ลุ้น! คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดี ‘คาร์ม็อบสุรินทร์ 15 ส.ค. 64’ หลัง ‘2 จำเลย’ ยืนยันไม่ได้เป็นผู้จัดชุมนุม เพียงใช้เสรีภาพร่วมชุมนุมตาม รธน.

หลังจากเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2566  ศาลแขวงสุรินทร์มีคำพิพากษาลงโทษปรับ 2 นักกิจกรรมสุรินทร์ สูงถึงคนละ 30,0000 บาท ในความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง ที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 (2) กรณีเข้าร่วมคาร์ม็อบสุรินทร์ไล่เผด็จการ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 ซึ่งศาลวินิจฉัยว่า ทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในเขตพื้นที่สถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ทางนำสืบของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 20,000 บาท

2 จำเลยในคดี ทั้งนิรันดร์ ลวดเงิน และวิสณุพร สมนาม นักกิจกรรมและสมาชิกพรรคก้าวไกล จ.สุรินทร์ ตัดสินใจสู้คดีต่อในชั้นอุทธรณ์ เพราะพวกเขายืนยันว่าไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม เป็นเพียงผู้เข้าร่วมชุมนุมที่ใช้สิทธิเสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ทั้งสองย้ำว่า พวกเขาไม่ใช่คนวางแผนการกำหนดเส้นทาง หรือเตรียมอุปกรณ์และสถานที่ต่าง ๆ ในกิจกรรมดังกล่าว 

โดยยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไปเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2566 ก่อนที่ศาลแขวงสุรินทร์นัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในวันที่ 23 เม.ย. 2567

.

จำเลยที่ 1 ปรากฏตัวหลังเวลานัดหมาย 1 ชม. จึงไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม – พยานโจทก์ยังยืนยันไม่ได้ว่าใครเป็นผู้กำหนดเส้นทางชุมนุม แต่คาดเดาไปเองว่าเป็นจำเลยที่ 1

อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองมีเนื้อหาโดยสรุประบุว่า ในประเด็นแรกที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า นิรันดร์ จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการชุมนุมในครั้งนี้นั้น จำเลยที่ 1 ขอยืนยันว่า ไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม แต่เป็นเพียงประชาชนผู้ใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในการเข้าร่วมชุมนุมเท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเป็นผู้จัดกิจกรรมนั้นไม่ถูกต้อง เพราะการจะพิจารณาว่าผู้ใดเป็นผู้จัดกิจกรรมชุมนุม ควรจะต้องได้ความโดยปราศจากข้อสงสัยว่า ผู้นั้นเป็นผู้ริเริ่มวางแผนการกำหนดเส้นทาง ตลอดจนเตรียมอุปกรณ์และสถานที่ต่าง ๆ ที่จะใช้ในการชุมนุมให้พร้อมก่อนถึงเวลาชุมนุม 

แต่จากข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของ พ.ต.ท.สกาว คำไกร พยานโจทก์ สรุปใจความได้ว่า พ.ต.ท.สกาว ซึ่งเป็นผู้ไปตรวจสอบที่เกิดเหตุที่ตลาดเมืองใหม่ (ไอคิว) สังเกตเห็นประชาชนเริ่มเข้าไปในพื้นที่ตั้งแต่เวลา 14.00 น. แต่ พ.ต.ท.สกาว กลับพบนิรันดร์ในบริเวณดังกล่าวเวลา 15.00 น. หลังประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมถึง 1 ชั่วโมง ผิดวิสัยของผู้จัดการชุมนุมที่โดยปกติจะต้องไปจัดเตรียมอุปกรณ์และสถานที่ก่อนที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะเดินทางไปถึง 

ทั้งยังปรากฏตามคำเบิกความของ พ.ต.ท.สกาว และ พ.ต.ท.วิโรจน์ หมั่นดี ซึ่งตอบคำถามค้านของทนายจำเลยตรงกันว่า รถยี่ห้อนิสสันสีน้ำเงิน ตามที่ปรากฏในรายงานการสืบสวนซึ่งเป็นรถที่บรรทุกเครื่องเสียงเพียงคันเดียวในงานวันดังกล่าว ไม่ใช่รถของจำเลยทั้งสอง และไม่ปรากฏหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดหารถยนต์คันดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นผู้จัดหาอุปกรณ์และไม่ได้เป็นผู้จัดเตรียมสถานที่ในการทำกิจกรรมชุมนุมในคดีนี้

พยานโจทก์ทั้งสองยังไม่ทราบด้วยว่า ใครเป็นผู้กำหนดเส้นทางในการเคลื่อนขบวนรถ รวมถึงกิจกรรมระหว่างเคลื่อนขบวน เพียงแต่เข้าใจว่านิรันดร์เป็นผู้จัดกิจกรรมในคดีนี้ เนื่องจากทราบมาว่านิรันดร์มักจะเป็นผู้ปราศรัยในการชุมนุม และเห็นว่านิรันดร์มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองในเขตพื้นที่ จ.สุรินทร์ เท่านั้น 

