เมษายน 2566: จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองยอดรวม 1,902 คน ใน 1,203 คดี

เดือนเมษายนอันร้อนระอุผ่านพ้นไป อุณหภูมิทางการเมืองเพิ่มขึ้นต้อนรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ในส่วนคดีจากการแสดงออกทางการเมืองก็ยังคงดำเนินต่อไป เดือนที่ผ่านมามีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มอีกอย่างน้อย 5 ราย และปัญหาการบังคับใช้โดยตีความขยายความกฎหมายยังเป็นประเด็นสำคัญ ขณะที่สถานการณ์การใช้กฎหมายทั้ง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ และมาตรา 116 กล่าวหาต่อนักการเมืองฝ่ายค้านและนักกิจกรรม ก็เป็นสถานการณ์ที่ต้องจับตา

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,902 คน ในจำนวน 1,203 คดี

ในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 284 ราย ใน 211 คดี โดยแยกเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 41 คน และเยาวชนอายุระหว่าง 15-18 ปี จำนวน 243 คน

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนมีนาคม 2566 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 4 คน คดีเพิ่มขึ้น 16 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) 

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,827 ครั้ง

สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 242 คน ในจำนวน 262 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 130 คน ในจำนวน 41 คดี

3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,469 คน ในจำนวน 663 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง) 

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 144 คน ในจำนวน 79 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 167 คน ในจำนวน 186 คดี

6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 36 คน ใน 20 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 28 คน ใน 9 คดี

จากจำนวนคดี 1,203 คดีดังกล่าว มีจำนวน 343 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 860 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่างๆ

.

.

แนวโน้มการดำเนินคดีในช่วงเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา มีสถานการณ์สำคัญ ดังต่อไปนี้

ผู้ถูกดำเนินคดี ม.112 เพิ่มขึ้น 5 ราย นักกิจกรรมถูกออกหมายจับ-หมายเรียกเป็นระยะ

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เท่าที่ทราบข้อมูล เพิ่มขึ้นในเดือนที่ผ่านมาอย่างน้อย 5 คน ใน 6 คดี โดยพบว่ามีการดำเนินคดีต่อนักกิจกรรมที่ยังคงออกมาแสดงออกทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง กรณีที่สำคัญได้แก่ คดีของ “สายน้ำ” และ “ออย” สองนักกิจกรรม ที่ในช่วงสงกรานต์ได้เข้ามอบตัวที่ สน.ดุสิต หลังทราบว่ามีหมายจับในคดีเหตุจากการโพสต์ภาพชูสามนิ้วบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2566  

คดีนี้มีสมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้กล่าวหา โดยอ้างว่าการแสดงออกดังกล่าวเป็นใช้สถานที่เขตพระราชฐานแสดงออกเชิงสัญลักษณ์สื่อถึงสันติภาพ เสรีภาพ และภราดรภาพ ทำให้เป็นการดูหมิ่นหรือด้อยค่าต่อพระมหากษัตริย์ ข้อกล่าวหาดังกล่าวยังคลุมเครือและไม่แน่ชัดว่าเหตุใดการแสดงสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายดังกล่าว ถึงจะเป็นการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น และเข้าองค์ประกอบของมาตรา 112 ได้อย่างไร

.

.

นอกจากนั้น ตำรวจยังมีการย้อนจับกุมคดีจากการแสดงออกอีก 2 คดี ได้แก่ คดีของ “บังเอิญ” ศิลปินขอนแก่นผู้พ่นกำแพงวัดพระแก้ว ได้ถูกจับกุมไปแจ้งข้อหามาตรา 112 จากโพสต์ภาพเฟซบุ๊กตั้งแต่เดือน มี.ค. 2565 และคดีของ “สถาพร” ชาวจังหวัดอุดรธานี ที่ถูกจับกุมมาดำเนินคดีที่ สน.ชนะสงคราม โดยกล่าวหาจากเหตุเคยแสดงออกโดยการชูนิ้วและตะโกนขณะมีขบวนเสด็จผ่านถนนราชดำเนิน เมื่อเดือน พ.ค. 2565

อีกทั้ง ตำรวจ สภ.เมืองขอนแก่น ยังมีการออกหมายเรียก “ยาใจ” ทรงพล สนธิรักษ์ สมาชิกกลุ่มทะลุฟ้า ในคดีมาตรา 112 ที่มีผู้สมัคร ส.ส. พรรคไทยภักดีเป็นผู้กล่าวหา โดยคดียังอยู่ระหว่างการเลื่อนรับทราบข้อกล่าวหาออกไป จึงยังไม่ทราบเหตุที่ถูกกล่าวหาแน่ชัด

ทั้งนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้แก้ไขการนับสถิติในคดีของอานนท์ นำภา และพริษฐ์ ชิวารักษ์ จากการปราศรัยในการชุมนุมที่ลานหอศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2563 ซึ่งเดิมนับเป็นคดีเดียว แต่หลังการสั่งฟ้องคดีที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ มีการดำเนินกระบวนพิจารณาแยกกันไปเป็น 2 คดี จึงแก้ไขการนับสถิติคดีใหม่

.

