ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนปรับ 1 หมื่น ข้อหา พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ “วิชพรรษ การ์ด WeVo” เหตุร่วมชุมนุมต้านรัฐประหารเมียนมา แต่ยกฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

23 เม.ย. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงพระนครใต้นัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ในคดีของ วิชพรรษ ศรีกสิพันธุ์ นักกิจกรรมทางการเมืองจากกลุ่ม We Volunteer วัย 24 ปี ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ  เหตุจากการร่วมชุมนุม #StandWithMyanmar หน้าสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทย ถนนสาธรเหนือ เพื่อต่อต้านการรัฐประหารของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คือให้ยกฟ้องข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่เชื่อว่าจำเลยทราบประกาศให้ยุติการชุมนุมจากเจ้าหน้าที่แล้วแต่ไม่ได้ทำตามคำสั่ง ที่อ้างว่าไม่ได้ยินประกาศเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่น่าเชื่อถือ จำเลยมีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ลงโทษปรับ 10,000 บาท แต่ให้แก้เป็นการปรับเป็นพินัย เนื่องจาก พ.ร.บ.การปรับเป็นพินัย มีผลบังคับใช้แล้ว

ทบทวนคดี: ถูกจับกุมในที่ชุมนุม – ถูกแจ้งสองข้อหาก่อนศาลยกฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ลงโทษปรับตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ 1 หมื่นบาท

เหตุในคดีนี้เกิดขึ้นภายหลังมีการรัฐประหารในประเทศเมียนมาช่วงเช้าของวันที่ 1 ก.พ. 2564 ต่อมาในวันเดียวกัน เวลาประมาณ 15.30 น. กลุ่มผู้ชุมนุมชาวเมียนมาและคนไทยมาร่วมชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารที่บริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตเมียนมา 

ในวันเกิดเหตุ พ.ต.อ.ธนโชติ ฤกษ์ดี ผู้กำกับการ สน.ยานนาวา ซึ่งถูกแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ประกาศให้ยุติการชุมนุมในเวลา 16.16 น. ผู้ชุมนุมได้ทยอยแยกย้ายกลับ แต่ยังมีกลุ่มการ์ดเหลืออยู่บางส่วน จนเวลา 17.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนพร้อมโล่และกระบอง ได้นำกำลังเข้าสลายการชุมนุม โดยเดินตั้งแถวเข้าไปยังพื้นที่ที่ผู้ชุมนุมที่ยังรวมตัวกันอยู่ จึงเกิดการปะทะกันกับเจ้าหน้าที่ 

ต่อมาเวลา 17.20 น. พบว่ามีผู้ถูกจับกุมทั้งสิ้น 3 ราย โดยรายหนึ่งเป็นประชาชนที่มาร่วมชุมนุม และอีกสองรายเป็นทีมการ์ดของกลุ่ม WeVo ซึ่ง “วิชพรรษ ศรีกสิพันธุ์” คือหนึ่งในผู้ถูกจับกุม

ในชั้นสอบสวนวิชพรรษถูกแจ้ง 2 ข้อหา ได้แก่  ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ มาตรา 34 (6) ซึ่งเขาให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาและถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สน.ยานนาวา ตลอดคืน จนวันรุ่งขึ้น (2 ก.พ. 2564) พนักงานสอบสวนจึงขออำนาจศาลฝากขังที่ศาลแขวงพระนครใต้ ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง ทนายความจึงยื่นคำร้องขอประกันตัว ศาลก็มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ 

หลังจากอัยการมีคำสั่งฟ้องต่อศาลแขวงพระนครใต้และคดีเสร็จสิ้นการสืบพยาน เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2565 ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ลงโทษปรับตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ เป็นเงินจำนวน 10,000 บาท เนื่องจากเห็นว่าจำเลยฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรค ซึ่งในวันดังกล่าววิชวรรษได้จ่ายค่าปรับทั้งสิ้น 9,500 บาท เนื่องจากถูกคุมขังไป 1 วัน ระหว่างถูกจับกุม จึงหักค่าปรับไป 500 บาท

ภาพจากเพจ นพ.ทศพร เสรีรักษ์

ทนายยื่นอุทธรณ์ ระบุจำเลยมิได้มีเจตนาฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานแต่อย่างใด ย่อมไม่ควรถูกลงโทษเพียงเพราะกำลังปฏิบัติตามคำสั่ง

ต่อมาทนายยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาไปเมื่อ 26 ม.ค. 2566 โดยสรุประบุว่า จำเลยเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ไม่เห็นพ้องด้วยที่ศาลลงโทษในข้อหา พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ 

ประการแรก โจทก์ไม่อาจพิสูจน์ให้เป็นที่สิ้นสงสัยว่า จำเลยไม่ได้รับทราบคำสั่งของ พ.ต.อ.ธนโชติ เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ แม้ศาลได้วินิจฉัยว่า พ.ต.อ.ธนโชติ ดำเนินการเท่าที่จำเป็นและสมควรแล้ว แต่โจทก์ยังไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าจำเลยได้รับทราบคำสั่งนั้นแล้วหรือไม่อย่างไร ซึ่งในช่วงชุลมุนจำเลยไม่ได้ยืนรวมกลุ่มกับผู้ใด อีกทั้งยังอยู่ห่างกับ พ.ต.อ.ธนโชติ อย่างมาก ซึ่งเป็นไปได้ยากที่จะทราบประกาศดังกล่าว 

