วันที่ 29 ม.ค. 2567 เวลา 9.00 น. ศาลแขวงพระนครเหนือนัดฟังคำพิพากษาคดีของ “ไอซ์” รักชนก ศรีนอก สส. เขตบางบอน-หนองแขม พรรคก้าวไกล และนักกิจกรรมทางการเมือง กรณีถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาท “เจ๊ปอง” อัญชะลี ไพรีรัก และ กนก รัตน์วงศ์สกุล สองพิธีกรจัดรายการทางสถานีโทรทัศน์ช่องท็อปนิวส์ จากกรณีปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อมวลชน ในการชุมนุม #ม็อบ6มีนา ของกลุ่มรีเด็ม (REDEM) ที่บริเวณหน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2564
ทั้งนี้ หากศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษาว่ารักชนกมีความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 นี้ ให้ลงโทษจำคุก โดยไม่รอลงอาญา และไม่อนุญาตให้ประกันตัวในวันดังกล่าว จะถือว่ารักชนกต้องคําพิพากษาให้จําคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล ซึ่งจะขาดคุณสมบัติการเป็น สส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(6) โดยทันที
.
ย้อนไปเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2564 อุดร แสงอรุณ ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ทั้งสอง ได้ยื่นฟ้องรักชนก โดยตรงต่อศาลแขวงพระนครเหนือ ในข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาท” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 บรรยายฟ้องโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2564 ขณะที่จำเลยร่วมชุมนุมทางการเมืองทำกิจกรรมที่หน้าศาลอาญา จำเลยได้พูดใส่ความโจทก์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จต่อบุคคลที่สามด้วยการตะโกนพูดกับ อิทธิพัทธ์ ปิ่นระโรจน์ ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์เนชั่นช่อง 22 ที่กำลังรายงานสดการชุมนุมถ่ายทอดออกอากาศในรายการข่าวข้นคนข่าวว่า
“พวกเราขอประณาม ถึงแม้พวกเราไม่มีสิทธิมีเสียงเท่าสื่อแต่เราบอกเลยว่าเราจะพยายามทำยังไงก็ได้ ให้เสียงคนธรรมดา พี่คะ เราเข้าใจว่าพี่ต้องทํางาน แต่ที่หนูต้องออกมาพูด เพราะเนชั่นทําร้ายระบบประชาธิปไตยมานาน เนชั่นทําข่าวบิดเบือน ยิ่งตอนที่เจ๊ปอง กับตอนที่กนกเป็นพิธีกร ยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนเกลียดกันเอง นําเสนอเฟคนิวส์ทุกอย่าง ถ้าพี่ทํางานที่นี่อยู่ หนูคงต้องแสดงความเสียใจกับพี่ด้วย พี่เลยต้องโดนด่าแบบนี้”
“ช่อง 3, ช่อง 5, ท็อปนิวส์ จําไว้เลยถ้าพวกคุณยังเสนอข่าวแบบนี้อยู่ วันหนึ่งที่มีการสลายการชุมนุมแล้วมีคนตาย พวกคุณนั่นแหละ พวกคุณที่ไม่นําเสนอข่าวความจริงมีส่วนต้องรับผิดชอบในส่วนนี้ทั้งหมด สื่อที่บิดเบือนถ้าประชาชนบาดเจ็บหรือล้มตายขึ้นมา พวกคุณนั่นแหละที่เป็นเครื่องมือให้รัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชน เราขอบคุณถ้าสื่อไหนรายงานตามความจริง พวกเราขอบคุณมาตลอด พวกเราติดตาม พวกเรารู้ แต่ถ้าสื่อไหนบิดเบือน เราก็รู้เช่นกัน และถ้าวันหนึ่งมันเกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยขึ้นมาจากการสลายชุมนุมเสื้อแดง 53 ที่สื่อพยายามประโคมข่าวตลอดมาว่าผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรง ผู้ชุมนุมเป็นพวกหัวรุนแรงมีอาวุธ นั่นแหละ มันคือสิ่งที่สร้างความชอบธรรมให้รัฐสลายการชุมนุม ใช้กระสุนจริงกับผู้ชุมนุม สื่อทุกคนที่รายงานบิดเบือน จําไว้เลยพวกคุณก็เป็นส่วนหนึ่งเหมือนกัน ที่ทําให้เสื้อแดงต้องตาย 99 ศพ”
