อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี ม.116-พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 8 ผู้ชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทน เหลือ “อานนท์ นำภา” ยังพิจารณาข้อหา ม.112

วันที่ 13 ก.พ. 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ ในคดีของ 8 นักศึกษาและนักกิจกรรม ที่ถูกกล่าวหาในข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีการเข้าร่วมการชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทน ที่ประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2563 ขณะที่อัยการยังพิจารณาสำนวนในส่วนของอานนท์ นำภา ซึ่งถูกกล่าวหาในข้อหามาตรา 112 ด้วย อยู่

.

ทบทวนคดี ทนายของประยุทธ์-ตำรวจฝ่ายสืบสวนเชียงใหม่ เป็นผู้กล่าวหา

สำหรับการชุมนุมดังกล่าว เกิดขึ้นในช่วงที่นักศึกษา-ประชาชนมีการชุมนุมเรียกร้อง 3 ข้อเรียกร้อง คือให้ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่ง, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และหยุดคุกคามประชาชน โดยมี อานนท์ นำภา เดินทางมาร่วมปราศรัยที่ข่วงประตูท่าแพ พร้อมกับนักศึกษาและนักกิจกรรมในจังหวัดเชียงใหม่ร่วมผลัดเปลี่ยนกันปราศรัยและร้องเพลง

จนในช่วงการชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2563 หลังเจ้าหน้าเข้าสลายการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล พร้อมกับจับกุม อานนท์ นำภา และ ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ ซึ่งขณะนั้นเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำตัวมาดำเนินคดีที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยหลังตำรวจแจ้งข้อหาตามมาตรา 116 (2), พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ได้นำตัวทั้งคู่ไปขอฝากขังต่อศาล 

ก่อนศาลไม่ให้ประกันตัวทั้งสองคน ทำให้ประสิทธิ์ถูกคุมขังที่เรือนจำกลางเชียงใหม่ทั้งหมด 7 วัน และอานนท์ถูกขังทั้งหมด 12 วัน ก่อนศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะให้ประกันตัวทั้งคู่

หลังจากนั้นวันที่ 26 ต.ค. 2563 นักศึกษาและนักกิจกรรมอีก 7 คน ซึ่งทราบว่าถูกออกหมายจับในคดีนี้เช่นกัน ได้ร่วมกันเดินทางเข้าแสดงตัวกับตำรวจ สภ.เมืองเชียงใหม่ ได้แก่ ธนาธร วิทยเบญจางค์, วัชรภัทร ธรรมจักร, วิธญา คลังนิล, สุปรียา ใจแก้ว, ณัฐวุฒิ ตติเวชกุล, สุริยา แสงแก้วฝั้น และเพ็ญสุภา สุขคตะ โดยตำรวจแจ้งข้อหาเช่นเดียวกันทั้งหมด และให้ปล่อยตัวไปโดยไม่มีการควบคุมตัวไว้

หลังฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีนี้ พร้อมกับนำพยานนักวิชาการไปให้การในชั้นสอบสวนแล้ว ในวันที่ 26 พ.ย. 2563 พนักงานสอบสวนได้ส่งตัวผู้ต้องหาทั้งเจ็ดและสำนวนคดีให้กับอัยการจังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นคดีได้อยู่ในชั้นอัยการเรื่อยมา

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2564 พนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ ได้เดินทางไปแจ้งข้อหาเพิ่มเติมกับเฉพาะ อานนท์ นำภา ที่ขณะนั้นไม่ได้รับการประกันตัวในคดีอื่นอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพิ่ม จากคำปราศรัยของอานนท์ในวันดังกล่าวในหัวข้อ “การขยายอำนาจของสถาบันกษัตริย์ที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตย” และได้ส่งสำนวนคดีในส่วนของอานนท์และประสิทธิ์ให้กับอัยการในเวลาต่อมา รวมเป็นคดีเดียวกัน

ต่อมาทราบว่าคดีนี้มี อภิวัฒน์ ขันทอง ซึ่งในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ไปแจ้งความกล่าวหาในส่วนของ อานนท์ นำภา ในข้อหามาตรา 112 และ 116 ที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ และมี พ.ต.ท.มนัสชัย อินทร์เถื่อน ขณะนั้นเป็นรองสารวัตรสืบสวนของ สภ.เมืองเชียงใหม่ เป็นผู้กล่าวหาผู้ร่วมปราศรัยคนอื่นในข้อหาอื่น ๆ

.

ภาพจากเพจ Youth & Direct Democracy TH

.

