พฤศจิกายน 65: จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองยอดรวม 1,886 คน ใน 1,159 คดี

เข้าสู่เดือนสุดท้ายของปี 2565 สถานการณ์การดำเนินคดีทางการเมืองในเดือนที่ผ่านมายังเป็นไปอย่างเข้มข้น ไม่ว่าคดีที่เกิดจากการชุมนุมในช่วงการประชุม APEC2022 มีทั้งในส่วนประชาชนที่ถูกจับกุมและนักกิจกรรมที่ถูกออกหมายเรียกภายหลัง คดีมาตรา 112 ที่ยังรายงานการจับกุมคดีใหม่เป็นระยะ คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวนมาก ที่การต่อสู้ในศาลยังคงดำเนินต่อไป แม้ผลสุดท้าย แนวโน้มศาลจะมีคำพิพากษายกฟ้องเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,886 คน ในจำนวน 1,159 คดี  ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 283 ราย ใน 210 คดี

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนตุลาคม 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 22 คน คดีเพิ่มขึ้น 14 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) 

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,753 ครั้ง

สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 221 คน ในจำนวน 239 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 128 คน ในจำนวน 40 คดี

3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,469 คน ในจำนวน 663 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง) 

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 132 คน ในจำนวน 76 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 156 คน ในจำนวน 176 คดี

6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 36 คน ใน 20 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 27 คน ใน 8 คดี

จากจำนวนคดี 1,159 คดีดังกล่าว มีจำนวน 279 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว โดยเป็นคดีที่เป็นการปรับในชั้นสอบสวนหรือชั้นศาลจำนวน 160 คดี และมีคดีอัยการสั่งไม่ฟ้องจำนวน 38 คดี  เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 880 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่างๆ

.

.
แนวโน้มเกี่ยวกับการดำเนินคดีในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 นี้ มีสถานการณ์สำคัญ ดังต่อไปนี้

สถานการณ์คดี ม.112 ผู้ถูกดำเนินคดีใหม่เพิ่ม 4 ราย คดีมีคำพิพากษาในรอบเดือน 8 คดีรวด 

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เท่าที่ทราบข้อมูล เพิ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายนจำนวน 4 ราย ใน 3 คดี โดยมีจำเลยในคดีข้อหานี้อย่างน้อย 1 คน ที่ยังถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างต่อสู้คดี ได้แก่ สมบัติ ทองย้อย ซึ่งถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์มานานกว่า 7 เดือนแล้ว 

ในเดือนที่ผ่านมา มีรายงานการจับกุมและดำเนินคดีประชาชนเพิ่มเติม 4 ราย กรณีหนึ่ง ได้แก่ คดีของ วรินทร์ทิพย์ วัชรวงษ์ทวี หรือ “เสี่ยวเป้า” ประชาชนผู้เคยแถลงข่าวเตรียมจัดตั้งพรรคไฟเย็น ซึ่งถูกตำรวจจับกุมดำเนินคดีที่ สน.ประชาชื่น เหตุจากการร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” ของวงไฟเย็น ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อช่วงเดือนกันยายน 2565 โดยคดีมีแกนนำ ศปปส. อย่าง อานนท์ กลิ่นแก้ว เป็นผู้ไปแจ้งความกล่าวหาไว้

ขณะเดียวกัน ยังมีกรณีของจิตริน พลาก้านตง หรือ “คาริม ทะลุฟ้า” ที่เข้ามอบตัวหลังทราบว่ามีหมายจับที่ออกมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ในคดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ บริเวณหน้าโรงเรียนราชวินิต มัธยม ในระหว่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564 เขากลายเป็นผู้ถูกดำเนินคดีรายที่ 4 ในกรณีนี้ หลังก่อนหน้านี้ แซม-แม็ก-มิกกี้บัง ถูกกล่าวหาไปก่อนแล้ว และเพิ่งได้รับการประกันตัวออกมาในปลายเดือนพฤศจิกายน

