จับตา! นัดพิพากษาคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คาร์ม็อบสุรินทร์ ‘1 ส.ค. 64’ หลังคดีก่อนหน้าศาลพิพากษาปรับ 2 จำเลย คนละ 30,000

วันที่ 31 ส.ค. 2566 นิรันดร์ ลวดเงิน และวิสณุพร สมนาม 2 สมาชิกพรรคก้าวไกล จ.สุรินทร์ มีนัดฟังคำพิพากษาคดีที่พวกเขาถูกฟ้องข้อหา ฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง ที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกิจกรรมคาร์ม็อบสุรินทร์ สาปแช่งรัฐบาล ขับไล่ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 หลังจากที่ศาลแขวงสุรินทร์สืบพยานไปในช่วงเดือนพฤษภาคม – กรกฏาคม 2566 

คดีนี้นับเป็นการฟังคำพิพากษาคดีที่สองของทั้งนิรันดร์และวิสณุพร โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2566 ศาลแขวงสุรินทร์ได้อ่านคำพิพากษาในคดีคาร์ม็อบสุรินทร์ขับไล่เผด็จการ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 พิพากษาว่า ทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9(2) ลงโทษปรับคนละ 30,000 บาท แต่ทางนำสืบของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงปรับ 20,000 บาท โดยทั้งสองตัดสินใจสู้คดีต่อในชั้นอุทธรณ์

สำหรับคำฟ้องในคดีนี้ พนักงานอัยการบรรยายฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 26 ก.ค. 2564 จนถึงวันที่ 1 ส.ค. 2564 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมโดยการแบ่งหน้าที่กันทำ มีการลงข้อความในเฟซบุ๊ก ชื่อ คำว่ารักมันใหญ่มาก เชิญชวนนัดหมายให้ประชาชนร่วมกิจกรรม Surin Car Mob บริเวณตลาดเมืองใหม่ไอคิว อันเป็นสถานที่แออัด มีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 500 คน รถจักรยานยนต์ประมาณ 100 คัน และรถยนต์อีก 150 คัน แล้วเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมไปในเขต ต.ในเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์ ไปถึงบริเวณตลาดเมืองใหม่ อันเป็นสถานที่คับแคบแออัด เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 อันเป็นการที่ทั้งสองร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มบุคคลมากกว่า 100 คน ใน จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด โดยไม่ได้รับอนุญาต

ในนัดสืบพยานเมื่อวันที่ 24 พ.ค. และ 25 ก.ค. 2566 ปิยฤดี สืบเพ็ชร ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลแขวงสุรินทร์ ออกนั่งพิจารณาในฐานะผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ชัยสิทธิ์ สัทธาวรกุล อัยการโจทก์ นำพยานโจทก์เข้าสืบรวม 4 ปาก ด้านทนายจำเลยนำจำเลย 2 ปาก เข้าเบิกความเป็นพยานให้ตนเอง เหตุที่การสืบพยานในคดีล่าช้าออกไปเนื่องจากมีพยานฝ่ายโจทก์ขอเลื่อนการสืบพยานไปถึง 2 ครั้ง 

ทั้งนี้ ความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยทั้งนิรันดร์และวิสณุพรต่อสู้คดีว่า ไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรมตามที่โจทก์ฟ้อง ทั้งสองเป็นเพียงผู้เข้าร่วม และการเข้าร่วมกิจกรรมถือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

พยานตำรวจระบุ จำเลยที่ 1 พูดออกไมโครโฟน –  จำเลยที่ 2 เป็นสมาชิกกลุ่มจัดชุมนุม

พ.ต.ท.สกาว คำไกร รองผู้กำกับการสืบสวน สภ.เมืองสุรินทร์ ผู้กล่าวหา และ พ.ต.ท. วิโรจน์ หมั่นดี   สารวัตรสืบสวน สภ.เมืองสุรินทร์ เบิกความสอดคล้องกันโดยสรุปว่า ได้รับข่าวสารว่าจะมีการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบสุรินทร์เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 ที่ตลาดเมืองใหม่ไอคิว โดยโพสต์ลงกลุ่ม คนสุรินทร์ไม่เอาเผด็จการ ก่อนพบบัญชีเฟซบุ๊กของวิสณุพร จำเลยที่ 2 โพสต์เชิญชวนการเข้าร่วมกิจกรรมเข้าไปยังกลุ่มเฟซบุ๊กดังกล่าว ก่อนสืบทราบมาว่าจำเลยที่ 2 เปิดรับบริจาคเงินในการทำกิจกรรม กระทั่งถึงวันที่ 1 ส.ค. 2564 พยานจึงไปตรวจสอบที่ตลาดเมืองใหม่ไอคิว พบเห็นการเผาหุ่นฟาง มีการทำพิธีทางไสยศาสตร์โดยหมอเขมร โดยมีจำเลยที่ 1 คอยพูดไมค์เป็นภาษาเขมร จากนั้นเมื่อมีการเคลื่อนขบวน พยานเห็นจำเลยที่ 1 อยู่บนรถที่ติดตั้งเครื่องเสียงและเป็นผู้บอกเส้นทางที่ขบวนจะเคลื่อนไป

อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.สกาว และ พ.ต.ท.วิโรจน์ เบิกความตอบทนายจำเลยว่า ไม่ปรากฏชื่อจำเลยทั้งสองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รถที่ติดตั้งเครื่องเสียง และใครจะเป็นผู้จัดหามา หรือจัดหามาด้วยวิธีการใด พยานก็ไม่ทราบ โดยทั้งคู่เบิกความตามความเข้าใจว่า ที่คิดว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดชุมนุม เพราะเป็นคนถือไมโครโฟน และคอยพูดกับคนที่มาเข้าร่วมการชุมนุม ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นสมาชิกกลุ่ม คนสุรินทร์ไม่เอาเผด็จการ ซึ่งถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่จัดกิจกรรมครั้งนี้ 

ด้าน พ.ต.ท.รัฐพงษ์ พรมมี พนักงานสอบสวนในคดี เบิกความว่า หลังการชุมนุม พ.ต.ท.สกาว ได้มาแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับนิรันดร์และวิสณุพร เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมรวมตัวของประชาชนจำนวนมาก อันเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 พยานได้สอบปากคำ พ.ต.ท.สกาว และ พ.ต.ท.วิโรจน์ ทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 โพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนให้คนทั่วไปมาทำกิจกรรมในวันเกิดเหตุ และจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่พูดเชิญชวนคนให้มาร่วมชุมนุมและเป็นคนควบคุมเส้นทางเดินรถ ก่อนพยานสรุปสำนวนและทำความเห็นควรสั่งฟ้องเสนออัยการ

ขณะที่ สุวรรณี สิริเศรษฐภักดี หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ และเป็นรองเลขานุการคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดสุรินทร์ เบิกความถึงข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 30) ซึ่งห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 20 คน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากนายอำเภอในพื้นที่

สุวรรณเบิกความด้วยว่า กรณีที่มีผู้มาขอจัดกิจกรรมจะต้องมีหนังสือส่งไปที่ศาลากลางจังหวัด จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดจะประสานมายังเลขานุการคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งในช่วงเกิดเหตุไม่มีกิจกรรมใดได้รับอนุญาต

จำเลยยืนยัน ไม่มีส่วนวางแผนเส้นทาง – การชุมนุมระบุไม่ได้ว่ากลุ่มไหนจัด

นิรันดร์ ลวดเงิน จำเลยที่ 1 เบิกความว่า ตนเป็นเพียงผู้เข้าร่วมกิจกรรม ไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรม สาเหตุที่ตนพูดผ่านไมโครโฟนในระหว่างเข้าร่วมชุมนุม เพราะในช่วงนั้นตนเป็นนักการเมือง เป็นอดีตผู้สมัคร สส. พรรคอนาคตใหม่ เวลาไปที่ไหนมักจะมีคนเชิญให้ไปพูดกับผู้เข้าร่วมกิจกรรม และตอนทำพิธีไสยศาสตร์ซึ่งเป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เนื่องจากตนพูดภาษาเขมรได้ จึงได้รับเชิญให้ไปเป็นตัวแทนในการกล่าวขณะทำพิธี ส่วนช่วงที่เคลื่อนขบวน ตนไม่ได้เป็นคนพูดออกไมค์เพียงคนเดียว มีคนที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนหลายคน ตนเพียงขึ้นไปบนรถและนั่งไปกับขบวน ไม่มีส่วนร่วมในการวางแผนเส้นทางเคลื่อนขบวน

วิสณุพร สมนาม จำเลยที่ 2 เบิกความว่า กิจกรรมครั้งนี้ไม่ได้จัดโดยกลุ่ม คนสุรินทร์ไม่เอาเผด็จการ ที่ตนเป็นสมาชิก แต่เป็นการจัดกิจกรรมโดยกลุ่มอื่น ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นกลุ่มใด เนื่องจากมีผู้แสดงออกทางการเมืองจากหลายกลุ่มใน จ.สุรินทร์ มาเข้าร่วม ส่วนการรับบริจาคเงินก็เพียงเพื่อนำไปจัดทำสติ๊กเกอร์แจกในที่ชุมนุม และทำขึ้นแจกเฉพาะในกลุ่มคนสุรินทร์ไม่เอาเผด็จการ

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

ศาลแขวงสุรินทร์ปรับหนัก 2 นักกิจกรรม คดี ‘คาร์ม็อบ 15 ส.ค. 64’ คนละ 30,000 เชื่อจำเลยคุมขบวนรถ-โพสต์ชวน ถือเป็นผู้จัด ไม่ต้องคำนึงว่าเสี่ยงแพร่โควิดเพียงใด

บันทึกคดี “คาร์ม็อบสุรินทร์” 15 ส.ค. 64: 2 จำเลยยืนยันไม่ใช่ผู้จัดฯ ทั้งไม่ปรากฏข้อมูลว่าการชุมนุมทำให้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม

นักกิจกรรม-ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ร่วมคาร์ม็อบสุรินทร์ เรียกร้องวัคซีนคุณภาพ ได้ 2 คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แทน

X