กุมภาพันธ์ 2567: จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองยอดรวม 1,951 คน ใน 1,279 คดี

เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านไป ระหว่างการรณรงค์เข้าชื่อเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน สถานการณ์การดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองยังมีความเข้มข้น โดยพบว่ามีคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 7 คดี เกือบทั้งหมดเป็นคดีที่มีประชาชนกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ไปแจ้งความกล่าวหาไว้จากการแสดงออกทางการเมืองในช่วงปี 2563-65 แต่เพิ่งมีการออกหมายเรียกในช่วงปีนี้ ขณะที่ผู้ต้องขังทางการเมืองยังทยอยเพิ่มสูงขึ้น โดยมีผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 และมาตรา 116 ระหว่างพิจารณา เพิ่มขึ้นอีก 5 ราย รวมทั้งมีสถานการณ์ที่น่ากังวล เรื่องการดำเนินคดีต่อผู้สื่อข่าวและช่างภาพ ที่ไปติดตามรายงานข่าวการทำกิจกรรมทางการเมืองด้วย

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,951 คน ในจำนวน 1,279 คดี

ในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 286 ราย ใน 217 คดี 

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงเดือนมกราคม 2567 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 4 คน คดีเพิ่มขึ้น 11 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) 

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,982 ครั้ง

สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 268 คน ในจำนวน 295 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 150 คน ในจำนวน 48 คดี

3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,469 คน ในจำนวน 665 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง) 

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 179 คน ในจำนวน 92 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 199 คน ในจำนวน 220 คดี

6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 43 คน ใน 25 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 34 คน ใน 10 คดี

จากจำนวนคดี 1,279 คดีดังกล่าว มีจำนวน 520 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 759 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่าง ๆ

.

.

แนวโน้มการดำเนินคดีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา มีสถานการณ์สำคัญ ดังต่อไปนี้

สถานการณ์ ม.112 คดี 112 เพิ่มขึ้น 7 คดี ยอดรวมหลังปี 2563 เกือบทะลุ 300 คดีแล้ว

เดือนกุมภาพันธ์ สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เท่าที่ทราบข้อมูล เพิ่มขึ้นอีก 7 คดี โดยเป็นผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อนจำนวน 5 คน คดีเกือบทั้งหมดพบว่าเป็นกรณีที่มีประชาชนกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ไปแจ้งความกล่าวหาไว้จากการแสดงออกทางการเมืองในช่วงปี 2563-65 แต่ตำรวจสถานีต่าง ๆ เพิ่งมีการดำเนินการออกหมายเรียกมาแจ้งข้อหาในช่วงนี้ ทำให้ยอดคดีรวมหลังปี 2563 เป็นต้นมา อยู่ที่ไม่น้อยกว่า 295 คดี ใกล้ทะลุสามร้อยคดีแล้ว

ในจำนวนคดีใหม่ดังกล่าว พบว่าเป็นคดีที่มีกลุ่ม ศปปส. เป็นผู้กล่าวหาจำนวน 3 คดี ได้แก่ คดีที่ “อาย” กันต์ฤทัย ถูก อานนท์ กลิ่นแก้ว กล่าวหาจากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 2 ข้อความในช่วงปี 2565, คดีที่ “เจ๊จวง” แม่ค้าขายบะหมี่หมูกรอบ ถูก ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกกลุ่มดังกล่าว กล่าวหาจากการปราศรัยถึงงบประมาณของขบวนเสด็จ ในกิจกรรมเรียกร้องการประกันตัวหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อช่วงปี 2565 และยังมีคดีที่นักกิจกรรม 3 ราย ได้แก่ “บอย” ชาติชาย-ณวรรษ-ฉัตรรพี ถูก อานนท์ กลิ่นแก้ว เช่นกัน กล่าวหาจากการอ่านแถลงการณ์ในชุมนุม #ต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่หน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อช่วงปี 2564

.

.

