ศาลฎีกายกฟ้องคดี พ.ร.บ.คอมฯ “สุชานันท์” เหตุโพสต์รองผบ.ตร.เอี่ยวทำร้ายนักกิจกรรม ชี้ฟังไม่ได้ว่าการกระทำส่งผลต่อความมั่นคงประเทศหรือทำให้ประชาชนตื่นตระหนก

19 เม.ย. 2566 เวลา 9.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีของ “สุชานันท์” (สงวนนามสกุล) ประชาชนหญิงข้ามเพศ วัย 40 ปี ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) เหตุจากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า รอง ผบ.ตร. และเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบฯ อยู่เบื้องหลังการทำร้ายนักกิจกรรม จ่านิว ฟอร์ด และเอกชัย เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2562 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2563 ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ได้มีคำพิพากษาสั่งลงโทษจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ทนายความจึงได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา และในวันที่ 26 ส.ค. 2564 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

ต่อมาทางทนายความได้ยื่นฎีกาคำพิพากษาในวันที่ 4 ก.พ. 2565 โดยฎีกาใน 2 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรก พยานโจทก์ปาก พล.ต.ต.สุรินทร์ ทับพันบุบผา ผู้กล่าวหา และพ.ต.ต.อิสรพงศ์ ทิพย์อาภากุล เป็นเพียงพยานหลักฐานที่พิสูจน์ข้อเท็จจริงในประเด็นว่า จำเลยได้มีการนำเข้าข้อมูลตามที่ปรากฏในเอกสารจริงหรือไม่เพียงเท่านั้น ไม่สามารถพิสูจน์จนสิ้นข้อสงสัยได้ว่าจำเลยมีเจตนานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ

ประเด็นที่สอง โพสต์ของจำเลยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการใส่ความต่อ พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย ให้ได้รับความเสียหายและเสื่อมเสียชื่อเสียงในทางส่วนตัวเท่านั้น โดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานโจทก์ใดๆ ที่ระบุว่าเมื่อโพสต์ดังกล่าวได้แพร่หลายออกไป ส่งผลให้ประชาชนที่ไม่พอใจหรือมีความเกลียดชังต่อ พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ นำไปสู่การออกไปทำลายหรือทำความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน ของเจ้าพนักงานตำรวจหรือของรัฐอันก่อให้เกิดความไม่สงบสุขกับเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชนอันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชนแต่อย่างใด

วันนี้ (19 เม.ย. 2566) ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 710 สุชานันท์เดินทางมาศาลอาญาพร้อมครอบครัว เธอเปิดเผยว่าตนเองไม่กลัวและเตรียมตัวเตรียมใจมาเข้าเรือนจำแล้ว แต่ก็มีความกังวลเรื่องเพศสภาวะของตนเองที่เป็นหญิงข้ามเพศ ซึ่งมีความเสี่ยงในการถูกคุกคามและถูกละเมิดสิทธิหากต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำชาย เธอจึงหวังว่าตนเองจะได้รอลงอาญาไว้ก่อน

เวลา 9.20 น. ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดี และอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง สามารถสรุปได้ดังนี้

ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ว่าจำเลยใช้บัญชีเฟซบุ๊กทำให้ปรากฏข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ ลงภาพ พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย รองผู้บังคับบัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น พร้อมข้อความว่า “รองช้าง หรือ พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย หัวหน้าแก๊งค์สีกากี ตามกระทืบนักกิจกรรมเอกชัย,ฟอร์ด,จ่านิว” กับโพสต์รูป พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ และ พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช ผู้บังคับการกองปราบ พร้อมข้อความว่า “เรื่องใหญ่ที่ท่านผู้การกองปราบ พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช ต้องแก้ปัญหา.. ที่มีตำรวจชั้นประทวนในสังกัด “กองปฏิบัติการพิเศษกองปราบ 4 คน ไปช่วยพล.ต.อ.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย รอง ผบ.ตร.เคยคุมกองปราบมาก่อน เลี้ยงตำรวจโจรในกองปราบไว้ใช้ ได้ก่อเหตุไปดักตีหัว “จ่านิว” และ “ฟอร์ด” กลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการ พล.ต.อ.ชัยวัฒน์เป็นลูกน้องแขนซ้ายของ พล.ต.อ.ประวิตร นั่นเอง”

พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ ให้ พล.ต.ต.สุรินทร์ ทับพันบุบผา ไปแจ้งความดำเนินคดีกับจำเลย ฐานนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

ชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

โจทก์มี พ.ต.ต.สุรินทร์ เบิกความว่า โพสต์ดังกล่าวมีเนื้อหาที่ประชาชนทั่วไปอ่านแล้วฟังได้ว่า พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ มีพฤติการณ์ทำผิดกฎหมาย ทำร้ายผู้เห็นต่างทางการเมือง ทำให้ประชาชนเชื่อว่ามีการกระทำเช่นนั้นจริง ส่งผลให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นในหน่วยงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เกิดความกลัวไม่สามารถดำรงชีวิตได้ปกติสุข ไม่กล้าออกจากบ้าน

เห็นว่าการกระทำที่จะเข้าองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) นั้น นอกจากจำเลยเจตนานำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จแล้ว ยังต้องส่งผลกับความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน โดยดูจากความคิดของประชาชนเป็นสำคัญ

พยานปาก พล.ต.ต.สุรินทร์ เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาและได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ ให้ดำเนินคดีกับจำเลย จึงไม่อยู่ในฐานะพยานคนกลาง ไม่ใช่ประชาชนหรือวิญญูชนทั่วไป พยานมีน้ำหนักน้อย

ในทางตรงข้ามพยานโจทก์อื่น ได้แก่ นายสรวิชย์ แก้วอ่วม, นายกิตติพงศ์ ช่วยบุญชู และ ผศ.ดร.เจนพล ทองยืน ตอบทนายความถามค้านว่า เห็นว่าจำเลยเพียงทำให้ พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ เสียหายเท่านั้น ไม่ได้เกิดความรู้สึกหวาดกลัวใดๆ สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และยังคงเชื่อมั่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พยานเป็นประชาชนทั่วไปสามารถรับฟังได้

จากข้อเท็จจริงไม่ปรากฎว่าประชาชนตื่นตระหนกตกใจ เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง พยานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าการนำเข้าข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลยทำให้เกิดความวุ่นวาย ทำให้เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชนตามฟ้อง

ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น พิพากษายกฟ้อง

หลังจากที่ศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น สุชานันท์ร้องไห้ออกมาด้วยความดีใจ เนื่องจากคำพิพากษาในวันนี้เหนือกว่าความคาดหวังของเธอไปอย่างมาก เมื่อออกจากห้องพิจารณา เธอกล่าวว่าคำพิพากษาในวันนี้ทำให้เธอรู้สึกว่าความยุติธรรมยังมีอยู่จริง และหลังจากวันนี้ เธอก็จะได้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติเสียทีหลังจากต่อสู้คดีมากว่า 4 ปี 

.

ย้อนอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นและบันทึกสืบพยาน >>> จำคุก 6 เดือน คดีโพสต์รองผบ.ตร.เอี่ยวทำร้ายนักกิจกรรม ศาลชี้ข้อความทำให้ปชช.ไม่เชื่อมั่น ตร.

ย้อนอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์>>> ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา คดี “สุชานันท์” พ.ร.บ.คอมฯ ม.14 (2) เหตุแชร์โพสต์ อดีตรอง ผบ. ตร. มีเอี่ยวทำร้ายนักกิจกรรม ก่อนได้ประกัน เตรียมสู้ต่อฎีกา

.

X