‘นิว’ กับการต่อสู้ไม่ให้รัฐใช้ กม.ยิบย่อย และคำตัดสินคดี’โพสต์อิท’ครั้งที่ 2 ของศาลอุทธรณ์

วันที่ 20 ส.ค. 2562 เวลา 9.30 น. ห้องพิจารณาคดี 8 ศาลแขวงพระนครใต้  ผู้พิพากษาขึ้นบังลังก์อ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ คดีหมายเลขดําที่ ซึ่งมีโจทก์คือ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 4 ส่วนจำเลยคือ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ นิว คดีนี้ที่เป็นที่รู้จักในชื่อคดี “โพสต์อิท” โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นอีกครั้ง ให้จำเลยมีความผิดตามมาตรา 10 พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ให้ปรับ 1,000 บาท

โพสต์อิทเป็นสิทธิไม่ผิดกฎหมาย

ภาพจาก banrasdr photo

คดีนี้อยู่ในกระบวนการยุติธรรมมายาวนานถึง 5 ปี ย้อนกลับไปในวันที่ 1 พ.ค. 2559 กลุ่มพลเมืองโต้กลับได้จัดกิจกรรมบริเวณลานกว้างสกายวอล์คของสถานีรถไฟฟ้า BTS ช่องนนทรี เพื่อยืนยันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล คสช. ยุติการจับกุมและปล่อยตัวนักโทษการเมือง โดยมีกิจกรรม “โพสต์-สิทธิ ร่วมเขียนข้อความประกาศอิสระภาพของประชาชน” เป็นไฮไลท์ ระหว่างสิรวิชญ์ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวโดยถือกระดาษโพสต์อิทเตรียมไว้สำหรับกิจกรรม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าล้อม สิรวิชญ์จึงส่งโพสต์อิทบางส่วนให้ประชาชนด้วยมือและโปรยบางส่วนลงพื้นซึ่งสิรวิชญ์บอกให้ประชาชนที่อยู่ไกลมือออกไปที่อยู่บริเวณนั้นมาเก็บเพื่อให้นำไปเขียนข้อความเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนไปติดตามจุดต่างๆ บนสกายวอล์คต่อไป หลังจากนั้นสิรวิชญ์ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจคุมตัวไปสถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆ โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิตามกฎหมายแก่สิรวิชญ์ในขณะนั้น

 

การสู้ของสิรวิชญ์ทำให้ศาลฎีกาสั่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาใหม่

ผลจากกิจกรรมโพสต์สิทธิ ทำให้ตำรวจอ้างว่าสิรวิชญ์ทิ้งสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย (เศษกระดาษ) ลงบนที่สาธารณะ และต่อมาถูกสั่งฟ้องเป็นคดีอาญาต่อศาล ในความผิดตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ในปี 2559  คดีนี้แม้เป็นความผิดที่มีโทษปรับไม่เกินสองพันบาท แต่สิรวิชญ์ยังยืนยันต่อสู้คดีในชั้นศาล โดยมีข้อต่อสู้สำคัญคือเขาไม่มี “เจตนาเล็งเห็นผล” ยืนยันว่าไม่มีเจตนาทิ้งเศษกระดาษลงบนที่สาธารณะ เพราะเป็นการทำกิจกรรมเพื่อแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับการจับกุมตัวคนที่มีความคิดเห็นต่างกับรัฐบาล

ในการตัดสินคดีของศาลชั้นต้นเมื่อ 12 ม.ค. 2560 ศาลแขวงพระนครใต้พิพากษาว่าสิรวิชญ์มีความผิดตามฟ้องและลงโทษปรับ 1,000 บาท โดยให้เหตุผลว่าสิรวิชญ์สามารถที่จะแจกจ่ายกระดาษโพสต์อิทได้โดยไม่ต้องโปรยหรือทิ้งลงบนพื้น และการทิ้งลงบนพื้นหากประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมเก็บไปเขียนไม่หมดก็จะกลายเป็นเศษกระดาษ ดังนั้นการกระทำของสิรวิชญ์จึงเป็นกิจการกระทำที่ “เล็งเห็นผล” และมีความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ โดยสิรวิชญ์ได้ชำระค่าปรับไว้ในชั้นนี้แล้ว

ต่อมา สิรวิชญ์อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแขวงพระนครใต้ต่อศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2560 ด้วยเหตุผล 4 ประการคือ 1) สิรวิชญ์ไม่ได้มีเจตนาทิ้งกระดาษโพสต์อิทลงพื้น โพสต์อิทที่โยนให้ประชาชนมีเพียงเล็กน้อยและไม่ได้หล่นลงพื้น ทั้งสิรวิชญ์เห็นแล้วว่ามีประชาชนรอที่จะรับกระดาษโพสต์อิทอยู่จึงได้โยนไป 2) อำนาจจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจบนสกายวอร์คไม่ชอบ ตำรวจไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิแก่สิรวิชญ์ก่อนจับกุม แต่เพิ่งแจ้งเมื่อไปถึงที่สถานีตำรวจแล้ว 3) ในวันนัดตรวจพยานหลักฐาน โจทก์พนักงานอัยการจงใจไม่ส่งพยานหลักฐานในความครอบครองของโจทก์ต่อศาล เพื่อให้ศาลและจำเลยตรวจสอบ ศาลจึงไม่มีอำนาจในการรับฟังเอกสารและพยานวัตถุเหล่านั้น และ 4) ศาลไม่อาจสั่งริบกระดาษโพสต์อิทที่ตำรวจยึดไว้เป็นของกลางได้ เนื่องจากกระดาษโพสต์อิทที่ศาลชั้นสั่งริบนั้นอยู่ในถุงที่จำเลยนำติดตัวมา ไม่ใช่กระดาษที่จำเลยโยนเพื่อแจกจ่ายแก่ประชาชน เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2560 ศาลอุทธรณ์ไม่รับฟังคำโต้แย้งของสิรวิชญ์ทั้ง 4 ข้อและมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นดังเดิม สิรวิชญ์จึงได้ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นี้ต่อศาลฎีกา

13 ส.ค. 2562 สิรวิชญ์เข้าฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาซึ่งเห็นแย้งกับศาลอุทธรณ์บางประเด็น และพิพากษายกกระบวนพิจารณาคดีในชั้นอุทธรณ์เมื่อปี 2560 เนื่องจากเห็นว่าคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่ได้พิจารณาว่า “เจตนา” ของสิรวิชญ์ที่ยืนยันว่ามีเจตนาโปรยกระดาษโพสต์อิทให้ประชาชนคนอื่นๆ ไม่ได้มีเจตนาทิ้ง และให้ศาลอุทธรณ์กลับไปพิจารณาคดีใหม่อีกครั้งหนึ่ง หลังผ่านไปกว่าหนึ่งปี ศาลอุทธรณ์จึงได้นัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์อีกครั้งเมื่อวาน

 

ฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ครั้งที่ 2 ในห้วงยาม พ.ร.บ. ความสะอาดฯ ยังคงถูกใช้ปิดกั้นการชุมนุมในสถานการณ์ปัจจุบัน

กิจกรรมผูกโบว์ขาวทวงความยุติธรรมให้วันเฉลิมของ สนท. ผู้จัดฯ ถูกออกหมายเรียกฝ่าฝืน พ.ร.บ.ความสะอาดฯ 2 คดีรวด

วันที่ 20 ส.ค. 2562 ผู้พิพากษาศาลแขวงพระนครใต้ได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ซึ่งยืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นทุกประการ และกล่าวว่าคำอุทธรณ์ของสิรวิชญ์ทั้ง 4 ประเด็นข้างต้น ฟังไม่ขึ้น สำหรับข้อโต้แย้งสำคัญที่ว่าสิรวิชญ์ไม่ได้มีเจตนาเล็งเห็นผลในการทิ้งกระดาษโพสต์อิทลงบนที่สาธารณะ ศาลอุทธรณ์ยังคงอ้างอิงความหมายคำว่า “ทิ้ง” และคำว่า “ขยะ” จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เพื่อตีความว่าสิรวิชญ์มี “เจตนาเล็งเห็นผล” ในการทิ้งสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย (เศษกระดาษ) ลงบนที่สาธารณะ

การพิพากษาคดีของสิรวิชญ์ครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์การชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา ประชาชนที่กำลังขยายวงและข้อหาตาม พ.ร.บ. ความสะอาดฯ เป็น “ข้อหายิบย่อย” เป็นข้อหาที่ผู้จัดชุมนุมหรือผู้ทำกิจกรรมทางการเมืองมักได้รับทุกครั้งเมื่อมีการชุมนุมหรือเคลื่อนไหวเกิดขึ้น ซึ่งผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหานี้หลายรายเลือกที่จะจ่ายค่าปรับเพื่อไม่ให้เป็นภาระทางคดี แต่สิรวิชญ์กลับสู้คดีนี้โดยเขากล่าวถึงเหตุผลว่า

“ผมโปรยกระดาษไม่กี่แผ่น ไม่ได้โปรยเกลื่อนทั้งสะพานลอย สุดท้ายเราจะเห็นว่าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองพร้อมเอาเรื่องเล็กน้อยหยุมหยิมมาทำให้เป็นคดีความ ผมคิดว่าไม่เหมาะสม รัฐควรเปิดช่องให้ประชาชนแสดงออกได้ และหลีกเลี่ยงที่จะให้เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนเกิดข้อพิพาท แต่ในความเป็นจริงเกิดข้อพิพาทตลอด นี่เป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น ผมจึงคิดว่าต้องต่อสู้เชิงหลักการ เชิงข้อมูล เชิงกฎหมาย ผมสู้คดีนี้เพื่อเป็นหลักประกันไม่ให้รัฐใช้กฎหมายเล็กๆ น้อยๆ หาเรื่องประชาชน”

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เปิดคำอุทธรณ์ ‘จ่านิว’ หลังศาลอุทธรณ์พิพากษาปรับหนึ่งพันบาท คดี พ.ร.บ.รักษาความสะอาด

รู้จัก/รำลึก พ.ร.บ. รักษาความสะอาด กับเครื่องมือทางการเมือง

ปรับ 1,000 “จ่านิว” โปรยกระดาษเขียนเสรีภาพ

“โพสต์อิท” เป็นสิทธิ ไม่ผิดกฎหมาย ศาลแขวงพระนครใต้ยกฟ้อง ชี้เป็นสิทธิเสรีภาพทางการเมือง

ชี้แจงต่อศาลแปะ “โพสต์อิท” เรียกร้องทางการเมือง ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ

ประมวลสถานการณ์: ตร.จับผู้เข้าร่วมกิจกรรมแปะโพสต์อิท 2 ราย แจ้งข้อหาทิ้งขยะ-โฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต

เมื่อการชุมนุม ถูกจำกัดมากกว่ากฎหมายชุมนุมสาธารณะ : ความทับซ้อนและการบังคับใช้ตามใจ

 

 

 

 

X