ยกฟ้องข้อหาต่อสู้ขัดขวาง จพง. แต่จำคุก 1 เดือน – รอลงอาญา 8 นักกิจกรรม ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมม็อบดินแดง 14 มิ.ย. 65 หลังเคยถูกขังไม่ได้ประกันกว่า 3 เดือน

31 ม.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญา รัชดา มีนัดฟังคำพิพากษาคดีของ “ภูมิ หัวลำโพง” และนักกิจกรรมทะลุแก๊ซรวม 8 ราย ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมบริเวณดินแดง ในวันที่ 14 มิ.ย. 2565 

คดีนี้สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2565 เวลาประมาณ 18.20 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้มารวมตัวกันทำกิจกรรมที่บริเวณแยกดินแดง อาทิการเขียนป้ายไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, การเดินถือป้ายจากแยกดินแดงไปยัง พล.ร.1 และได้ทำกิจกรรมเรื่อยมา กระทั่งเกิดการประทะกับตำรวจควบคุมฝูงชน มีการยื้อแย่งป้ายผ้ากัน ก่อนกลุ่มผู้ชุมนุมถูกผลักดันออกมา จึงได้แยกย้ายยุติการชุมนุมในเวลาประมาณ 23.00 น.

ต่อมา ตำรวจ สน.ดินแดง ซึ่งอ้างว่า การชุมนุมในวันดังกล่าวทำให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ และมีทรัพย์สิน อาทิ กล้องวงจรปิดหรือกระจกป้ายโฆษณาเสียหาย ได้ยื่นคำร้องขอศาลอาญาออกหมายจับผู้ร่วมชุมนุมรวม 8 ราย เมื่อภูมิและคนอื่น ๆ ได้แก่ พิชัย เลิศจินตวงษ์, ใบบุญ (โอม), สมชาย, อัครพล, ธีรวิทย์, หนึ่ง เกตุสกุล และวรวุฒิ ทราบว่าตนเองถูกออกหมายจับจึงได้ทยอยเดินทางเข้ามอบตัว รวมถึง “ไอซ์” เยาวชนอายุ 15 ปี ซึ่งไม่ได้ถูกออกหมายจับ 

ทั้งหมดถูกแจ้งข้อกล่าวหารวม 4 ข้อหา ได้แก่ ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยมีหรือใช้อาวุธฯ,  มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ, ไม่เลิกชุมนุมมั่วสุมตามคำสั่งเจ้าพนักงาน และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

ภายหลังเข้ามอบตัว ทั้ง 8 คน ไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นฝากขัง และถูกคุมขังในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. 2565 กระทั่งภายหลังอัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2565 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2565 รวมเวลาถูกคุมขัง 105 วัน

.

เวลา 09.10 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดี ก่อนที่จะเริ่มอ่านคำพิพากษา ศาลแจ้งทนายความว่าจะขอเลื่อนอ่านคำพิพากษาเป็นเวลา 13.30 น. เนื่องจากไม่สามารถเบิกตัวภูมิที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานพินิจฯ บ้านเมตตา ในคดีมาตรา 112 มาได้ทัน 

ต่อมา ช่วงบ่าย เวลา 13.00 น. จำเลยทุกคนมารออยู่ในห้องพิจารณาคดี  ก่อนศาลได้ออกนั่งพิจารณาคดีอีกครั้งและอ่านคำพิพากษา ใจความโดยสรุปว่า 

จากพยานหลักฐานของโจทก์แสดงให้เห็นว่า จำเลยได้เข้าร่วมชุมนุมในขณะที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และมีการออกข้อกำหนดห้ามการชุมนุมมั่วสุมในสถานที่แออัด ซึ่งอาจทำให้ความเสี่ยงในการระบาดของโรคโควิด-2019 ที่สำคัญคือจำเลยทุกคนไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย และไม่ได้มีมาตรการป้องกันโควิด-19 แต่อย่างใด จึงเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งแปดเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ในส่วนข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน, มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ทำให้เกิดความวุ่นวาย และไม่เลิกมั่วสุมตามคำสั่งเจ้าหน้าที่นั้น โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นว่า จำเลยทั้ง 8 ราย ได้ทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือจุดพลุไฟยิงใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ พยานหลักฐานโจทก์มีข้อสงสัยตามสมควรว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ยกฟ้องใน 3 ข้อหานี้ 

พิพากษาว่า การกระทำของจำเลยทั้งแปดเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษจำคุก 1 เดือน ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาเป็นเวลา 1 ปี ยกเว้นจำเลยที่ 2 ซึ่งเคยถูกจำคุกมาก่อน จึงไม่รอลงอาญา 

ทั้งนี้ เนื่องจากจำเลยทั้งแปดเคยถูกคุมขังระหว่างสอบสวนและพิจารณามาแล้วเป็นระยะเวลา 105 วัน หรือ 3 เดือน 15 วัน คิดเป็นค่าชดเชยการถูกคุมขังวันละ 500 บาท เป็นเงินเกินกว่าค่าปรับแล้ว ทั้งหมดจึงไม่ต้องเสียค่าปรับ รวมถึงจำเลยที่ 2 (พิชัย) ไม่ต้องได้รับโทษจำคุกด้วย  

.

X