ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ปรับ 2 นักกิจกรรมคนละ 30,000 คดี ‘คาร์ม็อบสุรินทร์ 15 ส.ค. 64’ ชี้ โพสต์ชักชวน- ปราศรัยชี้นำขบวน ถือเป็นผู้จัดชุมนุม

วันที่ 23 เม.ย. 2567 นิรันดร์ ลวดเงิน และวิสณุพร สมนาม 2 นักกิจกรรมและสมาชิกพรรคก้าวไกล จ.สุรินทร์ เดินทางไปที่ศาลแขวงสุรินทร์ เพื่อฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีเข้าร่วมคาร์ม็อบสุรินทร์ไล่เผด็จการ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564

คดีนี้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ระบุว่า ทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในเขตพื้นที่สถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาต ลงโทษปรับคนละ 30,000 บาท แต่ทางนำสืบของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 20,000 บาท

ก่อนทั้งนิรันดร์และวิสณุพรจะยื่นอุทธรณ์โต้แย้งว่า พวกเขาเป็นเพียงผู้เข้าร่วมชุมนุมที่ใช้สิทธิเสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่คนวางแผนการกำหนดเส้นทาง หรือเตรียมอุปกรณ์และสถานที่ชุมนุมในกิจกรรมดังกล่าว 

ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 1 เวลา 10.00 น. นนทัชต์ ผลเนืองมา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลแขวงสุรินทร์ อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่มี สมชัย ชัยวงษ์, วัชรินทร์ สงห้อง และสมลักษณ์ ยอดรัก เป็นองค์คณะ มีใจความโดยสรุปว่า ที่ประชุมศาลอุทธรณ์ภาค 3 ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดกิจกรรมชุมนุมตามฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า เป็นเพียงประชาชนผู้ใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในการเข้าร่วมชุมนุมเท่านั้น ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดที่จะพิสูจน์โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้ริเริ่มวางแผนการกำหนดเส้นทาง ตลอดจนจัดเตรียมอุปกรณ์และสถานที่ต่าง ๆ ที่จะใช้ในการชุมนุมให้พร้อมก่อนที่จะเริ่มกิจกรรม 

ซึ่งประเด็นนี้มี พ.ต.ท.สกาว คำไกร และ พ.ต.ท.วิโรจน์ หมั่นดี เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองสุรินทร์ เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 วิสณุพรใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวโพสต์ข้อความลงในเพจเฟซบุ๊กชื่อ ‘คนสุรินทร์ไม่เอาเผด็จการ’ ว่า  ‘ถึงเวลาต้องก้าวต่อไป 15 สิงหานี้ เจอกัน’   ‘Surin Car Mob’ และลงข้อความแจ้งความเคลื่อนไหวพร้อมหน้าสมุดบัญชีธนาคารของตน เพื่อขอความช่วยเหลือในการทำธงสำหรับการชุมนุม 

พยานทั้งสองได้สืบทราบว่า วันที่ 15 ส.ค. 2564 จะมีการจัดกิจกรรมชุมนุมที่บริเวณตลาดเมืองใหม่ไอคิว เริ่มกิจกรรมเวลา 15.30 น. พยานทั้งสองกับพวกจึงเดินทางไปที่ตลาด กระจายกำลังหาข่าวและดูความเคลื่อนไหว กระทั่งเวลาประมาณ 15.00 น. มีประชาชนมาบริเวณดังกล่าวประมาณ 300 คน พบนิรันดร์ถือไมโครโฟนปราศรัยอยู่บริเวณท้ายรถยนต์กระบะ เชิญชวนผู้คนทั่วไปให้มาร่วมชุมนุม และมีการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก 

โดยนิรันดร์จะเป็นคนบอกรูปแบบการจัดขบวนรถและเส้นทางที่จะใช้เคลื่อนขบวน และเป็นคนให้สัญญาณในการเคลื่อนขบวนด้วย และพบวิสณุพร อยู่บริเวณพื้นที่ชุมนุม ห่างจากนิรันดร์ประมาณ 20 เมตร การปราศรัยมีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล กระทั่งเวลา 18.00 น. ผู้ชุมนุมเคารพธงชาติและร่วมกันถ่ายรูปแล้วแยกย้ายกันกลับ โดยนิรันดร์เป็นผู้ประกาศยุติการชุมนุม

เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความสอดคล้องต้องกันตั้งแต่เริ่มต้นการกระจายข่าวทางเฟซบุ๊กของวิสณุพร มีการชักชวนให้ร่วมการชุมนุมและขอรับเงินบริจาคเพื่อทำธง กระทั่งมีการชุมนุมตามที่เชิญชวน โดยนิรันดร์เป็นผู้ชี้นำรูปแบบการชุมนุมและสั่งยุติการชุมนุม ไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์ทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสอง จึงไม่เห็นม

ที่จะระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลยทั้งสอง ทั้งมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายประกอบ เชื่อว่าเป็นการเบิกความไปตามที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายสืบสวน จึงมีน้ำหนักให้รับฟัง

ส่วนจำเลยทั้งสองไม่ได้มีพยานหลักฐานใดนำสืบหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ คงมีแต่นำจำเลยทั้งสองเข้าสืบปฏิเสธและถามค้านพยานโจทก์ พยานหลักฐานโจทก์จึงน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังโดยปราศจากข้อสงสัยว่า วิสณุพรเป็นผู้เริ่มต้นกระจายข่าวทางเฟซบุ๊กส่วนตัว มีการชักชวนให้ร่วมการชุมนุมและขอรับเงินบริจาคเพื่อทำธง กระทั่งมีการชุมนุมตามที่เชิญชวน โดยนิรันดร์เป็นผู้ชี้นำรูปแบบการชุมนุมโดยการปราศรัย บอกรูปแบบการจัดขบวนรถและเส้นทางที่จะใช้เคลื่อนขบวนรถ ให้สัญญาณในการเคลื่อนขบวน และสั่งยุติการชุมนุม

พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มของบุคคลจำนวนมากซึ่งเป็นการเสี่ยงต่อการแพร่โควิด-19 อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยฝ่าฝืนกฎหมายตามฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมา ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

.

หลังจากฟังคำพิพากษาเสร็จสิ้น นิรันดร์แถลงว่า เขายังคงค้างชำระค่าปรับอยู่ 12,000 บาท โดยได้ขออนุญาตศาลขยายระยะเวลาการชำระค่าปรับ เจ้าหน้าที่จึงควบคุมตัวนิรันดร์ลงไปที่ห้องควบคุมตัวของศาลก่อน ในระหว่างทนายความทำเรื่องขอปล่อยตัวชั่วคราว ส่วนวิสณุพรที่ชำระค่าปรับ 20,000 บาท ครบไปแล้วก่อนหน้านี้ จึงไม่ถูกควบคุมตัว  

นิรันดร์แจ้งเพิ่มเติมว่า ในครั้งนี้ได้นำเงินมาชำระค่าปรับอีก 5,000 บาท หลังจากชำระต่อศาลแล้ว  ทนายความได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนการชำระค่าปรับในส่วนที่เหลือของนิรันดร์ไปอีก 30 วัน โดยศาลมีคำสั่งอนุญาต และให้นิรันดร์สาบานตนว่าจะนำค่าปรับส่วนที่เหลือมาชำระภายในวันที่ 23 พ.ค. 2567 ก่อนให้ปล่อยตัว 

นอกจากคดีนี้ทั้งนิรันดร์ ข้าราชการบำนาญ อายุ 67 ปี  และวิสณุพร พนักงานขายในห้างสรรพสินค้า อายุ 40 ปี ยังยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีคาร์ม็อบสุรินทร์เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 ที่ศาลศาลแขวงสุรินทร์พิพากษาให้ทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9(2) ลงโทษปรับจำเลยทั้งสองคนละ 30,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละ 1 ใน 3 คงปรับคนละ 20,000 บาท

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

บันทึกคดี “คาร์ม็อบสุรินทร์” 15 ส.ค. 64: 2 จำเลยยืนยันไม่ใช่ผู้จัดฯ ทั้งไม่ปรากฏข้อมูลว่าการชุมนุมทำให้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม

X