นอกจากนั้นยังมีคดีที่ตำรวจ สน.ทองหล่อ และ สภ.เมืองพัทลุง เพิ่งออกหมายเรียกนักกิจกรรม และนักการเมืองอีกหนึ่งราย ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112  รวมทั้งศูนย์ทนายฯ ยังทราบข้อมูลคดีที่ บก.ปอท. เพิ่มเติม กรณีประชาชนจากจังหวัดปทุมธานี ถูกแจ้งข้อกล่าวหา 112 ไว้ตั้งแต่ช่วงปี 2566 และอัยการเตรียมจะสั่งฟ้องคดีในเดือนมีนาคมนี้

ขณะเดียวกัน ยังมีคดีของ “ไบรท์ ชินวัตร” กรณีปราศรัยในการชุมนุมหน้าธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2563 ที่หลังจำเลยกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ ทำให้ศาลมีคำพิพากษาจำคุกแยกออกจากจำเลยคนอื่น ๆ ที่ยังต่อสู้คดีต่อไป ทำให้ในทางสถิติได้นับคดีแยกออกจากกัน

ส่วนคดีมาตรา 112 ที่ดำเนินอยู่ในชั้นศาล เดือนที่ผ่านมา ศาลมีคำพิพากษาออกมา 7 คดี โดยแยกเป็นคำพิพากษาในศาลชั้นต้น 6 คดี และในศาลอุทธรณ์ 1 คดี 

คดีที่น่าสนใจ พบว่าศาลชั้นต้นในต่างจังหวัดมีคำพิพากษายกฟ้อง 2 คดี ได้แก่ คดีของ “ฟลุค กิตติพล” กรณีถือป้าย “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” ระหว่างกิจกรรมคาร์ม็อบที่อุบลราชธานี ศาลจังหวัดอุบลฯ ได้มีคำพิพากษายกฟ้อง เห็นว่าข้อความไม่ได้เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พยานโจทก์ก็เบิกความว่า “ในรัชกาลที่ 10” อาจหมายถึงระยะเวลาหรือยุคสมัย ไม่ใช่ตัวบุคคลหรือองค์พระมหากษัตริย์เพียงอย่างเดียว ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่แท้จริงจะสื่อถึงพระมหากษัตริย์ในช่วงเวลานั้น

ขณะเดียวกันที่ศาลจังหวัดพัทลุง ศาลก็มีคำพิพากษายกฟ้องคดีของ “สามราษฎรใต้” กรณีถูกกล่าวหาว่าขับขี่รถไปถ่ายภาพสถานที่ในพัทลุง และนำภาพถ่ายไปใส่ข้อความทางการเมืองประกอบ ก่อนโพสต์ลงในเพจเฟซบุ๊ก “พัทลุงปลดแอก” และ “ประชาธิปไตยในด้ามขวาน” โดยศาลเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอว่าจำเลยกระทำการดังกล่าว

.

.

ส่วนอีก 5 คดีที่เหลือนั้น ล้วนเป็นคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ โดยมีคดีของ “เอก” กรณีแชร์โพสต์เพจ “KTUK – คนไทยยูเค” เพียงคดีเดียว ที่ศาลมีคำพิพากษาให้รอลงอาญาไว้ ส่วนอีก 4 คดี ศาลมีคำพิพากษาจำคุกโดยไม่รอลงอาญาทั้งหมด โดยมีคดีของ “วุฒิ” กรณีโพสต์เฟซบุ๊ก 12 ข้อความ ที่ถูกลงโทษสูงสุด คือศาลอาญามีนบุรีลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 36 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษให้เหลือจำคุก 12 ปี 72 เดือน (ประมาณ 18 ปี) โดยวุฒิไม่ได้ประกันตัวมาตั้งแต่ถูกสั่งฟ้องคดี ทำให้เขายังถูกคุมขังต่อไป และเมื่อเดือนที่ผ่านมา ก็ได้ถูกย้ายตัวไปที่เรือนจำกลางคลองเปรมแล้ว

