เดือนมีนาคมที่ผ่านมา สถิติการดำเนินคดีมาตรา 112 หลังปี 2563 พุ่งทะลุไปกว่า 301 คดีแล้ว ขณะที่มีคดีเพิ่มขึ้น 6 คดีในเดือนที่ผ่านมา และยังทยอยมีผู้ถูกคุมขังเพิ่มขึ้นเป็นระยะ จากการไม่ได้รับการประกันตัว ขณะที่ตำรวจยังมีการดำเนินคดีจากการชุมนุมสาธารณะจากเหตุชุมนุมที่เกิดขึ้นในรัฐบาลเศรษฐา ได้แก่ กรณีการชุมนุมของเครือข่าย P-move และยังมีการย้อนแจ้งข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากคดีคาร์ม็อบตั้งแต่ปี 2564 แม้สถานการณ์ฉุกเฉินในเรื่องโควิดจะสิ้นสุดไปแล้วก็ตาม
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,954 คน ในจำนวน 1,293 คดี
ในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 286 ราย ใน 217 คดี
เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 3 คน คดีเพิ่มขึ้น 14 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน)
หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,999 ครั้ง
สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่
1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 270 คน ในจำนวน 301 คดี
2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 152 คน ในจำนวน 50 คดี
3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,469 คน ในจำนวน 669 คดี
(คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง จำนวนคดีเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แม้จะมีการยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินไปแล้ว เนื่องจากมีการแจ้งข้อหาคดีใหม่จากเหตุการณ์เดิมอยู่ และมีการนับแยกคดีในคดีที่จำเลยมีหลายคน และให้การแตกต่างกัน ทำให้ศาลให้ฟ้องแยกคดีกัน)
4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 181 คน ในจำนวน 99 คดี
5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 200 คน ในจำนวน 223 คดี
6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 43 คน ใน 25 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 34 คน ใน 10 คดี
จากจำนวนคดี 1,293 คดีดังกล่าว มีจำนวน 545 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 748 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่าง ๆ
.
.
การดำเนินคดีในช่วงเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา มีสถานการณ์สำคัญ ดังต่อไปนี้
คดี ม.112 เพิ่มขึ้น 6 คดี ทำให้สถิติตั้งแต่ปี 63 ยอดรวมทะลุ 301 คดี
สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เท่าที่ทราบข้อมูล ทะลุเพิ่มขึ้นไปถึงหลัก 301 คดี โดยเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 6 คดีในเดือนมีนาคม เป็นผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อนเพิ่มขึ้น 2 คน
คดีที่เพิ่มขึ้นมีทั้งคดีของนักกิจกรรมที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาในคดีใหม่อีก ได้แก่ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ถูกแจ้งข้อหามาตรา 112 เป็นคดีที่ 25 แล้ว โดยคดีใหม่เป็นคดีของ สน.ทองหล่อ มี ปารีณา ไกรคุปต์ เป็นผู้กล่าวหา และถูกกล่าวหาจากการโพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับกรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาศัยในบ้านพักข้าราชการทหารแม้เกษียณอายุไปแล้ว ตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคม 2563 แต่ตำรวจเพิ่งเรียกไปแจ้งข้อกล่าวหา
