ตร.เชียงใหม่ส่งสำนวนคดีชุมนุมและคาร์ม็อบให้อัยการ 2 คดี เบี้ยวไม่มาตามนัดอีก 1 คดี

วันที่ 23 กันยายน 2564 เวลา 9.30 น. พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ นัดผู้ต้องหาคดีจัดกิจกรรมชุมนุม ให้มารายงานตัวที่สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ โดยนัดพร้อมกัน 3 คดี ได้แก่ คดีคาร์ม็อบ “ด่วนนครพิงค์ เจียงใหม่ไล่ขึดประยุทธ์” เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564, คดีคาร์ม็อบ “ด่วนนครพิงค์  เชียงใหม่ไล่ประยุทธ์” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 และคดีชุมนุมเชียงใหม่จะไม่ทน บริเวณข่วงประตูท่าแพ ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2563

บรรยากาศช่วงเช้าในวันนี้ มีบรรดาผู้ต้องหารวม 10 คน พร้อมมวลชน และทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย เดินทางเข้าให้กำลังใจ ทั้งหมดนั่งรออยู่บริเวณสำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรอเวลาเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกให้รายงานตัวต่อพนักงานอัยการในแต่ละคดี

1. คดี “แสงไท” (นามสมมติ) ผู้ร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ “ด่วนนครพิงค์ เจียงใหม่ไล่ประยุทธ์” เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ถูกแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ พนักงานสอบสวนมีความเห็นสมควรสั่งฟ้องคดี

เวลา 9.50 น. พนักงานสอบสวนส่งสำนวนคดีต่อพนักงานอัยการ และเรียกแสงไทมารับทราบวันนัดก่อนปล่อยตัว โดยไม่มีหลักประกัน นัดรายงานตัวกับพนักงานอัยการครั้งต่อไปในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564

2. คดีชุมนุมเชียงใหม่จะไม่ทน เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 หลังจากพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ร่วมชุมนุมจำนวน 38 คน ในข้อหายุยงปลุกปั่นฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในคดีที่มีนายบัญชา บุญพยุง เป็นผู้แจ้งความกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้มีความเห็นสมควรสั่งฟ้องคดีผู้ต้องหาจำนวน 5 คน ซึ่งเป็นผู้ปราศรัยในการชุมนุมดังกล่าว แยกจากผู้ต้องหาอีก 33 คน ที่ยังคงอยู่ในชั้นการพิจารณา

เวลา 9.30 น. ตามหทัย ชนะบูรณาศักดิ์, ธนาธร วิทยเบญจางค์, วัชรภัทร ธรรมจักร, วิธญา คลังนิล และประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ต้องหาทั้ง 5 คน เดินทางมายังสำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ ตามหมายเรียกของพนักงานสอบสวน เพื่อส่งสำนวนให้อัยการ

เมื่อถึงเวลา 11.00 น. ผู้ต้องหาทั้ง 5 คน เข้ารับทราบวันนัดจากพนักงานอัยการก่อนปล่อยตัวกลับ โดยนัดให้มารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 14 ตุลาคม 2564

3. คดีคาร์ม็อบ “ด่วนนครพิงค์ เชียงใหม่ไล่ประยุทธ์” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ที่มีผู้ถูกกล่าวหา 6 ราย ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ พนักงานสอบสวนมีความเห็นสมควรสั่งฟ้องคดี จึงได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหา ระบุว่า “การสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว นัดส่งตัวผู้ต้องหาไปยังอัยการ”

เวลา 9.30 น. ผู้ต้องหาทั้ง 6 คน เดินทางมาพร้อมที่บริเวณสำนักงานอัยการแขวงเชียงใหม่ แต่รอจนกระทั่งเวลา 12.00 น. พ.ต.ท.วัชรพล ยมเกิด พนักงานสอบสวน เจ้าของสำนวนคดี ยังไม่เดินทางมาตามนัด เมื่อติดตามสอบถาม ได้ระบุว่าสำนวนคดียังไม่ส่งกลับมาจากตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ จึงขอเลื่อนนัดรายงานตัวออกไปก่อน สร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้ต้องหาที่ต้องเดินทางมาไกลและต้องเสียเวลาทำมาหาเลี้ยงชีพอย่างมาก

ทางกลุ่มผู้ต้องหาจึงได้ทำหนังสือยื่นถึงพนักงานอัยการว่าได้มาปรากฏตัวที่สำนักงานอัยการแล้ว แต่เจ้าหน้าที่สำนักงานอัยการปัดไม่รับหนังสือดังกล่าว ให้เหตุผลว่าเนื่องจากสำนวนคดียังอยู่ในอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และแนะนำให้ไปคุยกับตำรวจเอง ดังนั้นตัวแทนผู้ต้องหาจึงยังได้เดินทางไปขอลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่ สภ.เมืองเชียงใหม่

X