาย 

พยานเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนที่มีความจงรักภักดีและศรัทธาเลื่อมใสต่อระบบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุข ถ้าเห็นว่ามีความไม่ชอบมาพากล มีการแอบอ้างพระนามของกษัตริย์ไปหาประโยชน์ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ ก็ควรที่จะวิพากษ์วิจารณ์และส่งเสียงไปยังรัฐบาลเพื่อให้แก้ไขปัญหานั้น

ตอบอัยการโจทก์ถามค้าน พยานมาเบิกความที่ศาลในฐานะพยานจําเลยมาแล้ว 3 คดี คือคดีอานนท์ นําภา 1 คดี คดีของชลธิชา แจ้งเร็ว 1 คดี และในคดีนี้เป็นคดีที่ 3 ซึ่งคําเบิกความของพยานหมด ก็จะเป็นทํานองเดียวกันว่าการกระทําของจําเลยไม่เป็นความผิดตามมาตรา 112 

ก่อนที่พยานจะจัดทําความเห็น พยานได้อ่านดูคําฟ้องและคําปราศรัยของจําเลยก่อนทั้งหมดแล้ว ซึ่งบางคนอาจจะเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับจําเลยก็ได้ ซึ่งพยานคิดว่ากระบวนการฟ้องของอัยการโจทก์มีปัญหา เป็นความเห็นด้านเดียวจากคู่กรณีของจําเลย โจทก์น่าจะมีความเห็นหลากหลายกว่านี้เพื่อที่จะให้ศาลพิจารณา ซึ่งพยานของโจทก์ที่มาเบิกความนั้นเป็นฝ่ายตรงข้ามกับจําเลย

อัยการให้พยานดูบัญชีพยานโจทก์แล้วถามว่ารู้จักใครบ้าง พยานดูแล้วตอบว่ารู้จัก 4 ปาก ซึ่งเป็นการติดตามความคิดความเห็น ไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว ซึ่งพยานได้ศึกษาและมีหลักฐานว่าบุคคลดังกล่าวมีทัศนคติเป็นลบต่อจําเลย และเห็นว่าพยานโจทก์ที่มาให้การน่าจะมีความเห็นที่หลากหลายมากกว่านี้ 

ในวันเกิดเหตุ พยานไปฟังคําปราศรัยของจําเลย แต่ไม่ได้ฟังทั้งหมด ต่อมาได้ฟังคําปราศรัยทั้งหมดของจําเลยแล้วได้มาจัดทําความเห็น ซึ่งในวันดังกล่าวพยานเดินทางมาโดยรถไฟฟ้าบีทีเอส ผู้โดยสารภายในรถไฟฟ้าจะหนาแน่นกว่าพื้นที่ชุมนุม ซึ่งรถไฟฟ้าเป็นพื้นที่ปิด แต่พื้นที่ชุมนุมเป็นพื้นที่เปิดโล่ง คนที่มาฟังปราศรัยจะใส่หน้ากากอนามัยและมีความกระจัดกระจาย

ธนาพลตอบนายจําเลยถามติงว่า พยานได้ฟังคําปราศรัยของจําเลยแล้ว และเห็นว่าจําเลยใช้สิทธิโดยสุจริตในการวิพากษ์วิจารณ์เพื่อให้มีการแก้ไขปรับปรุง วิจารณ์ภายใต้กรอบของระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เนื่องจากว่าจําเลยวิจารณ์การทํางานของ พล.อ.ประยุทธ์ และผลสืบเนื่องจากนโยบายนั้น จําเลยพูดความจริง แต่การตีความของคนอื่นอาจจะเห็นตรงข้ามกับจําเลยก็ได้ แต่หลายคนก็เห็นไปในทางสอดคล้องกับจําเลย

ในการมาให้การเป็นพยานในวันนี้ พยานให้การตามข้อเท็จจริงและตามหลักวิชาการ มีมิติทางประวัติศาสตร์และข้อเท็จจริงรองรับ ส่วนพยานโจทก์ที่มาเบิกความ พยานไม่ทราบว่าจะมีการศึกษาข้อเท็จจริงมาก่อนเบิกความหรือไม่

.

พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับคดีนี้ พยานได้อ่านคำฟ้องทั้งหมดและให้ความเห็นเป็นเอกสารที่อ้างส่งต่อศาล 

เกี่ยวกับความเกี่ยวข้องของมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่ากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ พยานเห็นว่ามมาตรา 6 จะต้องพิจารณายึดโยงกับหลักการระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ กล่าวคือกษัตริย์ต้องอยู่เหนือการเมือง การกระทำต่าง ๆ ต้องมีผู้รับสนองฯ หมายความว่ากษัตริย์ไม่ได้เป็นผู้กระทำการนั้นเอง จึงไม่ได้ทำผิดตามหลัก The King Can Do No Wrong เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วก็ไม่มีใครฟ้องร้องกษัตริย์ได้ การพิจารณามาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญ ต้องควบคู่ไปกับหลักการสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญได้ปกป้องไว้ด้วย จะเห็นได้ว่าสิ่งเหล่านี้ขัดกันอยู่ และผู้ที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร 

พยานเห็นว่าที่ผ่านมามักจะให้น้ำหนักกับมาตรา 6 และละทิ้งเสรีภาพของพระชาชน ถ้าประชาชนวิพากษ์วิจารณ์การกระทำที่เป็นเรื่องส่วนบุคคลของกษัตริย์ โดยที่การกระทำนั้นไม่เกี่ยวข้องกับสาธารณะ หรือวิจารณ์โดยใช้คำดูหมิ่นเหยียดหยามโดยไม่มีความจริงมาสนับสนุนคือเข้าข่ายหมิ่นประมาท แต่ถ้าการวิจารณ์มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสาธารณะตามหลักกฎหมายของประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ก็ไม่ถือว่าเป็นการหมิ่นประมาท

ถ้านำหลักการนี้ไปใช้กับคนทั่วไปสังคมก็จะวุ่นวายมาก เช่น ถ้ามีการกล่าวหาว่าข้าราชการทุจริตในหน้าที่ก็ไม่ต้องพิสูจน์ใด ๆ คนที่มาเปิดโปงก็จะเข้าข่ายหมิ่นประมาท พยานมองว่าการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 บุคคลทั่วไปควรยึดหลักการว่าพูดความจริงและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท เกี่ยวกับคดีนี้

เกี่ยวกับ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ พยานมีความเห็นว่า ต้องเริ่มเข้าใจจากที่ว่าจำเลยสามารถพิสูจน์ว่าการปราศรัยมีข้อเท็จจริงสนับสนุนว่าไม่เป็นความผิด เนื่องจากมีการออกกฎหมายจัดระเบียบทรัพย์สินฯ ปี 2560 และ 2561 ซึ่งได้เปลี่ยนสาระสำคัญไปจากกฎหมายฉบับเดิม การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นจริง ทำให้ประชาชนสามารถตั้งคำถามได้ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้กระทบต่อผลประโยชน์ของประชาชน และอาจมีกลไกตรวจสอบต่อสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งพยานมีความเห็นว่าข้อความนี้ไม่เข้าข่ายตามมาตรา 112

เกี่ยวกับเรื่องวัคซีนโควิด พยานอ่านแล้วเห็นว่าข้อความนี้มุ่งวิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ซึ่งการผลิตวัคซีน Astrazeneca ตลอดจนความล่าช้าและไม่มีความกระตือรือร้นในการนำเข้าวัคซีน mRNA  ต้องเป็นความผิดของรัฐบาลเพียงผู้เดียว แต่ประชาชนเดือดร้อนเพราะโควิด การปราศรัยก็สะท้อนความกังขาของประชาชนที่เกิดขึ้นในขณะนั้น พยานมองว่าการพูดของจำเลยเป็นการพูดแทนประชาชน และไม่ละเมิดมาตรา 112

อัยการถามค้านว่า พยานตอบอัยการว่ารู้จักจำเลยจากเวทีอภิปรายทางวิชาการในประเด็นทางการเมืองในปี 2553 เกี่ยวกับคดีนี้ พยานไม่ได้ฟังวันที่จำเลยปราศรัยในวันเกิดเหตุ แต่พยานไปฟังวิดีโอย้อนหลังจากเกิดเหตุประมาณ 1 เดือน และตอบว่าพยานมาเบิกความในวันนี้เพราะได้รับการติดต่อจากทนายและได้จัดทำเป็นเอกสารประกอบคำให้การ

.

สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สอนในสาขาวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ นิติปรัชญา และประวัติศาสตร์กฎหมาย 

สมชายเบิกความว่า พยานมีผลงานด้านวิชาการเป็นงานวิจัยเรื่องข้อถกเถียงว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญไทย ตั้งแต่ปี 2475 – 2550 มีการตีพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่ โดยงานวิจัยดังกล่าวมุ่งเน้นกล่าวถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 มีผลสรุปเป็นความเห็นทางวิชาการว่า ในการดำเนินการใด ๆ พระมหากษัตริย์จะต้องมีผู้สนองพระบรมราชโองการ บุคคลใดจะฟ้องร้องกษัตริย์ในทางแพ่งหรืออาญามิได้  

พยานได้อ่านคำฟ้องในคดีนี้ทั้งหมดแล้ว เห็นว่าการพิจารณาข้อกล่าวหาในคดีนี้ มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ รัฐธรรมนูญ 2 เรื่อง คือ เรื่องสถานะของกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ และ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

ในประเด็นสถานะของกษัตริย์ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ว่าผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ หากพิจารณาจากจุดมุ่งหมายในรัฐธรรมนูญ ปี 2475 มีเจตนาเพื่อป้องกันไม่ให้มีการฟ้องร้องกษัตริย์ ซึ่งต่อมาในปี 2492 ได้มีการบัญญัติเพิ่มเติมว่าผู้ใดจะกล่าวหากษัตริย์มิได้ มีความหมายว่า ประชาชนไม่สามารถฟ้องร้องกษัตริย์ต่อศาลได้ ซึ่งเป็นเจตจำนงของรัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้มีการฟ้องร้องกษัตริย์ บทบัญญัติสืบเนื่องมาจนถึงรัฐธรรมนูญปัจจุบัน 

ส่วนเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นหลักการพื้นฐานสำคัญในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทั้งสองส่วน และสถานะของกษัตริย์และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถือเป็นหลักคุณค่าที่ดำรงอยู่ในรัฐธรรมนูญ ในการตีความรัฐธรรมนูญ ไม่อาจใช้หลักคุณค่าใดทำลายล้างกันได้ 

ความคิดเห็นต่อเรื่องมาตรา 112 มีสองเรื่องที่ต้องพิจารณา 1. ในแง่บทบัญญัติจะมีความผิด ต้องมีความชัดเจนว่าเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายต่อกษัตริย์ 2. การตีความกฎหมายอาญาต้องไม่ตีความแบบขยายความ และต้องตีความตามตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัด หากมีการตีความคลุมเครือต้องยกประโยชน์ให้ผู้ที่ถูกกล่าวหา

คำฟ้องในประเด็นนี้มีผู้ที่ถูกกล่าวหา 3 ประเด็น กรณีที่มีการให้ปรับเปลี่ยนความคิดสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่เจ้าชีวิต การแสดงความเห็นนั้นสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย ที่ว่าสถาบันกษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ ดำรงอยู่ได้เพราะรัฐธรรมนูญ การแสดงความเห็นดังกล่าวจึงสอดคล้องกับหลักเสรีประชาธิปไตย 