ส่วน “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา ถูกกล่าวหาเป็นคดีที่ 6 เหตุเนื่องจากการถูก อานนท์ กลิ่นแก้ว จากกลุ่ม ศปปส. ไปกล่าวหาไว้ที่ สน.ปทุมวัน จากการปราศรัยในการชุมนุม “ส่องไฟให้ทางประชาธิปไตย” เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2566
ขณะที่ “เจ๊จวง” แม่ค้าขายบะหมี่หมูกรอบ ก็ได้ถูกแจ้งข้อหามาตรา 112 เป็นคดีที่ 2 ที่ สน.บางนา พร้อมกับพี่สาวคือ “เจ๊เทียม” ที่ยังไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน เหตุจากการถูกกล่าวหาว่าติดป้ายไว้หน้าร้านมีเนื้อหาเกี่ยวกับการยกเลิกมาตรา 112, งบประมาณแผ่นดิน และเรียกร้องให้ “ปล่อยเพื่อนเรา” โดยคดีมีแกนนำกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันเป็นผู้กล่าวหา
ขณะเดียวกัน ศูนย์ทนายฯ ยังเพิ่งทราบถึงคดีของ “นารา” ที่เพิ่งถูกฟ้องข้อหามาตรา 112 เป็นคดีที่ 2 เหตุจากการคอมเมนต์ในเฟซบุ๊กเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2563 แต่ยังต้องติดตามรายละเอียคดีเพิ่มเติมต่อไป
และยังมีกรณี “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง จำนวน 2 คดี ที่เขากลับคำให้การจากเดิม เป็นรับสารภาพตามข้อกล่าวหา ทำให้ศาลให้โจทก์แยกฟ้องนักกิจกรรมคนอื่น ๆ ที่ยังต่อสู้คดีเข้ามาใหม่ และทยอยพิพากษาเฉพาะในส่วนของไบรท์ โดยลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน ในคดีชุมนุมหน้าสน.บางเขน เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2563 และลงโทษจำคุก 3 ปี ในคดีชุมนุมหน้ากรมทหารราบที่ 11 เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2563 หากรวมโทษจำคุกในคดีที่ไม่รอลงอาญาในคดีของไบรท์ทั้งหมด เขาถูกจำคุกรวม 10 ปี 6 เดือน แล้ว แต่ทั้งหมดยังอยู่ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป
.
.
ส่วนคดีมาตรา 112 ที่ดำเนินอยู่ในชั้นศาล เดือนที่ผ่านมา ศาลมีคำพิพากษาออกมา 7 คดี โดยแยกเป็นคำพิพากษาในศาลชั้นต้น 6 คดี และในศาลอุทธรณ์ 1 คดี
คดีที่น่าสนใจ คดีของแม็กกี้ ผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ถูกคุมขังมาตั้งแต่ถูกจับกุมในคดีจากการทวีตข้อความรวม 18 ข้อความ (ถูกฟ้อง 112 จำนวน 14 ข้อความ และ ฟ้องเฉพาะ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อีก 4 ข้อความ) เธอตัดสินใจให้การรับสารภาพในชั้นศาล และศาลอาญากรุงเทพใต้ได้พิพากษาจำคุกข้อหามาตรา 112 กระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 42 ปี กระทงที่มีเฉพาะข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จำคุกกระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 8 ปี รวมเป็นจำคุก 50 ปี ลดกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 25 ปี
คดีนี้นับเป็นอีกคดีหนึ่ง ที่จำเลยถูกลงโทษอย่างรุนแรง จากการลงโทษหลายกระทงเรียงต่อกัน ทำให้แม็กกี้ได้ถูกย้ายตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปคุมขังที่เรือนจำกลางคลองเปรมหลังมีคำพิพากษาอีกด้วย เพราะถูกกำหนดโทษเกินกว่า 15 ปี ตามกฎของเรือนจำ แม้คดีจะยังไม่สิ้นสุด
ขณะที่คดีของ “ขนุน” สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ นักศึกษาผู้ปราศรัยในชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 กลับถูกศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา และศาลอุทธรณ์ยังไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทำให้ขนุนกลายเป็นผู้ต้องขังทางการเมืองรายล่าสุด
.
.
