“ตอนแรกคิดว่าเป็นข่าวก็เลยแชร์ ผมเพิ่งหัดเล่นเฟซบุ๊กใหม่ๆ อะไรที่มันออกมาในเฟซบุ๊กเราก็คิดว่าเป็นข่าว เราก็อยากรู้ว่ามันเป็นข่าวจริงหรือข่าวปลอม ผมก็เลยแชร์ให้เค้าคอมเมนต์ ว่าอันนี้มันจริงหรือมันเท็จ”
เสียงจากธงชัย เหล่าแสง อายุ 51 ปี ผู้ตกจำเลยคนที่ 2 ในคดีแชร์ข้อความจากเพจ KonthaiUk เขาเป็นคนสุราษฎร์ธานี ผิวคล้ำแดด และเสียงพูดที่บอกสำเนียงใต้ชัดเจน เจ้าตัวเพิ่งเริ่มเล่นเฟซบุ๊ก และในวันที่เขากดแชร์ข้อความที่เป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดีนั้น เขากำลังนั่งรอคิวเรือไปเกาะสมุย นั่งดู นั่งเปิดเฟซบุ๊กเพลินๆ ก่อนจะกดแชร์ข้อความนั้น ด้วยเข้าใจว่า
“เป็นถึงระดับนายกฯ แล้ว ระดับนี้ก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพราะเราเข้าใจว่านายกฯ คนก่อน เรายังด่าได้เลย”
กลุ่มประชาชนคนธรรมดาๆ ที่กลายมาเป็นจำเลยในคดีนี้ บ้างเป็นพ่อค้าแม่ค้า บ้างเป็นชาวสวน บ้างเป็นลูกจ้างรายวัน และเกือบทั้งหมดเดินทางมาจากต่างจังหวัด เพื่อสู้คดีถึงศาลในกรุงเทพ พวกเขาและเธอไม่เข้าใจเอาเสียเลยว่าเหตุใดเรื่องนี้ จึงกลายเป็นคดีซึ่งถูกกล่าวหาว่าส่งผลต่อ “ความมั่นคงของประเทศ” ไปเสียได้
ทั้งหมดเพียงแค่กดแชร์ภาพและข้อความในเฟซบุ๊ก จากเพจใหญ่เพจหนึ่ง ชื่อเพจ “KonthaiUk” ที่ปัจจุบันมีคนติดตามกว่า 9 แสนคน ข้อความดังกล่าวมีคนกดไลค์นับพัน
เป็นภาพพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมกับข้อความบรรยายประกอบภาพว่า
“กูจะพาคนไม่กราบขอโทษมึงถึงที่ อย่าหลบแล้วกัน 10 Downing ST. Westminster, London.
“20 มิ.ย. ลุงตู่ไปอังกฤษพกเมียและลูกหลบภัย”
“22 มิ.ย. ศาลฎีการับฟ้องว่าลุงตูบเป็นกบฏ”
และยังมีรูปภาพพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กับข้อความว่า
“กราบ กราบ กราบ ขออภัยท่านพี่ทั้งสองแระกัน เห็นข่าวบอกท่านพี่ บิ๊กตู่,ป้อม จะซื้อดาวเทียม 91,200 ล้าน มาเก็บไว้ซ่อม แดกส่วนต่างไม่ซื้อแล้ว ก็ไม่ว่าอะไร แค่นี้ต้องออกหมายจับด้วยหรอ ถ้าไม่จริงจะร้อนตัวทำไม หรือรับไม่ได้กับเรื่องจริง”
ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 10 คน ได้แก่ ทิพย์วารี (สงวนนามสกุล), ธงชัย เหล่าแสง, นลินธรณ์ วิชัยฤทธิพัฒน์, วีรพงศ์ ดีวงษ์มาศ, อภิรักษ์ เรือนแก้ว, ธนวัต ภักดี, สรพงษ์ ปันวิชัย, ศักดา ฟ้าอุทัย, ธนกฤต ทับเงิน และเจษฎา พวงงาม ถูกฟ้องต่อศาลอาญา ในความผิดฐานเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2), (5) อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“คนในตลาดเขาไม่เชื่อนะ เขาว่าโห มันขนาดนี้เลยหรอ คนตามตลาดเขายังหัวเราะเลย ตอนที่บอกว่าใช้เงินแสนหนึ่งมาประกันตัว เขายังไม่เชื่อนะ” เสียงภาษากลางปะแล๊ดเหนือ จากหนึ่งในจำเลยผู้ซึ่งเดินทางมาสู้คดีจากย่านแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ เล่าให้เราฟัง
คนทั่วไปฟังก็อาจจะยังไม่ค่อยอยากจะเชื่อ จำเลยก็เช่นเดียวกัน แต่พวกเขาและเธอต้องอยู่กับข้อกล่าวหา คำครหา และสายตาที่มองมาเช่นนี้ มากว่าสองปีแล้ว
“เหนือ ใต้ ออก ตก กลาง สุ่มไง คนจากทุกภูมิภาคเลย เรารู้แล้วว่าเขาเหวี่ยงแหแบบนี้ เจตนาเขาเป็นแบบนี้ กดพวกเรา”
ย้อนกลับไปราว 2 ปีก่อน ช่วงกลางปี 2561 มีข่าวการแถลงข่าวจับกุม “ผู้แชร์เฟกนิวส์” แชร์ข้อความจากเพจเฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล คสช. โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจของ ปอท. คนทั่วไปอย่างเราอาจเห็นข่าวแล้วก็เลื่อนผ่านไป แต่ชีวิตของชาวบ้านประชาชนที่ถูกดำเนินคดี ไม่ได้จบแค่นั้น
เรื่องราวการถูกละเมิดของพวกเขาและเธอ เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงวันที่ 19 มิถุนายน 2561 วันที่ตำรวจทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบหลายนายไปหาที่บ้าน โดยส่วนมากยังเป็นตำรวจท่องเที่ยว ก่อนพาตัวขึ้นเครื่องบินจากจังหวัดทั้งทางภาคใต้และภาคเหนือ ตรงดิ่งมากรุงเทพฯ ในวันเดียวกันนั้น เพื่อมาแถลงข่าวการจับกุม และการออกหมาย “จับเจ้าของเฟซบุ๊กเพจ KonthaiUk” โดยที่พวกเขายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าถูกแจ้งข้อหาอะไร
ตั้งแต่ต้องเดินทางมาจากต่างจังหวัด เข้ามาในกรุงเทพ พื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย ไม่รู้ว่าตัวเองทำผิดอะไรตรงไหน แล้วไหนจะเสียงานเสียการ ลางานมาเพื่อมาตามนัดศาล มีค่ารถค่าที่พักในการเดินทางมาแต่ละครั้งก็นับพันบาท เงินที่ไม่ใช่ว่าจะหาง่ายๆ ยิ่งเวลาผ่านไป ถูกดำเนินคดีตั้งแต่ปี 2561 จนถึงตอนนี้ ปี 2563 สำหรับจำเลยบางคน รายได้ที่แต่เดิมก็ไม่ได้มากมายอะไรนัก ก็น้อยลงเรื่อยๆ อีก
“เมื่อก่อนปี 61 ตอนแชร์ ช่วงนั้นก็พอขายของได้นะ ขายผลไม้อะไรไป มาถามอีกทีตอนนี้ (ก.พ. 63) ขายไม่ได้แล้ว ต้องออกมารับจ้าง” เสียงจากหนึ่งในจำเลยสะท้อน
