ในวันที่ 29 ม.ค. 2568 เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีของประชาชน 3 คน ที่ถูกฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) จากการแชร์โพสต์ข้อความจากเพจเฟซบุ๊ก “KonthaiUk” (คนไทยยูเค) มีเนื้อหาเกี่ยวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในช่วงเป็นรองนายกรัฐมนตรีขณะที่ คสช. ยังอยู่ในอำนาจ เมื่อปี 2561 ก่อนหน้านี้ในศาลชั้นต้น ทั้งสามถูกศาลพิพากษาจำคุก 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา
.
ศาลชั้นต้นยกฟ้องจำเลย 8 ราย แต่เห็นว่าอีก 3 รายมีความผิด เพราะเชื่อว่าข้อมูลเป็นเท็จ ส่งผลต่อเศรษฐกิจ-ความมั่นคง
คดีนี้สืบเนื่องมาจากช่วงเดือนมิถุนายน 2561 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ซึ่งขณะนั้นเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว เป็นผู้นำกำลังเข้าจับกุมประชาชนจากหลายจังหวัดไม่น้อยกว่า 31 คน นำตัวมาดำเนินคดีที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) โดยทั้งหมดเป็นประชาชนที่แชร์ข้อความจากเพจ KonthaiUK ดังกล่าว หลายคนไม่ได้เขียนข้อความใด ๆ ประกอบ และต่อมาพบว่ามี พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ (ยศในขณะนั้น) นายทหารฝ่ายกฎหมายของ คสช. เป็นผู้รับมอบอำนาจมากล่าวหาดำเนินคดี
ต่อมาคดีมีการดำเนินการแยกเป็น 3 คดี ได้แก่ 1. ส่วนคดีที่จำเลยต่อสู้และศาลอาญาพิพากษายกฟ้องรวม 10 ราย กรณีแชร์ข้อความ พล.อ.ประยุทธ์ ลี้ภัยเพราะเป็นกบฏ
2. คดีของประชาชน 10 ราย ที่ให้การรับสารภาพ กรณีแชร์โพสต์วิจารณ์การทุจริตดาวเทียม ซึ่งศาลอาญาพิพากษาจำคุกคนละ 1 ปี ปรับ 20,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้
3. ประชาชนอีก 11 ราย ที่ยืนยันต่อสู้คดี ถูกอัยการฟ้องจากเหตุแชร์ข้อความต่างกันไป รวมจำนวน 3 โพสต์ด้วยกัน โดยหลังการต่อสู้คดี เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2565 ศาลอาญาได้มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลย 8 ราย ซึ่งแชร์สองข้อความเกี่ยวกับ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล คสช. เห็นว่าเป็นการกระทบกระเทียบเปรียบเปรยรัฐบาลเท่านั้น ไม่ได้สร้างความเสียหายแก่ความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกของประชาชน
แต่มีคำพิพากษาเห็นว่าจำเลย 3 ราย ที่แชร์ภาพ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประกอบกับข้อความว่า “เรือเหาะ…ก็ซื้อมาซ่อม ยังจะซื้อดาวเทียม 91200 มาแดกอีก… จะยอมมันอีกไหม” ว่ามีความผิดตามฟ้อง โดยเห็นว่าข้อมูลที่จำเลยแชร์เป็นเท็จ แม้จำเลยจะอ้างว่าแชร์เพราะต้องการตรวจสอบในฐานะประชาชนก็ดี หรือแชร์เพราะต้องการให้ประชาชนทั่วไปถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ดี แต่จะต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง
ศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด และเกิดความกลัวได้ว่าจะถูกสอดส่องหรือติดตามการดำเนินชีวิต นอกจากนี้ยังส่งผลให้ต่างประเทศเกิดความหวาดระแวงและไม่เชื่อมั่นที่จะมาลงทุน ทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ และสร้างความเข้าใจผิดว่ารัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่น อันทำให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศและเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง
พิพากษาลงโทษจำคุก 1 ปี แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสามให้การเป็นประโยชน์ จึงลดโทษเหลือ 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ต่อมาทั้งสามรายได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ โดยใช้หลักทรัพย์ประกันคนละ 50,000 บาท ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ และทั้งสามคนได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อมา
.
