“ในแง่กฎเกณฑ์ ระบอบเผด็จการรับประกันความสงบปลอดภัยบนท้องถนน … (ของประชาชน) ในระบอบประชาธิปไตย ถนนอาจจะไม่ปลอดภัยตอนมืดค่ำ แต่ค่อนข้างมั่นใจได้ว่าคนที่จะมาเคาะประตูบ้านคุณตอนเช้าคือคนส่งนม (ไม่ใช่ตำรวจลับ)”
อดัมส์ มิกนิค (Adam Michnik), นักเขียนชื่อดังชาวโปแลนด์ (ที่มา: บทความ “ประชาธิปไตยของฉัน ของท่าน และของเธอ” โดยประจักษ์ ก้องกีรติ ตีพิมพ์ใน October เล่ม 9 ฉบับประชาธิปไตย)
ประโยคคลาสสิกนี้สะท้อนภาพความมั่นคงของชีวิตประชาชนภายใต้ระบอบเผด็จการโดยเปรียบเทียบกับระบอบประชาธิปไตยได้เป็นอย่างดี เพราะในปัจจุบันแม้ว่าประเทศไทยจะอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบคสช. มากกว่า 4 ปี แล้ว แต่สถานการณ์ความมั่นคงในชีวิตประชาชนยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม (โปรดดูรายงาน 100 วันหลังการรัฐประหารคสช. โดยศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน) โดยที่ไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนสิ่งเหล่านี้จะยุติลงสักที
ตั้งข้อหาคนแชร์ข่าวและพาตัวไปรับทราบข้อกล่าวหา
เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่ผ่านมา กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ได้แถลงข่าวออกหมายจับเจ้าของเพจ KonthaiUK ซึ่งเป็นเพจที่ได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนจำนวนหนึ่ง ในฐานความผิดบิดเบือนข่าวกระทบความมั่นคงตามมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการนำเสนอ “เรือเหาะก็ซื้อมาซ่อม ยังจะซื้อดาวเทียม 91,200 ล้านมาแดกอีก.. จะยอมมันอีกมั้ย!” พร้อมกันนั้นตำรวจยังจับคนทั่วไปที่แชร์ข่าวนี้อีก 7 คนด้วย จะออกหมายจับเพิ่มอีก 20 คน
เว็บไซต์มติชนออนไลน์ รายงานว่า พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบช.ทท. เปิดเผยว่า ศาลได้อนุมัติหมายจับ นางวัฒนา เอ็บเบจช์ อายุ 56 ปี มีถิ่นพักอาศัยอยู่เมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ แล้ว ในความผิดฐาน “นำสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” ตาม มาตรา 14 (2) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยจะมีการเชิญตัวมาแจ้งข้อหา
นอกจากนี้ยังได้มีการดำเนินคดีกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมเผยแพร่หรือส่งต่อข้อความข่าวสารอันเป็นเท็จในเฟซบุ๊ก อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติ จำนวนทั้งสิ้น 7 ราย และอยู่ระหว่างออกหมายเรียกกว่า 20 ราย โดยมีความผิดฐาน “เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ที่น่าจะเกิดความเสียหาย ต่อการรักษาความมั่งคงปลอดภัยของประเทศหรือความมั่งคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” ตามมาตรา 14(5) โทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากมีบุคคลนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยได้มีการโพสต์บทความบิดเบือนให้ร้ายรัฐบาลในเพจเฟซบุ๊ก“KonthaiUk” พาดหัวข่าวว่า “เรือเหาะก็ซื้อมาซ่อม ยังจะซื้อดาวเทียม 91,200 ล้านมาแดกอีก.. จะยอมมันอีกมั้ย!” พร้อมการนำภาพเรือเหาะ ดาวเทียม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มาตัดต่อรวมกัน นอกจากนี้ยังมีการตัดต่อภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อนำมาเป็นสื่อกระจายแก่บุคคลต่าง ๆ ซึ่งการดัดแปลงดังกล่าว อาจส่งผลทำให้ประชาชนที่ได้รับสื่อเกิดความตื่นตระหนก และหลงเชื่อได้ว่าข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลจริง จากการสืบสวนทราบว่าเพจเฟซบุ๊ค “KonthaiUk” ได้ลงทะเบียนใช้ในชื่อบัญชี “Watana Ebbage” จากการสืบสวนทราบว่าคือ นางวัฒนา เอ็บเบจช์ อายุ 56 ปี มีถิ่นพักอาศัยอยู่เมืองลอนดอน