ยิ่งไปกว่านั้น ขั้นตอนการเรียกตัวมาแถลงข่าว ก็ไม่ได้เป็นกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย พวกเขาถูกตำรวจไปตามตัวที่บ้าน ทั้งยังไม่มีหมายใดๆ กรณีต่างจังหวัดก็เชิญตัวมากรุงเทพโดยด่วน บอกว่าออกค่าเครื่องบินให้ มีทั้งบินมาจากสุราษฎร์, เชียงใหม่ และนั่ง “รถหรู ฮอนด้าเครื่อง 1,800” จากพิษณุโลก เพื่อที่จะไปให้ทันงานแถลงข่าว และทันใจ “นาย”
ไหนจะต้องเผชิญกับการตัดสินใจแบบฉับพลัน ไม่มีทนายความ ไม่มีคนที่ไว้ใจได้ หลายคนรับสารภาพ เพราะเจ้าหน้าที่บอกว่าจะจบ แต่กลับโดนเรียกมาสั่งฟ้องคดีต่อภายหลัง
ทั้งหมดนี้เป็นไปในลักษณะที่สำหรับจำเลย โดยเฉพาะคนที่อยู่ต่างจังหวัด เรียกว่า “เอิกเกริก” กล่าวคือตำรวจนับสิบรายบุกไปถึงบ้าน ทำให้จำเลยบางรายถูกเพื่อนบ้านหรือคนในหมู่บ้านมองไม่ดี ถูกเหมารวมว่าโดนคดีร้ายแรง ราวกับเป็นอาชญากร โดยเฉพาะคนที่ค้าขาย ก็ขายของได้ลำบากขึ้น
เมื่อถูกฟ้องร้องถึงชั้นศาล พวกเขาและเธอตัดสินใจต่อสู้คดี เนื่องจากมองว่าการกระทำของตนไม่เป็นความผิด พวกเขาทั้ง 10 คน ไม่ได้มีใครรู้จักกันมาก่อน เพิ่งมารู้จักกันตอนถูกดำเนินคดี มาจากภาคเหนือ 3 คน (เชียงใหม่, ลำปาง, พิษณุโลก) ภาคใต้ 2 คน (สุราษฎร์ธานี) ภาคตะวันออก 1 คน (ชลบุรี) ภาคอีสาน 1 คน (นครราชสีมา) และภาคกลาง 3 คน (กรุงเทพฯ)
อาศัยมาว่าจากต่างจังหวัดด้วยกัน ไม่ได้มีใครมีบ้านอยู่กรุงเทพ เมื่อถึงวันนัดหมายศาล พวกเขาบางส่วนจึงใช้วิธีช่วยกันหารค่าห้องพักบนถนนรัชดา ซึ่งอยู่ใกล้ศาลด้วยกัน หนึ่งห้องบ้างนอนด้วยกันสามคน บ้างสองคนบ้าง เพื่อประหยัดค่าที่พักและค่ารถโดยสาร จนเกิดบทสนทนาล้อเล่นกัน เช่นว่า “นอนแย่งผ้าห่มกัน เพราะที่พักมีผ้าห่มให้ผืนเดียว”
จากคนที่ไม่รู้จัก เผชิญความเครียดความกดดันจากที่ถูกดำเนินคดีร่วมกัน ก็กลายสนิทกันได้ไม่ยาก
ท้ายที่สุด หลังจากขึ้นศาลหลายต่อหลายครั้ง และการดำเนินคดีอันยาวนานกว่า 2 ปี วันที่ 15 มิถุนายน 2563 ศาลพิพากษายกฟ้อง พวกเขาทั้งหมดโล่งใจ แต่ยังต้องติดตามว่าฝ่ายโจทก์จะอุทธรณ์คดีอีกหรือไม่ ก่อนแยกย้ายกันกลับ จึงไม่วายทิ้งท้าย “เจอกันครั้งหน้า ไม่เจอกันที่ศาลที่แล้วนะ”
แต่ยังไม่มีคำตอบว่าภาระต้นทุน ทั้งค่าใช้จ่าย ค่าเสียเวลา หน้าที่การงานที่ของพวกเขาและเธอต้องเสียไปหรือได้รับผลกระทบในระหว่างการต่อสู้คดี ใครเล่าจะชดใช้ชดเชยให้ได้…
อ่าน ประมวลการสืบพยานในคดีนี้ ได้ที่ > ปากคำพยานก่อนพิพากษาคดี KonthaiUk: แชร์โพสต์ประยุทธ์ลี้ภัยข้อหากบฏ มีผลต่อความมั่นคง?
อ่าน ข่าวคำพิพากษาคดี ได้ที่ > ยกฟ้อง 10 จำเลย คดี KonthaiUk: แชร์โพสต์ประยุทธ์ลี้ภัยข้อหากบฏ ศาลชี้วิพากษ์วิจารณ์ได้ ไม่เป็นความผิด