เดือนที่ผ่านมา ศาลยังมีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ออกมาอีกถึง 8 คดี โดยเป็นคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ใน 1 คดี ได้แก่ คดีของจรัส ที่จังหวัดจันทบุรี กรณีคอมเมนต์วิจารณ์แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ที๋ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กลับแนวคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เห็นไปในทางว่ามาตรา 112 สามารถตีความคุ้มครองไปถึงกษัตริย์ที่สวรรคตได้ เพราะกระทบถึงกษัตริย์องค์ปัจจุบันได้ 

อีกทั้ง เดือนที่ผ่านมาศาลยังมีคำพิพากษาในคดีของเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และต่อสู้คดี ออกมาเป็นคดีแรก ได้แก่ คดีของ “เพชร” ธนกร กรณีปราศรัยที่วงเวียนใหญ่ วันที่ 6 ธ.ค. 2563 โดยศาลเยาวชนฯ เห็นว่ามีความผิด แม้คำปราศรัยจะไม่ได้มีการกล่าวถึงพระนามของกษัตริย์พระองค์ใด แต่เห็นว่ามาตรา 112 ไม่ได้คุ้มครองแค่กษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง แต่คุ้มครองทั้งสถาบันกษัตริย์ ซึ่งคดีนี้ยังมีการต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ต่อไป

การตีความขยายความเช่นนี้ ทั้งในประเด็นการคุ้มครองอดีตกษัตริย์ และการคุ้มครองสถาบันกษัตริย์ ที่ไม่ได้ขอบเขตแน่นอนชัดเจน ยังคงสร้างปัญหาให้การบังคับใช้ข้อหาทางอาญานี้และสถานการณ์การแสดงความเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยต่อไป

.

.

ส่วนอีก 6 คดีที่ศาลมีคำพิพากษาอีกนั้น เป็นกรณีที่จำเลยให้การรับสารภาพทั้งหมด โดยเป็นคดีของศาลอาญา 4 คดี ในจำนวนนี้มี 1 คดีที่ศาลพิพากษาให้รอการลงโทษจำคุก ได้แก่ คดีของ “ณชา” แต่อีก 3 คดี ได้แก่ คดีของสุทธิเทพ, พิทักษ์พงษ์, “ปณิธาน” ศาลลงโทษจำคุกในอัตรา 3-5 ปี โดยเห็นว่าไม่ให้รอการลงโทษ ทำให้ทั้งสามคดียังต้องอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป

ขณะเดียวกัน ยังมีคดีของ “โจ” กรณีแชร์ข้อความจากเพจเยาวชนปลดแอก ที่ศาลจังหวัดลำปางมีคำพิพากษาให้รอการกำหนดโทษ 2 ปี และคดีของพิทยุตม์ กรณีวางเพลิงรูปรัชกาลที่ 10 ที่จังหวัดอุดรธานี ที่ศาลมีคำพิพากษาให้รอการลงโทษจำคุก

คดีเหล่านี้ จำเลยทั้งหมดเป็นประชาชนทั่วไป หลายคนไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่ไปแสดงความเห็นหรือแชร์ข้อความในโลกออนไลน์ การกำหนดโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา ยังเป็นปัญหาจากความรุนแรงของโทษที่เกิดขึ้นจากมาตรา 112 รวมทั้งทัศนคติหรืออุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม 

.

.

