26 สิงหาคม 2564 – วันนี้ที่ห้องพิจารณา 901 ศาลอาญา รัชดาฯ นัดอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีของ สุชานันท์ (สงวนนามสกุล) ประชาชนหญิงข้ามเพศ ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) เหตุจากการแชร์โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊คว่า รอง ผบ.ตร. และเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบฯ อยู่เบื้องหลังการทำร้ายนักกิจกรรม จ่านิว ฟอร์ด และเอกชัย เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2562 โดยก่อนหน้านี้ ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาสั่งลงโทษจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา
ในส่วนของคำพิพากษาศาลชั้นต้น ระบุอย่างย่อว่า เฟซบุ๊กที่ใช้โพสต์ข้อความเป็นเฟซบุ๊กของจำเลยจริง การโพสต์ของจำเลยเป็นการเชื่อมโยงกับรัฐบาล ทำให้เกิดการต่อต้านตำรวจซึ่งยังมีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัย ถ้าประชาชนเห็นว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติและผู้บัญชาการระดับสูงมีส่วนในการทำร้ายผู้เห็นต่าง ย่อมทำให้ผู้คนนั้นกระด่างกระเดื่อง เกิดความสั่นคลอนในบ้านเมือง การกระทำดังกล่าวจึงเป็นความผิดฐานการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกต่อประชาชน
ต่อมาทางทนายความได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา จนกระทั่งศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายืนในวันนี้ อย่างไรก็ตาม ทางญาติของสุชานันท์ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย โดยวางหลักเป็นเงินสด 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ก่อนศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างฎีกา
>>> อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำคุก 6 เดือน คดีโพสต์รองผบ.ตร.เอี่ยวทำร้ายนักกิจกรรม ศาลชี้ข้อความทำให้ปชช.ไม่เชื่อมั่น ตร.
สำหรับเนื้อหาในคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ระบุว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดจริงหรือไม่
เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 62 พนักงานสอบสวนได้เข้าจับกุมจำเลยตามหมายจับของศาล โดยพนักงานสอบสวนได้นำตัวมาแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว จำเลยได้ให้การปฏิเสธ
โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และอีก 13 บุคคลที่ได้แชร์โพสต์ดังกล่าวบนหน้าเฟซบุ๊กของตนเอง ผู้ต้องหาทั้งหมดรับสารภาพ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นความผิด ส่วนจำเลย (สุชานันท์) นั้นแยกฟ้องมาอีกคดีหนึ่ง เนื่องจากให้การปฏิเสธ
ในส่วนของข้อเท็จจริง ศาลรับฟังได้ว่า โจทก์คือ พล.ต.ต.สุรินทร์ ทับพันบุปผา ผู้แจ้งความจำเลยในคดีนี้ (ภายใต้บัญชาการของ พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย) เบิกความว่า ระหว่างปฏิบัติงานที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พยานพบเห็นชื่อบัญชีเฟซบุ๊กหนึ่ง ได้โพสต์ข้อความอ้างอิงถึง พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย ซึ่งเป็นรองผบ.ตร.ในขณะนั้น และ พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช ผู้กำกับการกองปราบปราม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำร้ายนักกิจกรรม โดยโพสต์ดังกล่าวถูกตั้งค่าเป็นสาธารณะ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าดูได้
สาเหตุที่มีการโพสต์ข้อความดังกล่าวเนื่องจากมีการทําร้ายร่างกาย “จ่านิว” นักกิจกรรมทางการเมือง แต่ความจริงแล้ว พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทําร้ายร่างกาย แต่ทำหน้าที่ดําเนินคดีสืบหาตัวคนร้าย โดยประชาชนเข้าดูโพสต์ดังกล่าวจํานวนมาก และแสดงความเห็นในลักษณะเชื่อข้อความและตําหนิการกระทําของ พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่ามีพฤติกรรมทำร้ายคนเห็นต่าง ทําให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นในหน่วยงานสํานักงานตํารวจแห่งชาติ เกิดความกลัวไม่สามารถดํารงชีวิตได้ปกติสุข ไม่กล้าออกจากบ้าน
