มกราคม 2567: จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองยอดรวม 1,947 คน ใน 1,268 คดี

เดือนแรกของปี 2567 ผ่านพ้นไป มีคดีจากการแสดงออกทางการเมืองเพิ่มขึ้นเล็กน้อย รวมอย่างน้อย 4 คดี โดยเป็นคดีมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นใหม่ 1 คดี แต่ตลอดเดือน ศาลมีคำพิพากษาในคดีจากเหตุช่วงปี 2563-65 ออกมาอย่างต่อเนื่อง ในคดีมาตรา 112 มีคำพิพากษาเดือนเดียว 11 คดี ทั้งมีคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ลงโทษจำคุกรวมกันในข้อหานี้มากเป็นประวัติการณ์ คือจำคุกถึง 50 ปี ส่วนคดีจากการชุมนุมอื่น ๆ ก็มีคำพิพากษาออกมาอีกไม่ต่ำกว่า 8 คดี โดยมีทั้งคดีที่ศาลยกฟ้องข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเห็นว่ามีความผิด

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,947 คน ในจำนวน 1,268 คดี

ในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 286 ราย ใน 217 คดี 

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นปี 2566 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 9 คน คดีเพิ่มขึ้น 4 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) 

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,962 ครั้ง

สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 263 คน ในจำนวน 288 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 147 คน ในจำนวน 45 คดี

3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,469 คน ในจำนวน 664 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง) 

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 179 คน ในจำนวน 91 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 197 คน ในจำนวน 215 คดี

6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 43 คน ใน 25 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 34 คน ใน 10 คดี

จากจำนวนคดี 1,268 คดีดังกล่าว มีจำนวน 494 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 774 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่าง ๆ

.

.

สถานการณ์การดำเนินคดีในช่วงเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา มีประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

สถานการณ์ ม.112 คดี 112 เพิ่มขึ้น 1 คดี แต่มีคำพิพากษาเดือนเดียว 11 คดี ส่วนใหญ่เป็นชั้นอุทธรณ์

ในเดือนมกราคม สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เท่าที่ทราบข้อมูล เพิ่มขึ้น 1 คดี ได้แก่ คดีของ “แบงค์” ณัฐพล และ “ต๊ะ” คทาธร ทั้งสองคนถูกจับกุมตามหมายจับของศาลอาญา ในคดีที่มี อานนท์ กลิ่นแก้ว เป็นผู้ไปกล่าวหาไว้ที่ สน.สำราญราษฎร์ จากกรณีโพสต์ภาพถือกระดาษข้อความหน้าพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 และพระราชินี พร้อมเขียนแคปชั่นประกอบเมื่อช่วงกลางเดือนมกราคม 2567 โดยการจับกุมและขอศาลออกหมายจับเกิดขึ้นหลังการแจ้งความเพียง 2 วัน ทั้งตำรวจไม่ได้ออกหมายเรียกมาก่อน โดยทั้งสองได้รับการประกันตัวหลังถูกนำตัวไปขอฝากขัง

ทั้งนี้ณัฐพลเคยถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 มาก่อนแล้ว แต่คทาธรถูกกล่าวหาเป็นคดีแรก ทำให้ยอดสถิติผู้ถูกดำเนินคดีโดยไม่นับคนซ้ำ เพิ่มขึ้น 1 ราย 

ส่วนคดีมาตรา 112 ที่ดำเนินอยู่ในชั้นศาล เดือนที่ผ่านมา ศาลมีคำพิพากษาออกมา 11 คดี โดยแยกเป็นคำพิพากษาในศาลชั้นต้น 4 คดี และในศาลอุทธรณ์ 7 คดี 

.

.

คดีที่น่าสนใจ ได้แก่ คดีของบัสบาส ซึ่งเกิดคำพิพากษาที่ศาลลงโทษจำคุกสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในคดีข้อหามาตรา 112 นี้ คือลงจำคุกรวมถึง 50 ปี 

เดิมนั้น ศาลจังหวัดเชียงรายลงโทษในคดีนี้จำคุก 28 ปี จากข้อความจำนวน 14 โพสต์ แต่หลังฝ่ายโจทก์และจำเลยอุทธรณ์คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค 5 เห็นว่าข้อความอีก 11 โพสต์ก็เป็นความผิดด้วยเช่นกัน แม้จะมีถึง 9 โพสต์ที่ตีความว่ากล่าวถึงอดีตกษัตริย์ และโพสต์เดิมก็ยังเห็นว่ามีความผิดทั้งหมด จึงกำหนดโทษจำคุกเพิ่มอีก 22 ปี ทำให้เกิดคดีที่จำเลยถูกกำหนดโทษจำคุกสูงที่สุดอย่างไม่เคยมีมาก่อน ทั้งเขายังไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างฎีกาอีกด้วย

