วันที่ 29 เม.ย. 2567 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ พนักงานอัยการสำนักงานสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7) มีคำสั่งฟ้องคดีของ 2 นักศึกษาและนักกิจกรรม ได้แก่ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ “บี๋” นิราภร อ่อนขาว ในข้อหา ม.112 – พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) สืบเนื่องจากการถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” รวมถึงโพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์จำนวน 3 โพสต์ เมื่อช่วงปี 2564
คดีนี้มี นพดล พรหมภาสิต อดีตเลขาศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) เป็นผู้กล่าวหา และมี พ.ต.ท.นิติธร เดชระพีร์, พ.ต.ท.วิพัฒน์ รัชอินทร์ และ ร.ต.อ.ปิยวัฒน์ ปรัญญา พนักงานตำรวจ บก.ปอท. เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหากับนักกิจกรรมทั้ง 2 ราย โดยรุ้ง ได้รับทราบข้อกล่าวหาในระหว่างที่ถูกคุมขังในคดีแต่งครอปท็อปฯ เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2564 ส่วนบี๋ได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาตามนัดหมาย เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2564 และตำรวจไม่ได้มีการควบคุมตัวไว้
คดีนี้ตำรวจส่งสำนวนให้อัยการไปเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2565 ก่อนสำนวนจะอยู่ที่อัยการกว่า 2 ปี จน เกษม ภัทรสรกุลนานนท์ พนักงานอัยการ เป็นผู้เรียบเรียงฟ้องคดีนี้ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) มีเนื้อหาโดยสรุปว่าผู้ต้องหาทั้งสองรายได้ร่วมกันโพสต์ประกาศในเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ร่วมกัน เป็นจำนวน 3 โพสต์ ดังนี้
โพสต์ที่ 1 เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 63 เวลา 22.12 น. เพจดังกล่าวโพสต์ประกาศกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 1 โดยเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับ 10 ข้อเรียกร้อง เพื่อให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนสามารถตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ได้
โพสต์ที่ 2 เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 64 เวลา 10.34 น. เพจดังกล่าวได้โพสต์ข้อความว่า “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รังสิต) #ภาษีกู #ยกเลิก112” พร้อมกับรูปภาพกษัตริย์รัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ถูกพ่นสีสเปรย์ข้อความว่า “ยกเลิก 112” และ “ภาษีกู” จํานวน 9 ภาพ
โพสต์ที่ 3 เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 64 เวลา 13.32 น. เพจดังกล่าวได้โพสต์ภาพกษัตริย์รัชกาลที่ 10 ที่มีการตัดต่อล้อเลียนให้เสื่อมเสีย จํานวน 1 ภาพ พร้อมกับเนื้อหาที่ระบุถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519
อัยการระบุว่า โพสต์ดังกล่าวทั้ง 3 ข้อความได้มีการกล่าวหาว่ารัชกาลที่ 10 ด้วยข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน อันเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง มีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ และทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะผู้ใดจะละเมิดมิได้
อัยการยังระบุขอคัดค้านการประกันตัวทั้งสองคน อ้างว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง และเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
ต่อมาทนายความและนายประกันกองทุนราษฎรประสงค์ ได้ยื่นขอประกันตัวทั้ง 2 คน ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี โดยใช้หลักทรัพย์ประกันคนละ 90,000 บาท ไม่มีเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติม พร้อมกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานเป็นวันที่ 23 ก.ย. 2567 เวลา 13.30 น.
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รุ้ง ปนัสยา ถูกดำเนินคดี ม.112 เป็นจำนวน 10 คดีแล้ว โดย บี๋ นิราภร ก็มีคดี ม.112 เป็นจำนวน 2 คดี โดยทั้งสองคดี เธอถูกกล่าวหาว่าเป็นร่วมเป็นแอดมินเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
ทั้งนี้มีคดีที่ทั้งสองคนถูกฟ้องร่วมกันกับ เบนจา อะปัญ ก่อนหน้านี้ ที่ศาลอาญา จากโพสต์ข้อความในเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเช่นกัน มีกำหนดนัดสืบพยานในวันที่ 7-9 พ.ค. 2567 นี้