22 มี.ค. 2567 เวลา 10.00 น. ที่ สน.วัดพระยาไกร ณัฐพล เมฆโสภณ หรือ “เป้” ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวประชาไท และณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ หรือ “ยา” ช่างภาพจากสื่อออนไลน์ เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาในคดีที่ถูก เสรี สุวรรณภานนท์ วุฒิสภา กล่าวหาในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา-ทำให้เสียทรัพย์-ก่อความเดือดร้อนรำคาญ จากกรณีไปทำข่าวนักกิจกรรมติดใบปลิวเรียกร้องให้ สว. ฟังเสียงประชาชนในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่บริเวณตลาดเสรี 2 เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2566
เวลา 10.00 น. “เป้” และ “ยา” พร้อมทนายความ เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน โดยวันนี้มีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) และสื่อมวลชน มาร่วมติดตามสังเกตการณ์การแจ้งข้อกล่าวหาด้วย
พ.ต.ท. อรุณ เลิศศักดิ์เกษตร สารวัตร สอบสวน สน.พระยาไกร เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาและระบุพฤติการณ์แก่ทั้งสองโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2566 เวลาประมาณ 18.00 น. “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ พร้อมกับเพื่อนนักกิจกรรมอีก 3 คน รวมทั้งมีชื่อผู้สื่อข่าวและช่างภาพทั้งสองคน ได้ร่วมกันไปที่ตลาดเสรี 2 ถนนเจริญกรุง โดยผู้ต้องหาทราบดีว่าเป็นกิจการค้าของบริษัท หยกสุวรรณมนตรี จำกัด ซึ่งมี เสรี สุวรรณภานนท์ เป็นหุ้นส่วนและเป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
ข้อกล่าวหาระบุในลักษณะเดียวกับกรณีของนักกิจกรรมคนอื่น ๆ โดยไม่ได้มีการแยกว่าแต่ละคนกระทำใดบ้าง หรือไม่กระทำการใด อาทิระบุว่าทั้งหมดเข้าไปติดใบปลิวและติดประกาศในตลาด ทำให้เกิดความสกปรกเสียหายตามจุดต่าง ๆ และได้พูดใส่ความผู้กล่าวหา ซึ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ว่าไม่ไปลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่เป็นความจริง
และยังติดประกาศจับกับประกาศใส่ความหมิ่นประมาทต่อประชาชนซึ่งเป็นบุคคลที่สามไปทั่วตลาด โดยมีการนำรูปภาพของผู้กล่าวหาและพิมพ์ข้อความว่า “ประกาศจับ สว. รับใช้เผด็จการ หรือทำตามเสียงประชาชน เสรี สุวรรณภานนท์ เคยเป็น สปท. หลังรัฐประหารปี 2557” “‘นิยมเผด็จการประชาธิปไตย แต่ไม่ได้นิยมพวกประชาธิปไตยจอมปลอม’ พูดในที่ประชุม 62” ซึ่งข้อความใบปลิวที่ติดประกาศล้วนเป็นความเท็จทั้งสิ้น
พนักงานสอบสวน ได้แจ้งข้อกล่าวหา 3 ข้อหาต่อ “เป้” และ “ยา” ได้แก่ หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา, ทำให้เสียทรัพย์ และ ร่วมกันกระทำการใด ๆ อันเป็นการรังแกหรือข่มเหงผู้อื่น หรือกระทำให้ผู้อื่นได้รับความอับอาย หรือเดือดร้อนรำคาญ
“เป้” และ “ยา” ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และประสงค์จะส่งคำให้การในชั้นสอบสวนเป็นหนังสือภายใน 15 วัน นอกจากนี้พวกเขายังปฏิเสธไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ เพราะเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องใช้ลายพิมพ์นิ้วมือในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ รวมไปถึงเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ว่าการทำงานของสื่อมวลชนไม่ใช่อาชญากรรม ทำให้พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน โดยไม่ยอมให้พิมพ์ลายนิ้วมือ เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งข้อกล่าวหา
หลังเสร็จสิ้นกระบวนการรับทราบข้อหา พนักงานสอบสวนปล่อยตัวทั้งสองไปโดยไม่มีการควบคุมตัวไว้ เนื่องจากมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก
สำหรับคดีนี้นับเป็นคดีที่สองของ “เป้” และ “ยา” สืบเนื่องจากการไปติดตามทำข่าวการทำกิจกรรมของนักกิจกรรมการเมือง ซึ่งคดีแรกทั้งสองถูกแจ้งข้อหาจากเหตุติดตามไปทำข่าวกรณีการพ่นสีกำแพงวัดพระแก้วของนักกิจกรรม “บังเอิญ” เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566
นอกจากทั้งสองคนแล้ว คดีนี้ตำรวจยังเข้าไปแจ้งข้อหาต่อ “เก็ท โสภณ” ในเรือนจำมาแล้วเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2567 และเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2567 นักกิจกรรมอีก 3 คน ที่ถูกออกหมายเรียก ได้แก่ อาทิตยา, ดวงพร และ ศุภวิชญ์ ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาไปแล้วเช่นกัน โดยทั้งหมดถูกแจ้ง 3 ข้อกล่าวหาในลักษณะเดียวกัน
สำหรับกิจกรรมดังกล่าว เกิดขึ้นภายหลังเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2566 ที่ประชุมรัฐสภา ลงมติ “ไม่เห็นชอบ” ให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดย ส.ว. เสรี เป็นผู้โหวตลงมติ “ไม่เห็นชอบ” ด้วย และยังอยู่ระหว่างการจับขั้วรัฐบาลเพื่อโหวตเลือกนายกฯ ใหม่อีกครั้ง จนเกิดกระแสการพูดถึงบทบาทของสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากประชาชน แต่มีอำนาจโหวตนายกฯ และการพูดถึงการ #แบนธุรกิจสว ในโลกโซเชียล
.