แนวคำวินิจฉัยว่ามาตรา 112 คุ้มครองไปถึงอดีตกษัตริย์หรือไม่ และจะมีขอบเขตเพียงใด ยังเป็นไปอย่างสับสน และไม่ได้มีมาตรฐานที่ชัดเจน บางศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ยกฟ้องในเรื่องนี้ แต่บางศาลก็เห็นว่าเป็นความผิด ชี้ให้เห็นถึงปัญหาความไม่แน่นอนชัดเจนของการบังคับใช้กฎหมาย

ในเดือนมกราคม ยังมีคดีของอานนท์ นำภา และคดีของ “มายด์ ภัสราวลี” สองแกนนำในช่วงการเคลื่อนไหวปี 2563-64 ที่ถูกกล่าวหาจากกรณีโพสต์ข้อความถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และจากการปราศรัยในประเด็นการเปลี่ยนสถานะอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบัน ตามลำดับ ทั้งสองคดีถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดตามมาตรา 112  กรณีของอานนท์ ศาลลงโทษจำคุก 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา แต่กรณีของภัสราวลี ลงโทษจำคุก 2 ปี เพราะเห็นว่าให้การเป็นประโยชน์ และยังให้รอลงอาญาไว้ 3 ปี

กรณีอานนท์ เขายังคงถูกคุมขัง และถูกพิพากษาโทษในคดีมาตรา 112 ไปแล้ว 2 คดี รวมโทษจำคุกต่อกัน 8 ปี แต่ทั้งสองคดีก็ยังไม่ถึงที่สุด และยังมีการต่อสู้ในศาลสูงต่อไป ขณะที่อานนท์ ยังถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 ที่ยังไม่มีคำพิพากษาในศาลชั้นต้นอีกถึง 12 คดี

ในส่วนคำพิพากษาคดีอื่น ๆ ในชั้นศาลอุทธรณ์ ก็พบว่ามีทั้งในรูปแบบที่ศาลอุทธรณ์แก้เป็นให้รอการลงโทษจำคุกจำเลย หลังจากเดิมศาลชั้นต้นไม่ให้รอลงอาญา ได้แก่ คดีของสุทธิเทพ และคดีของพิทักษ์พงษ์  และในรูปแบบที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ไม่ให้รอการลงโทษจำคุกเช่นเดิม ได้แก่ คดีของ “ปุญญพัฒน์” และคดีของอุกฤษฏ์ แต่ทั้งคู่ยังได้รับการประกันตัวระหว่างฎีกา

รวมทั้งมีคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ยกฟ้องคดีอีก 1 คดี ได้แก่ คดีแขวนป้ายผ้า “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID19” ที่จังหวัดลำปาง ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 5 เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นว่าข้อความไม่ได้เข้าข่ายมาตรา 112 

แนวโน้มในปีนี้ จะพบว่าคดีจะทยอยมีคำพิพากษาในศาลอุทธรณ์หรือฎีกามากยิ่งขึ้น ทำให้อาจนำไปสู่การมีผู้ถูกคุมขังในคดีตามมาตรา 112 เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปัจจุบันมีผู้ถูกคุมขังทั้งระหว่างพิจารณาและคดีสิ้นสุดแล้วรวมกันอย่างน้อย 22 คน

.

.

คำพิพากษาคดีชุมนุมปี 2563-65 ยังออกมาต่อเนื่อง มีทั้งยกฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และลงโทษข้อหานี้ แต่ยกฟ้องข้อหาอื่นทั้งหมด

ในส่วนคดีจากการชุมนุม เดือนที่ผ่านมา ไม่ได้มีคดีใหม่เพิ่มขึ้น แต่ศาลมีคำพิพากษาคดีจากการชุมนุมในช่วงปี 2563-65 ออกมาอีกอย่างน้อย 8 คดี ที่น่าสนใจ ได้แก่ คดีจากการชุมนุม #ม็อบ28กุมภา2564 ซึ่งมีการพยายามเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปยังบ้านของ พล.อ.ประยุทธ์ และเจ้าหน้าที่เข้าปิดกั้น-สลายการชุมนุม ทั้งโดยการยิงกระสุนยาง และมีรายงานการทำร้ายผู้ชุมนุมหลายราย พร้อมการจับกุมดำเนินคดีจำนวนมาก

คดีนี้มีจำเลยทั้งหมด 38 คน ศาลอาญาได้พิพากษาว่าทั้งหมดมีความผิดเฉพาะข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษปรับคนละ 2,000 บาท แต่ให้ยกฟ้องข้อหาตามมาตรา 215 และ 216 รวมทั้งข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยมีอาวุธ โดยศาลเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ และการชุมนุมยังมีข้อเรียกร้องที่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ การกีดขวางการจราจรเกิดขึ้นจากการนำรั้วมากั้นผู้ชุมนุมอยู่ก่อนแล้วของเจ้าหน้าที่ 

