25 มี.ค. 2567 เวลา 11.30 น. ที่ สน.ปทุมวัน “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา นักกิจกรรมทางการเมือง พร้อมทนายความเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีปราศรัยในกิจกรรม “ส่องไฟให้ทางประชาธิปไตย” บริเวณแยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2566
สำหรับกิจกรรม “ส่องไฟให้ทางประชาธิปไตย” จัดขึ้นโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เป็นการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์และเดินขบวน ซึ่งมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่แยกปทุมวัน จากนั้นจึงเคลื่อนขบวนไปยังบริเวณแยกราชประสงค์ เพื่อรำลึกถึงวีรชนที่สูญเสียจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงปี 2553
พ.ต.ท.แดนชัย ทูลอ่อง รองผู้กำกับการ (สอบสวน) สน.ปทุมวัน ได้แจ้งพฤติการณ์ที่กล่าวหาโดยสรุปว่า อานนท์ กลิ่นแก้ว สมาชิกศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อให้ดำเนินคดีกับณวรรษ เนื่องจากเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2566 อานนท์ได้พบคลิปภาพเคลื่อนไหว ที่มีการเผยแพร่ภาพข่าวการนัดรวมตัวกันของผู้ชุมนุมบริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานครในเวลา 17.00 น. และมีการเคลื่อนขบวนเพื่อไปยังแยกราชประสงค์ในเวลา 18.00 น.
ต่อมา เวลา 18.35 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนมาถึงบริเวณแยกเฉลิมเผ่า และณวรรษได้ขึ้นกล่าวปราศรัยบนรถบรรทุกติดตั้งเครื่องขยายเสียง มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับคนเสื้อแดงที่ต้องเสียชีวิตไปในเหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี 2553 ซึ่งถ้อยคำบางช่วงบางตอนมีการปราศรัยพาดพิงและจาบจ้วงก้าวล่วงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ไปในทางที่เสื่อมเสียพระเกียรติ โดยมีการกล่าวว่า “…ไม่ควรมีใคร ถูกเข่นฆ่า จากกระสุน พระราชทาน…”
ซึ่งคำว่า “กระสุนพระราชทาน” นั้น คำว่า พระราชทาน เป็นราชาศัพท์เฉพาะใช้กับพระมหากษัตริย์และพระบรมราชินี ดังนั้น คำว่า กระสุนพระราชทาน จึงแปลความได้ว่าเป็นกระสุนที่พระเจ้าแผ่นดินหรือองค์พระมหากษัตริย์พระราชทานไปเข่นฆ่าชีวิตประชาชน
ผู้กล่าวหาเห็นว่า พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมทำให้บุคคลทั่วไป เมื่อได้ฟังถ้อยคำดังกล่าว ย่อมเกิดความรู้สึกไม่ดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันหมายถึงพระมหากษัตริย์ อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามมาตรา 112 ณวรรษให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และประสงค์จะส่งคำให้การในชั้นสอบสวนเป็นหนังสือภายใน 30 วัน
หลังเสร็จสิ้นกระบวนการรับทราบข้อหา พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวณวรรษโดยไม่มีการควบคุมตัวไว้ เนื่องจากมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก
ทั้งนี้ ณวรรษถูกดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คดีนี้เป็นคดีที่ 6 แล้ว
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่เริ่มมีการกลับมาดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญ ามาตรา 112 ตามแถลงการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2563 ว่าจะใช้กฎหมาย “ทุกฉบับ ทุกมาตรา” ที่มีอยู่ดำเนินการต่อผู้ชุมนุมทางการเมือง จนถึงวันที่ 25 มี.ค. 2567 มีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหานี้ไปแล้วไม่น้อยกว่า 270 คน ในจำนวน 301 คดี (ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนจำนวน 20 คน ในจำนวน 23 คดี)
อ่านเพิ่มเติม : สถิติคดี ม.112 ทะลุหลัก 300 คดี เฉลี่ยมีคดีใหม่ทุก ๆ 4 วัน