ในส่วนคดีของอัฐสิษฎ และ “ไบรท์ ชินวัตร” หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำคุกเช่นกัน ศาลอุทธรณ์ก็ไม่อนุญาตให้ประกันตัวทั้งคู่ รวมทั้งกรณีของ “ก้อง อุกฤษฏ์” ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในคดีโพสต์เฟซบุ๊ก 5 ข้อความ ให้จำคุก 5 ปี 30 เดือน (ประมาณ 7 ปีครึ่ง) ศาลฎีกาก็มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเช่นกัน ทำให้ทั้งหมดถูกคุมขังเพิ่มเติมในเดือนที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยถึงต้นเดือนมีนาคม มีผู้ถูกคุมขังคดีมาตรา 112 ทั้งระหว่างพิจารณาและคดีสิ้นสุดแล้วรวมกันอย่างน้อย 25 คน

.

.

การใช้ข้อหา ม.116 ต่อคดี “ตะวัน-แฟรงค์” จากปัญหาขบวนเสด็จ และคดีจากการปราศรัยช่วงปี 2564

สถานการณ์คดีสำคัญในเดือนที่ผ่านมาอีกส่วนหนึ่ง เกิดจากกรณีของ “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ “แฟรงค์” ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร สองนักกิจกรรม ซึ่งหลังเผยแพร่ไลฟ์สดเหตุการณ์การโต้เถียงกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่เข้ามาสั่งให้จอดรถ บริเวณทางด่วนมักกะสัน และมีการบีบแตรค่อนข้างยาวใส่เจ้าหน้าที่ ทำให้เกิดกระแสของทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและโซเชียลมีเดียนำไปปลุกปั่น พร้อมกล่าวหาว่าเป็นการบีบแตรใส่ขบวนเสด็จของกรมสมเดฺ็จพระเทพฯ และทั้งคู่พยายามขับรถติดตามขบวนเสด็จ

เดิมนั้นตำรวจ สน.ดินแดง ได้ออกหมายเรียกทั้งสองคนไปรับทราบข้อหาเรื่องการดูหมิ่นเจ้าพนักงาน และก่อความเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณะ แต่ต่อมาเมื่อมีการขอออกหมายจับ ได้มีการกล่าวหาทั้งสองคนในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วย โดยกล่าวหาว่าการเผยแพร่คลิปของตะวันเป็นการกระทำโดยมีเจตนาให้ปรากฏแก่ประชาชน ส่งเสริมให้บุคคลแสดงความคิดเห็นต่อต้านขบวนเสด็จของพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์

หลังจากนั้น ตำรวจได้นำตัวทั้งคู่ไปขอฝากขัง และศาลอาญาก็ไม่อนุญาตให้ประกันตัว อ้างว่าข้อหาที่ผู้ต้องหาทั้งสองถูกกล่าวหามีอัตราโทษสูง พฤติการณ์ในการกระทำผิดของผู้ต้องหาทั้งสองมีลักษณะไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความปั่นป่วนต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม โดยที่ทั้งคู่ยังเพียงแต่ถูกกล่าวหาอยู่ ยังไม่ได้พิสูจน์ว่าการกระทำเป็นไปตามข้อกล่าวหาของตำรวจหรือไม่ อย่างไร แต่ศาลสั่งราวกับเห็นว่าเป็นความผิดไปแล้ว สถานการณ์ดังกล่าว นำไปสู่การอดอาหารและน้ำในเรือนจำของนักกิจกรรมทั้งสองคนอีกครั้ง มาจนถึงปัจจุบัน

เดือนที่ผ่านมา นอกจากคดีของตะวัน-แฟรงค์นี้ ยังมีคดีมาตรา 116 เพิ่มขึ้นอีก 1 คดี ได้แก่ คดีที่นักกิจกรรม 3 ราย ซึ่งถูกอานนท์ กลิ่นแก้ว กล่าวหาจากการอ่านแถลงการณ์ในชุมนุม #ต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่หน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อช่วงปี 2564 ซึ่งตำรวจ สน.ทุ่งมหาเมฆ แจ้งข้อหาทั้งตามมาตรา 112 และ 116 พร้อมกัน