จากนั้น โจทก์ได้นำตัว พ.ต.ต อิสรพงศ์ ทิพย์อาภากุล พนักงานสอบสวนจาก บก.ปอท. มาเบิกความเป็นพยานได้ความว่า ตนได้รับคําสั่งให้สืบหาตัวเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กที่ทำการแชร์โพสต์ข้อความ จากการเปรียบเทียบรูปบนเฟซบุ๊กกับข้อมูลบุคคลของกรมการปกครอง พบว่าตรงกับ สุชานันท์ ต่อมา ทางรองโฆษกสํานักงานตํารวจแห่งชาติได้ออกมาแถลงข้อเท็จจริงโดยแจ้งว่าคำกล่าวหาดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จและการกระทําดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 ซึ่งสื่อต่างๆ ก็ได้ลงข่าวไปเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2562
ศาลเห็นว่า จากคำเบิกความของพยานปาก พ.ต.ต.สุรินทร์ มีน้ําหนักรับฟังได้ว่าบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวได้มีการแชร์ข้อความจริง นอกจากนั้น พยานโจทก์ปาก พ.ต.ต.อิสรพงศ์ ซึ่งรับผิดชอบการตามหาตัวคนร้าย เบิกความเป็นพยานยืนยันได้สอดคล้องกับพยานเอกสารและอธิบายถึงวิธีการตามหาตัวบุคคลเพื่อระบุผู้กระทำผิดได้อย่างเป็นขั้นตอน โดยการจะเข้าถึงบัญชีเฟซบุ๊กได้จะต้องมีการป้อนรหัส หากจําเลยไม่ใช่เจ้าของบัญชีหรือยินยอมให้ผู้อื่นนําภาพของจําเลยมาโพสต์ลง ผู้อื่นย่อมไม่อาจนํารูปภาพจําเลยไปโพสต์ลงในบัญชีเฟซบุ๊ก อีกทั้งไม่ปรากฎว่ามีผู้ลักลอบนำบัญชีของจำเลยไปใช้
พยานโจทก์ทั้ง 2 ปากเป็นเจ้าพนักงานตํารวจ ไม่มีสาเหตุโกธรเคืองกับจําเลย น่าเชื่อว่าเบิกความไปตามความจริง อีกทั้งจําเลยก็ไม่ได้นําสืบพยานโต้แย้งว่ามีผู้อื่นแอบอ้างใช้บัญชีเฟซบุ๊กในนามของจําเลย จากพยานหลักฐานที่สืบมา เชื่อว่าจําเลยใช้ชื่อบัญชีเฟซบุ๊กนี้จริง และเป็นผู้แชร์รูปภาพและข้อความจริง
อย่างไรก็ตาม ส่วนข้อความที่จําเลยโพสต์นั้นเป็นข้อมูลเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ หรือเกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาขนหรือไม่นั้น พ.ต.ต.สุรินทร์ ได้เบิกความยืนยันว่า พลตํารวจเอกชัยวัฒน์เป็นผู้รับผิดชอบคดีทําร้ายร่างกายนักกิจกรรมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงที่จําเลยโพสต์รูปภาพและข้อความ ไม่ใช่เป็นคนที่ทําร้าย นอกจากนี้ พ.ต.ต.อิสรพงศ์ ได้เบิกความยืนยันว่า รองโฆษกสํานักงานตํารวจแห่งชาติได้ทำการแถลงยืนยันข้อเท็จจริงแล้วก่อนที่จําเลยจะโพสต์รูปภาพและข้อความดังกล่าว
รองโฆษกฯ ถือเป็นตัวแทนของสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ซึ่งข้อมูลที่นํามาแถลงนั้นต้องได้รับการกลั่นกรองมาแล้ว หากไม่เป็นความจริงทางรองโฆษกฯ คงจะไม่กล้ามาแถลง แม้ พ.ต.ต.อิสรพงศ์ จะเป็นเพียงพยานบอกเล่า แต่เมื่อพิจารณาตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อม แล้วน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้
ในส่วนของโพสต์ที่จำเลยแชร์นั้น พบว่ามีผู้เข้ามาคอมเม้นท์ อาทิ “ทางฝ่ายรัฐบาลทําร้ายประชาชน เอาคืนดีไหมพี่น้อง” “ไอ้สัสนรกขี้ข้าเผด็จการ” เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าโพสต์ดังกล่าวมีผลให้ประชาชนที่พบเห็นเชื่อข้อความตามโพสต์ ทําให้เกิดการแตกแยกกันระหว่างประชาชนกับเจ้าพนักงานตํารวจ ก่อให้เกิดความไม่สงบและความวุ่นวายในสังคม และประชาชนมีความรู้สึกไม่ไว้วางใจและเชื่อมั่นว่าเจ้าพนักงานตํารวจจะช่วยดูแล รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
การโพสต์รูปภาพและข้อความของจําเลยดังกล่าวจึงเป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ศาลชั้นต้นพิพากษาชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ลงนามโดย นางสาวสุพัตรา ฐิตะฐาน, นายสุนทร ทิมจ้อย และนายวิกรม วรการ