เพียงแต่จำเลยมองเห็นว่าเหตุการณ์มีความจลาจล จึงเตรียมที่จะออกจากพื้นที่ ซึ่งก็ยังถือเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานแม้จะไม่ได้ยินประกาศก็ตาม เพียงแต่ถูกจับกุมตัวก่อน จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยจงใจที่จะฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง

ประการที่สอง โจทก์ไม่อาจพิสูจน์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ชัดได้ว่า จำเลยจงใจหรือมีเจตนาที่จะฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามของเจ้าพนักงานควบคุมโรคแต่อย่างใด เมื่อพิจารณาจากพยานโจทก์ทุกปากประกอบกับคำเบิกความของจำเลยแล้ว จะเห็นได้ว่าขณะที่มีการประกาศให้ยุติการชุมนุมแล้วจึงเริ่มมีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับช่วงเวลาที่จำเลยถูกจับกุม 

อีกทั้งจำเลยไม่ได้เข้าร่วมปะทะและกำลังเก็บของเพื่อจะออกจากพื้นที่ แต่เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์แล้วว่ามีความอันตรายจึงไม่กล้าขยับออกไป แต่เมื่อจำเลยกำลังจะออกไปจากพื้นที่ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งแล้ว แต่กลับถูกจับกุมเสียก่อน

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เห็นว่าจำเลยน่าจะทราบประกาศแล้ว แต่ไม่ได้ทำตาม

วันนี้ (23 เม.ย. 2567) วิชพรรษ เดินทางมายังห้องพิจารณาคดีที่ 7 เพื่อฟังคำพิพากษาตามนัดหมาย แต่เนื่องจากวันนี้ห้องพิจารณาคดีมีนัดหมายคดีก่อนหน้าหลายคดี ศาลจึงเริ่มอ่านคำพิพากษาคดีนี้ในเวลาประมาณ 10.00 น. มีใจความสำคัญโดยสรุปว่า

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า มีรายงานว่ามีรถยนต์เจ้าพนักงานที่ติดลำโพง ซึ่งเป็นรถคันเดียวกับที่ พ.ต.อ.ธนโชติ ประกาศให้ยุติการชุมนุม จอดอยู่ไม่ไกลกับรถกระบะสีแดงที่จำเลยยืนอยู่ อีกทั้งยังมีลำโพงขนาดใหญ่ 2 ตัว หันไปทางผู้ชุมนุมและจำเลย น่าเชื่อว่าจำเลยทราบประกาศของเจ้าพนักงานแล้ว แต่มิได้ทำตามคำสั่ง ที่อ้างว่าไม่ได้ยินประกาศ นับว่าเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่น่าเชื่อถือ 

พยานโจทก์รับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนดำเนินการใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดสภาวะไม่ถูกสุขลักษณะ และอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่อันตรายและโรคระบาดแพร่ออกไป ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามา ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับพินัยฯ มาตรา 39 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2566 ในคดีนี้เป็นความผิดฐาน พ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งมีโทษปรับสถานเดียว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดทางพินัย จึงให้ปรับตาม พ.ร.บ.ปรับพินัยฯ ตามมาตรา 45 (3) 

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 34 วรรคหนึ่ง อนุ 6 และมาตรา 51 ให้ปรับเป็นพินัย 10,000 บาท นอกจากนี้ให้เป็นไปตามศาลชั้นต้น

ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ได้แก่ บุษยา รอดยินดี, ประเสริฐศักดิ์ ณรงค์รักเดช และ กรกวรรณ ดลนิมิตสกุล

หลังจากที่ศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้นแล้ว วิชพรรษได้ลงไปดำเนินการเรื่องค่าปรับพินัย แต่เนื่องจากจำเลยได้ชำระค่าปรับไว้แล้วต่อศาลชั้นต้น ในชั้นอุทธรณ์จึงไม่ต้องชำระค่าปรับอีก

.

ทั้งนี้ คดีจากการชุมนุมหน้าสถานทูตเมียนมา เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 นอกจากคดีของวิชพรรษที่มีคำพิพากษาในวันนี้แล้ว ยังมีคดีของนักกิจกรรมยังอยู่ระหว่างการต่อสู้คดีอยู่อีก 2 คดี ได้แก่ 

คดีของนักกิจกรรม 7 คน ที่ถูกสั่งฟ้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เนื่องจากมีข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน และ ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานฯ ต่อมาเมื่อ 21 ส.ค. 2566 ศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกปัณณพัทธ์ (จำเลยที่ 1) 4 เดือน 20 วัน ไม่รอลงอาญา ส่วนอีกหกคนให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ทำให้อยู่ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา

และคดีของ “เพนกวิน” พริษฐ์, “โตโต้” ปิยรัฐ และ “รุ้ง” ปนัสยา สามแกนนำที่ถูกฟ้องที่ศาลแขวงพระนครใต้ ในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ ต่อมาเมื่อ 30 ม.ค. 2566 ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องทุกข้อหา แต่อัยการโจทก์ได้อุทธรณ์คำพิพากษาต่อมา

ย้อนอ่านเหตุการณ์ชุมนุม

#ม็อบ1กุมภา : #SaveMyanmar : Mob Data Thailand

X