คดี ม.112  “พิทักษ์พงษ์” ศาลอุทธรณ์เห็นด้วย โทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน เห็นว่าการกระทำอาจนำไปสู่ความไม่มั่นคงของราชอาณาจักร แต่แก้เป็นให้รอลงอาญา

วันที่ 16 ม.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีของ พิทักษ์พงษ์
(สงวนนามสกุล) พนักงานบริษัทวัย 27 ปี ในข้อหา  “หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการใช้บัญชีเฟซบุ๊ก โพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มปกป้องสถาบันกษัตริย์ฯ พร้อมแนบถาพถ่ายแสดงภาพบุคคลยืนชูมือ ข้างซ้ายชูสามนิ้ว และข้างขวาชูนิ้วกลางหนึ่งนิ้ว หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ซึ่งมีเหตุการณ์สลายการชุมนุมบริเวณรัฐสภา

ในคดีนี้ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษา โดยเห็นพ้องกับโทษของศาลชั้นต้น จำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี 6 เดือน แต่เห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นในบางส่วน จึงเห็นควรให้รอลงอาญา 3 ปี

สำหรับคดีนี้มีสุรภพ จันทร์เปล่ง รับมอบอำนาจจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้กล่าวหา ย้อนไปเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 เวลา 6.00 น. พิทักษ์พงษ์ถูกเจ้าหน้าที่ชุดตรวจค้นจาก บก.ปอท. จำนวนราว 12 นาย เข้าแสดงหมายค้นของศาลอาญา เพื่อเข้าค้นบ้านพัก โดยได้ตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ และซีพียูคอมพิวเตอร์ และให้พิทักษ์พงษ์บอกรหัสผ่านสำหรับเข้าถึงโทรศัพท์และเฟซบุ๊ก โดยเจ้าหน้าที่บอกเพียงแค่ว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 เท่านั้น ไม่ได้ระบุว่าเขาถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ด้วย

จากนั้น จึงควบคุมตัวพิทักษ์พงษ์ขึ้นรถตู้ตำรวจ พร้อมมีเจ้าหน้าที่ 2 นาย นั่งประกบ เพื่อเดินทางไปที่ บก.ปอท. เจ้าหน้าที่ได้ให้ลงลายมือชื่อรับรองในเอกสารต่าง ๆ เช่น รูปภาพข้อความในเฟซบุ๊ก บันทึกตรวจค้น และรูปถ่ายส่วนตัว โดยยังไม่ได้มีการแจ้งข้อหาใด และไม่ได้ให้ติดต่อทนายความ มีเพียงแค่เพื่อน 1 คน นั่งอยู่ในห้องสอบสวนด้วยเท่านั้น หลังลงลายมือชื่อในเอกสาร เจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวพิทักษ์พงษ์ไป และแจ้งว่าจะส่งหมายเรียกให้มารับทราบข้อหาต่อไป

ต่อมาเขาได้รับหมายเรียกจาก บก.ปอท. ลงวันที่ 10 มี.ค. 2564 ระบุให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาสองข้อหา ได้แก่ มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) โดยวันที่ออกหมายเรียกนั้นเป็นวันที่ก่อนตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านพักของเขา

ในชั้นสอบสวน พิทักษ์พงษ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และมิได้ถูกคุมขังในชั้นสอบสวน ทั้งในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยวางหลักทรัพย์จำนวน 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการใดตามที่ถูกฟ้องอีก

คำฟ้องของพนักงานอัยการระบุว่า ข้อความและภาพดังกล่าวทำให้ประชาชนและบุคคลทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ไม่ทรงรักประชาชนและข้าราชบริพาร ทรงหมกหมุ่นในกามารมณ์ ทำให้เกิดการดูหมิ่นไม่เคารพเทิดทูน

อย่างไรก็ตามระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น ในวันนัดสืบพยานครั้งแรก พิทักษ์พงษ์แถลงขอกลับคำให้การ จากปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาเป็นรับสารภาพตามคำฟ้อง ศาลจึงมีคำสั่งให้สืบเสาะและพินิจพฤติการณ์ของจำเลย

.

ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับโทษ 2 ปี 6 เดือน แต่ให้แก้โทษเป็นรอลงอาญา เนื่องจากจำเลยได้ขอขมารัชกาลที่ 10 และได้เข้าถวายพระพรต่ององค์ภาที่กำลังป่วยหนักอยู่

เวลา 09.10 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 814 พิทักษ์พงษ์เดินทางมาฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์พร้อมกับครอบครัวและเพื่อนรวม 8 คน ศาลเรียกชื่อของจำเลย โดยให้เขาเข้าไปนั่งฟังคำพิพากษาที่คอกพยานเบิกความ

ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ว่า โจทก์ฟ้องในคดีนี้ในความผิดมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ มาตรา 14 และให้ริบของกลางเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 1 เครื่อง จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง

การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำผิดกรรมเดียวต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทที่หนักที่สุดคือมาตรา 112 จำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ จึงเป็นเหตุให้มีการบรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่งคงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง 

คดีนี้ ศาลอุทธรณ์ได้ตรวจสำนวนแล้วมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า สมควรลงโทษจำเลยสถานเบาและรอการลงโทษจำเลยหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยได้สำนึกในการกระทำผิดแล้ว โดยให้การรับสารภาพ จำเลยกระทำผิดไปโดยเข้าใจข้อมูลข่าวสารทางสื่อสังคมออนไลน์ผิดไป จำเลยไม่เคยกระทำผิดมาก่อน ทั้งภายหลังหรือก่อนหน้าในคดีนี้

เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2566 จำเลยได้เดินทางไปโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อถวายพระพรให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ และได้โพสต์ข้อความพร้อมภาพถ่ายของตัวเองบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งเปิดเป็นโพสต์สาธารณะ

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2566 จำเลยได้แสดงความจงรักภักดี และขอขมาต่อรัชกาลที่ 10 โดยแสดงต่อพระบรมฉายาลักษณ์ที่กระทรวงสาธารณสุข และได้โพสต์ข้อความและภาพถ่ายลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวด้วยเช่นกัน

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า มาตรา 112 บัญญัติว่าผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย กษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ บทบัญญัติดังกล่าวมีลักษณะความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร แสดงให้เห็นว่าแม้การกระทำผิดต่อกษัตริย์ พระราชินี หรือองค์รัชทายาท 

การกระทำความผิดดังกล่าวย่อมมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศไทย ซึ่งปกครองโดยกษัตริย์มาตั้งแต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนถึงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน เพื่อประชาชน และปกครองโดยประชาชนก็ตาม แต่ว่ากษัตริย์ยังคงได้รับความเคารพสักการะให้ทรงเป็นประมุขของประเทศ เป็นจอมทัพไทย กฎหมายที่ผ่านรัฐสภาโดยฝ่ายนิติบัญญัติ การแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญไม่ว่าจะเป็นคณะรัฐมนตรี หรือผู้แทนราษฎรก็ตาม พระมหากษัตริย์ทรงมีบทบาทลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้ง

ทั้งการสืบราชสมบัติยังเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล ทำให้พระมหากษัตริย์สืบราชสมบัติทางสายพระโลหิตต่อกันมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชวงศ์จักรี ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ก็ทรงสืบสันติวงศ์มาจนถึงปัจจุบัน ประชาชนในประเทศจึงมีความผูกพันกับพระมหากษัตริย์ในฐานะผู้ที่เป็นที่เคารพสักการะ 

ดังนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงได้บัญญัติไว้ให้กษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการระ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะฟ้องร้องในทางใด ๆ มิได้ ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำผิดตามมาตรา 112 เพราะการกระทำของจำเลยย่อมกระทบต่อความรู้สึกของชาวไทยที่ผูกพันกับสถาบันกษัตริย์

