ศาลแขวงสุรินทร์ปรับหนัก 2 นักกิจกรรม คดี ‘คาร์ม็อบ 15 ส.ค. 64’ คนละ 30,000 เชื่อจำเลยคุมขบวนรถ-โพสต์ชวน ถือเป็นผู้จัด ไม่ต้องคำนึงว่าเสี่ยงแพร่โควิดเพียงใด

26 ก.ค. 2566 เป็นวันที่ นิรันดร์ ลวดเงิน และวิสณุพร สมนาม 2 นักกิจกรรมและสมาชิกพรรคก้าวไกล จ.สุรินทร์ ต้องไปฟังคำพิพากษาคดีที่พวกเขาถูกฟ้องข้อหา ฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง ที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกิจกรรมคาร์ม็อบสุรินทร์ไล่เผด็จการ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 หลังจากที่ศาลแขวงสุรินทร์สืบพยานโจทก์ไป 4 ปาก และพยานจำเลยอีก 2 ปาก ในช่วงมิถุนายน 2566

ทั้งสองต่อสู้คดีโดยยืนยันว่า ไม่ได้เป็นผู้จัดให้มีกิจกรรมตามที่โจทก์ฟ้อง นิรันดร์ระบุว่า เพราะเคยสมัคร สส. จึงถูกเรียกให้ขึ้นปราศรัย กับมีตำรวจมาพูดคุยให้แจ้งกับผู้ชุมนุมคนอื่นไม่ให้ทำผิดกฎหมาย ด้านวิสณุพรก็ยืนยันว่า เพียงคัดลอกข้อความจากเพจอื่นเพื่อชวนชุมนุม และโพสต์บัญชีธนาคารเพื่อระดมเงินทำธงสัญลักษณ์กลุ่มในการชุมนุมเท่านั้น ไม่ได้กำหนดกิจกรรมและเส้นทางเคลื่อนขบวนในวันเกิดเหตุ

>>>บันทึกคดี “คาร์ม็อบสุรินทร์” 15 ส.ค. 64: 2 จำเลยยืนยันไม่ใช่ผู้จัดฯ ทั้งไม่ปรากฏข้อมูลว่าการชุมนุมทำให้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม

เมื่อทั้งสองเดินทางไปถึงห้องพิจารณาคดีราว 09.30 น. อิทธิวัฒน์ อังศุพาณิชย์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลแขวงสุรินทร์ อ่านคำพิพากษา สรุปใจความว่า

ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าระหว่างวันที่ 9 ส.ค. 2564 ถึงวันที่ 15 ส.ค. 2564 ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่มีการระบาดของโควิด-19 มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และออกข้อกำหนดห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยกำหนดให้ จ.สุรินทร์ เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด จำเลยที่สองเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ คำว่ารักมันใหญ่มาก โพสต์ในเพจคนสุรินทร์ไม่เอาเผด็จการ และวันที่ 15 ส.ค. 2564 จำเลยทั้งสองเข้าร่วมกิจกรรมสุรินทร์คาร์ม็อบ บริเวณตลาดเมืองใหม่ (ไอคิว) แล้วเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมไปถึงบริเวณสวนเฉลิมพระเกียรติ

คำพิพากษาระบุ จำเลยที่ 1 มีอำนาจควบคุมการเคลื่อนขบวน  ส่วนจำเลยที่ 2 เชิญชวนหรือนัดแนะผู้อื่น ก็ถือเป็นผู้จัดชุมนุมแล้ว

พ.ต.ท.สกาว คำไกร และ พ.ต.ท.วิโรจน์ หมั่นดี เบิกความสอดคล้องกันยืนยันว่า ในกิจกรรมคาร์ม็อบดังกล่าว จำเลยที่ 1 เป็นคนถือไมโครโฟนกล่าวชี้แจงรูปแบบการจัดขบวนรถ เส้นทางที่จะใช้ในการเคลื่อนขบวน และการทำกิจกรรมระหว่างอยู่ในขบวน รวมถึงเป็นคนให้สัญญาญระหว่างเคลื่อนขบวนด้วย โดยจำเลยที่ 1 ก็อยู่บนรถที่มีเครื่องขยายเสียงและร่วมอยู่ในขบวนตลอด นอกจากนี้เมื่อถึงสวนเฉลิมพระเกียรติซึ่งเป็นสถานที่สุดท้าย จำเลยที่ 1 บอกผู้ชุมนุมว่าให้รอเคารพธงชาติพร้อมกันเวลา 18.00 น. ให้รอถ่ายภาพพร้อมกัน โดยจำเลยที่ 1 เป็นคนประกาศยุติการชุมนุม 

สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากการสืบสวนว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนจัดการชุมนุมหรือกิจกรรมในครั้งนี้ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 เห็นได้ว่า มีอำนาจควบคุมการเคลื่อนขบวนของกลุ่มผู้ชุมนุมตั้งแต่เริ่มต้นกิจกรรมจนยุติกิจกรรม พยานหลักฐานจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดกิจกรรรมชุมนุมครั้งนี้  ที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่าเป็นเพียงผู้เข้าร่วมกิจกรรม ไม่ทราบว่าใครจะเป็นคนจัดการขบวนหรือปราศรัยนั้น เป็นเพียงการเบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ ของจำเลย โดยไม่มีพยานหลักฐานใดมาสนับสนุนคำเบิกความดังกล่าว พยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ 

สำหรับจำเลยที่ 2 ทางนำสืบเจือสมกับพยานโจทก์ รับฟังเป็นข้อยุติ และเมื่อพิจารณาก็พบว่า จำเลยที่ 2 ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ลงเพจคนสุรินทร์ไม่เอาเผด็จการ ข้อความว่า ถึงเวลาต้องก้าวออกไป 15 สิงหานี้ เจอกัน สุรินทร์คาร์ม็อบ และโพสต์ขอรับเงินช่วยเหลือสำหรับการทำธงในกิจกรรมคาร์ม็อบ โดยโพสต์สมุดบัญชีธนาคารของตัวเองด้วย 

ในวันเดียวกันจำเลยที่ 2 โพสต์ข้อความว่า “ถึงทุกคนในทีมท่านใดมีรถเครื่องขยายเสียงหรือรถที่ใช้เสียงได้ติดต่อผมด้วยนะครับ” แม้โจทก์จะนำสืบไม่ได้ว่ารถยนต์กระบะบรรทุกเครื่องขยายเสียงที่ใช้ในการชุมนุมครั้งนี้ จะมีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับจำเลยที่ 2 ก็ตาม แต่พฤติการณ์ของจำเลยเป็นการเชิญชวนหรือนัดแนะผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่า ตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น หาใช่เป็นเพียงผู้เข้าร่วมชุมนุมเพียงอย่างเดียว จึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดกิจกรรมการชุมนุมครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

ศาลอ้าง จำเลยที่ 1 ไม่ได้ตรวจ ATK  ส่วนจำเลยที่ 2 แม้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา แต่มีผู้ร่วมชุมนุมบางส่วนไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยในบางเวลา ถือเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด

เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงว่า ช่วงเกิดเหตุเกิดการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคติดต่อได้ง่าย และเป็นอันตรายอย่างมากต่อชีวิตของผู้ได้รับเชื้อ ประกอบขณะนั้นยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค ทั้งยังไม่มียารักษาโรค จึงมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากทั่วโลก อีกทั้งมีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์เดลต้า ส่งผลให้คนติดเชื้อทั่วประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กรณีจึงต้องคงไว้ซึ่งมาตรการที่เข้มข้นในการเฝ้าระวัง รวมทั้งควบคุมการแพร่ระบาดของโรค เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน และการสาธารณสุขของประเทศ 

พฤติการณ์การชุมนุมตามที่ได้ความจาก พ.ต.ท. สกาว และ พ.ต.ท.วิโรจน์ เบิกความว่า บางครั้งจำเลยที่ 1 สวมหน้ากากอนามัย แต่มีบางครั้งที่ปราศรัยจะถอดหน้ากากอนามัย ผู้ชุมนุมบางคนไม่สวมหน้ากากอนามัย มีการรวมตัวของคนหลายคนในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 

ประกอบกับคำเบิกความของ สุวรรณณี ศิริเศรษฐภักดี หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ พยานโจทก์เบิกความว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุ พยานทำหน้าที่คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดสุรินทร์ ช่วงเวลาดังกล่าว ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงมีมาตรการการกักตัวสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าจังหวัดสุรินทร์ และดำเนินการตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 (ฉบับที่ 30) ลงวันที่ 1 ส.ค. 2564 โดยมีข้อห้ามในการจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรค ที่มีการรวมกันของบุคคลมากกว่า 20 คน เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ โดยในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 ไม่มีกิจกรรมใดได้รับอนุญาต และหากมาขออนุญาต จะไม่ได้รับอนุญาตอย่างแน่นอน เพราะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค 

พยานเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไม่ได้นำสืบให้หักล้างพยานโจทก์ทั้งสามให้เห็นเป็นอื่น โดยจำเลยที่ 1 จะเบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่า วันที่ 15 ส.ค. 2564  มีประชาชนมาร่วมชุมนุมกันมากกว่า 20 คน แต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่หรือไม่ จำเลยไม่ทราบ และจะมีการตรวจ ATK หาผู้ติดเชื้อหรือไม่ จำเลยไม่ทราบ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ตรวจ 

ส่วนจำเลยที่ 2 เบิกความเจือสมกับคำเบิกความของ พ.ต.ท.สกาว และ พ.ต.ท. วิโรจน์ ที่ว่า ในการที่จำเลยที่ 2 เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ จำเลยที่ 2 สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และมีผู้ร่วมชุมนุมคนอื่น สวมหน้ากากอนามัยด้วย แต่จะมีบางส่วนไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยในบางเวลา

จึงรับฟังได้ว่ากิจกรรมสุรินทร์คาร์ม็อบ วันที่ 15 ส.ค. 2564 เป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด เพราะแม้มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคเล็กน้อย ก็ย่อมกระทบกระเทือนต่อความปลอดภัยทางด้านสุขภาพและชีวิตของประชาชนในสังคมแล้ว และโจทก์ไม่ต้องนำสืบว่าหลังจากเกิดเหตุมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ ด้วยวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่ห้ามการชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคนั้น เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค 

การกระทำของจำเลยที่ 1 และ ที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในเขตพื้นที่สถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาต 

พิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9(2) ปรับจำเลยทั้งสองคนละ 30,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงปรับ 20,000 บาท 

ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกของจำเลยทั้งสองต่อจากคดีคาร์ม็อบสุรินทร์ 1 ส.ค. 2564 ของศาลนี้ เนื่องจากคดีนี้ศาลลงโทษปรับจำเลยเพียงอย่างเดียว และคดีดังกล่าวศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษา จึงไม่อาจนับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อจากคดีนั้นได้ 

หลังอ่านคำพิพากษา ศาลบอกกับจำเลยทั้งสองว่า ลงโทษปรับเพียงอย่างเดียว และทั้งสองสามารถอุทธรณ์คำตัดสินได้

หลังออกจากห้องพิจารณาคดี  ทั้งนิรันดร์และวิสณุพรต้องไปอยู่ในห้องควบคุมของศาล เนื่องจากไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าจะได้รับโทษปรับหนักขนาดนี้ จึงเตรียมเงินมาไม่พอชำระค่าปรับ โดยแจ้งกับทนายว่า เตรียมเงินสดมาเพียงคนละ 3,000 บาท ทนายความจึงนำค่าปรับที่ทั้งสองเตรียมมาวางต่อศาล พร้อมทั้งยื่นคำร้องขอเลื่อนการชำระค่าปรับในส่วนที่เหลือไป 30 วัน ก่อนศาลมีคำสั่งอนุญาตตามที่ขอ โดยให้จำเลยนำค่าปรับส่วนที่เหลือมาชำระภายในวันที่ 25 ส.ค. 2566

ขณะที่ ภัทรพงษ์ วรรณพงษ์ ทนายความเครือข่ายศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยช กล่าวว่า เป็นคำพิพากษาที่ผิดคาดมาก และการที่ความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลอาจจะใช้ดุลพินิจในการลงโทษปรับจำเลยให้น้อยกว่านี้ย่อมเป็นได้ นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่า ศาลหยิบยกประเด็นต่อสู้ของจำเลยทั้งสองมาวินิจฉัยน้อยมาก

สำหรับแนวทางในการอุทธรณ์คำพิพากษา ภัทรพงษ์กล่าวว่า คงต้องขอคัดคำพิพากษาฉบับเต็มออกมาโดยเร็ว และไล่เรียงประเด็นที่จะโต้แย้งคำพิพากษาของศาลนี้ต่อไป

ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมืองที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว คดีนี้นับเป็นคดีที่ 3 ที่ศาลลงโทษปรับสูงถึง 30,000 บาท 

หลังได้รับการปล่อยตัว วิสณุพร หรือ เรียว วัย 39 ปี ปัจจุบันเป็นพนักงานขายในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง กล่าวว่า หากไม่สามารถนำเงินที่เหลือ 17,000 บาท มาชำระค่าปรับได้ ตนอาจพิจารณาการทำงานบริการสังคมแทน เพียงแต่หากนิรันดร์เลือกแนวทางเดียวกัน ตนก็เป็นห่วงสุขภาพของนิรันดร์ที่ไม่แข็งแรงมาก  

ส่วนนิรันดร์ หรือ อ.นิรันดร์ อดีตข้าราชการครู วัย 66 ปี ปัจจุบันยังทำงานเกษตรกรรม ที่มีรายได้ไม่แน่นอน โดยหลังจากนี้ภายในเวลา 1 เดือน คงต้องหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องเงินอีก 27,000 บาท ที่ต้องชำระ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองยืนยันตรงกันว่าจะสู้คดีต่อไปในชั้นอุทธรณ์ 

นอกจากคดีนี้ในพื้นที่ จ.สุรินทร์ ทั้งนิรันดร์และวิสณุพรยังถูกฟ้องข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกิจกรรมคาร์ม็อบเหตุเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 อีกด้วย โดยคดีเพิ่งสืบพยานเสร็จไปเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2566 และศาลนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 31 ส.ค. 2566

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยังฟ้องอีก! 2 คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คาร์ม็อบสุรินทร์ จำเลยคาดถูกสกัดทางการเมือง ยืนยันร่วมชุมนุมวิจารณ์รัฐบาลไม่ใช่เรื่องผิด

นักกิจกรรม-ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ร่วมคาร์ม็อบสุรินทร์ เรียกร้องวัคซีนคุณภาพ ได้ 2 คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แทน

X