อัยการสั่งไม่ฟ้อง 8 ผู้ต้องหาทุกข้อหา เห็นว่าการชุมนุม/ปราศรัยไม่เข้าข่าย ม.116-ไม่เสี่ยงต่อโรค

หลังคดีอยู่ในชั้นอัยการกว่า 3 ปี เศษ ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2567 อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีหนังสือแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องคดีเด็ดขาดในส่วนของผู้ต้องหา 8 คน ไปยังผู้กำกับการ สภ.เมืองเชียงใหม่ ยกเว้นเฉพาะส่วนของอานนท์ นำภา ที่อัยการยังพิจารณาสำนวนคดีในข้อหาตามมาตรา 112 อยู่

ในส่วนของรายละเอียดคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการ โดยสรุป

1. ในข้อหาตามมาตรา 116 (2) อัยการเห็นว่าเป็นความผิดในหมวดความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่บัญญัติขึ้นโดยเพ่งเล็งไปในทางเจตนาต่อผล ซึ่งต้องวินิจฉัยเจตนาผู้กล่าวข้อความ จากถ้อยคำหรือข้อความทั้งหมดรวมกัน ไม่ใช่จับมาพิจารณาเฉพาะคำใดคำหนึ่งหรือข้อใดข้อหนึ่ง โดยนอกจากต้องมีเจตนาให้การแสดงปรากฏต่อประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสอง ยังต้องมีเจตนาพิเศษโดยเฉพาะ กล่าวคือต้องเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดจะก่อให้เกิดความไม่สงบโดยทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะหมู่คนบางหมู่ และต้องมิใช่การกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต

อัยการเห็นว่าแม้ข้อเท็จจริงในคดีนี้ จะปรากฏว่าในวันเกิดเหตุ ผู้ต้องหาทั้งเก้าคนต่างขึ้นกล่าวปราศรัยโดยเปิดเผยต่อประชาชนโดยทั่วไปที่เข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าว ผ่านไมโครโฟนและเครื่องขยายเสียง โดยอัยการได้สรุปเนื้อหาคำปราศรัยของผู้ต้องหาแต่ละคน พร้อมระบุว่าจากคำพูดของผู้ต้องหาทั้งเก้า ก็เพื่อยืนยันข้อเท็จจริงและเรียกร้องให้ประชาชนรวมตัวกันยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล 3 ประการ ได้แก่ หยุดคุกคามประชาชน, ยุบสภา และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และผู้ต้องหาทั้งเก้าเชื่อโดยสุจริตว่าตนมีสิทธิจะกระทำได้ ทั้งการชุมนุมเป็นไปโดยสงบและเปิดเผย ไม่มีการปิดถนน หรือกระทำการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของราชการ 

การกระทำดังกล่าวจึงยังไม่อาจถือเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดจะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร แต่เป็นการเชื่อโดยสุจริตว่าตนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1966 ที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก 

2. ในข้อหาฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เห็นว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นลักษณะการจัดกิจกรรมแบบแฟลชม็อบ เพื่อแสดงออกสัญลักษณ์ทางการเมือง และเป็นกิจกรรมในที่โล่งแจ้ง ไม่มีลักษณะแออัด อีกทั้งปรากฏว่าขณะจัดกิจกรรม ได้มีการใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา การชุมนุมจึงไม่มีลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และไม่ปรากฏว่าภายหลังชุมนุม มีผู้ติดเชื้อไวรัสและไม่มีเหตุการณ์ไม่สงบหรือเกิดความวุ่นวายแต่อย่างใด

3. ข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มาตรา 10 และ 28 เห็นว่า ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ มาตรา 3 (6) บัญญัติไม่ให้ใช้พระราชบัญญตินี้ระหว่างที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อคดีนี้เหตุเกิดในช่วงระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 

4. ในข้อหาตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ มาตรา 34 (6) มีระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต มีระวางโทษปรับไม่เกิน 200 บาท ซึ่งทั้งสองฐานความผิดมีอายุความไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันเกิดเหตุ คดีจึงขาดอายุความในสองข้อหานี้แล้ว

อัยการจังหวัดเชียงใหม่จึงมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา 8 คน ในคดีนี้ ในสามข้อหา และมีคำสั่งให้ยุติการดำเนินคดีในอีกสองข้อหา เนื่องจากขาดอายุความ

ทั้งนี้ การสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว ทำให้กรณีของประสิทธิ์ที่ถูกคุมขังหลังถูกจับกุมเป็นเวลา 7 วันนั้น สามารถเรียกร้องค่าชดเชยการถูกคุมขังโดยไม่มีความผิดได้ต่อไป

.

X