28 มิถุนายน 2563 นับได้ว่าเป็นเวลาครบ 1 ปี พอดี ในเหตุการณ์การลอบทำร้ายร่างกาย สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” นักกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งได้ทิ้ง “บาดแผล” เอาไว้ให้กับชีวิตของเขามาจนถึงปัจจุบัน
ย้อนกลับไป 28 มิถุนายน 2562 กลุ่มชายฉกรรจ์ราว 4 คน สวมใส่หมวกกันน็อคปกปิดใบหน้า ได้เข้ารุมทำร้ายสิรวิชญ์ บริเวณหน้าปากซอยใกล้บ้านพักย่านคลองสามวาของเขากลางวันแสกๆ แม้จะมีพยานเห็นเหตุการณ์จำนวนมาก และมีภาพจากกล้องวงจรปิดบันทึกภาพเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ได้อย่างชัดเจน แต่จนถึงที่สุดเจ้าหน้าที่ตำรวจกลับไม่สามารถติดตามตัวผู้กระทำผิดได้
เหตุการณ์นี้นับได้ว่าเป็นการทำลอบร้ายสิรวิชญ์ครั้งที่ 2 ในเดือนเดียวกัน หลังจากเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 62 เขาก็ได้ถูกชายราว 5-6 คน เข้ารุมทำร้ายที่ป้ายรถประจำทางซอยรัชดาภิเษกซอย 7 ก่อนจะมีการประชุมสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเพียง 3 วัน มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่การลอบทำร้ายครั้งที่ 2 นับได้ว่ารุนแรงและโหดร้ายยิ่งกว่ามาก
ในช่วงดังกล่าวยังเป็นช่วงวาระที่ คสช. กำลังจะยุติบทบาท และเปลี่ยนถ่ายอำนาจเบ็ดเสร็จจากการรัฐประหาร และยังมีบริบทเหตุการณ์ทำร้ายนักกิจกรรมทางการเมืองเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่า 11 ครั้งด้วยกัน ทั้งต่อเอกชัย หงส์กังวาน ซึ่งถูกลอบทำร้ายอย่างต่อเนื่องถึง 7 ครั้ง และลอบเผารถอีก 2 ครั้ง และอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” ถูกลอบทำร้าย 2 ครั้ง
ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติถึงสามคณะ ยังเคยทำหนังสือแสดงความกังวลและสอบถามรัฐบาลไทยถึงสถานการณ์การทำร้ายนักกิจกรรมทั้งสามคนดังกล่าวอีกด้วย แต่แทบทั้งหมดก็แทบไม่มีความคืบหน้าในการติดตามตัวคนร้ายแต่อย่างใด
ชีวิตที่ไม่อาจหวนกลับ และความตั้งใจในอนาคตของ “จ่านิว”
สำหรับการถูกทำร้ายครั้งที่ 2 ของสิรวิชญ์ เขาต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลา 9 วัน จากนั้นต้องเดินทางไปโรงพยาบาลราวอาทิตย์ละ 1 วัน เพื่อตรวจอาการในช่วงเดือนแรก และต้องทำการพักฟื้นร่างกายเป็นเวลาอย่างน้อย 4 เดือนโดยสรุปแล้วบาดแผลรุนแรงบริเวณดวงตาข้างขวาของเขา แพทย์ที่รักษาอาการได้ระบุว่าเป็นอาการบาดเจ็บบริเวณจอประสาทตา แม้ว่าจะทำการรักษาแล้ว แต่ดวงตาของเขาก็ไม่อาจกลับมาใช้งานได้ 100 เปอร์เซ็นต์