ผลจากกฎหมายที่ตราขึ้นใหม่หลังรัฐประหาร
หลังการรัฐประหาร 2557 หนึ่งในกฎหมายที่ถูกตราขึ้นจาก สนช. ที่มาจากการแต่งตั้งของคสช. กว่า 300 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นฉบับที่ 2 ของ พ.ร.บ. นี้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคม ในเวลานั้นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมระบุเจตนารมณ์ของการแก้ไขส่วนหนึ่งว่า เดิม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยเฉพาะมาตรา 14 (1) มักถูกพ่วงไปฟ้องกับการกระทำผิดใด ๆ ทางอินเตอร์เน็ต ทั้งที่มาตรานี้กำหนดให้ใช้กับการกระทำผิดในเรื่องฉ้อโกง หรือหลอกลวงกันทางออนไลน์
เพราะเดิมกฎหมายฉบับนี้ถูกนำมาใช้ตั้งข้อหากับคนที่โพสต์ด่าทอกันทางออนไลน์ รวมถึงดำเนินคดีต่อผู้แสดงความเห็นทางการเมือง เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน องค์กรภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน ในลักษณะที่เรียกว่า ‘ฟ้องปิดปาก’
ภาพผัง: ประชาชนที่ถูกตั้งข้อหาจากการแชร์ข่าวเพจ KonthaiUK (ที่มา: มติชนออนไลน์)
กรณีการคุมตัวประชาชนไปแจ้งข้อกล่าวหา
จากข้อมูลที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนติดตามได้ จากกรณีจับกุมคนที่แชร์ภาพจากเพจ KonthaiUK พบว่าในหลายกรณีเป็นการติดตามไปถึงบ้านเพื่อแสดงหมายจับและพาตัวไปสอบคำให้การในทันที ที่ ปอท. บางกรณีเล่าว่าเขาไม่ใช่ผู้โพสต์ข้อความบางกรณียืนยันว่าเป็นการแสดงความเห็นต่างโดยสุจริต ทั้งนี้จากการติดตามสัมภาษณ์พบว่าพวกเขาถูกตั้งข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับแก้ไข 2560 มาตรา 14 (2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิด ความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคง ในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิด ความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
กรณีนายสมบัติ (ไม่เปิดเผยนามสกุล) หนึ่งในผู้ที่ถูกควบคุมตัวไปแถลงข่าวที่ ปอท. เล่าว่า วันที่ 12 มิ.ย. เวลาประมาณ 14.00 น. ตำรวจท่องเที่ยวจากหัวหินไปที่ทำงานของเขา ตำรวจได้แสดงหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหาจากกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เรียกให้สมบัติไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ บก.ปอท. ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ในหมายระบุว่าพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดี จากการแชร์ข้อความอันเป็นเท็จที่กระทบความมั่นคงภายใน และทำให้ตื่นตระหนก จากนั้นก็ได้ควบคุมตัวนายสมบัติไปส่งที่ ปอท. ด้วยรถยนต์ของตำรวจ
เมื่อไปถึงได้มีการสอบคำให้การ โดยชี้แจงว่าเขาจะรับสารภาพหรือไม่ก็ได้ เขาจึงให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาไป สมบัติเล่าเพิ่มเติมอีกว่า ตำรวจปอท.ได้แสดงภาพโพสต์จากเพจ KonthaiUK มาให้เขาดู 3 ภาพ ทั้งนี้เขายังทราบจากตำรวจอีกว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพที่ทางฝ่ายทหารปริ้นท์ออกมาแจ้งความเขา
