แจ้ง ม.112 – 116 นักกิจกรรมอีก 3 ราย เหตุอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมัน ใน #ม็อบ14พฤศจิกา64 หลัง ศปปส. แจ้งความ

วันที่ 1 มี.ค. 2567 เวลา 10.00 น. ที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ ชาติชาย แกดำ หรือ “บอย”, ฉัตรรพี อาจสมบูรณ์ และ
ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา พร้อมทนายความได้เดินทางไปเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกของพนักงานสอบสวน ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากเหตุการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมัน เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2564 

ในคดีนี้ มีอานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่มศูนย์รวมปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีนักกิจกรรมทั้งสามราย ที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ  โดยมี พ.ต.ท.ปรีชา วรรณหงษ์ เป็นพนักงานสอบสวนที่ออกหมายเรียกเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2567 

พ.ต.ท.ปรีชา ได้แจ้งพฤติการณ์แห่งคดี โดยมีใจความสำคัญสรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2564 เวลาประมาณ 17.00 น. ผู้ต้องหากับพวก และกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 1,000 คน ได้นัดหมายรวมตัวกัน จากนั้นได้เดินขบวนมาถึงบริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตสหพันธสาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย และร่วมกันทำกิจกรรม 

โดยชาติชายได้ขึ้นพูดกล่าวนำถึงวัตถุประสงค์ของกลุ่ม, ณวรรษอ่านแถลงการณ์ตามข้อความที่อยู่บนแผ่นป้ายไวนิลสีขาว โดยมีข้อความขึ้นต้นว่า “แถลงการณ์ ประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 10 ต่างจากประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 9 เรากำลังเดินทางถอยหลังสู่การปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย…”

และมีฉัตรรพีร่วมกล่าวปราศรัยในการชุมนุมดังกล่าว

พนักงานสอบสวนแจ้งว่า การกระทำของผู้ต้องหาทั้งสามดังกล่าว เป็นความผิดฐาน ร่วมหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใด อันมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ และมิใช่การแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล เพื่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบ หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116

นักกิจกรรมทั้ง 3 ราย ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พร้อมลงลายมือชื่อในบันทึกประจำวันของตำรวจ โดยจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมภายในวันที่ 20 มี.ค. 2567 

ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวทั้งสามไว้ เนื่องจากมาพบตามหมายเรียก ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และนัดหมายมาพบอีกครั้งเพื่อส่งตัวให้อัยการในวันที่ 2 เม.ย. 2567

.

สำหรับการชุมนุมซึ่งเป็นเหตุในคดีนี้ มีขึ้นในวันที่ 14 พ.ย. 2564 โดยนักกิจกรรมหลายกลุ่มนัดหมายชุมนุมเพื่อแสดงจุดยืนในการต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันเป็นผลมาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 ที่วินิจฉัยว่า การปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ10สิงหา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พร้อมกับข้อความตอนหนึ่งในคำวินิจฉัยว่า “อำนาจการปกครองเป็นของพระมหากษัตริย์มาโดยตลอดนับแต่ยุคสุโขทัย อยุธยา ตลอดจนกรุงรัตนโกสินทร์…”

การประกาศนัดหมายเริ่มต้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อจะเดินขบวนไปยังสนามหลวง แต่เมื่อก่อนถึงเวลานัดตำรวจได้วางแนวตู้คอนเทนเนอร์ ปิดการจราจร ตั้งรั้วเหล็กตรวจค้นการเข้าสู่พื้นที่โดยรอบ ผู้ชุมนุมจึงประกาศย้ายสถานที่ชุมนุมไปยังสี่แยกปทุมวัน ก่อนประกาศเดินขบวนไปยังสถานทูตเยอรมนี 

เมื่อถึงหน้าสถานทูตเยอรมนี ผู้ชุมนุมได้อ่านแถลงการณ์ต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และส่งตัวแทนเข้าไปยื่นหนังสือต่อเจ้าหน้าที่สถานทูตถึงเหตุการณ์ที่มีผู้ชุมนุม 3 คนถูกยิงบริเวณหน้าสถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ ก่อนยุติการชุมนุม

หลังการชุมนุม ชาติชายและผู้ชุมนุมอีก 5 คน ถูก สน.ปทุมวัน ออกหมายเรียกในข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว โดยชาติชายเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 16 ก.พ. 2565 ปัจจุบันคดียังอยู่ในชั้นสอบสวน

.

เป็นที่น่าสังเกตว่าในเหตุการณ์ชุมนุมดังกล่าวเกิดขึ้นและผ่านมาราว 2 ปี แต่ยังคงมีการดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 112 อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการแสดงออกทางการเมือง และการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ โดยผลของการออกหมายเรียกนักกิจกรรมทั้งสามเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีนี้ ทำให้มีจำนวนคดี ม.112 เพิ่มเป็น 291 คดี และมีผู้ถูกดำเนินคดี 266 คน แล้ว 

สำหรับชาติชายและฉัตรรพี ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 คดีนี้เป็นคดีแรก ส่วนณวรรษนับเป็นคดีที่ 5 แล้ว

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-67

X