เดือนสุดท้ายของปี 2565 สถานการณ์คดีทางการเมืองมีคดีใหม่ๆ เพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่คดีจากการชุมนุมและแสดงออกในช่วงปี 2563-64 ศาลต่างๆ ได้มีคำพิพากษาออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งคดีมาตรา 112 ที่ศาลมีคำพิพากษาออกมาไม่น้อยกว่า 6 คดี ส่วนคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็มีคำพิพากษาออกมาอีก 12 คดี ในเดือนเดียว ขณะที่สถานการณ์การพยายามร้องขอถอนประกันตัวและไต่สวนนักกิจกรรมหลายคนที่ยังคงแสดงออกทางการเมือง ก็ยังเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาในช่วงต้นปีใหม่นี้
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,888 คน ในจำนวน 1,165 คดี ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 283 ราย ใน 210 คดี
เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 2 คน คดีเพิ่มขึ้น 6 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน)
หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,759 ครั้ง
สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่
1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 225 คน ในจำนวน 243 คดี
2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 128 คน ในจำนวน 40 คดี
3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,469 คน ในจำนวน 663 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง)
4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 132 คน ในจำนวน 76 คดี
5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 159 คน ในจำนวน 179 คดี
6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 36 คน ใน 20 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 27 คน ใน 8 คดี
จากจำนวนคดี 1,165 คดีดังกล่าว มีจำนวน 292 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 873 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่างๆ
.
.
แนวโน้มเกี่ยวกับการดำเนินคดีในช่วงเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา มีสถานการณ์สำคัญ ดังต่อไปนี้
คดี ม.112 เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4 คดี ผู้ถูกคุมขังเพิ่มอีก 2 คน ศาลทยอยมีคำพิพากษา
สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เท่าที่ทราบข้อมูล เพิ่มขึ้นในเดือนธันวาคมจำนวน 4 ราย ใน 4 คดี อาทิ คดีของ “เตอร์” มกรพงษ์ นักกิจกรรมในโคราช ที่ถูกตำรวจ สภ.เมืองนครราชสีมา ย้อนกล่าวหาจากกรณีปราศรัยในกิจกรรมชุมนุมที่ลานอนุสาวรีย์ย่าโม ตั้งแต่เมื่อเดือน เม.ย. 2564 และ คดีของชาคร ประชาชนจากมุกดาหาร ที่ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลจังหวัดนนทบุรี นำตัวไปแจ้งข้อหาที่ สภ.รัตนาธิเบศร์ กรณีคอมเมนต์ข้อความใต้โพสต์
ในเดือนที่ผ่านมา ยังมีผู้ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 ระหว่างพิจารณา เพิ่มขึ้นอีก 2 ราย ได้แก่ กรณีของ “ก้อง” อุกฤษฏ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 5 ปี 30 เดือน ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะไม่อนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างการอุทธรณ์คดี และกรณีของ “เอก” พนักงานบาร์ ที่เพิ่งถูกสั่งฟ้องคดีที่เขาแชร์โพสต์จากเพจ “คนไทยยูเค” แต่ศาลอาญากลับไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี โดยอ้างเหตุเกรงว่าจะหลบหนี ทำให้ทั้งสองคนถูกคุมขังข้ามปีที่ผ่านมา
รวมทั้ง สมบัติ ทองย้อย ที่ถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์คดีเข้าสู่เดือนที่ 8 แล้ว สถานการณ์การประกันตัวของจำเลยคดีมาตรา 112 จึงยังเป็นประเด็นต้องจับตาต่อไป
.
.
เดือนที่ผ่านมา ศาลยังมีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ออกมาอีกถึง 6 คดี โดยนอกจากคดีของ “ก้อง” อุกฤษฏ์ แล้ว ยังมีคดีของพรชัย ที่ศาลจังหวัดยะลาลงโทษจำคุก 3 ปี ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา กรณีไลฟ์สดกล่าวถึงสถานการณ์การเมืองช่วงปี 2563 แต่ศาลยังอนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์
ขณะเดียวกัน มีคดีของประชาชน 2 ราย ที่ให้การรับสารภาพ และศาลได้มีคำพิพากษาจำคุก แต่ให้รอการลงอาญาไว้ ได้แก่ คดีของพนิดา ที่ศาลจังหวัดพัทยา และคดีของธัญดล ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ
นอกจากนั้น ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนนทบุรียังมีคำพิพากษาคดีของ “เพชร” ธนกร เป็นคดีที่ 2 จากกรณีปราศรัยในการชุมนุมที่ท่าน้ำนนท์ เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2563 โดยเห็นว่าถ้อยคำปราศรัยของจำเลยเป็นการกล่าวหาที่ทำให้เกิดความเกลียดชัง และเกิดความเข้าใจผิดต่อพระมหากษัตริย์ ลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน แต่ให้รอการลงอาญาไว้เช่นกัน
มีเพียงคดีเดียวที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในเดือนที่แล้ว ได้แก่ คดีของ “ชัยชนะ” ผู้ป่วยจิตเวชจากลำพูน ที่ถูกฟ้องคดีที่ศาลจังหวัดนราธิวาส โดยศาลเห็นว่าโจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่าจำเลยเป็นผู้ใช้งานหรือเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กตามฟ้อง จึงพิพากษายกฟ้อง
โดยสรุปสถานการณ์คดีมาตรา 112 ในช่วงปี 2565 ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องเพียง 5 คดี จากอย่างน้อย 32 คดีที่ทราบว่ามีคำพิพากษาออกมา โดยส่วนใหญ่มากกว่าครึ่งหนึ่ง ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา
.