ในคำฟ้องระบุว่า คำว่า “เจ๊ปอง” และ “กนก” หมายถึงโจทก์ทั้งสอง เป็นพิธีกร ยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนเกลียดกันเอง นำเสนอเฟคนิวส์ (ข่าวเป็นเท็จ) ทุกอย่าง ข้อความดังกล่าวเป็นเท็จ ไม่เป็นความจริง ความจริงแล้วตลอดระยะเวลาที่โจทก์เป็นผู้จัดรายการทางสถานีโทรทัศน์ช่องเนชั่น โจทก์ไม่เคยเสนอข่าวที่เป็นการยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนเกลียดกันหรือเสนอข่าวที่เป็นเท็จ (เฟคนิวส์) โจทก์ในฐานะพิธีกรเสนอข่าวที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา นำเสนอข่าวเป็นไปตามจรรยาบรรณของสื่อมวลชนที่ถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
โจทก์ยังอ้างว่า การกระทำของจำเลยที่เป็นการใส่ความโจทก์ซึ่งข้อความอันเป็นเท็จหรือฝ่าฝืนต่อความจริง อันเป็นการจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียง เกียรติยศ ทางทำมาหาได้ ฐานะทางสังคม และทางเจริญอื่น ๆ ของโจทก์ และทำให้เกิดความรู้สึกเกลียดชังโจทก์ ส่งผลให้โจทก์มีรายได้ลดลง โจทก์จึงขอใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งจากจำเลย โดยให้จำเลยชำระเงินค่าเสียหายจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระครบถ้วน
ย้อนไปเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2565 ก่อนการไต่สวนมูลฟ้อง ทนายความได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องไว้พิจารณาคดีก่อนที่จะมีการไต่สวนมูลฟ้อง อย่างไรก็ตามศาลได้มีคำสั่งรับฟ้องในคดีนี้ จึงมีการสืบพยานโจทก์และจำเลยไปในระหว่างวันที่ 27 – 29 ก.ย., 30 พ.ย. 2566 โดยรักชนกยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
ข้อต่อสู้หลักของรักชนกในคดีนี้สอดคล้องกับคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องไว้พิจารณาคดี ซึ่งสามารถสรุปได้เป็น 4 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ 1 ข้อความที่ถูกกล่าวหาไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท เนื่องจากไม่มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงหรือใส่ความบุคคลใด และการพิจารณาถ้อยคำต้องพิจารณาจากความรู้สึกของวิญญูชนทั่วไป
ก่อนหน้าข้อความที่โจทก์กล่าวหาว่าหมิ่นประมาทตามฟ้อง จำเลยได้ตอบคำถามสัมภาษณ์ของ อิทธิพัทธ์ ปิ่นระโรจน์ ผู้สื่อข่าวเนชั่นช่อง 22 มาก่อน โดยวิพากษ์วิจารณ์การรายงานข่าวการสลายการชุมนุมของช่อง 3 ที่รายงานว่าผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรงกับตำรวจ และช่อง 9 ที่รายงานว่าไม่มีการใช้ความรุนแรง พร้อมขอบคุณ รีพอทเตอร์, ข่าวสด และว๊อยซ์ทีวี
ข้อความของจำเลยจึงเป็นการกล่าวถึงสภาพปัญหาการนำเสนอข่าวในภาพรวมของสื่อมวลชนในขณะนั้นและการตั้งคำถามถึงจรรยาบรรณของสื่อ และเรียกร้องให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวอย่างรอบด้านตรงไปตรงมา ไม่นำเสนอข่าวบิดเบือน ยุยุงปลุกปั่นให้ประชาชนเกลียดกันเอง และไม่นำเสนอเฟคนิวส์ ซึ่งจำเลยกล่าวถึงสื่อทุกคนและหลายสำนัก