.

เดือนที่ผ่านมา อัยการยังมีคำสั่งฟ้องคดีมาตรา 112 เพิ่มอีกอย่างน้อย 5 คดี ขณะที่คดีในศาลชั้นต้น  ได้มีคำพิพากษาออกมาอีก 1 คดี และศาลอุทธรณ์ 1 คดี โดยในคดีของ “แอมป์” ณวรรษ นักกิจกรรมที่ถูกกล่าวหาจากการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ13กุมภา2564 ได้ตัดสินใจให้การรับสารภาพในคดี และศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุกรวม 1 ปี 7 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ให้เหตุผลว่าจำเลยกระทำการในลักษณะเดียวกันหลายคดี แต่ณวรรษยังได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คดีต่อไป

อีกคำพิพากษาสำคัญหนึ่ง คือคดีของ “วุฒิภัทร” พนักงานบริษัทวัย 29 ปี ถูกฟ้องจากคอมเมนต์ความเห็นต่อกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8  ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น วินิจฉัยเป็นว่าการกระทำเข้าข่ายมาตรา 112 โดยให้เหตุผลว่าการหมิ่นประมาทและดูหมิ่นอดีตพระมหากษัตริย์ย่อมกระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน และกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชน ซึ่งกระทบต่อความมั่นคงได้ 

คดีนี้นับเป็นคดีที่สองแล้วในรอบปีที่ผ่านมา ที่ศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ที่เคยยกฟ้องมาตรา 112 ในประเด็นเห็นว่าอดีตกษัตริย์ไม่เข้าองค์ประกอบมาตรา 112  ปัญหาเรื่องการตีความมาตรา 112 ที่ขยายความไปถึงอดีตกษัตริย์ฯ ยังเป็นปัญหาสำคัญ ที่ศาลเองก็ยังวินิจฉัยแตกต่างกันไป สร้างความคลุมเครือของการบังคับใช้กฎหมาย และส่งผลต่อการแสดงความคิดเห็น การศึกษาวิจัย และการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ในสังคมไทยต่อไป

ขณะที่ตลอดเดือนที่ผ่านมา ยังมีผู้ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาในคดีตามมาตรา 112 อย่างน้อย 2 ราย ได้แก่ “วุฒิ” และ “หยก” ทั้งสองถูกคุมขังยาวเกินหนึ่งเดือนแล้ว โดยกรณีของหยกยังเป็นเยาวชนที่ถูกคุมขังในสถานพินิจฯ และเธอยืนยันปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม ไม่แต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายและปฏิเสธการยื่นประกันตัวเรื่อยมา

.

.

คดีไม่แจ้งการชุมนุมเพิ่ม 1 คดี  ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก

เดือนที่ผ่านมา มีคดีจากการชุมนุมคดีใหม่เพิ่มอีก 1 คดี ได้แก่ คดีของนักกิจกรรม 8 ราย ใส่ชุดนักโทษขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส เพื่อแสดงสัญลักษณ์ครบรอบ 9 ปี กรณีการหายตัวไปของ “บิลลี่” พอละจี เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2565 และได้ถูกตำรวจ สน.บางซื่อ ออกหมายเรียกในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ โดยทั้งหมดยืนยันปฏิเสธข้อกล่าวหา 

คดีนี้ทำให้เกิดคำถามว่ากิจกรรมดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการชุมนุมสาธารณะหรือไม่ เมื่อไม่ได้มีการประกาศให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วม คนทั่วไปไม่สามารถร่วมแสดงออกโดยแต่งกายในลักษณะเดียวกันได้ในทันที จะถือว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะหรือไม่ ซึ่งยังเป็นประเด็นในการต่อสู้คดีต่อไป

ส่วนคดีจากการชุมนุมในช่วงปี 2563-65 ที่ขึ้นสู่ศาล ก็ได้ทยอยมีคำพิพากษาออกมาอย่างต่อเนื่อง เดือนที่ผ่านมามีคดีที่ศาลพิพากษายกฟ้องข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพิ่มอีก 2 คดี ได้แก่ คดีคาร์ม็อบหาดใหญ่ และคดีคาร์ม็อบเพชรบูรณ์ แต่ก็มีคดีที่ศาลพิพากษาโดยเห็นว่ามีความผิด 1 คดี ได้แก่ คดีของประชาชนสามคนที่ถูกจับกุมจากการชุมนุม #ม็อบ7สิงหา2564 ศาลพิพากษาปรับคนละ 2,000 บาท