ส่วนที่พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความว่า ทราบจากในทางสืบสวนว่า นิรันดร์เป็นผู้จัดกิจกรรมชุมนุมครั้งนี้ ก็เป็นเพียงการเบิกความที่เลื่อนลอย ปราศจากพยานหลักฐาน จึงไม่มีน้ำหนัก และไม่ควรรับฟัง 

และจำเลยไม่เห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นที่ถือเอาคำเบิกความของ พ.ต.ท.สกาว และ พ.ต.ท.วิโรจน์ ซึ่งสรุปใจความสำคัญได้ว่า พยานทั้งสองเห็นนิรันดร์เป็นผู้ปราศรัยแจ้งกำหนดการและเส้นทางที่จะเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุม ตลอดจนประกาศให้ผู้ชุมนุมรอเคารพธงชาติพร้อมกันที่สวนเฉลิมพระเกียรติ มาใช้เป็นเหตุในการวินิจฉัยว่า นิรันดร์เป็นผู้จัดชุมนุม 

อุทธรณ์ของจำเลยตั้งข้อสังเกตว่านับตั้งแต่วันเกิดเหตุกระทั่งถึงวันสืบพยานมีระยะเวลาห่างกันนานเกือบ 2 ปี ทั้งในช่วงเวลาเกิดเหตุมีเหตุการณ์จัดกิจกรรมชุมนุมในพื้นที่ จ.สุรินทร์ ที่พยานทั้งสองต้องไปเฝ้าสังเกตการณ์หลายครั้ง ซึ่งโดยปกติของคนทั่วไปต้องเกิดความหลงลืมในรายละเอียดและอาจจดจำเหตุการณ์คลาดเคลื่อนได้ คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสอลจึงไม่น่าเชื่อถือและมีน้ำหนักน้อย

นอกจากนี้คำเบิกความของทั้งสองยังมีพิรุธหลายประการ เช่น ขณะที่ขบวนผู้ชุมนุมออกจากตลาดเมืองใหม่ รถยนต์คันที่ พ.ต.ท.สกาว โดยสารอยู่หลังขบวน ทำให้ พ.ต.ท.สกาว ย่อมไม่สามารถได้ยินหรือทราบได้ด้วยตัวเองว่า ขณะที่ขบวนเคลื่อนไปผู้ใดเป็นผู้ปราศรัยและบอกเส้นทางให้ผู้ชุมนุมทราบ เช่นเดียวกับ พ.ต.ท.วิโรจน์ ที่หลังจากผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนออกจากตลาดเมืองใหม่ก็ไม่ได้ติดตามขบวนไป จึงไม่น่าจะทราบว่า ในระหว่างเส้นทางผู้ใดเป็นผู้ปราศรัยบอกเส้นทางให้ผู้ชุมนุมทราบเช่นกัน 

ดังนั้น คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองและการนำสืบของโจทก์ทั้งหมดจึงเป็นการคาดเดาตามความเข้าใจไปเองว่า นิรันดร์เป็นผู้ปราศรัยบอกเส้นทางและให้สัญญาณแก่ผู้ชุมนุม ทั้งที่นิรันดร์เพียงเข้าร่วมชุมนุมและขึ้นปราศรัยในเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ซึ่งการวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการชุมนุมจากเหตุที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ปราศรัยเท่านั้น ย่อมเป้นการตีความกฎหมายที่เกินขอบเขต ขัดต่อหลักการพิจารณาคดีอาญาที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัด

.

จำเลยที่ 2 เพียงคัดลอกประกาศเชิญชวนร่วมกิจกรรมมาเผยแพร่ในเฟซบุ๊กส่วนตัว เพราะคิดว่าการร่วมคาร์ม็อบเป็นการใช้เสรีภาพในฐานะประชาชน

ในส่วนประเด็นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า วิสณุพร จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดกิจกรรมชุมนุมในครั้งนี้ โดยอาศัยเหตุที่สรุปใจความได้ว่า “พฤติการณ์ต่าง ๆ ของจำเลยที่ 2 เป็นการเชิญชวนหรือนัดหมายให้ผู้อื่นมาร่วมการชุมนุม โดยแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ที่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น” จำเลยที่ 2 ไม่เห็นพ้องด้วย 

เนื่องจากที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในลักษณะดังกล่าว เป็นการนำนิยามคำว่า “ผู้จัดการชุมนุม” ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาใช้ ซึ่งในขณะเกิดเหตุคดีนี้อยู่ในระหว่างที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนั้น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ จึงไม่ใช้บังคับตามความในมาตรา 3(6) การวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในประเด็นนี้จึงมิชอบด้วยกฎหมาย

วิสณุพรยืนยันว่า ตนเป็นเพียงผู้เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมในฐานะประชาชนเท่านั้น ซึ่งในทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดที่จะพิสูจน์โดยปราศจากข้อสงสัยว่า วิสณุพรเป็นผู้ทำการริเริ่มคิดหรือวางแผนการจัดกิจกรรม และไม่ปรากฏว่า วิสณุพรเป็นผู้จัดหาอุปกรณ์หรือเตรียมสถานที่จัดกิจกรรมชุมนุมในคดีนี้ 