เมื่อพิจารณาจากภาพจำเลยพูดกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2564 จากทวิตเตอร์ของผู้ใช้รายหนึ่งตามเอกสารท้ายคำฟ้องของโจทก์พบว่าผู้ใช้ทวิตเตอร์รายดังกล่าวโพสต์ข้อความไว้ด้วยว่า “พี่คนนี้พูดเรื่องสื่อ ปังค่ะพี่!! เอาอีก!! #ม็อบ6มีนา” จะเห็นได้ว่าผู้โพสต์เข้าใจว่าจำเลยกำลังกล่าวถึงเรื่อง “สื่อ” และนำเสนอสภาพปัญหาการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนโดยรวมในช่วงเวลานั้น
ประกอบกับยังมีผู้ใช้ทวิตเตอร์อีกรายที่ใช้ชื่อว่า “adisak limparungpata” หรือ อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ซึ่งเป็น CEO ของเนชั่นที่เพิ่งกลับมาบริหารในช่วงปลายปี 2564 ได้แชร์โพสต์ข้อความดังกล่าวและโพสต์ข้อความว่า “ใครรู้จักน้องคนนี้ ฝากบอกด้วยว่าขอให้เปิดโอกาสให้ทีมข่าว #NationTV ชุดปัจจุบันได้พิสูจน์ตัวเอง พวกเราตั้งใจให้ช่องเนชั่นกลับมาทำหน้าที่สื่อมืออาชีพที่สังคมไว้วางใจได้ #ม็อบ6มีนา” จะเห็นได้ว่าผู้โพสต์เข้าใจว่าจำเลยกำลังกล่าวถึงเรื่อง “ปัญหาการนำเสนอข่าวช่องเนชั่น” แล้วยังมีประชาชนผู้ใช้ทวิตเตอร์หลายรายเข้าใจว่าคลิปวีดีโอที่จำเลยพูดนั้น จำเลยกำลังกล่าวถึงเรื่องสื่อหรือวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของสื่อ
ส่วนที่มีการกล่าวถึงโจทก์ก็เป็นเพียงการกล่าวขึ้นเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจว่า กำลังกล่าวถึงช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น เพื่อขยายความว่า ในช่วงเวลาที่โจทก์ทำงานเป็นพิธีกร ช่องเนชั่นทีวีมีการนำเสนอข่าวที่มีเนื้อหายุยงปลุกปั่นให้ประชาชนเกลียดกันเอง และนำเสนอเฟคนิวส์ ไม่มีลักษณะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท เนื่องจากไม่ได้มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงหรือใส่ความโจทก์
นอกจากนี้ การพิจารณาว่าถ้อยคำหรือข้อความใดจะทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังหรือไม่ ต้องไม่พิจารณาจากความรู้สึกนึกคิดของผู้เสียหายเป็นสำคัญ แต่ต้องพิจารณาจากความรู้สึกของวิญญูชนทั่วไป ข้อความตามที่จำเลยถูกกล่าวหา จึงไม่ได้มีลักษณะเป็นการใส่ความหรือหมิ่นประมาท
ประเด็นที่ 2 ฟ้องของโจทก์เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงในการฟ้องคดี เพื่อกลั่นแกล้งจำเลย
จากคลิปวีดีโอก่อนเกิดเหตุการณ์ตามฟ้อง จะเห็นได้ชัดว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยอยู่บนถนนหน้าศาลอาญาซึ่งเป็นพื้นที่ชุมนุม และจำเลยกำลังยืนพูดปราศรัยอยู่กับที่ โดยมีประชาชนผู้ชุมนุมที่อยู่ในบริเวณนั้นยืนฟังการปราศรัย ระหว่างที่จำเลยกำลังยืนพูดอยู่ อิทธิพัทธ์ได้เดินเข้ามาสัมภาษณ์และถามคำถามจำเลยว่า “เราเรียกร้องถึงความยุติธรรมกับสื่อ เราเห็นว่าสื่อรายงานไม่เป็นจริงยังไงบ้างครับ” จำเลยจึงตอบคำถามดังกล่าวไป โดยวิพากษ์วิจารณ์การรายงานข่าวการสลายการชุมนุมของช่อง 3 และช่อง 9 พร้อมขอบคุณ รีพอทเตอร์, ข่าวสด และว๊อยซ์ทีวี เมื่ออิทธิพัทธ์สัมภาษณ์เสร็จ จำเลยก็พูดปราศรัยเกี่ยวกับการรายงานข่าวของสื่อต่อ