และยังมีคดีของ “สมพล” กรณีปาสีน้ำสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์ บริเวณปากเกร็ด ที่ศาลจังหวัดนนทบุรีพิพากษายกฟ้องข้อหามาตรา 112 ตามแนวทางเดียวกับศาลอื่น ๆ ที่พิพากษาในคดีของสมพลจากการกระทำลักษณะเดียวกันนี้มาก่อนแล้ว เนื่องจากเห็นว่าจำเลยมีเจตนามุ่งทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ไม่มีข้อความหรือกสารกระทำที่เป็นการดูหมิ่น-อาฆาตมาดร้าย แต่ให้ลงโทษในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ จำคุก 1 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดเหลือจำคุก 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา แต่เขายังได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์
ขณะเดียวกันยังมีคดีในชั้นอุทธรณ์ ได้แก่ คดีของ “อาร์ม” ชาวเกาะพะงัน ที่ต้องไปสู้คดีที่กำแพงเพชร กรณีเผยแพร่คลิป TikTok คุยหยอกล้อกับแมว ที่เดิมหลังให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน โดยให้รอลงอาญาไว้ แต่อัยการได้อุทธรณ์คดีนี้ต่อ และศาลอุทธรณ์ภาค 6 ได้แก้คำพิพากษาเป็นไม่ให้รอลงอาญา แต่ศาลยังอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างฎีกา
น่าสังเกตบทบาทและบรรทัดฐานของอัยการ เนื่องจากคดีมาตรา 112 ที่จังหวัดกำแพงเพชร เท่าที่ทราบมีอย่างน้อย 5 คดี ทุกคดีศาลได้ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ แต่มีเพียงคดีของอาร์มเพียงคดีเดียว ที่อัยการอุทธรณ์คำพิพากษา โดยที่ในเชิงเนื้อหาของคดี ก็ไม่ได้แตกต่างจากคดีอื่น ๆ มากนัก
.
ภาพการเข้ารับทราบข้อหาของแกนนำ P-move ที่ สน.ดุสิต (ภาพจากเพจ P-move)
.
แกนนำ P-move ถูกแจ้งข้อหา พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เป็นคดีชุมนุมคดีแรกในยุครัฐบาลเศรษฐา – ตำรวจย้อนแจ้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คดีคาร์ม็อบปี 64 ด้วย
สำหรับสถานการณ์ในคดีจากการชุมนุม ช่วงปลายเดือนมีนาคม มีคดีจากการชุมนุมสาธารณะในช่วงรัฐบาลเศรษฐาที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ เป็นชุดคดีแรกแล้ว โดยแกนนำของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) 2 คน ได้ถูกตำรวจ สน.ดุสิต แจ้งข้อหาจากกรณีการชุมนุม #พีมูฟทวงสิทธิ ติดตามการแก้ไขประเด็นปัญหาที่ดินและทรัพยากรที่ข้างทำเนียบรัฐบาล ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดยตำรวจแจ้งข้อหาแยกเป็น 4 คดี มีข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการชุมนุมในรัศมี 50 เมตรจากทำเนียบฯ และการเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุม โดยไม่มีการแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนล่วงหน้า
เท่าที่ทราบข้อมูล ชุดคดีนี้นับเป็นคดีจากการชุมนุมสาธารณะในช่วงรัฐบาลนี้คดีแรก หลังจากก่อนหน้านี้มีคดีที่เป็นการแจ้งข้อกล่าวหาย้อนไปจากเหตุการชุมนุมที่เกิดก่อนการตั้งรัฐบาล
ขณะเดียวกันตำรวจ สน.ทองหล่อ ยังมีการแจ้งข้อกล่าวหาย้อนหลังต่อ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และสมบัติ บุญงามอนงค์ จากกรณีกิจกรรมคาร์ม็อบ #ขับรถยนต์ชนรถถัง เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564 จากแยกอโศก ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยทราบว่าเป็นการแจ้งข้อหาตามมาตรา 116 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยไม่ทราบว่าเหตุใดตำรวจเพิ่งมีการเรียกไปแจ้งข้อหาหลังเวลาเกิดเหตุผ่านไปกว่า 2 ปีเศษ
นอกจากนั้นยังมีคดีที่ เสรี สุวรรณภานนท์ วุฒิสภา ไปกล่าวหาข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา-ทำให้เสียทรัพย์-ก่อความเดือดร้อนรำคาญ ต่อกลุ่มนักกิจกรรมไปร่วมกันติดใบปลิวเรียกร้องให้ สว. ฟังเสียงประชาชนในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่บริเวณตลาดเสรี 2 เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2566 หลังจาก ตำรวจ สน.วัดพระยาไกร ไปแจ้งข้อหาต่อ “เก็ท โสภณ” ในเรือนจำแล้ว ก็มีการไล่แจ้งข้อหาต่อนักกิจกรรมอีก 3 คน และแจ้งข้อหาต่อ “เป้” และ “ยา” ผู้สื่อข่าวจากประชาไท และช่างภาพอิสระ ที่ไปติดตามทำข่าวกิจกรรมดังกล่าวด้วย ทำให้การดำเนินคดีต่อสื่อมวลชนที่ไปทำหน้าที่ยังเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องจับตา
.