คล้ายคลึงกับคดีจากการชุมนุม #ม็อบ14มิถุนา2565 บริเวณดินแดง ที่มีจำเลย 8 คน ศาลอาญาก็เห็นว่ามีความผิดเฉพาะข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษจำคุก 1 เดือน ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาเป็นเวลา 1 ปี โดยข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน, ชุมนุมมั่วสุมทำให้เกิดความวุ่นวาย และไม่เลิกการชุมนุมตามคำสั่งนั้น ศาลยกฟ้องทั้งหมด

คดีนี้ จำเลยทั้งแปดยังเคยถูกคุมขังระหว่างสอบสวนและพิจารณาเป็นระยะเวลาถึง 105 วัน ทำให้หากคดีถึงที่สุดในลักษณะนี้ จะต้องได้รับการชดเชยการถูกคุมขัง

คดีลักษณะนี้ สะท้อนให้เห็นปัญหาการจับกุมและการตั้งข้อกล่าวหาของตำรวจในสถานการณ์ชุมนุมที่ผ่านมา หลายกรณีมีการกวาดจับผู้ชุมนุมจำนวนมาก มีการตั้งข้อหารุนแรงเอาไว้ก่อน โดยไม่ได้มีพยานหลักฐานเพียงพอ ทำให้เกิดปัญหาในการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี และสร้างภาระทางคดีให้จำเลย แม้่สุดท้ายคำพิพากษาจะเห็นว่ามีความผิดในลักษณะที่ไม่ได้รุนแรงนัก 

.

.

เดือนที่ผ่านมา ศาลยังมีคำพิพากษายกฟ้องข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก 3 คดี ได้แก่ คดีของอานนท์-ไมค์-ไผ่-ครูใหญ่ กรณีชุมนุมหน้า สตช. วันที่ 18 พ.ย. 2563 โดยเห็นว่าจำเลยสองรายแรกถูกฟ้องคดีซ้ำกับอีกคดีหนึ่ง ส่วนสองรายหลัง ไม่มีพยานหลักฐานว่าเป็นผู้จัดกิจกรรม, คดีของ “มายด์” ภัสราวลี กรณีชุมนุม 24 มี.ค. 2564 ที่ศาลเห็นว่าไม่ได้เป็นผู้จัดเช่นกัน ส่วนคดีของ “ไมค์” กรณีทำกิจกรรม #Saveวันเฉลิม ที่ระยอง ศาลเห็นว่ากิจกรรมใช้เวลาเพียงสั้น ๆ จำเลยยังใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา พื้นที่ในการทำกิจกรรมเป็นที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเท ประกอบกับในช่วงที่จัดกิจกรรมมีการผ่อนปรนมาตรการป้องกันโควิด-19 เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดลดลงแล้ว

แต่ก็มีคดีที่ศาลลงโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยเห็นว่าการเข้าร่วมชุมนุมก็ถือเป็นความผิดแล้ว อย่างคดีของ “ไดโน่” นวพล จากกลุ่มทะลุฟ้า กรณีชุมนุม #ม็อบ19สิงหาไล่ล่าทรราช ปี 2564 แต่คดีนี้ศาลลงโทษในบทหนักสุด เรื่องการทำให้เกิดเพลิงไหม้จนอาจเป็นอันตรายฯ โดยลงโทษจำคุกถึง 2 ปี และไม่รอลงอาญา แต่ยังให้ประกันตัวจำเลยระหว่างอุทธรณ์

ปัญหาแนวทางคำวินิจฉัยในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลเห็นต่างไปเป็นสองแนวอย่างชัดเจน ทำให้เกิดคำพิพากษาที่มองประเด็นการชุมนุม กับสถานการณ์ฉุกเฉินต่างกันไปเป็นสองลักษณะ

.

ยังมีสถานการณ์การใช้ข้อหา ม.116 ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ 

เดือนที่ผ่านมา ยังมีสถานการณ์การดำเนินคดี “ยุยงปลุกปั่นฯ” ตามมาตรา 116 คดีใหม่เกิดขึ้น ได้แก่ กรณีของ 9 ประชาชนและภาคประชาสังคมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ถูกแม่ทัพภาค 4 มอบอำนาจไปกล่าวหาที่ สภ.สายบุรี จากกรณีของกิจกรรมมลายูรายาที่หาดวาสุกรี เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2565 โดยข้อกล่าวหาเกี่ยวข้องกับการมีผู้แสดงธง BRN ในกิจกรรม และมีการร้องเพลงในภาษามลายู ซึ่งทางกองทัพเห็นว่ามีเนื้อหาเกี่ยวกับการกอบกู้เอกราช คดีนี้ผู้ถูกออกหมายเรียกทั้ง 9 คนได้เข้ารับทราบข้อหาไปเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2567 และยังต้องจับตารายละเอียดการต่อสู้คดีต่อไป

.

X