นอกจากนี้ ยังหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ อาจนำไปสู่ความไม่พอใจต่อประชาชนที่จงรักภักดี และอาจนำไปสู่ความไม่มั่นคงของราชอาณาจักรได้ จึงไม่มีเหตุให้ลงโทษจำเลยเบากว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษา 

ส่วนที่จำเลยขอให้รอการลงโทษเห็นว่าจำเลยได้ให้การรับสารภาพแล้วว่าจำเลยรู้สึกสำนึกผิด ทั้งได้เดินทางไปถวายพระพรต่อองค์ภาฯ และขอขมาต่อรัชกาลที่ 10 แม้ว่าการกระทำผิดของจำเลยตามฟ้องจะมีพฤติการณ์ร้ายแรง แต่จำเลยไม่เคยกระทำผิดมาก่อน จำเลยมีอาชีพมั่นคง ยังพอแก้ไขให้เป็นพลเมืองดีได้ จากข้อเท็จจริงนี้ยังพอสมควรให้รอการลงโทษจำเลยได้

ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาโดยไม่รอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วนพิพากษาแก้ให้โทษจำคุกรอการลงโทษไว้ 3 ปี กำหนดเงื่อนไขให้จำเลยไปรายงานตัวต่อคุมประพฤติ 4 เดือนครั้ง ใน 1 ปี ให้จำเลยทำงานบริการสังคมเป็นระยะเวลา 84 ชั่วโมง รวมถึงห้ามกระทำการใด ๆ ที่มีส่วนล่วงเกินให้สถาบันกษัตริย์เสียหายอีก 

ภายหลังจบการฟังคำพิพากษา พิทักษ์พงษ์ที่นั่งอยู่บริเวณคอกพยานเบิกความได้ร้องไห้ออกมาเงียบ ๆ ส่วนครอบครัวและเพื่อน ๆ ที่นั่งรอให้กำลังใจต่างแสดงความรู้สึกโล่งใจที่ทั้งหมดจะได้กลับบ้านพร้อมหน้าพร้อมตากันในวันนี้

.

ทำความรู้จัก “พิทักษ์พงษ์”

พิทักษ์พงษ์เป็นประชาชนธรรมดา ไม่ใช่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือนักกิจกรรม ประกอบอาชีพเป็นพนักงานบริษัททั่วไป จุดเริ่มต้นของการออกมาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์จนถูกดำเนินคดีในครั้งนี้ ก็มาจากการเห็นข่าวสลายการชุมนุมบริเวณรัฐสภา แยกเกียกกาย เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ซึ่งผู้ชุมนุมถูกกระทำด้วยความรุนแรง จึงโพสต์ถึงตำรวจควบคุมฝูงชน ตำรวจ และบุคคลผู้ไม่หวังดีที่ปาหินและใช้กระสุนจริงกับผู้ชุมนุม 

เขาเปิดเผยว่า การถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ส่งผลกระทบต่อการวางแผนอนาคตของตน เพราะไม่รู้ว่าตนจะถูกพิพากษาจำคุกหรือไม่ การต้องต่อสู้คดีทำให้เขาเสียทั้งเงิน เวลา และสุขภาพจิต 

เขาเคยระบุว่า “ถ้าว่าด้วยเรื่องกฎหมาย เราอาจผิดจริง แต่ถ้าถามเรื่องสิทธิมนุษยชนทั่วไป เราไม่น่าผิดขนาดนั้น ระวางโทษของมาตรา 112 เทียบเท่าการฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา แต่เราแค่โพสต์เฟซบุ๊ก 1 โพสต์

“กฎหมายมาตรานี้ควรได้รับการแก้ไขอย่างยิ่ง ไม่ต้องเอาออกไปก็ได้ แต่ควรทำให้เหมาะสมกว่านี้ ผมไม่รู้เหมือนกันว่าแบบไหนคือเหมาะสม แต่ไม่ใช่แบบที่โทษหนักเท่าการฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาแน่นอน”

X