ปัจจุบันผ่านมา 1 ปี การมองเห็นทำได้เพียง 70 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเทียบกับคนปกติ แต่อาจจะต้องรอดูอาการในระยะยาวว่าจะสามารถฟื้นฟูได้มากกว่านี้หรือไม่ ส่วนอาการบาดเจ็บอื่นๆ ได้รับการผ่าตัดรักษา จนกลับมาเป็นปกติแล้ว นอกจากนั้นในช่วงแรกหลังออกจากโรงพยาบาล สิรวิชญ์ยังคงมีอาการหวาดระแวงอยู่บ้าง แม้กระทั่งปัจจุบันเอง หากมีคนที่แต่งตัวมิดชิด ขับมอเตอร์ไซต์มาใกล้กับเขา เขามักต้องตื่นตัวเข้าไว้ อีกทั้งสิรวิชญ์ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตจากที่เคยเดินทางไปไหนมาไหนคนเดียว และเดินเล่นสบายๆ ก็ต้องระมัดระวังตัวมากขึ้นอย่างมาก
สิรวิชญ์เคยเปิดใจเล่าถึงการถูกทำร้ายร่างกายของเขาไว้ ในงานเสวนาระหว่างนิทรรศการ “Never Again : หยุด ย่ำ ซ้ำ เดิน” ว่าด้วยการรวบรวมและจัดแสดงสิ่งที่เป็นหลักฐานของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วง คสช. ความโดยสรุปตอนหนึ่งว่า
“เมื่อถึงเวลาที่ คสช. ต้องคลาย และยกเลิกการใช้มาตรา 44 สำหรับสิรวิชญ์แล้ว เขารู้สึกว่า คสช. ต้องมีเครื่องมืออื่นที่จะใช้สกัดกั้นหรือควบคุมการออกมาทำกิจกรรมและการชุมนุม แทนที่กฎหมายเหล่านั้น และการใช้ความรุนแรงเป็นทางออกที่น่าจะเป็นไปได้ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายเอกชัย หงส์กังวาน และอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ ทำให้เขาเริ่มคิดว่าอาจจะเป็นตัวเขา หรือคนใกล้ตัวที่จะตกเป็นเป้าหมายต่อไปของการใช้ความรุนแรง แต่แม้สิรวิชญ์จะรู้สึกถึงความเสี่ยงดังกล่าว เขาก็อยากจะยืนยันว่าการเป็นนักกิจกรรมหรือนักเคลื่อนไหวสามารถใช้ชีวิตปกติได้ หากนักเคลื่อนไหวไม่สามารถอยู่อย่างปกติได้ จะเป็นการทำให้คนอื่น ๆ เกิดความหวาดกลัว สิรวิชญ์จึงยังคงทำกิจกรรมและใช้ชีวิตตามปกติต่อไป”
ภาพจากเพจ Nanaaa
ส่วนคดีที่สิรวิชญ์ถูกลอบทำร้ายร่างกายนั้น แต่เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 63 เขาได้รับหนังสือจากตำรวจสน.มีนบุรี สถานที่เกิดเหตุ แจ้งยุติการสอบสวนคดีว่า “คดีนี้การสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วและได้ส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการมีความเห็น ‘เห็นควรให้งดการสอบสวน’ เนื่องจากพยานหลักฐานที่รวบรวมได้ไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่าเป็นผู้ใด เนื่องจากสภาพกล้องวงจรปิดไม่เห็นหน้าคนร้ายที่ชัดเจนเพียงพอในการออกหมายจับและหลักฐานการไล่กล้องไม่สามารถทราบได้ว่าคนร้ายมีที่อยู่หรือหลบหนีอยู่ที่ได้ แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสืบสวนสอบสวน แล้วมีหลักฐานบ่งชี้ได้ว่า ผู้ใดกระทำผิดก็จะทำการออกหมายจับคนร้ายเพื่อดำเนินคดีต่อไป”
สิรวิชญ์มีความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า “ผมก็ไม่รู้จะต้องทำอย่างไรต่อไป เมื่อกระบวนการทางกฎหมายของบ้านเมืองไม่สามารถทำได้ เราในฐานะคนธรรมดาจะสามารถทำอะไรได้ ก่อนหน้านี้ก็เคยได้ไปใช้กลไกทางรัฐสภาแล้ว อีกทั้งคนในรัฐบาลก็ยังมีการกล่าวถึงกรณีของเรา แต่ก็ยังไม่สามารถทำอะไรได้ ขนาดที่ว่าคนรับรู้ขนาดนี้แล้วยังไม่สามารถทำอะไรได้ ไม่สามารถหาตัวคนร้ายได้”
ผลกระทบอีกประการหนึ่ง จากเหตุการณ์ถูกลอบทำร้าย คือเดิมสิรวิชญ์ได้ทุนการศึกษาต่อในประเทศอินเดีย ในสาขารัฐศาสตร์ ณ เมืองปูเน่ หลังจากการพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล สิรวิชญ์ได้ดำเนินการติดต่อสถานเอกอัครรัฐทูตอินเดีย ส่งจดหมายแจ้งถึงเหตุการณ์ที่ถูกทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องพักฟื้นอย่างน้อยสี่เดือน ไม่สามารถที่จะไปรายงานตัวตามกำหนด คือวันที่ 31 ก.ค. 2562 และไม่สามารถที่จะไปศึกษาในภาคการศึกษาที่ 1/2562-63 ได้ จึงขอเลื่อนออกไปเป็นภาคที่ 2 ในเดือนมกราคม 2563
แต่เมื่อเวลาผ่านไปราว 3 เดือน ทางมหาวิทยาลัยไม่มีคำตอบกลับมา สิรวิชญ์จึงเข้าใจว่าหลังจากที่เขาไม่ได้ไปรายงานตัวการเข้าศึกษาต่อตามกำหนดและเงื่อนไขของทางมหาวิทยาลัย ทำให้สิทธิในทุนการศึกษาในประเทศอินเดียของเขาจบลง แต่อย่างไรก็ตาม สิรวิชญ์ยังมีเป้าหมายในการศึกษาต่อในราวปลายปี 62 ถึงต้นปี 63 แต่จนกระทั่งปัจจุบันแผนการของเขาก็ไม่เป็นจริง เนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี 63
ปัจจุบันสิรวิชญ์ไม่ได้มีอาชีพทำงานประจำ มีเพียงการรับช่วยงานวิจัยจากคนรู้จักเป็นรายชิ้นบ้าง และใช้ชีวิตอยู่ด้วยเงินที่มีการระดมทุนสนับสนุนในช่วงที่เขาถูกทำร้ายร่างกาย ทำให้สามารถประคับประคองต่อไปได้ ขณะเดียวกันเขาก็พยายามเรียนปรับพื้นฐานภาษาอังกฤษ เพื่อหาทุนเรียนต่อในแถบยุโรปที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษได้ในระดับเชี่ยวชาญ เพื่อทำตามความตั้งใจในการเรียนต่อต่อไป
ขณะเดียวกัน สิรวิชญ์ยังมีคดีที่ถูกกล่าวหาจากการทำกิจกรรมรณรงค์ทางการเมืองในช่วง คสช. คงค้างอยู่ในชั้นต่างๆ ของกระบวนการยุติธรรมอีกถึง 8 คดีในปัจจุบัน จากทั้งหมด 13 คดีการเมืองที่เขาถูกกล่าวหา คดีความเหล่านี้เป็นภาระที่สิรวิชญ์ต้องใช้เวลาต่อสู้ต่อไป พร้อมๆ กับโอกาสที่สูญเสียไปและบาดแผลอันเกิดขึ้นจากการถูกลอบทำร้าย ซึ่งยังปราศจากสิ่งใดชดเชยเยียวยาผลกระทบต่อชีวิตของเขา
อ่านเพิ่มเติมในรายงาน
การขยายตัวของความรุนแรงที่เป็นระบบ: ข้อสังเกตต่อการลอบทำร้ายนักกิจกรรมการเมือง
3 ผู้รายงานพิเศษ UN ทวงถามความคืบหน้ากรณีนักกิจกรรมถูกทำร้าย หลังไม่ได้รับการตอบกลับจากรัฐบาลไทย
เปิดใจ “จ่านิว” : จากค่ายทหาร ศาลทหาร ถึงโรงพยาบาล เจ็บตัวแต่ยังไปต่อ
เปิด 13 คดีการเมืองของ “จ่านิว” นักกิจกรรมผู้ถูกกล่าวหามากที่สุด ก่อนโดนลอบทำร้ายซ้ำ