ไม่แตกต่างจากกรณีของนายสุรใจ เจือทอง อดีตพนักงานรัฐวิสาหกิจวัยเกษียณ ซึ่งถูกแจ้งความว่าได้ทำการแชร์ข้อความและข่าวจากเพจ Konthai UK และมีการแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล จนนำมาสู่การแจ้งข้อกล่าวหาความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 แก้ไข 2560 มาตรา 14 (1) (2) (3) (4)
โดยปกติเขาใช้เฟสบุ๊คส่วนตัวในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอยู่สม่ำเสมอ หากแต่ไม่เคยเดินทางออกไปร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐประหารหรือเคยไปชุมนุมที่ไหนแต่อย่างใด แต่เขายืนยันว่าในทัศนคติส่วนตัวแล้วเขาไม่พอใจระบอบการเมืองที่เป็นอยู่ที่เต็มไปด้วยการโกงกินและระบบบ้านเมืองทุกอย่างบิดเบี้ยว
ถึงกระนั้นการควบคุมตัวเขาก็เกิดขึ้นจนได้เมื่อเวลา 10.30 น. ในวันที่ 12 มิ.ย. ที่ผ่านมา เขาเล่าว่าได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบเดินทางมาที่บ้านพักของเขาซึ่งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกเขาจากหน้าบ้าน ก่อนที่เขาจะเดินออกมา และได้รับการแนะนำตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่มาจากองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยบอกว่าเขามีความผิดในฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จฯ และเชิญตัวเขาไปที่ ปอท. แต่เขาขอขับรถไปเอง ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ยอมให้ขับรถส่วนตัวไป โดยมีเจ้าหน้าที่นั่งไปด้วยกัน 1 นาย เมื่อไปถึงปอท. ก็ได้พบกับหัวหน้าชุดสืบสวนได้มีการสอบคำให้การตามบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา จนกระทั่งเวลา 19.00 น. จึงสอบคำให้การเสร็จและเจ้าหน้าที่ได้มีการปล่อยตัวกลับ โดยที่เขาไม่ยอมลงชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา
อุบลศักดิ์ สามารถ หนึ่งใน 7 คนที่ถูกพาตัวไปในวันที่ 12 มิ.ย. เขาเล่าว่าเคยรับราชการทหารชั้นประทวนและเคยขอไปรับราชการที่ภาคใต้จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ ได้เล่าว่า ในช่วงเช้าของวันนั้น เขากำลังทำงานบ้านอยู่หลังบ้าน เจ้าหน้าที่ได้มาที่หน้าบ้านถามถึงตัวเขากับภรรยา โดยได้ยื่นบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาว่าเขา และดำเนินคดีในฐานความผิด การแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล
สำหรับอุบลศักดิ์การแสดงความเห็นทางการเมืองเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน แต่เขาไม่เคยใช้สื่อออนไลน์ในการสื่อสารมาก่อนแต่อย่างใด เขาเพิ่งมาใช้โทรศัพท์ในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง 1 เดือน ก่อนถูกแจ้งกล่าวหาเท่านั้น พื้นที่แสดงออกทางการเมืองของเขาคือการพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน โดยแสดงออกอย่างเปิดเผยว่าชื่นชอบอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
เจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 4 นาย ได้พาตัวเขาไปที่สำนักงาน ปอท. เขาจึงได้พบกับพนักงานสอบสวน ชื่อ พ.ต.ท.กฤช เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา โดยเขายอมรับว่ากดไลด์ กดแชร์ ข่าวจากเพจ KonThaiUk จริงเพราะถูกใจที่ความเห็นเกี่ยวกับโกงกินของรัฐบาลยุคนี้ ตลอดการสอบคำให้การ เขายอมรับข้อความที่ถูกนำมาแจ้งความและลงลายมือชื่อ ในคำให้การ บันทึกประจำวัน