โดยพยานโจทก์ปาก พ.ต.ท.สกาว และ พ.ต.ท.วิโรจน์ เบิกความเพียงว่า เห็นวิสณุพรในบริเวณที่มีการจัดกิจกรรมเท่านั้น แต่ไม่ได้เบิกความให้เห็นว่าวิสณุพรมีพฤติการณ์ใดที่จะทำให้ทราบชัดเจนว่าเป็นผู้จัดกิจกรรมชุมนุมในคดีนี้ 

เพราะแท้จริงแล้ววิสณุพรไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรมชุมนุมในคดีนี้ เพียงแต่พบเห็นประกาศการจัดคาร์ม็อบทางเฟซบุ๊กเพจเยาวชนสุรินทร์เพื่อประชาธิปไตย ซึ่งประกาศอยู่ก่อนที่วิสณุพรจะพบเห็น โดยวิสณุพรทราบมาว่ากิจกรรมคาร์ม็อบมีจุดเริ่มต้นมาจากกรุงเทพฯ เพื่อแสดงออกทางการเมืองในการเรียกร้องวัคซีนโควิด-19 โดยเป็นกิจกรรมที่ต่างคนต่างอยู่บนรถส่วนตัว ทำให้วิสณุพรตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรม เนื่องจากลักษณะของกิจกรรมไม่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยได้คัดลอกประกาศเชิญชวนร่วมกิจกรรมจากเพจเยาวชนสุรินทร์เพื่อประชาธิปไตย มาเผยแพร่ในเฟซบุ๊กส่วนตัว เพราะคิดว่าการชุมนุมคาร์ม็อบเป็นการใช้เสรีภาพในฐานะประชาชนตามรัฐธรรมนูญ

ส่วนที่จำเลยที่ 2 เปิดขอรับบริจาคก็เป็นไปเพื่อใช้ในการทำธงประจำกลุ่มและนำไปแสดงออกในการเข้าร่วมการชุมนุมในวันเกิดเหตุเท่านั้น ไม่ได้นำไปใช้ในการอันเกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมชุมนุมในครั้งนี้แต่อย่างใด ตลอดจนรถยนต์คันที่ใช้ติดเครื่องขยายเสียงก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดหาหรือจัดเตรียมอุปกรณ์หรือสถานที่ในการทำกิจกรรมในคดีนี้แต่อย่างใด โดยได้ให้การปฏิเสธว่า ไม่ได้เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุม มาตั้งแต่ชั้นสอบสวนและชั้นอัยการ 

เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรมชุมนุมในคดีนี้ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีหน้าที่ไปขออนุญาตจัดกิจกรรม และไม่มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษากลับคำพิพากษของศาลชั้นต้น โดยยกฟ้องจำเลยทั้งสองทุกข้อหา

.

นอกจากคดีนี้ ทั้ง นิรันดร์ ข้าราชการบำนาญ และวิสณุพร พนักงานขายในห้างสรรพสินค้า ยังต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์อีกคดีจากกิจกรรมคาร์ม็อบเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 ที่ศาลชั้นต้นตัดสินไม่ต่างจากคดีนี้ โดยศาลแขวงสุรินทร์พิพากษาให้ทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9(2) ลงโทษปรับจำเลยทั้งสองคนละ 30,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละ 1 ใน 3 คงปรับคนละ 20,000 บาท

ทั้งนี้ ในจังหวัดสุรินทร์มีการจัดคาร์ม็อบมาแล้วรวม 3 ครั้ง  เช่นเดียวกับในพื้นที่อื่น ๆ คาร์ม็อบสุรินทร์เป็นกิจกรรมที่แสดงออกถึงความไม่พอใจต่อการบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ โดยเฉพาะในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด โดยผู้จัดและผู้เข้าร่วมมีการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิดเพิ่มมากขึ้น 

แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังใช้ข้อกล่าวหา จัดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาปิดกั้นการเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลดังกล่าว แม้นิรันดร์และวิสณุพรจะยืนยันต่อสู้คดี แต่สุดท้ายทั้งสองก็ถูกลงโทษปรับในทั้งสองคดี เป็นจำนวนเงินรวมเกือบ 100,000 บาท ซึ่งวิสณุพรเคยสะท้อนว่า คำพิพากษาที่เขาได้รับ เหมือนรัฐต้องการปรามคนที่อยากออกมาแสดงออกทางการเมืองว่า มันมีค่าใช้จ่ายสูงในการออกมาเรียกร้องให้รัฐแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน

.

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

บันทึกคดี “คาร์ม็อบสุรินทร์” 15 ส.ค. 64: 2 จำเลยยืนยันไม่ใช่ผู้จัดฯ ทั้งไม่ปรากฏข้อมูลว่าการชุมนุมทำให้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม

ยังฟ้องอีก! 2 คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คาร์ม็อบสุรินทร์ จำเลยคาดถูกสกัดทางการเมือง ยืนยันร่วมชุมนุมวิจารณ์รัฐบาลไม่ใช่เรื่องผิด  

X