ยังฟ้องอีก! 2 คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คาร์ม็อบสุรินทร์ จำเลยคาดถูกสกัดทางการเมือง ยืนยันร่วมชุมนุมวิจารณ์รัฐบาลไม่ใช่เรื่องผิด  

วันที่ 31 ม.ค. 2566 นิรันดร์ ลวดเงิน และวิสณุพร สมนาม สองสมาชิกพรรคก้าวไกล จ.สุรินทร์ เดินทางไปสำนักงานอัยการคดีศาลแขวงสุรินทร์ ในนัดส่งฟ้องคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกิจกรรมคาร์ม็อบสุรินทร์ไล่เผด็จการ เมื่อวันที่ 1 และ 15 ส.ค. 2564 รวม 2 คดี

โดยทั้งสองเดินทางไปถึงสำนักงานอัยการตั้งแต่ 10.00 น. จากนั้นเจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะไปส่งคำฟ้องที่ศาล ให้ทั้งนิรันดร์  วิสณุพร  และทนายความ เดินทางไปที่ศาลแขวงสุรินทร์เพื่อทำเรื่องขอปล่อยตัวชั่วคราว เมื่อไปถึงศาลพนักงานรักษาความปลอดภัย พาทั้งสองคนไปห้องควบคุมตัวบริเวณใต้ถุนศาล 

เหตุคาร์ม็อบวันที่ 1 ส.ค. 2564 สุรวิศ อารียะ พนักงานอัยการบรรยายฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 26 ก.ค. 2564 จนถึงวันที่ 1 ส.ค. 2564 ทั้งสองร่วมเป็นแกนนำหรือผู้จัดให้มีการชุมนุมโดยการแบ่งหน้าที่กันทำ มีการลงข้อความในเฟซบุ๊ก ชื่อ คำว่ารักมันใหญ่มาก เชิญชวนนัดหมายให้ประชาชนร่วมกิจกรรม Surin Car Mob บริเวณตลาดเมืองใหม่ไอคิว อันเป็นสถานที่แออัด มีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 500 คน รถจักรยานยนต์ประมาณ 100 คัน และรถยนต์อีก 150 คัน แล้วเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมไปในเขต ต.ในเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์ ไปถึงบริเวณตลาดเมืองใหม่ อันเป็นสถานที่คับแคบแออัด เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 อันเป็นการที่ทั้งสองร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มบุคคลมากกว่า 100 คน ใน จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด  โดยไม่ได้รับอนุญาต

ส่วนเหตุคาร์ม็อบเมื่อ 15 ส.ค. 2564 วราพร บุญสิน พนักงานอัยการ บรรยายฟ้องใกล้เคียงกันกับคดีแรกว่า  เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 จนถึงวันที่ 15 ส.ค. 2564 ทั้งสองได้ร่วมเป็นแกนนำหรือจัดให้มีการชุมนุมโดยการแบ่งหน้าที่กันทำ มีการลงข้อความและแนบภาพประชาสัมพันธ์ในเฟซบุ๊ก ชื่อ คำว่ารักมันยิ่งใหญ่ เชิญชวนนัดหมายให้ประชาชนร่วมกิจกรรม Surin Car Mob บริเวณตลาดเมืองใหม่ไอคิว อันเป็นสถานที่แออัด มีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 300 คน รถจักรยานยนต์ประมาณ 50 คัน และรถยนต์อีก 90 คัน แล้วเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมไปในเขต ต.ในเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์ ไปถึงบริเวณสวนเฉลิมพระเกียรติ อันเป็นสถานที่คับแคบแออัด อันเป็นการที่ทั้งสองร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มบุคคลมากกว่า 20 คน ใน จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเป็นการเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยไม่ได้รับอนุญาต

คำฟ้องทั้งสองสำนวน ระบุว่า วันที่ 14 ก.ย. 2564 นิรันดร์  และ วิสณุพร เข้าพบพนักงานสอบสวนแล้ว และให้การปฏิเสธ ทั้งนี้พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอผัดฟ้องทั้งสองต่อศาลนี้ ก่อนพนักงานอัยการสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม แต่พนักงานสอบสวนไม่สามารถส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติมได้ทันภายในกำหนดเวลาผัดฟ้อง เป็นเหตุให้คดีผัดฟ้อง แต่อธิบดีอัยการภาค 3 ซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมายได้อนุญาตให้ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีแล้ว

โดยท้ายคำฟ้องระบุว่า นิรันดร์และวิสณุพรร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ อัยการเจ้าของสำนวนในแต่ละคดีต่างขอศาลให้นับโทษจำคุกจำเลยทั้งสองต่อจากโทษจำคุกในอีกคดี