ผู้เห็นต่างเหล่านี้ไม่ใช่กรณีแรก
กรณีการตั้งข้อกล่าวหาต่อประชาชนผู้เห็นต่าง เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ทีผ่านมีลักษณะที่ไม่แตกต่างไปจากคดีที่เคยมีคำพิพากษาไปแล้วอย่างน้อย 2 กรณี
คดีแรกเป็นคดีนางแจ่ม (นามสมมุติ) เป็นกรณีโพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับข่าวการทุจริตคอรัปชั่นการสร้างอุทยานราชภักดิ์ฯ โดยพาดพิงถึงบุคคลในรัฐบาล อัยการศาลแขวงพระโขนงสั่งไม่ฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า ข้อความในเฟซบุ๊กของ ‘แจ่ม’ เป็นความเชื่อของผู้กล่าวหาว่าเป็นความผิดตามกฎหมายดังกล่าว แต่ไม่มีพยานยืนยันว่าข้อความนั้นเป็นเท็จหรือไม่ และขณะเกิดเหตุประชาชนทั่วไปกำลังสนใจเรื่องโครงการอุทยานราชภักดิ์
อัยการเห็นว่า การกระทำของ ‘แจ่ม’ เป็นการติชมเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ ไม่เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือโครงสร้างพื้นฐานหรือทำให้ประชาชนตื่นตระหนก แม้ว่าข้อความดังกล่าวอาจจะเป็นการใส่ความ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุววรณ และ พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร เข้าลักษณะหมิ่นประมาทก็ตาม แต่เมื่อผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์จึงไม่อาจดำเนินคดีกับผู้ต้องหาได้
จะเห็นได้ว่า ในความเห็นสั่งไม่ฟ้องของอัยการสูงสุดเขียนครอบคลุมไปถึงว่า โพสต์ของ ‘แจ่ม’ ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ มาตรา 14 (2) ด้วย
อีกคดีที่มีความสำคัญคือ กรณีของคดีรินดา (สงวนนามสกุล) เธอถูกทหารควบคุมตัวและนำมาตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 จากการโพสต์เฟซบุ๊กข่าวลือว่า พล.อ.ประยุทธ์ และภริยาโอนเงินหมื่นล้านไปประเทศสิงคโปร์
แม้ว่าเธอถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมฯ แต่เนื่องจากการกระทำของจำเลยเป็นเพียงการโพสต์เฟซบุ๊กที่มีข้อความหมิ่นประมาท พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และภรรยา ทั้งนี้ศาลทหารเห็นว่าเป็นคดีหมิ่นประมาทจึงจำหน่ายคดีออกจากศาล แต่ปอท.ทำความเห็นสั่งฟ้องถึงอัยการศาลอาญาในข้อหาเดิม จากนั้นอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องในข้อหาตาม ม.14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550 ศาลทหารกรุงเทพเห็นว่าคดีนี้ไม่ใช่ความผิดฐานยุยงปลุกปั่นจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหาร เมื่อมีการโต้แย้งเขตอำนาจศาล ศาลอาญาจึงทำความเห็นในทำนองเดียวกับศาลทหารว่าคดีนี้ไม่เป็นความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 คดีจึงถูกจำหน่ายออกจากศาลทหาร
กรณีการปิดปากประชาชนที่แสดงออกถึงความเห็นทางการเมืองอย่างสันติ ด้วยการตั้งข้อกล่าวหาดังกล่าวจึงสะท้อนให้เห็นลักษณะเฉพาะของการเมืองหลังยุค คสช. ที่เต็มไปด้วยการจำกัดการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง การเปลี่ยนประชาชนที่เพียง “เห็นต่าง” จากรัฐจึงมิควรถูกปฏิบัติในฐานะ “เป้าหมาย” ในการควบคุมจัดการแต่ประการใด หากควรจะเป็นการเปิดพื้นที่การแสดงออกที่มีหลักประกันว่าการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตสามารถทำได้ หากว่าสิ่งนั้นเป็นไปเพื่อผลประโยชน์สาธารณะ