นอกจากนั้นยังมีคดีของสมาชิกกลุ่ม We Volunteer 8 ราย ที่ถูกจับกุมก่อนการชุมนุม #ม็อบ7สิงหา2564 ศาลอาญาได้มีคำพิพากษายกฟ้องในข้อหาอั้งยี่-ซ่องโจร โดยเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ไม่เพียงพอว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 8 กระทำการที่เข้าข่ายความผิดดังกล่าว แต่ลงโทษปรับเรื่องพกพาวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต  

ขณะเดียวกันมีรายงานคดีจากการชุมนุมที่อัยการสั่งไม่ฟ้องเพิ่มเติมอีก ได้แก่ คดีจากการชุมนุมของ P-move และภาคี #Saveบางกลอย ในช่วงต้นปี 2565 และคดีคาร์ม็อบที่จังหวัดนราธิวาส

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2566 ยังมีคดีจากการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2563-65 ที่ถูกกล่าวหาในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกไม่น้อยกว่า 514 คดี ที่ยังไม่สิ้นสุด หลายคดีอัยการยังทยอยฟ้องเข้ามาใหม่ หรือยังอุทธรณ์คำพิพากษา แม้ศาลชั้นต้นจะยกฟ้องก็ตาม 

หลังการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง คดีเหล่านี้ ก็ยังคงดำเนินต่อไป โดยนักกิจกรรมหลายคนมีภาระในการต้องต่อสู้คดีจากการแสดงออก รวมทั้งสถานการณ์การใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ เพื่อควบคุมการชุมนุม ก็เป็นสิ่งที่ต้องติดตามในระยะต่อไป

.

.

ม.116 ยังถูกใช้กล่าวหานักการเมืองฝ่ายค้าน ขณะศาลฎีกาพิพากษาวางแนวตีความ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ม.14 (2) 

เดือนเมษายน มีคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หรือ “ยุยงปลุกปั่น” เพิ่มขึ้นใหม่อีก 1 คดี ได้แก่ คดีที่ปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า ถูกกล่าวหาที่ สน.นางเลิ้ง โดยมี ณฐพร โตประยูร เป็นผู้กล่าวหาเอาไว้ จากเหตุตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2564 จากการแสดงความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์เผาพระบรมฉายาลักษณ์ในห้อง Club House โดยหลังเหตุการณ์มา 1 ปีกว่า ตำรวจกลับเพิ่งมีการออกหมายเรียกมาดำเนินคดี

นอกจากนั้น เดือนที่ผ่านมา อัยการยังมีคำสั่งฟ้องคดีของบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สองคน ได้แก่ “สาธร” และ “ลูกมาร์ค” จากกรณีการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 โดยมีข้อหาหลักตามมาตรา 116 กรณีนี้ทั้งสองคนเพิ่งถูกจับกุมและเข้ามอบตัวหลังทราบว่ามีหมายจับที่ออกตั้งแต่ปี 2563 โดยก่อนหน้านี้มีผู้ถูกฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดธัญบุรีไปแล้ว 7 ราย ทำให้รวมมีผู้ถูกฟ้องเพิ่มเป็น 9 รายแล้ว 

ปัญหาการใช้มาตรา 116 ที่อยู่ในหมวดความมั่นคงของรัฐและมีการตีความอย่างกว้างขวาง มาใช้กล่าวหาต่อการแสดงออกทางการเมือง ยังเป็นปัญหาใหญ่สืบเนื่องมาจากยุค คสช. โดยมากคดีข้อหานี้ หลังการต่อสู้คดี แนวโน้มศาลมักมีคำพิพากษายกฟ้องเป็นหลักอีกด้วย

.

.

เดือนที่ผ่านมา มีคำพิพากษาของศาลฎีกาที่น่าสนใจคดีหนึ่ง ได้แก่ คดีของสุชานันท์ หญิงข้ามเพศ ที่ถูกฟ้องข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) จากการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับกรณีว่า รอง ผบ.ตร. และเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบฯ อาจอยู่เบื้องหลังการทำร้ายนักกิจกรรมเมื่อช่วงปี 2562  

คดีนี้เดิมทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่างเห็นว่าจำเลยมีความผิด และลงโทษจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา แต่ศาลฎีกาได้กลับคำพิพากษา โดยให้ยกฟ้องจำเลย โดยวินิจฉัยถึงองค์ประกอบ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) ว่านอกจากเรื่องเจตนาการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จแล้ว ยังต้องส่งผลกับความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน โดยดูจากความคิดของประชาชนเป็นสำคัญ 

แต่ในคดีนี้ ไม่ปรากฎว่าประชาชนตื่นตระหนกตกใจ เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง พยานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าการนำเข้าข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลยทำให้เกิดความวุ่นวาย ทำให้เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชนตามฟ้องแต่อย่างใด จึงยังไม่ถึงขนาดเป็นความผิดในข้อหานี้ แนวคำวินิจฉัยเช่นนี้ น่าจะส่งผลต่อการใช้และตีความ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ใน มาตรา 14 (2) ให้ชัดเจนขึ้นต่อไป

.

X