เรื่องราวบางส่วนของจำเลยผู้ถูกดำเนินคดี
สำหรับจำเลยทั้งสามรายที่ยังต้องต่อสู้คดีต่อนี้ เป็นประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้มีบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมือง รายหนึ่งประกอบอาชีพทำการเกษตรในจังหวัดเชียงราย, รายที่สองเป็นข้าราชการบำนาญจากประจวบคีรีขันธ์ และรายที่สาม เป็นคนขับรถบรรทุกจากจังหวัดร้อยเอ็ด
สุทัศน์ ประตัง ปัจจุบันอายุ 42 ปี (ขณะเกิดเหตุอายุ 36 ปี) เป็นจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ ครอบครัวเขาประกอบอาชีพทำนาในอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย เขาเคยให้ข้อมูลว่าเริ่มติดตามสถานการณ์ทางการเมืองตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2557 แต่ไม่ได้เคยออกไปชุมนุม เพียงแต่ติดตาม และกดแชร์เนื้อหาทางการเมืองบ้างเท่านั้น
ต้นเดือนมิถุนายน 2561 สุทัศน์ใช้เฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อสกุลจริงของตัวเอง แชร์ภาพและข้อความจากแฟนเพจคนไทยยูเค ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการคอรัปชั่นในกระบวนการซื้อเรือเหาะและดาวเทียมของรัฐบาลในช่วงนั้น โดยมีภาพพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ทางเพจทำประกอบด้วย แต่ตัวเขาไม่ได้เขียนข้อความใด เพิ่มจากภาพที่แชร์มาเลย
เช้าวันที่ 12 มิ.ย. 2561 สุทัศน์ถูกตำรวจ สภ.เทิง เดินทางมาพบที่บ้าน และแจ้งให้ไปที่สถานีตำรวจด้วยกัน เพราะเขาถูกติดตามตัวเกี่ยวกับเรื่องคอมพิวเตอร์ แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเรื่องอะไร โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีหมายจับ ต่อมาตำรวจในพื้นที่พาเขาขึ้นรถไปพบตำรวจท่องเที่ยวผู้รออยู่ที่สนามบินในตัวเมืองเชียงราย ก่อนตำรวจท่องเที่ยว 1 นาย จะพาเขาขึ้นเครื่องบินไปกรุงเทพฯ โดยซื้อตั๋วเดินทางให้ทั้งหมด
วันนั้น สุทัศน์ถูกพาไปที่ บก.ปอท. โดยมีคนอื่น ๆ อีกประมาณ 10 คน ซึ่งเขาไม่รู้จักใครมาก่อน ถูกพาตัวมาที่นั่นด้วย ตัวเขาถูกแจ้งข้อกล่าวหาจากการแชร์โพสต์ 1 ข้อความจากเพจคนไทยยูเค โดยไม่มีทนายความหรือญาติอยู่ด้วย และตอนนั้นเขาไม่ทราบว่านั่นคือการแจ้งข้อกล่าวหาด้วยซ้ำ
สุทัศน์ยอมรับกับตำรวจว่าเป็นเจ้าของเฟซบุ๊ก และได้แชร์โพสต์จากเพจคนไทยยูเคจริง ทำให้เจ้าหน้าที่บันทึกว่าเขายอมรับสารภาพ ทั้งที่เขาไม่ได้ยอมรับว่าข้อความที่แชร์นั้นเป็นความผิดแต่อย่างใด
เจ้าหน้าที่ยังขอให้สุทัศน์ไปร่วมนั่งอยู่ด้วยในการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนร่วมกับผู้ต้องหารวม 12 คน โดยแจ้งว่าไม่มีอะไร เดี๋ยวก็ปล่อยตัวกลับแล้ว โดยมีพล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล ซึ่งขณะนั้นเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยวเป็นผู้แถลงข่าวการจับกุม ก่อนที่ค่ำนั้น ตำรวจท่องเที่ยวคนเดิมจะพาตัวเขาไปที่สนามบิน และซื้อตั๋วให้ขึ้นเครื่องบินกลับเชียงรายไปพร้อมกัน
หลังจากนั้น สุทัศน์ต้องเดินทางจากบ้านอำเภอเทิง ลงไปต่อสู้คดีในกรุงเทพฯ หลายครั้ง ต้องใช้ค่าจ่ายในการเดินทางไปกลับต่อสู้คดี บางเที่ยวเขาต้องหยิบยืมเงินเพื่อนเพื่อเป็นค่ารถสำหรับเดินทาง ในช่วงโควิด-19 ระบาด การสืบพยานในคดียังต้องเลื่อนออกไป ทำให้คดีใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน แต่สุทัศน์ยังยืนยันจะต่อสู้คดีต่อไป เนื่องจากคิดว่าตนเองไม่ได้กระทำความผิด
.
ขณะที่จำเลยในส่วนที่ศาลยกฟ้องคดีไปแล้ว พบว่าเป็นประชาชนทั่วไปที่ถูกตำรวจไปจับกุมมาจากจังหวัดต่าง ๆ ทุกภูมิภาค บ้างเป็นพ่อค้าแม่ค้า บ้างเป็นชาวสวน บ้างเป็นลูกจ้างรายวัน เกือบทั้งหมดต้องเดินทางจากต่างจังหวัด เพื่อสู้คดีถึงศาลในกรุงเทพฯ ทำให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการเดินทาง
พวกเขาบางส่วนต้องใช้วิธีช่วยกันหารค่าห้องพักบนถนนรัชดา ซึ่งอยู่ใกล้ศาลด้วยกัน หนึ่งห้องบ้างนอนด้วยกันสามคน บ้างสองคนบ้าง เพื่อประหยัดค่าที่พักและค่ารถโดยสาร จนเกิดบทสนทนาล้อเล่นกัน เช่นว่า “นอนแย่งผ้าห่มกัน เพราะที่พักมีผ้าห่มให้ผืนเดียว” หลังจากศาลยกฟ้อง ภาครัฐก็ไม่ได้มีมาตรฐานชดเชยเยียวยาใด
ทั้งนี้กรณีนี้ ทราบว่ามีการดำเนินคดีกับผู้จัดทำเพจ KonthaiUK เช่นกัน แต่เนื่องจากอาศัยอยู่ในต่างประเทศ จึงไม่ได้มีการนำตัวมาดำเนินการ
.
ย้อนอ่านเรื่องของสุทัศน์เพิ่มเติม ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ไม่ได้ค่าเยียวยา 5 พัน: ชีวิตเกษตรกร-แรงงาน ผู้ต้องคดีคนไทยยูเค
อ่านเรื่องราวของจำเลยกลุ่มที่ยกฟ้องคดี “เราก็เหมือนปลา ที่เขาเหวี่ยงแหโดน” เสียงจากสิบจำเลย คดีแชร์โพสต์ประยุทธ์ลี้ภัยจากเพจ KonthaiUk
.