เหตุการณ์ที่ถูกรายงานสดในรายการข่าวข้นคนข่าวมีเพียงช่วงที่จำเลยปราศรัยก่อนหน้าและตอบคำถามของอิทธิพัทธ์เท่านั้น เหตุการณ์ที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้ ไม่ได้ออกอากาศรายการสดในรายการข่าวข้นคนข่าว แต่โจทก์มาบรรยายฟ้องว่า เป็นเหตุการณ์ที่ออกรายการสดในรายการข่าวข้นคนข่าวซึ่งไม่เป็นความจริง
ในข้อเท็จจริง จำเลยใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออก โดยการพูดปราศรัยในที่ชุมนุมเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวของสื่อและจรรยาบรรณสื่อ และให้สัมภาษณ์สื่อเกี่ยวกับประเด็นที่จำเลยกำลังปราศรัย อันเป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญของจำเลย ไม่ใช่การที่จำเลยจงใจพูดใส่ความโจทก์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จต่อบุคคลที่สาม ด้วยการตะโกนพูดกับอิทธิพัทธ์ที่กำลังรายงานสดการชุมนุมแต่อย่างใด
ด้วยเหตุดังกล่าว การนำคดีมาฟ้องของโจทก์ดังกล่าว จึงเป็นการฟ้องคดีที่มีลักษณะเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง
ประเด็นที่ 3 การฟ้องคดีของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต มีเจตนาที่จะแกล้งฟ้องคดี เพื่อข่มขู่ยับยั้งให้ไม่กล้าที่จะแสดงข้อเท็จจริงหรือความเห็นโดยสุจริตต่อไปอีก
การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนต้องทำตามจรรยาบรรณวิชาชีพ สามารถตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานได้ ซึ่งการตรวจสอบการทำงานของโจทก์ นอกจากนายจ้างหรือผู้ว่าจ้างและองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนแล้ว ประชาชนมีอำนาจในการตรวจสอบการทำงานของสื่อมวลชน และผู้ทำหน้าที่สื่อมวลชนเช่นอย่างโจทก์ด้วย
แต่โจทก์เลือกฟ้องจำเลยด้วยเหตุที่จำเลยเป็นประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่สื่อและตั้งคำถามถึงจรรยาบรรณสื่อของสื่อมวลชนรวมถึงโจทก์ อันเป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของจำเลย การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต อันอาจถือได้ว่า เป็นการฟ้องเพื่อปิดปาก หรือเพื่อกลั่นแกล้ง (Strategic Lawsuit Agent Public Participation: SLAPP) โดยมีวัตถุประสงค์แท้จริงอันมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อที่จะใช้กระบวนการทางกฎหมายทำให้ผู้ที่แสดงออกหรือให้ความคิดเห็นหรือข้อเท็จจริงโดยสุจริต ในประเด็นที่มีความสำคัญต่อสาธารณะ ให้หยุดการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความนั้น
ดังนั้น การฟ้องคดีของโจทก์จึงมีลักษณะของการฟ้องคดีโดยการใช้สิทธิที่ไม่สุจริต
ประเด็นที่ 4 จำเลยแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ส่วนโจทก์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพของสื่อมวลชน
จากการที่จำเลยติดตามสถานการณ์การชุมนุมจากสื่อมวลชน จำเลยพบว่า สื่อโทรทัศน์ช่องฟรีทีวีที่มีประชาชนเข้าถึงเป็นจำนวนมากมีการรายงานข่าวสถานการณ์การชุมนุมอยู่บ้าง แต่ยังไม่มากเท่าที่ควรที่จะทำให้ประชาชนรู้และเข้าใจถึงสถานการณ์อย่างรอบด้าน ส่วนสื่อมวลชนประเภทสื่อโทรทัศน์ดิจิตอล สื่อสังคมออนไลน์ แม้จะมีการรายงานข่าวอย่างต่อเนื่อง แต่ปรากฏว่ามีการรายงานข่าวที่มีเนื้อหาบิดเบือน ยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนเกลียดกันเอง และไม่เป็นความจริงหรือเฟคนิวส์