ก่อนที่ทนายความจะยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกัน ระบุเหตุผลว่า จำเลยทั้งสองต้องการต่อสู้คดีในชั้นพิจารณาให้ถึงที่สุดเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ อีกทั้งจำเลยทั้งสองมีภูมิลำเนาอยู่ จ.สุรินทร์ ไม่เคยมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี รวมถึงให้ความร่วมมือต่อกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ในชั้นสอบสวน หากศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยโดยไม่มีหลักประกัน จำเลยจะมีความยากลำบากในการต่อสู้คดีเกินสมควร ทั้งยังไม่อำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนทุกชนชั้น เนื่องจากจำเลยทั้งสองไม่ได้มีฐานะร่ำรวย ซึ่งหากจำเลยทั้งสองต้องถูกขังในเรือนจำ จะไม่เป็นการดีต่อตัวจำเลยและสังคม ทั้งยังสร้างบาดแผลให้แก่ชีวิตจำเลยเกินความสมควร 

ราว 11.50 น. ศาลวีดีโอคอนเฟอเรนซ์จากห้องพิจารณามายังห้องขัง ถามคำให้การเบื้องต้น ก่อนแจ้งกับนิรันดร์และวิสณุพรว่า อนุญาตปล่อยชั่วคราวโดยไม่ต้องวางหลักประกันตามที่ขอ แต่ให้ทำสัญญาประกันว่าจะมาตามนัดของศาลทุกนัด หากผิดสัญญาปรับ 20,000 บาท อย่างไรก็ตาม ทั้งสองคนต้องรอถึงช่วง 14.00 น. จึงมีเจ้าหน้าที่ศาลมาทำสัญญาประกัน และใบนัดความ โดยศาลนัดคุ้มครองสิทธิและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 7 มี.ค. 2566

หลังได้รับการปล่อยตัว วิสณุพร หรือ เรียว วัย 39 ปี ซึ่งเคยทำกิจกรรมในนามกลุ่ม “สุรินทร์ไม่เอาเผด็จการ” กล่าวว่า เมื่อคดีถูกฟ้องย้อนหลัง ตนก็ยังพร้อมจะสู้ทุกสถานการณ์เช่นเดิม เขามีข้อสังเกตว่าในคำฟ้องของอัยการทั้งสองสำนวนระบุชื่อเฟซบุ๊กไม่เหมือนกัน มีทั้ง ‘คำว่ารักมันยิ่งใหญ่’ ที่ระบุในหมายเลขคดี อ.506/2566  และ ‘คำว่ารักมันใหญ่มาก’ ที่ระบุในหมายเลขคดี อ.507/2566 ที่น่าจะเป็นความสับสนของอัยการ และตนสงสัยว่าแบบนี้มีผลต่อการต่อสู้คดีหรือไม่ 

ส่วนนิรันดร์ หรือ อ.นิรันดร์ อดีตข้าราชการครู วัย 65 ปี ที่เดินทางกว่า 20 กม. มาจาก อ.เขวาสินรินทร์ กล่าวว่าการถูกดำเนินคดีครั้งนี้ เหมือนถูกฝ่ายตรงข้ามต้องการสกัดกั้นคู่แข่งทางการเมือง เพราะตนเตรียมที่จะลงรับสมัครเลือกตั้งทั่วไปในรูปแบ่งเขต ในนามพรรคก้าวไกล แต่อย่างไรก็จะสู้คดีเต็มที่เพื่อพิสูจน์ว่าการเข้าร่วมชุมนุมในการเรียกร้องหาวัคซีนและกล่าวปราศรัยวิจารณ์รัฐบาลนั้นไม่ใช่เรื่องผิด และยืนยันว่าตนไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมทั้งสองครั้งตามที่โจทก์ฟ้องอย่างแน่นอน 

ชีวิตหลังเกษียณราชการของนิรันดร์ นอกจากงานด้านการเมือง เขายังทำงานเกษตรกรรม ซึ่งเขาให้ข้อมูลว่า ในทุกครั้งที่มีบุคคลสำคัญในประเทศ เดินทางมาที่สุรินทร์ มักจะมีตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบไปตามประกบเขาทั้งที่บ้านและที่สวน ทั้งที่เขาเองก็ไม่ได้เคลื่อนไหวทางการเมืองมาระยะหนึ่งแล้ว โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2566 เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี เสด็จไปสุรินทร์ ก็มีตำรวจคอยติดตามนิรันดร์อยู่ทั้งวัน 

จากการติดตามข้อมูลใน จ.สุรินทร์ มีการจัดคาร์ม็อบมาแล้วรวม 3 ครั้ง แม้ว่ากิจกรรมรูปแบบคาร์ม็อบจะเป็นกิจกรรมที่แสดงออกถึงความไม่พอใจต่อการบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โดยเฉพาะในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด โดยผู้จัดและผู้เข้าร่วมมีการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิดเพิ่มมากขึ้น แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังใช้ข้อกล่าวหา จัดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาปิดกั้นการเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลดังกล่าว 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

นักกิจกรรม-ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ร่วมคาร์ม็อบสุรินทร์ เรียกร้องวัคซีนคุณภาพ ได้ 2 คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แทน

X