5 ผู้ชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทน เดินหน้าร้องขอความเป็นธรรมอัยการ ทบทวนคำสั่งฟ้องข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

3 เม.ย. 2567  ตัวแทนผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทน ที่ข่วงประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2563  ได้แก่ ภัควดี วีระภาสพงษ์, รจเรข วัฒนพาณิชย์, นันท์ณิชา ศรีวุฒิ, สุริยา แสงแก้วฝั้น ได้เข้ายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ และภาคภูมิ พันธวงค์ หรือ “ปาหนัน” ก็ได้เข้ายื่นหนังสือที่สำนักงานอัยการสูงสุดในเวลาเดียวกัน หลังจากอัยการเตรียมจะสั่งฟ้องคดีที่ทั้งหมดถูกกล่าวหาในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

สำหรับคดีนี้มี บัญชา บุญพยุง เป็นผู้กล่าวหาผู้ชุมนุมดังกล่าวถึง 38 คน ไว้ที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ ประกอบไปด้วยทั้งนักศึกษา นักวิชาการ นักกิจกรรม ผู้เรียกร้องความเสมอภาคทางเพศ และกลุ่มคนเสื้อแดง ในข้อกล่าวหา “ยุยงปลุกปั่นฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ

ทั้งหมดทยอยเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2564  ต่อมาวันที่ 23 ก.ย. 2564 พนักงานสอบสวนได้นัดแกนนำนักศึกษา 5 คน ส่งสำนวนคดีให้พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีความเห็นควรฟ้องคดี ต่อมาทั้ง 5 คน ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมไว้ ส่วนผู้ชุมนุมคนอื่น ๆ ไม่มีนัดส่งตัวต่อพนักงานอัยการแต่อย่างใด แต่ทางตำรวจได้ส่งสำนวนให้อัยการโดยไม่มีตัวผู้ต้องหา

.

ภาพการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2564

.

กระทั่งวันที่ 2 ต.ค. 2566 เจ้าหน้าที่อัยการจังหวัดเชียงใหม่ได้แจ้งต่อทนายความ ว่าอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 38 คน ในข้อหามาตรา 116 แต่ยังมีคำสั่งให้ฟ้องข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพียงข้อหาเดียว จึงส่งเรื่องต่อให้แก่พนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อไป เนื่องจากข้อหานี้เพียงข้อหาเดียวอยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวง ไม่ใช่ศาลจังหวัด

ต่อมาหลังคดีผ่านไปกว่า 3 ปี ในนัดรายงานตัวเมื่อเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา พนักงานอัยการคดีศาลแขวงได้นัดหมายเตรียมจะสั่งฟ้องคดีในช่วงวันที่ 26 เม.ย. นี้ ทำให้ตัวแทนผู้ต้องหาได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับอัยการ

โดยสรุปเนื้อหาของหนังสือร้องขอความเป็นธรรมในแต่ละประเด็น เพื่อขอให้พนักงานอัยการทบทวนคำสั่งฟ้องดังกล่าว ได้แก่ 

1. พฤติการณ์เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง ในวันที่ 29 ก.ค. 2563 ณ บริเวณข่วงประตูท่าแพ เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ อันเป็นสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ฯ และกติกาสากลที่ไทยเป็นภาคี

2. ลักษณะการชุมนุมเป็นแบบแฟลชม็อบ ซึ่งมีการรวมตัวกันเป็นเวลาไม่นาน ในสถานที่โล่งแจ้ง ไม่แออัด อีกทั้งทั้งก่อนและหลังวันเกิดเหตุมากกว่า 2 เดือน ไม่มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 เพิ่มขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ช่วงเวลาเกิดเหตุไม่ใช่เหตุการณ์โรคแพร่ระบาดร้ายแรง แต่สถานการณ์คลี่คลายลงแล้ว จะเห็นได้ว่าพฤติการณ์ดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นี้ ไม่มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ความรุนแรงของโรค อันจะเป็นความผิดได้

3. กิจกรรมดังกล่าวเป็นการรวมตัวของประชาชนเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างสงบ เพื่อแสดงให้รัฐบาลในขณะนั้นเกิดความตระหนักถึงความเดือดร้อน และความไม่พอใจของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาล ซึ่งเป็นช่องทางที่ทำให้รัฐบาลรับฟังเสียงของประชาชน ตามวิถีแห่งระบอบประชาธิปไตยฯ 

4. การดำเนินคดีทางการเมืองนี้ได้สร้างภาระและสิ้นเปลืองงบประมาณของประเทศ และของกระบวนการยุติธรรม สร้างความหวาดกลัวแก่ประชาชนผู้ต้องการใช้สิทธิเสรีภาพในอนาคต ทำลายหลักการสำคัญของระบอบการปกครองประชาธิปไตย ซึ่งในคดีการชุมนุมและถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกหลายคดีที่มีพฤติการณ์เดียวกันกับคดีนี้ พนักงานอัยการก็มีคำสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจสะท้อนถึงปัญหาบรรทัดฐานในการสั่งฟ้องคดีของอัยการ 

หนังสือขอความเป็นธรรมยังได้ยกตัวอย่างคดีจากการชุมนุมที่ประตูท่าแพ ในช่วงเวลาและลักษณะใกล้เคียงกันกับคดีนี้ ได้แก่ คดีชุมนุมเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2563 ซึ่งมีนักศึกษาและนักกิจกรรมถูกกล่าวหาจำนวน 9 คน และอัยการจังหวัดเชียงใหม่ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องในข้อหาทั้งตามมาตรา 116 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปแล้ว (แต่คดีนี้ ยังเหลือกรณีของอานนท์ นำภา ที่ถูกกล่าวหาในข้อหามาตรา 112 ด้วย)

ในส่วนของข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อัยการวินิจฉัยไม่ฟ้องคดี โดยเห็นว่าลักษณะการจัดกิจกรรมแบบแฟลชม็อบ เพื่อแสดงออกสัญลักษณ์ทางการเมือง และเป็นกิจกรรมในที่โล่งแจ้ง ไม่มีลักษณะแออัด อีกทั้งปรากฏว่าขณะจัดกิจกรรม ได้มีการใส่หน้ากากอนามัย การชุมนุมจึงไม่มีลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และไม่ปรากฏว่าภายหลังชุมนุม มีผู้ติดเชื้อไวรัสและไม่มีเหตุการณ์ไม่สงบหรือเกิดความวุ่นวายแต่อย่างใด

ในส่วน บัญชา บุญพยุง ผู้แจ้งความกล่าวหาในคดีนี้ พบว่าประกอบอาชีพเป็นทนายความ เคยเคลื่อนไหวในนามหัวหน้ากลุ่ม “คนรักแผ่นดินเกิด” แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเหตุใดจึงทราบรายละเอียดข้อมูลของผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนถึง 38 คน และมีพยานหลักฐานใดใช้กล่าวหาบ้าง

อีกทั้งในส่วนของผู้ต้องหาในคดีนี้ ทราบว่าผู้ต้องหา 3 รายได้เสียชีวิตไปแล้ว อาทิ “ป้าดาวเรือง” สิริเรือง แก้วสมทรัพย์ ประชาชนเสื้อแดงที่เสียชีวิตจากโรคประจำตัวในวัย 74 ปี

.

X