ไม่เพียงแต่จำเลยที่ทราบถึงสถานการณ์ปัญหาการนำเสนอข่าวของสื่อดังกล่าว นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนต่างออกมาแสดงความเห็นถึงปัญหาจริยธรรมวิชาชีพ ทั้งองค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชนด้วยกันเองยังออกแถลงการณ์ให้สื่อมวลชนทำหน้าที่ในสถานการณ์ความขัดแย้ง โดยการทำหน้าที่รายงานข่าวสารข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากทุกฝ่ายอย่างตรงไปตรงมา ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง และไม่ส่งผ่านถ้อยคำความรุนแรงที่อาจสร้างความเกลียดชังในสังคม
อีกทั้ง ก่อนวันเกิดเหตุเป็นวันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 5 มี.ค. ของทุกปี จำเลยเห็นว่าเพิ่งผ่านวันสำคัญของสื่อมวลชนมา เมื่อมีสื่อมาสอบถามตนเกี่ยวกับเรื่องการนำเสนอข่าวในที่เกิดเหตุ จำเลยจึงกล่าวถึงความเป็นสื่อมวลชนให้ตระหนักหน้าที่ของตนเองในการรายงานข่าวเกี่ยวกับการชุมนุมตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ก่อนวันเกิดเหตุคดีนี้ เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2564 จำเลยติดตามการชุมนุมของกลุ่มรีเด็ม (REDEM) ที่กองพลทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ในวันดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมด้วยการใช้กระสุนยาง แก๊สน้ำตา และฉีดน้ำแรงดันสูงใส่กลุ่มผู้ชุมนุม โดยไม่ได้ดำเนินการสลายการชุมนุมตามขั้นตอนจากเบาไปหาหนักตามหลักสากล ทำให้มีประชาชนได้รับบาดเจ็บ แต่สื่อมวลชนกลับรายงานข่าวว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม แต่เป็นฝ่ายผู้ชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงโดยใช้ปืนในที่ชุมนุม ทั้งที่ยังไม่มีการตรวจสอบว่าเป็นของฝ่ายผู้ชุมนุมหรือไม่
ต่อมาในวันเกิดเหตุคดีนี้ มีการจัดการชุมนุมของกลุ่มรีเด็ม (REDEM) เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวของผู้ต้องหา บริเวณหน้าศาลอาญา ในวันดังกล่าวมีสื่อมวลชนหลายสำนักเข้ามาทำข่าวในบริเวณพื้นที่ชุมนุม จากปัญหาการรายงานข่าวสถานการณ์การชุมนุมอย่างไม่ตรงไปตรงมาของสื่อมวลชน ประกอบกับก่อนเกิดเหตุคดีนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณนั้นได้เรียกร้องให้สื่อมวลชนให้นำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา ไม่บิดเบือน ซึ่งจำเลยเห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าวจึงพูดปราศรัยสภาพปัญหาการนำเสนอข่าวในภาพรวมของสื่อมวลชนในขณะนั้นและการตั้งคำถามถึงจรรยาบรรณของสื่อ
จำเลยวิพากษ์วิจารณ์และชี้ให้เห็นถึงสภาพปัญหาการนำเสนอข่าวขององค์กรสื่อมวลชน ผู้สื่อข่าว และพิธีกร ซึ่งคำพูดของจำเลยที่ปรากฏล้วนเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนตัวของสื่อมวลชนหรือโจทก์แต่อย่างใด โดยจำเลยนำนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเบิกความสนับสนุนในประเด็นนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในตอนที่โจทก์เป็นพิธีกรที่ช่องเนชั่นทีวีก็มีเหตุการณ์ที่โจทก์นำเสนอข่าวยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนเกลียดกันเองและนำเสนอเฟคนิวส์เกิดขึ้นจริง
