ผู้รายงานพิเศษทั้งสาม (Special Rapporteur) ภายใต้สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (OHCHR) ได้แก่ ผู้รายงานพิเศษเพื่อเสริมสร้างสนับสนุนและปกป้องสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก (Special Rapporteur on the promotion and protection of the right to freedom of opinion and expression) ผู้รายงานพิเศษเรื่องสิทธิในการชุมนุมและการรวมตัวโดยสงบ (Special Rapporteur on the rights to freedom of peaceful assembly and of association) ผู้รายงานพิเศษด้านสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Special Rapporteur on the situation of human rights defenders) ได้ส่งหนังสือถึงรัฐบาลไทย เพื่อทวงถามความคืบหน้าของคดี จากกรณีที่ 3 นักกิจกรรม ได้แก่ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, เอกชัย หงส์กังวาน และอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ ถูกคุกคาม โดยการทำลายทรัพย์สิน ทำร้ายร่างกาย และขู่ฆ่า หากยังไม่มีการตอบกลับจากทางรัฐบาลไทยภายในเวลา 60 วัน ทางผู้รายงานพิเศษฯ จะทำการเผยแพร่จดหมายและการตอบกลับที่เกี่ยวข้องแก่สาธารณะบนเว็บไซต์ต่อไป
สาเหตุที่ต้องมีหนังสือฉบับนี้ เนื่องมาจากผู้รายงานพิเศษได้ส่งหนังสือฉบับแรกไปสอมถามเรื่องการจับกุม คุมขัง และการแจ้งข้อหาต่อนักกิจกรรมทั้ง 3 เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2561 (หนังสือลำดับที่ THA 4/2018) แต่ไม่ได้รับการตอบกลับจากทางการไทย อีกทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเอกชัย หงส์กังวาน ยังถูกกล่าวถึงในหนังสืออีก 2 ฉบับของกลไกพิเศษอื่นของ UN ที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2559 (หนังสือลำดับที่THA 9/2015) และวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 (หนังสือลำดับที่THA 2/2018)
ทั้งนี้ ทางผู้รายงานพิเศษยังได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ของนักกิจกรรมทั้ง 3 คน ดังนี้
- ความกังวลต่อ อนุรักษ์ เจนตวนิชย์
- ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา อนุรักษ์ได้ร่วมในการล่ารายชื่อเพื่อถอดถอนคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 เขาได้ถูกชายนิรนาม 6 คน สวมหมวกกันน็อคขับมอเตอร์ไซด์ ไม่ได้ติดแผ่นป้ายทะเบียน ผู้ลงมือได้ขับรถมอเตอร์ไซด์ไล่และเอาไม้ทุบตีเขา หลังเหตุการณ์ดังกล่าว พบว่ามีบาดแผลบริเวณศีรษะ ทำให้ต้องเย็บ 8 เข็ม
- ความกังวลต่อ เอกชัย หงส์กังวาน
- เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2562 หลังจากที่เข้าร่วมการชุมนุม รถของเอกชัยถูกลอบวางเพลิงโดยชายสวมหมวกกันน็อค จับภาพได้จากกล้อง CCTV โดยมีผู้ร่วมกระทำการอีก 4 คน หลังเกิดเหตุ เอกชัยได้เข้าแจ้งความที่ สน. ลาดพร้าว
- เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2562 เอกชัยถูกทำร้ายโดยชาย 4 คน สวมหมวกกันน็อคระหว่างการเดินทางไปเป็นจำเลยในคดีที่ศาลอาญา รัชดาฯ จากการทำร้ายร่างกายครั้งนั้น เอกชัยได้รับบาดเจ็บที่กระดูกซี่โครงซ้ายและมือขวา นอกจากนั้นยังได้รับบาดเจ็บที่ใบหน้า หัวไหล่และขา เขาได้เข้าแจ้งความไว้ที่ สน. พหลโยธิน
- เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2562 เอกชัยได้รับคำขู่ฆ่า จากนั้นวันที่ 2 เมษายน 2562 เอกชัยได้เข้าร้องขอการคุ้มครองจากสำนักงานคุ้มครองพยาน ภายใต้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ในวันที่ 23 มิถุนายน 2562 สำนักงานคุ้มครองพยานได้ให้ความคุ้มครองกับเอกชัย โดยมอบหมายให้ตำรวจจากสถานีตำรวจลาดพร้าวคอยติดตามเป็นเวลา 60 วัน
- ความกังวลต่อ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์
- เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2562 สิรวิชญ์ถูกชาย 5 คน ขับขี่รถมอเตอร์ไซด์มารุมทำร้ายขณะยืนอยู่บริเวณป้ายรถเมย์บนถนนรัชดาภิเษก พอได้สติ สิรวิชญ์ได้เข้าแจ้งความกับทาง สน. ห้วยขวาง ก่อนที่จะถูกส่งตัวไปรักษาที่ รพ. มิชชั่น ผลจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้เขาได้รับบาดเจ็บบริเวณหัวไหล่ หูขวา ด้านหนึ่งของใบหน้า และดั้งจมูก อีกทั้งยังต้องนอนค้างคืนที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจเช็คอาการกระทบกระเทือนที่อาจเกิดขึ้นกับสมอง
- เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562 เขาถูกทำร้ายอีกครั้งขณะที่กำลังออกจากบ้าน ทั้งสี่คนสวมหมวกกันน็อค ซ้อนมาในมอเตอร์ไซค์ 2 คันก่อนที่เข้าจะทุบตีเขาด้วยไม้ หลังเหตุการณ์ สิรวิชญ์ต้องเข้ารักษาตัวที่ รพ. นวมินทร์ 1 ผลรายงานของทางโรงพยาบาลระบุว่า สิรวิชญ์ได้รับบาดเจ็บจากบาดแผลบริเวณคิ้วขวาและศีรษะ กระดูกดั้งจมูก และแก้มแตกหัก ทำให้เกิดอาการเลือดไหลอย่างรุนแรง หลังจากนั้น เขาได้ถูกย้ายไปรักษาตัวที่ รพ. รามาธิบดีเพื่อรักษาอาหารบาดเจ็บที่ช่องในตา
- ระหว่างวันที่ 29 และ 6 กรกฎาคม 2562 เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 3 ได้เข้าพบสิรวิชญ์โดยกล่าวอ้างถึงข้อเสนอให้ความคุ้มครอง เพื่อแลกกับการที่จะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง อีกทั้งยังต้องรายงานตำรวจตลอดเวลาว่ากำลังทำอะไร อยู่ที่ไหน สิรวิชญ์ได้ตอบปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว หลังจากนั้นในวันที่ 7 กรกฎาคม 2562 เขาได้ออกจากโรงพยาบาลเพื่อไปพักที่บ้าน จากรายงานของแพทย์ ระบุว่าต้องใช้เวลาราว 4 – 5 เดือน ตาของเขาถึงจะหายจากการผ่าตัด
- เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2562 อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในรัฐบาลของ คสช. ได้กล่าวว่า ทางตำรวจจะให้การรับรองเรื่องความปลอดภัยของสิรวิชญ์ได้ ก็ต่อเมื่อเขายอมยกเลิกการทำกิจกรรมทางการเมือง
จนถึงขณะที่ทางผู้รายงานพิเศษได้ส่งข้อสอบถามไปยังรัฐบาลไทยนี้ ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ เรื่องการสอบสวนเพื่อตามหากลุ่มคนที่ลอบทำร้ายนักกิจกรรมทั้งสามคน