.
คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลยกฟ้องต่อเนื่องทั้งเดือน 9 คดี แต่มีคดีเยาวชน ศาลลงโทษ ไม่รอลงอาญา
ในเดือนธันวาคม ไม่มีคดีที่เกี่ยวเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองเพิ่มขึ้นนัก มีเพียงกรณีของผู้จัดกิจกรรม #ซานต้ามาตามเพื่อนกลับบ้าน บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2565 เพื่อเรียกร้องการประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมือง ที่ถูกตำรวจเรียกไปเปรียบเทียบปรับในข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
แต่ในเดือนที่ผ่านมา คดีจากการชุมนุมที่ถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลได้ทยอยมีคำพิพากษาอย่างต่อเนื่อง โดยมีคำพิพากษาทั้งเดือนรวมถึง 12 คดี โดยแยกเป็นคำพิพากษายกฟ้องจำนวน 9 คดี และมีเพียง 3 คดีที่ศาลวินิจฉัยไปในแนวทางเห็นว่ามีความผิดตามฟ้อง
ที่น่าสนใจมีคดีของ “ภูมิ” เยาวชนที่เข้าร่วมการชุมนุม #ราษฎรอีสาน เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2563 ที่ศาลเยาวชนฯ วินิจฉัย ศาลลงโทษจำคุกทั้งในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, มาตรา 215 และ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน รวมกัน 2 ปี 5 วัน แต่ให้เปลี่ยนจากโทษจำคุกเป็นนำตัวไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยภูมิยังได้รับการประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษานี้
ขณะเดียวกัน ยังมีคดีจากการชุมนุมที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องเพิ่มเติมอีก 1 คดี ได้แก่ คดีจากการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ที่มีนักกิจกรรม 4 รายถูกกล่าวหา แต่อัยการเห็นว่าไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่าทั้งสี่เป็นผู้ดูแลหรือผู้รับผิดชอบในการจัดการชุมนุม จึงไม่มีหน้าที่ขออนุญาตจัดการชุมนุม และไม่มีหน้าที่โดยตรงในการจัดมาตรการป้องกันโรค ทั้งสถานที่ชุมนุมไม่มีลักษณะเป็นสถานที่แออัดที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคด้วย
แม้จนถึงสิ้นปี 2565 จะไม่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว แต่คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองอีกไม่น้อยกว่า 547 คดี ยังไม่สิ้นสุดลง หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 82 ของคดีทั้งหมดเท่าที่ทราบข้อมูล หากไม่มีการยุติคดีเหล่านี้ลงในระดับนโยบายของรัฐ คดีจากการแสดงออกเหล่านี้จะยังดำเนินต่อไป
.
.
นักกิจกรรมยังถูกเรียกไต่สวนขอถอนประกันตัวหลายคน
สถานการณ์สำคัญอีกประเด็นหนึ่งในช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2565 คือกรณีนักกิจกรรมหลายคนถูกศาลเรียกไต่สวนถอนประกันตัว เหตุจากการแสดงออกในช่วงการประชุมเอเปค (APEC2022) เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2565
ทั้งกรณีของโจเซฟที่ถูกพนักงานอัยการร้องขอถอนประกันตัวในคดีมาตรา 112 กรณีปราศรัยในกิจกรรม “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปี ใครฆ่าพระเจ้าตาก” โดยอ้างเหตุจากการเข้าร่วมการชุมนุม #ราษฎรหยุดAPEC2022 แต่หลังการไต่สวน ศาลอาญาธนบุรีมีคำสั่งไม่เพิกถอนประกัน โดยเห็นว่า ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนยังฟังไม่ขึ้นว่าการเข้าร่วมการชุมนุมของจำเลยก่อให้เกิดความไม่สงบและวุ่นวายอย่างไร
ศาลอาญายังมีการนัดไต่สวนถอนประกันตัว ทั้งของ “เก็ท” โสภณ, ใบปอ และ “ตะวัน” ทานตะวัน โดยมีเจ้าหน้าที่ศาลยุติธรรมเป็นผู้ร้องขอถอนประกันในคดีมาตรา 112 ที่ทั้งสามคนถูกฟ้อง โดยพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการโจทก์ไม่ได้เป็นผู้ร้องขอแต่อย่างใด กรณีของเก็ทและตะวันหลังจากไต่สวนเมื่อวันที่ 19 และ 26 ธ.ค. ศาลได้นัดฟังคำสั่งในวันที่ 9 ม.ค. 2566 นี้ พร้อมกับให้นัดไต่สวนกรณีของตะวันในวันเดียวกันนั้น
สถานการณ์ที่นักกิจกรรมถูกทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มเคลื่อนไหวอนุรักษ์นิยมพยายามร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งถอนประกันตัว โดยอ้างเหตุว่าฝ่าฝืนเงื่อนไขการประกันตัว จึงเป็นอีกประเด็นสำคัญหนึ่งที่น่าจับตาในช่วงปี 2566 นี้
.