ในส่วนที่มีการกล่าวว่า รัฐไทยระดมกำลัง ก็เป็นการกระทำขององค์กรที่อยู่รายล้อมสถาบัน หรือเรียกว่าสถาบันกษัตริย์ กรณีนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการกล่าวหากษัตริย์โดยตรง และในประเด็นต่อมา การเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์ ก่อนหน้า พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ปี 2561 มีการจัดทรัพย์สินเป็น 3 ส่วน คือ 1. ส่วนพระองค์ 2. ส่วนพระมหากษัตริย์ 3. สาธารณสมบัติของแผ่นดิน แต่ภายใต้การจัดระเบียบทรัพย์สินปี 2561 ทำให้ทรัพย์สินทั้งหมดอยู่ในส่วนพระองค์ ซึ่งแตกต่างจากกฏหมายเดิม ซึ่งผลของการออกกฎหมายในการเปลี่ยนแปลงทรัพย์สิน – โฉนดที่ดิน ส่งผลให้ทรัพย์สินดังกล่าวไปอยู่ภายใต้การบริหารตามพระราชอัธยาศัย

และในส่วนที่ 3 เรื่องวัคซีนโควิด – 19 ที่จำเลยได้ปราศรัยแสดงความคิดเห็น เป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งควรจะสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ 

นอกจากนี้ พยานยังเห็นว่าการพิจารณาความผิดตามมาตรา 112 ต้องคำนึงถึงมาตรา 6 และมาตรา 34 แห่งรัฐธรรมนูญที่บัญญัติเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน มาดูควบคู่กันไป มิอาจใช้หลักการตามมาตรา 6 มาทำลายหลักเสรีภาพตามมาตรา 34 ซึ่งเป็นหลักคุณค่าของรัฐธรรมนูญเสมอกัน และการจะนำมาตรา 6 มาประกอบความผิด ม.112 ได้ก็ต่อเมื่อเป็นการกระทำที่ชัดเจนว่าเป็นการหมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย แต่การวิพากษ์วิจารณ์ ติชม แสดงความคิดเห็น จึงไม่ถือเป็นการเข้าข่ายล้มล้างหรือหมิ่นประมาทกษัตริย์

กล่าวโดยสรุปว่า องค์ประกอบมาตรา 112 ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 และการปราศรัยของจำเลยเรื่องการโอนของหลวงไปเป็นของส่วนพระองค์ จำเลยไม่ได้ปราศรัยอ้างอิงถึง พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ อย่างชัดเจน แต่เป็นที่เข้าใจได้ เพราะช่วงนั้นมีการถกเถียงเรื่องดังกล่าวอย่างกว้างขวาง

สมชายตอบอัยการถามค้านว่า พยานยอมรับว่าเคยเป็นพยานคดีมาตรา 112 ก่อนหน้านี้ประมาณ 4 – 5 คดี ซึ่งในการเบิกความแต่ละคดี พยานได้ให้ความเห็นในเชิงวิชาการ เกี่ยวกับเรื่องสถานะของสถาบันกษัตริย์ และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และพยานรู้จักจำเลยในฐานะทนายความเพื่อประโยชน์สาธารณะ และนับถือเป็นการส่วนตัว เนื่องจากจำเลยกล้าพูดในสิ่งที่คนจำนวนมากไม่กล้าพูด รวมถึงตัวของพยานเองด้วย 

จากนั้นจึงตอบทนายถามติงว่า นับตั้งแต่การเปลี่ยนรัชสมัย มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับกฎหมายที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีใครออกมาพูดในที่สาธารณะ ซึ่งเป็นประเด็นที่ควรได้รับการชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะรัฐบาล แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ไม่มีการอธิบายที่ชัดเจน รวมถึง สนช. ก็ไม่มีการหยิบยกประเด็นมากล่าวถึง 

อีกทั้ง ฝ่ายจำเลยยังมี นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ เข้าเบิกความในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด การจัดการวัคซีนโควิด และคำปราศรัยเกี่ยวกับวัคซีนโควิดที่ถูกฟ้องว่าผิดมาตรา 112 เป็นปากสุดท้ายด้วย

ฐานข้อมูลคดีนี้ 

คดี 112 ‘อานนท์ นำภา’ ปราศรัยย้ำข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2

X