พิพากษาปรับคนละ 2,000 บาท คดี 3 ประชาชนร่วม #ม็อบ7สิงหา64 เห็นว่าฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

19 เม.ย. 2566 ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาคดีของประชาชน 3 คน ได้แก่ ธีรวิช สุขประเสริฐกุล อายุ 24 ปี, นิรุฒน์ ละมูล อายุ 33 ปี และ ลำไย จันทร์งาม อายุ 46 ปี ถูกกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จากกรณีร่วมชุมนุม #ม็อบ7สิงหา2564 ซึ่งจัดโดยกลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free Youth) เพื่อยืนยันข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ ให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, ให้นำงบสถาบันฯ และกองทัพมาใช้ในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และให้รัฐบาลใช้วัคซีน mRNA แทนวัคซีนอื่นๆ 

สำหรับคดีนี้ทั้ง 3 คน ถูกจับกุมในวันเกิดเหตุขณะยังไม่ถึงเวลานัดหมายชุมนุม ในเวลาประมาณ 12.30 น. บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนได้ตั้งแนวสกัดและประกาศให้ประชาชนแยกย้ายกันกลับ และมีรายงานการจับกุมผู้ที่เดินทางจะมาร่วมชุมนุม 2 ราย โดยธีรวิชมีร่องรอยถูกทำร้ายร่างกายบริเวณใบหน้าและคอขณะถูกจับกุม ส่วนนิรุฒน์ปรากฏภาพข่าวว่าเขาถูก คฝ.ฉุดกระชาก พาเข้าไปในวงล้อมของเจ้าหน้าที่ และกดให้นอนกับพื้น

ส่วนลำไย คนขับรถเครื่องเสียง ถูกตำรวจติดตามหลังการชุมนุมที่ย่านบางนา และกล่าวหาจากเหตุนำรถเครื่องเสียงเข้าร่วมในการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทั้งนี้ ในการจับกุมทั้งสามคนถูกนำตัวไปที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ทั้งที่สถานีตำรวจที่ดูแลที่เกิดเหตุคือ สน.สําราญราษฎร์ ก่อนถูกส่งขอฝากขัง และศาลให้ประกันตัว

ต่อมาวันที่ 7 ก.ย. 2564 พนักงานอัยการฝ่ายคดีศาลแขวง 3 วรวิทย์ สัมพัฒนวรชัย ได้สั่งฟ้องคดีต่อศาลแขวงดุสิต กล่าวหาว่าจําเลยทั้งสาม กับพวกรวม ประมาณ 200 คน ได้เข้าร่วมชุมนุมทํากิจกรรม “เคลื่อนพลไปพระบรมมหาราชวัง” ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดําเนินกลาง อันเป็นการร่วมกันชุมนุมทำกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลจำนวนรวมกันมากกว่า 5 คน ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่

เฉพาะจําเลยที่ 1 ​(ลำไย) ได้ทําการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้า ติดตั้งบนรถยนต์กระบะ เพื่อเรียกร้อง ชี้แจง แนะนํา แสดงความคิดเห็นแก่ผู้เข้าร่วมชุมนุมและทํากิจกรรมดังกล่าวกับประชาชนทั่วไปรับฟัง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนทําการโฆษณา

คดีนี้มีการสืบพยานระหว่างวันที่ 18-19 ม.ค. 2566 และศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้ 

เวลา 10.00 น. ศาลอ่านคำพิพากษา มีใจความโดยสรุปคือ ขณะเกิดเหตุประกาศและข้อกำหนดเกี่ยวกับการควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉินที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังคงใช้บังคับ โดยสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลโดยตรงต่อการใช้สิทธิในการแสดงออกซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงต้องพิจารณาถึงเจตจำนงที่แท้จริงของการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ใช่เพื่อปราบปรามการชุมนุมหรือห้ามการชุมนุมอย่างไร้เหตุผล โดยต้องดูความสมดุลกันของเจตจำนงของกฎหมายกับลักษณะของการจัดกิจกรรม

พิเคราะห์แล้ว ประจักษ์พยานโจทก์ทั้ง 6 ปาก เบิกความสอดคล้องตรงกันเกี่ยวกับพฤติการณ์ของการไม่จัดให้มีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค และลักษณะของกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมในลักษณะแออัด โดยในวันและเวลาเกิดเหตุอยู่ในห้วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรง จนมีการประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด อันแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์อยู่ในช่วงเวลาเลวร้าย ซึ่งหากไม่มีการประกาศห้ามพื้นที่ชุมนุม ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดเข้มงวด อาจทำให้มีการติดเชื้อจำนวนมาก จนระบบสาธารณสุขล้มเหลว และทำให้ผู้คนเจ็บป่วยล้มตายอีกจำนวนมาก

ในการชุมนุมครั้งนี้เจ้าพนักงานไม่ได้อนุญาต และไม่ใช่การจัดกิจกรรมที่เข้าข้อยกเว้นตามประกาศกำหนด ไม่มีการตั้งจุดคัดกรอง หรือจุดลงทะเบียน ไม่มีการเว้นระยะห่าง

แม้โดยหลักการจำกัดสิทธิของประชาชนจะกระทำมิได้ แต่ก็มีข้อยกเว้นตามรัฐธรรมนูญดังนั้น การที่รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรี ประกาศข้อกำหนดซึ่งออกตามความใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลายฉบับ และมีขยายระยะเวลาบังคับใช้โดยตลอด โดยมีจุดประสงค์เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ย่อมเป็นเหตุผลที่เพียงพอที่จะกระทำได้โดยชอบ อันเป็นไปเพื่อประโยชน์มหาชน มิใช่เพียงประโยชน์ของผู้ใดผู้หนึ่ง อีกทั้งการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวมิได้เป็นไปเพื่อใช้บังคับเฉพาะกับผู้ชุมนุมทางการเมืองเท่านั้น 

หากมีการจัดกิจกรรมที่เป็นไปในลักษณะแออัด ไม่มีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมที่เป็นไปเพื่อทางการเมืองหรือไม่ ก็อาจเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวได้ เมื่อเทียบกับความสูญเสียต่อชีวิตของประชาชนที่อาจเกิดขึ้น การใช้กฎหมายดังกล่าวย่อมไม่เกินสัดส่วนแห่งความจำเป็นที่รัฐจะสามารถกระทำได้เพื่อประโยชน์มหาชน

ทั้งจำเลยทั้งสาม ย่อมทราบดีว่ามีการประกาศห้ามชุมนุมเพราะมีการประกาศในราชกิจจาฯ ข้อกล่าวอ้างของจำเลยทั้งสาม ฟังไม่ขึ้น

ทั้งจำเลยที่ 1 ยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 อีกกระทงหนึ่งด้วย นับเป็นความผิดหลายกรรมต่างวาระกัน ลงทุกกรรมตามความผิด พิพากษาปรับข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวน 2,000 บาท และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 100 บาท

ส่วนจำเลยที่ 2 และ 3 มีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พิพากษาปรับคนละ 2,000 บาท รวมค่าปรับทั้งสามคนเป็นเงิน 6,100 บาท

X