ขณะเดียวกัน ยังมีกรณีที่น่าสนใจได้แก่ พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งไม่ฟ้องในคดีของ 8 นักศึกษาและนักกิจกรรม ที่ถูกกล่าวหาในข้อหาหลักตามมาตรา 116 และ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีการชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทน ที่ประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2563 โดยเห็นว่าการกระทำของผู้ต้องหายังไม่อาจถือเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดจะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร แต่เป็นการเชื่อโดยสุจริตว่าตนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก แต่การสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว ก็เกิดขึ้นหลังคดีดำเนินไปกว่า 3 ปี และยังมีการคุมขัง “เจมส์ ประสิทธิ์” บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในชั้นสอบสวนไป 7 วันในช่วงปี 2563 โดยสุดท้ายไม่มีความผิดใด ๆ

ปัญหาการใช้มาตรา 116 ที่มีตัวบทคลุมเครือ กว้างขวาง เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐหรือฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองนำมาใช้กล่าวหาต่อคู่ขัดแย้ง หรือใช้ในลักษณะปราบปรามทางการเมือง ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องมีการแก้ไขต่อไป

.

.

สถานการณ์การดำเนินคดีต่อสื่อมวลชน-ช่างภาพที่ติดตามรายงานข่าวการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรม

นอกจากนั้น ในเดือนกุมภาพันธ์ยังมีสถานการณ์การดำเนินคดีต่อผู้สื่อข่าวสำนักข่าวประชาไท และช่างภาพอิสระ ได้แก่ ณัฐพล เมฆโสภณ หรือ “เป้” และ ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ หรือ “ยา” กรณีกล่าวหาว่าทั้งคู่เป็นผู้สนับสนุนในการทำให้โบราณสถานเสียหาย จากการลงพื้นที่รายงานและติดตามสถานการณ์การแสดงออกพ่นสีกำแพงวัดพระแก้ว ของ “บังเอิญ” เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566 

โดยคดีนี้ ทั้งสองคนไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน แต่ตำรวจ สน.พระราชวัง กลับขอศาลอาญาออกหมายจับทันที อีกทั้งหมายจับยังออกไว้ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2566 แต่ตำรวจกลับไม่ได้มีการจับกุม กลับรอระยะเวลาจนถึงช่วงเดือนที่ผ่านมา จึงไล่จับกุมพร้อมกัน

คดีนี้ น่าจับตาการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ ในการกล่าวหาผู้สื่อข่าวและช่างภาพที่ทราบหมายข่าว และลงพื้นที่ติดตามการแสดงออกของนักกิจกรรม ที่จะกล่าวหาว่าการไปทำข่าวและถ่ายภาพกลายเป็นผู้สนับสนุนได้อย่างไร และอาจกระทบต่อการทำงานและสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนอีกด้วย

นอกจากนั้น คดีนี้ยังมีการแจ้งข้อกล่าวหากับ “สายน้ำ” นักกิจกรรม เป็นผู้ต้องหาเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งรายด้วย

อีกทั้ง ในช่วงปลายเดือน ยังมีคดีที่ เสรี สุวรรณภานนท์ วุฒิสภา ไปกล่าวหาในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา-ทำให้เสียทรัพย์-ก่อความเดือดร้อนรำคาญ จากกรณีกลุ่มนักกิจกรรมไปร่วมกันติดใบปลิวเรียกร้องให้ สว. ฟังเสียงประชาชนในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่บริเวณตลาดเสรี 2 เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2566 โดยหลังจากตำรวจ สน.วัดพระยาไกร เข้าไปแจ้งข้อหาต่อ “เก็ท โสภณ” ในเรือนจำแล้ว ก็มีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาอีก 5 ราย โดยมี “เป้” และ “ยา” ที่ถูกดำเนินคดีข้างต้น ถูกออกหมายเรียกไปด้วย โดยทั้งสองคนไปติดตามทำข่าวและถ่ายภาพกิจกรรมดังกล่าว

.

X