ทางผู้รายงานพิเศษยังได้แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อกรณีที่เกิดขึ้นเหล่านี้ เนื่องจากการลอบทำร้ายในแต่ละครั้งเกิดขึ้นหลังจากที่ทั้ง 3 ได้ออกมาเคลื่อนไหวทำกิจกรรม และใช้สิทธิตามหลักการเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ จึงควรได้รับความคุ้มครองสิทธิต่อชีวิต ความมั่นคงทางกายภาพ เสรีภาพในการแสดงแสดงความคิดเห็น และสิทธิในการชุมนุมและสมาคม ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งรัฐไทยเป็นภาคี
ผู้รายงานพิเศษยังอ้างถึงปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบของบุคคล กลุ่ม และหน่วยงานในสังคม เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล (the UN Declaration on the Right and Responsibility of Individuals, Groups and Organs of Society to Promote and Protect Universally Recognized Human Rights and Fundamental Freedoms) ที่ไทยควรจะต้องปฏิบัติตาม โดยยกมาตราที่ 1 และ 2 ระบุว่า ทุกคนล้วนมีสิทธิในการเสริมสร้างและเรียกร้องเพื่อการปกป้องและตระหนักต่อประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ และรัฐแต่ละรัฐมีหน้าที่สำคัญในการป้องกัน เสริมสร้าง และผนวกใช้แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
เพื่อให้เกิดความชัดเจน ผู้รายงานพิเศษยังได้ขอคำตอบจากทางการไทย ต่อคำถามในประเด็นต่อไปนี้
- ข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้อง หรือข้อคิดเห็นที่มีต่อประเด็นข้างต้น
- มาตรการที่ถูกนำไปใช้ในการสืบสวน หากไม่มีมาตรการใดที่ถูกนำไปใช้ หรือหากยังไม่มีมีข้อสรุปที่แน่ชัด โปรดให้เหตุผล
- ข้อมูลหรือมาตรการเพื่อปกป้องและดูแล 3 นักกิจกรรมทางการเมือง
- ความแตกต่างระหว่างการให้การดูแลโดยสำนักงานคุ้มครองพยาน และการให้การดูแลโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ อะไรคือมาตรฐานหรือเงื่อนไขระหว่างสองสิ่งนี้
- มาตรการที่ถูกใช้เพื่ออำนวยให้ผู้ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัยในภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ปราศจากการทำให้หวาดกลัว ถูกข่มขู่หรือการทำร้ายใด ๆ ก็ตาม
มาตรการดูแลที่ขาดความต่อเนื่อง?
เมื่อสอบถามไปทางยัง พัฒน์นรี ชาญกิจ มารดาของสิรวิชญ์ เรื่องความคืบหน้าในคดีลอบทำร้าย ได้คำตอบว่า แม้จะมีเจ้าหน้าที่จาก สน. บางชันเข้ามาดูแลรักษาความปลอดภัยหลังจากที่สิรวิชญ์โดนทำร้ายร่างกาย แต่ก็แค่ในช่วงแรกหลังเกิดเหตุใหม่ๆ เท่านั้น เพราะต่อมาหลังจากนั้น ทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้เข้ามาอีกเลย ทั้งเมื่อพัฒน์นรีได้สอบถามไปยังทาง สน. มีนบุรี ที่รับผิดชอบเรื่องความคืบหน้าของคดี ก็ไม่ได้รับคำตอบใด ๆ ส่วนในเรื่องที่ว่าจะติดต่อไปเพื่อขอรับความคุ้มครองอีกไหม พัฒน์นรีบอกว่า จะไม่ขอเรียกร้องอะไรเพิ่มเติม เพราะมองว่าทางเจ้าหน้าที่ไม่น่าจะสามารถช่วยเหลือได้ เหตุเพราะไม่ใช่คนใหญ่คนโตอะไร ถึงจะสามารถเรียกร้องขอความคุ้มครอง จึงไม่ได้คาดหวังในเรื่องนี้
ดูหนังสือที่ผู้รายงานพิเศษทั้งสาม ส่งถึงทางการไทยที่ https://bit.ly/2lIozpS