โจทก์เป็นสื่อมวลชน มีหน้าที่เป็นสื่อกลางในการนำเสนอข่าวสารและเนื้อหาสาระทุกประเภทไปสู่ประชาชน โดยการทำหน้าที่ดังกล่าวต้องปฏิบัติตาม “หลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพของสื่อมวลชน” กล่าวคือ ต้องมีความเป็นกลาง นำเสนอข่าวสารที่เป็นความจริง และไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน อันเป็นมาตรฐานระดับต่ำ
นอกจากนี้ สถานีโทรทัศน์เนชั่น ช่อง 22 ซึ่งเคยเป็นนายจ้างและอดีตต้นสังกัดของโจทก์ ก็ได้ออกคู่มือจริยธรรมธุรกิจและข้อพึงปฏิบัติในการทำงาน (Code of Conduct) โดยในหมวด “จริยธรรมของสื่อในเครือเนชั่น” ได้กำหนดข้อบังคับในการปฏิบัติหน้าที่โดยเคร่งครัดเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวว่า ต้องเสนอเฉพาะข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน, ต้องนำเสนอเพื่อประโยชน์ของสาธารณะเป็นสำคัญ, ต้องไม่แต่งเติมเนื้อหาสาระของข่าวจนคลาดเคลื่อนหรือเกินเลยจากความเป็นจริง, ไม่เสนอข่าวหรือภาพด้วยความลำเอียงหรือมีอคติส่วนตน, ต้องไม่สอดแทรกความคิดเห็นส่วนตัวลงในข่าว และต้องไม่เสนอข่าวอย่างเลื่อนลอยปราศจากแหล่งที่มาชัดเจน
โจทก์เป็นสื่อมวลชนมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี และเป็นบุคคลที่ประชาชนให้ความสนใจ ในการนำเสนอข่าวสารและความคิดเห็นของโจทก์สามารถเข้าถึงประชาชนจำนวนมากและสามารถนำทิศทางความเห็นของประชาชนและสังคมได้ จำเลยซึ่งเป็นประชาชนผู้บริโภคข้อมูลจึงมีสิทธิในการแสดงความเห็นในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของช่องเนชั่นทีวีและโจทก์ อันเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่ได้รับความคุ้มครองไว้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 และเป็นสิทธิของประชาชนในการตรวจสอบการนำเสนอข่าวสารและเนื้อหาสาระทุกประเภท อันเป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อสาธารณะ และถือเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนตามที่ได้รับรองคุ้มครองไว้ตามข้อบทที่ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และรัฐธรรมนูญ มาตรา 32 ซึ่งกำหนดคุ้มครองไว้ชัดเจนว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น….”
ดังนั้น การแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อมวลชนรวมถึงช่องเนชั่นทีวีและโจทก์ของจำเลยเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามของธรรม หรือติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จึงไม่ถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามที่ถูกกล่าวหา และการกระทำดังกล่าวถือเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งสามารถทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
.
คดีที่รักชนกถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาท อัญชะลี ไพรีรัก และ กนก รัตน์วงศ์สกุล เป็นอีกคดีอาญาที่รักชนกถูกฟ้องซึ่งเกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์การถูกดำเนินคดีที่สืบเนื่องมาจากความตื่นตัวทางการเมืองของเด็ก/เยาวชนและประชาชน ในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา