เปิดใจ “จ่านิว” : จากค่ายทหาร ศาลทหาร ถึงโรงพยาบาล เจ็บตัวแต่ยังไปต่อ

 

2 พ.ย. 62 วันที่สองของ “Never Again : หยุด ย่ำ ซ้ำ เดิน” นิทรรศการว่าด้วยการรวบรวมและจัดแสดงสิ่งที่เป็นหลักฐานของการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการต่อต้านขัดขืนไม่ยอมรับอำนาจอันไม่ชอบธรรม ด้วยความหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยย้ำเตือนถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งจัดขึ้นที่ WTF Gallery and Café ซอยสุขุมวิท 51 ระหว่างวันที่ 1-10 พฤศจิกายน 2562 มีการเสวนาในหัวข้อ “คุยกับจ่านิว เจ็บตัวแต่ยังไปต่อ ” วงพูดคุยเปิดใจสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” หนึ่งในบรรดานักกิจกรรมทางการเมืองที่เลือกใช้สันติวิธีในการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาโดยตลอด ทำให้เขาถูกดำเนินคดีหลายคดี แต่ก็ไม่เคยทำให้เขาต้องหยุดที่จะลุกมาทำสิ่งที่เขาเชื่อมั่น จนกระทั่งฝ่ายตรงข้ามเลือกที่จะใช้ความรุนแรงกับเขาถึงสองครั้งจนปรากฏเป็นหลักฐานของการใช้อำนาจนอกระบบกฎหมายเพื่อที่จะหยุดเขาให้ได้
ดูวิดีโอถ่ายทอดสด (Live) วงพูดคุยได้ที่ >> https://www.facebook.com/lawyercenter2014/videos/508760183311952/UzpfSTY2ODQyMDk5OTg3NDQyNDoyNDc2NjM3ODI1NzE5Mzkw/

ความคิดและความหวังที่ยังคงยืนหยัด

การพูดคุยเริ่มต้นโดยสิรวิชญ์ เล่าถึงเหตุการณ์ก่อนการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ที่เขาได้เห็นการออกมาต่อสู้เรียกร้องของกลุ่ม กปปส. ซึ่งทำให้เขารู้สึกว่า สังคมไทยได้ผ่านการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิให้กับประชาชนมาแล้วเกือบ 100 ปี  ทำไมถึงมีการออกมาเรียกร้องให้มีการเอาอำนาจของประชาชน ไปยื่นให้กับคนกลุ่มหนึ่งซึ่งอ้างตัวว่าเป็นคนดีเท่านั้น ทำให้เขารู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่เป็นธรรม การมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันนั้นสามารถมีได้ แต่การเรียกร้องให้ลิดรอนสิทธิของประชาชนคนอื่นด้วยการรัฐประหารนั้นเป็นสิ่งที่เขาเห็นว่าไม่อาจยอมรับได้ ทั้งที่พัฒนาการของประชาธิปไตยของประเทศไทยต้องไปไกลกว่านั้นแล้ว

สิรวิชญ์หวังว่าประเทศไทยจะไม่ถอยหลังลงคลอง เขาจึงเห็นว่า อยากทำหน้าที่ในการดึงและผลักดันสิทธิของประชาชนไม่ให้ถอยหลังลงคลองตามกำลังเท่าที่จะมี เพื่อให้คนอื่น ๆ ได้เห็นว่าอย่างน้อยเขาไม่ได้ปล่อยให้ประเทศชาติบ้านเมืองมันลอยไปตามยถากรรม เขารู้สึกว่าอย่างน้อยก็ได้ลงมือทำและแสดงความไม่เห็นด้วยกับการเดินไปในเส้นทางที่ไม่ถูกต้อง โดยอาศัยสิทธิของประชาชนคนหนึ่งที่พึงได้พึงมีตามวิถีของประชาธิปไตย  ความหวังเหล่านี้ทำให้เขายังคงยืนหยัดอยู่ได้

สิรวิชญ์เล่าว่า ช่วงแรกของการออกมาทำกิจกรรมต่อต้านการรัฐประหาร เขายอมรับว่าคนจำนวนไม่น้อยที่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ไม่ว่าจะด้วยกระแสสังคมที่กำลังไหลไปในทางนั้น ประกอบกับการโฆษณาชวนเชื่อ การปลุกเร้าจากฝ่ายรัฐ ซึ่งทำให้เขารู้สึกว่าในช่วงดังกล่าวการเรียกร้องของเขาคงจะเป็นไปได้ลำบาก  “ความเป็นจริงแล้วเรามารู้ว่า เสียงของคนกลุ่มนี้คือคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่ถูกทำให้ดัง แต่ไม่ใช่เสียงของคนส่วนใหญ่ ตอนนี้ฝ่ายที่กำลังต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยกำลังเผชิญภาวะแบบนี้ เราไม่ใช่คนส่วนน้อยของประเทศนี้ แต่เราถูกทำให้เสียงของเรามันเบาลงและไม่มีคุณค่า หน้าที่ของเราคือเราต้องตอกย้ำและเน้นคุณค่าตรงนี้ให้หนักแน่นที่สุด”

 

ควบคุมตัวในค่ายทหารถึงทำร้ายร่างกาย: พัฒนาการความรุนแรงต่อประชาชนผู้ใช้สิทธิเสรีภาพ

ในช่วงแรกของการทำกิจกรรมทางการเมือง สิรวิชญ์มีประสบการณ์ถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร หรือที่ คสช. พยายามใช้คำว่า “ปรับทัศนคติ”  โดยในวันที่ 22 มิ.ย. 57 สิรวิชญ์ได้นัดหมายทำกิจกรรมกินแมคโดนัลด์ต่อต้านรัฐประหาร ทหารได้เข้าควบคุมตัวเขาจากกลางห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งตั้งแต่ยังไม่ได้ทำกิจกรรมและนำตัวเขาไปควบคุมอยู่ในค่ายทหารจนถึงเกือบเช้าวันที่ 23 มิ.ย. เป็นเวลากว่า 10 ชั่วโมง โดยที่เจ้าหน้าที่ทหารได้พยายามซักถามข้อมูลทุกอย่าง ไม่ว่าจะมีความสัมพันธ์กับใคร  ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวออกมาจากค่ายทหาร หลังจากนั้นก็ได้มีความพยายามติดตามจับตาการทำกิจกรรมของสิรวิชญ์และมีการข่มขู่มาโดยตลอด พร้อมทั้งมีการสร้างวาทกรรมขึ้นมาว่า กลุ่มนักศึกษาที่ออกมาทำกิจกรรมเป็นกลุ่มหัวรุนแรง ไม่รักบ้านเมือง  เป็นพวกชังชาติ

จนมาช่วงปี 2558 เริ่มมีการยกระดับมาตรการปิดกั้นควบคุมการทำกิจกรรม เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารเห็นว่าการควบคุมตัวในค่ายทหารใช้ไม่ได้ผล จึงใช้มาตรการฟ้องร้องดำเนินคดีหลังจากการทำกิจกรรมมากขึ้น ทำให้กลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมที่ออกมาทำกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารในช่วงเวลานั้นมีคดีความกันทุกกลุ่ม และสิรวิชญ์ก็เป็นหนึ่งในนั้น เขาถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ที่ปฏิบัติกับพลเรือนแบบเดียวกับเจ้าหน้าที่ทหาร นอกจากนี้ กระบวนการประกันตัวนั้น แม้ศาลทหารจะให้ประกันแต่ต้องมีการส่งตัวไปยังเรือนจำก่อน ทำให้เขามีประสบการณ์ในการเข้าเรือนจำ อีกทั้งการนัดหมายทางคดียังเป็นการนัดติดต่อกัน ทำให้ช่วงหนึ่งสิรวิชญ์ต้องเดินทางไปยังศาลทหารมากพอ ๆ กับการเดินทางไปมหาวิทยาลัย ทำให้เขาต้องใช้เวลาในการเดินทางและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับคดีอย่างมาก ยิ่งมีคดีมากขึ้นก็ยิ่งใช้เวลามากขึ้น ช่วงนั้นสิรวิชญ์รู้สึกว่าทางเจ้าหน้าที่ทหารแจกคดีให้กับคนที่ออกมาทำกิจกรรม เหมือนกับการแจกใบปลิว แต่สำหรับสิรวิชญ์แล้วเขามองว่าการทำกิจกรรมของเขานั้นไม่ใช่ความผิด ทหารต่างหากที่เป็นฝ่ายผิด เพราะประกาศ/คำสั่งของ คสช.ไม่ได้ออกมาโดยวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย

สิ่งที่เราผิด มันผิดแค่คำสั่งของ คสช. ที่ คสช.สร้างขึ้นมา กฎหมายสำหรับพวกเราคือกฎหมายที่ต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรอง ผ่านกระบวนการพิจารณาในรัฐสภา มีการลงความเห็น ไม่ใช่กฎหมายที่เอาเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ แล้วปรินท์ออกมาลงลายเซ็นประยุทธ์ จันทร์โอชา จบแค่นี้ สำหรับผมมันไม่ใช่กฎหมาย ทุกครั้งที่เราเห็นประกาศ/คำสั่ง คสช. มันแค่นั้นแหละครับ คนหนึ่งร่างๆ พิมพ์ใส่คอมพิวเตอร์แล้วก็มาเขียน จะให้เรานับถือว่าเป็นกฎหมายมันไม่ใช่ ผมคิดว่านี่คือการลดเกียรติ ลดลำดับศักดิ์ มันไม่ใช่กฎหมาย เป็นสิ่งที่พวกคุณต้องการเท่านั้นเอง”

จนมาสู่ช่วงปลายปี 2558 เกิดกรณีอุทยานราชภักดิ์ สิรวิชญ์ได้มีความพยายามยื่นหนังสือให้มีการตรวจสอบการทุจริตกับหน่วยงานต่าง ๆ แต่กลับไม่มีการตรวจสอบ อีกทั้งยังระบุว่า “ไม่มีการทุจริต” เมื่อหนทางเหล่านั้นมืดมนจนไม่เห็นหนทาง สิรวิชญ์จึงได้ตัดสินใจจะเดินทางโดยรถไฟไปยังอุทยานราชภักดิ์ ช่วงต้นเดือน ธ.ค. 58 ก็เริ่มมีเจ้าหน้าที่เข้าไปกดดันที่บ้านของเขาเพื่อให้ยุติกิจกรรม และมีความพยายามควบคุมตัวสิรวิชญ์ก่อนวันที่ 7 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันที่นัดหมายเดินทางไปยังอุทยานราชภักดิ์

สุดท้ายการเดินทางไปยังอุทยานราชภักดิ์ก็ไม่ถึงจุดหมาย ขณะที่รถไฟไปถึงบริเวณบ้านโป่ง จ.ราชบุรี มีกลุ่มประชาชนออกมาพูดจาเสียดสีต่อว่าและข่มขู่คุกคาม ประชาชนที่พยายามจะเดินทางไปยังอุทยานราชภักดิ์ นับเป็นการเริ่มใช้ความรุนแรงผ่านมวลชน และต่อมาสิรวิชญ์ก็ยังถูกดำเนินคดีตามมาอีกด้วยข้อหาชุมนุมทางการเมือง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเขาแทบจะไม่ได้พบกับเพื่อนก่อนขึ้นรถไฟขบวนดังกล่าวเลย สิรวิชญ์มองว่า การดำเนินคดีในครั้งนั้นเป็นการกลั่นแกล้งกันอย่างชัดเจน เขาจึงไม่ยอมไปตามหมายเรียกผู้ต้องหาในคดีนี้

เดือน ม.ค. 59 สิรวิชญ์ต้องเผชิญเหตุการณ์คุกคามที่รุนแรง มีกลุ่มชายฉกรรจ์ใส่หมวกปิดบังใบหน้าเข้ามาควบคุมตัวสิรวิชญ์ขึ้นรถกระบะขณะเขากับเพื่อนกำลังเดินกลับเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะอยู่ในรถสิรวิชญ์ยังถูกคลุมหัวด้วยผ้าสีดำ เมื่อเขาถามว่าจะพาไปไหน กลุ่มชายดังกล่าวตอบว่า “เดี๋ยวพาไปที่ดี ๆ เอง”  และเมื่อสิรวิชญ์บอกว่า รู้เส้นทางที่กำลังไป ชายกลุ่มนั้นก็เพิ่มผ้าคลุมอีกชั้น พร้อมกับใช้ผ้าคาดบริเวณดวงตาซ้ำอีก และมีการขับรถวนไปวนมาอยู่นานพอควร ทำให้สิรวิชญ์ไม่อาจรู้เส้นทางที่กำลังถูกพาตัวไปได้ เมื่อรถจอดเขาถูกถีบลงจากรถ ด่าทอ และทำร้ายร่างกายอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนที่ชายกลุ่มนั้นจะใช้ของบางอย่างจี้มาที่หัว พร้อมกับมีเสียงแกร๊กๆ คล้ายเสียงยิงปืนแต่ไม่มีกระสุนดังอยู่ 4-5 ครั้ง จากนั้นกลุ่มชายดังกล่าวมีการพูดคุยว่า “เปลี่ยนแผน” ซึ่งสิรวิชญ์เข้าใจว่าเป็นช่วงที่มีการออกข่าวว่า เขาถูกควบคุมตัวไป สิรวิชญ์ถูกนำขึ้นรถอีกครั้ง สุดท้ายคนที่เอาผ้าคลุมหัวออกให้สิรวิชญ์คือเจ้าหน้าที่ตำรวจ สิรวิชญ์พบว่าเขาถูกพาตัวไปที่สถานีตำรวจคลองสามวา เมื่อสอบถามว่ากลุ่มชายฉกรรจ์ที่พาตัวเขามาอยู่ที่ไหนแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับตอบว่า ให้คิดว่าไม่เคยมีกลุ่มชายฉกรรจ์ดังกล่าวในชีวิต ทั้งที่นั่นคือพยานหลักฐานสำคัญที่เขาถูกควบคุมตัว สำหรับสิรวิชญ์คืนนั้นแม้จะเป็นเวลาอันสั้น แต่เป็นช่วงเวลาที่ยาวนาน เพราะไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเขาบ้าง

เท่านั้นยังไม่พอเมื่อกระบวนการกดดันไม่เป็นผล สิรวิชญ์ยังคงทำกิจกรรมเพื่อต่อต้านการใช้อำนาจของ คสช.อยู่เป็นระยะ การคุกคามก็ถูกยกระดับไปยังคนรอบตัว โดยแม่ของสิรวิชญ์ถูกศาลทหาร ออกหมายจับ ข้อหาตาม ม.112 เพียงแค่ตอบข้อความในแชทที่ถูกกล่าวหาว่า หมิ่นพระมหากษัตริย์ ด้วยคำว่า “จ้า” เท่านั้น

ต่อมา กลางปี 2559 ในช่วงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กลุ่มพลเมืองโต้กลับได้จัดกิจกรรมประท้วง กกต. ที่ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ก่อนเริ่มกิจกรรมหญิงมีอายุกลุ่มหนึ่งพยายามเข้ามาข่มขู่และทำร้ายสิรวิชญ์ ซึ่งคล้ายกับเหตุการณ์ที่สถานีรถไฟราชภักดิ์ และหลังจบกิจกรรมเมื่อสิรวิชญ์จะออกจากศูนย์ราชการฯ กลุ่มหญิงมีอายุดังกล่าวได้มาพร้อมกับกลุ่มชายฉกรรจ์ เข้ามาข่มขู่เตรียมจะทำร้ายสิรวิชญ์ ทั้งที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ในบริเวณนั้น  จนเขาต้องถอยกลับเข้าไปในศูนย์ราชการฯ

เมื่อถึงเวลาที่ คสช.ต้องคลายและยกเลิกการใช้ มาตรา 44 สำหรับสิรวิชญ์แล้ว เขารู้สึกว่า คสช.ต้องมีเครื่องมืออื่นที่จะใช้สกัดกั้นหรือควบคุมการออกมาทำกิจกรรมและการชุมนุมแทนที่กฎหมายเหล่านั้น และการใช้ความรุนแรงเป็นทางออกที่น่าจะเป็นไปได้ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายเอกชัย หงส์กังวาน และอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ ‘ฟอร์ด เส้นทางสีแดง’ ทำให้เขาเริ่มคิดว่าอาจจะเป็นตัวเขาหรือคนใกล้ตัวที่จะตกเป็นเป้าหมายต่อไปของการใช้ความรุนแรง แต่แม้สิรวิชญ์จะรู้สึกถึงความเสี่ยงดังกล่าว เขาก็อยากจะยืนยันว่าการเป็นนักกิจกรรมหรือนักเคลื่อนไหวสามารถใช้ชีวิตปกติได้ หากนักเคลื่อนไหวไม่สามารถอยู่อย่างปกติได้จะเป็นการทำให้คนอื่น ๆ เกิดความหวาดกลัว สิรวิชญ์จึงยังคงทำกิจกรรมและใช้ชีวิตตามปกติต่อไป

ความรุนแรงเกิดขึ้นกับสิรวิชญ์จริงดังที่เขาคาด  เมื่อเขาทำกิจกรรมล่ารายชื่อถอดถอน กกต. และกิจกรรมหยุด สว. ไม่ให้ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี ในวันเกิดเหตุ หลังจากไปส่งเพื่อน สิรวิชญ์เดินไปที่ป้ายรถเมล์เพื่อกลับบ้าน บริเวณนั้นแม้จะไม่สว่างมากแต่ผู้คนผ่านไปมา สิรวิชญ์กลับถูกทำร้ายโดยชายฉกรรจ์หลายคนขี่มอเตอร์ไซค์มารุมตีเขาเข้าที่บริเวณกกหู เขาพยายามวิ่งหนีแต่เกิดสะดุดล้ม กลุ่มชายดังกล่าวยังเข้าตีซ้ำอีก จากเหตุการณ์นี้มีกลุ่มคนที่มีความเห็นต่างทางการเมืองออกมาตั้งข้อสังเกตต่าง ๆนานาเกี่ยวกับโรงพยาบาลที่เขาเข้ารักษาตัว  แต่กลับไม่มีการพูดถึงกลุ่มชายที่มารุมทำร้าย หลังเกิดเหตุการณ์ครั้งนั้น สิรวิชญ์ยังคงพยายามที่จะใช้ชีวิตให้เป็นปกติต่อไป แต่ก็ยังคงมีอาการหวาดระแวงอยู่บ้าง คล้ายกับคนที่เคยประสบอุบัติเหตุ

สุดท้ายสิรวิชญ์เล่าถึงเหตุการณ์ที่ถูกทำร้ายครั้งที่สอง โดยเขาเห็นว่าการทำร้ายร่างกายครั้งนี้คนร้ายมีปฏิบัติการที่เป็นระบบมาก มีการกั้นด้านหน้า ปิดรถที่ผ่านไปมา และเลือกทำร้ายบริเวณดวงตาก่อน ก่อนที่จะทำร้ายจุดอื่น ๆ เมื่อมีคนตะโกนว่าตำรวจมา กลุ่มชายฉกรรจ์ที่ทำร้ายเขาจึงได้หนีไป คนที่อยู่ในบริเวณนั้นจึงเข้ามาช่วยเหลือเขาได้

ผมคิดว่านี่คือปฎิบัติการอีกอย่างหนึ่ง ในวันที่ ม.44 จะไม่มีอยู่ จะหายไป การสร้างความรุนแรงเป็นการข่มขู่อย่างหนึ่ง สำหรับวิธีการที่จะสกัดกั้นและหยุดยั้งการออกมารวมตัว รวมพลังในการเคลื่อนไหว ผมคิดว่าเขากำลังย้อนกลับไปใช้เครื่องมือแบบเก่าแบบหนึ่ง เพราะว่าในวันนี้เขาไม่เหลือมาตรา 44 แล้ว และนี่ไม่ใช่ความขัดแย้งส่วนตัวของผม เพราะว่าถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวตำรวจหรือฝ่ายรัฐบาลคงรีบจัดการแล้ว แต่ผมยืนยันว่าถ้าเรากลัว เท่ากับการส่งเสริมกระบวนการสร้างความกลัวนี้ให้มันประสบความสำเร็จ”  

 

ในช่วงท้ายของการพูดคุย ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสอบถามสิรวิชญ์ว่า หลังจากเหตุการณ์ถูกทำร้ายทั้งสองครั้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการดำเนินการอย่างไรบ้างแล้ว และเหตุการณ์นี้ส่งผลต่อบรรยากาศการทำกิจกรรมอย่างไร

สิรวิชญ์ตอบคำถามโดยให้ความเห็นว่า ตำรวจพยายามทำให้เห็นว่ามีการดำเนินการ โดยพยายามแจ้งความคืบหน้า เช่น ล่าสุดมีการติดต่อมาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.มีนบุรี ที่ติดต่อมาขอ DNA เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับ DNA ของคนร้าย ทั้งที่เหตุการณ์ผ่านมาหลายเดือนแล้ว แต่กลับไม่มีความคืบหน้าใด ๆ

ส่วนคำถามที่สองนั้น สิรวิชญ์เห็นว่า การที่เขาถูกทำร้ายส่งผลค่อนข้างมาก ทำให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวล มันเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจกลุ่มหนึ่ง เหตุการณ์นี้เปรียบเหมือนการที่รัฐเองประกาศว่ากำลังจะใช้เครื่องมือใหม่และเป็นเครื่องมือที่มีการใช้มาโดยตลอด เหตุการณ์นี้ไม่ใช่ความไม่ปลอดภัยของนักกิจกรรมเท่านั้น แต่เป็นความไม่ปลอดภัยของประชาชนทั่วไปด้วย การปล่อยเหตุการณ์แบบนี้ให้เกิดขึ้นโดยไม่สามารถจับตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้จะกลายเป็นการสร้างความสบายใจให้อาชญากร ทำให้ความปลอดภัยของสังคมลดต่ำลงอย่างมาก

ติดตามกิจกรรมตลอดนิทรรศการ “Never Again : หยุด ย่ำ ซ้ำ เดิน” ได้ที่ https://www.facebook.com/events/447142185921316/

X