.
สำหรับคดีจากการชุมนุมที่ถูกกล่าวหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ศาลก็มีคำพิพากษายกฟ้องเพิ่มเติมไปอีก 3 คดี ทั้งคดีคาร์ม็อบที่ขอนแก่น, คดีชุมนุม #ม็อบ13กุมภา2564 หรือ ‘นับ 1 ถึงล้าน คืนอำนาจให้ประชาชน’ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย รวมถึงคดีของ “ขนุน” กรณีชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ ที่ศาลยกฟ้องข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ไปลงโทษข้อหามาตรา 112
โดยมีคดีทีมการ์ด Wevo กรณี #ม็อบย่างกุ้ง ขายกุ้งเพื่อช่วยผู้ค้ากุ้ง ที่สนามหลวง เมื่อช่วงสิ้นปี 2563 ที่ศาลแขวงดุสิตเห็นว่ามีความผิดเพียงคดีเดียวในรอบเดือน โดยวินิจฉัยไปในแนวว่าจำเลยทั้ง 11 ร่วมกันทำกิจกรรมโดยไม่มีการจัดมาตรการป้องกันโรค ไม่มีจุดคัดกรอง ไม่มีการลงทะเบียนในไทยชนะ ไม่อาจถือว่า กิจกรรมมีความปลอดภัย ไม่เสี่ยงต่อโรค แม้ไม่ปรากฏว่ามีการแพร่เชื้อจากกิจกรรมก็ตาม จึงให้ลงโทษปรับจำเลยทั้งหมด
.
.
สถานการณ์การอดอาหารประท้วงของ 4 ผู้ต้องขังคดีการเมือง
ในเดือนมีนาคม สถานการณ์การอดอาหารประท้วงของผู้ต้องขัง ยังเป็นไปอย่างเข้มข้น ทั้งกรณีของตะวัน-แฟรงค์-บุ้ง-บัสบาส โดยมีข้อเรียกร้องสำคัญในเรื่องการปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมืองทั้งหมด การอดอาหารกลายเป็นเครื่องมือไม่มากนักที่มีอยู่ของผู้ถูกคุมขัง เพื่อใช้ร่างกายและความเจ็บปวดของตนเองเรียกร้องความเป็นธรรมทางสังคม
ในคดีข้อหาหลักตามมาตรา 116 ของตะวัน และแฟรงค์ กรณีถูกกล่าวหาบีบแตรใส่ขบวนเสด็จนั้น ตำรวจ สน.ดินแดง ยังขอฝากขังอย่างต่อเนื่อง จนครบ 48 วันในอำนาจตามกฎหมาย แม้ในการไต่สวนคัดค้านการฝากขัง ตำรวจจะรับว่าไม่จำเป็นต้องฝา่กขัง เพราะการปล่อยผู้ต้องหาก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการสวบสวน แต่ศาลก็อนุญาตให้ฝากขังเรื่อยมาจนครบ 4 ครั้ง
ทั้งอัยการก็สั่งฟ้องคดีอย่างรวดเร็ว หลังได้รับสำนวนจากตำรวจในเวลาไม่กี่วัน ทำให้ทั้งคู่ยังถูกคุมขังต่อไป แม้จะมีการพยายามยื่นประกันจากครอบครัวของตะวันกว่า 7 ครั้ง ตลอดเดือนเศษที่ผ่านมา สถานการณ์ของทั้งคู่ยังน่ากังวล และการคุมขังที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว กระทบต่อการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมต่อไป แม้จะมีทั้งนักวิชาการ นักเขียน หรือองค์กรนิสิตนักศึกษา พยายามยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลในกรณีนี้ก็ตาม
.