สถานการณ์ช่วงประชุม APEC2022 เข้มข้น ท่ามกลางการคุกคามจากรัฐ-การจับกุมดำเนินคดี

กลางเดือนพฤศจิกายน ยังมีสถานการณ์ทางการเมืองเข้มข้นเนื่องจากการจัดประชุม #APEC2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และภาคประชาสังคมหลายส่วนได้เคลื่อนไหวชี้ประเด็นปัญหาจากการประชุม แต่กลับเผชิญกับการปิดกั้นการแสดงออกและการชุมนุมอย่างเข้มข้นของเจ้าหน้าที่รัฐ 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีทั้งในด้านที่กลุ่มชาวบ้าน ภาคประชาสังคม และนักกิจกรรม ในหลายจังหวัด ไม่น้อยกว่า 61 กรณี เผชิญกับการคุกคามติดตามข้อมูลของเจ้าหน้าที่รัฐ แม้หลายคนจะไม่ได้เคลื่อนไหวใดๆ ก็ตาม และด้านของการใช้ความรุนแรงพยายามหยุดยั้งและสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ทำให้มีทั้งผู้ได้รับบาดเจ็บ และผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีถึง 26 คน โดยแม้ไม่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจยังใช้อำนาจปราบปรามการชุมนุมอย่างเข้มข้น ทั้งนำข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215-216 มาใช้อย่างต่อเนื่อง

ต่อมา ภายหลังเหตุการณ์ ตำรวจยังทยอยออกหมายเรียกนักกิจกรรมที่ไปแสดงออก มาดำเนินคดีอีก ทั้งกรณีนักกิจกรรมแต่งชุดหมีพู-ชูป้ายประท้วงการประชุมเอเปค และถูกเจ้าหน้าที่ห้ามปราม จนเกิดเหตุชุลมุนกับเจ้าหน้าที่ แต่กลับมีการดำเนินคดีต่อสู้ขัดขวางและทำร้ายเจ้าพนักงานตามมา รวมทั้งยังมีหมายเรียกจากการชุมนุมในช่วงดังกล่าว ที่ยังไม่ได้เข้ารับทราบข้อหาอีกด้วย

.

.

คดีในเดือนที่ผ่านมา ยังมีคดีใหม่ๆ ที่น่าสนใจเกิดขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง ได้แก่ คดีของ “จินนี่” จิรัชยา มวลชนที่ถูกจับกุมในคดีข้อหาดูหมิ่นศาลเป็นครั้งที่ 2 จากกรณีไปร่วมปราศรัยที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ในช่วงเดือนสิงหาคม ศาลอาญากรุงเทพใต้ซึ่งเป็นผู้กล่าวหา และออกหมายจับในคดีนี้ ยังเป็นศาลที่ไม่ให้ประกันตัวในระหว่างชั้นสอบสวนด้วย ทำให้เธอต้องถูกคุมขังในเรือนจำเป็นครั้งที่ 2

นอกจากนั้น ยังมีคดีของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่เข้ารับทราบข้อหาคดีหมิ่นประมาท พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณีถูกอภิวัฒน์ ขันทอง ทนายความของ พล.อ.ประยุทธ์ ไปกล่าวหาไว้ที่ สน.นางเลิ้ง กรณีทวิตข้อความเกี่ยวกับ “นายกโจร” 

ที่จังหวัดเชียงใหม่ ยังมีคดีน่าจับตา ได้แก่ คดีที่อาจารย์และนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ รวม 3 คน ถูกมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มอบอำนาจให้อดีตคณบดีวิจิตรศิลป์ไปกล่าวหาเรื่องการบุกรุกหอศิลป์ และทำให้เสียทรัพย์ จากกรณีร่วมกันทวงคืนเข้าไปใช้หอศิลป์ในการแสดงงานศิลปะระหว่างการศึกษาของนักศึกษา เมื่อเดือนตุลาคม 2564 หลังจากที่ทางคณะไม่มีการตอบเรื่องการอนุญาตให้ใช้สถานที่ คดีเงียบอยู่ในมือตำรวจกว่า 1 ปี จนเพิ่งมีการออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาในเดือนที่ผ่านมา

.

.

แนวโน้มคดีชุมนุมโดยสงบ ศาลยังพิพากษายกฟ้องต่อเนื่อง แต่ประชาชนมีภาระต่อสู้คดียาวนาน

ในเดือนพฤศจิกายน คดีข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ดำเนินต่อเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมืองช่วงปี 2563-64 ศาลยังคงทยอยมีคำพิพากษายกฟ้องเพิ่มเติมอีก 5 คดี ทั้งคดีของสมบัติ ทองย้อย ซึ่งต้องต่อสู้คดีชุมนุม #ม็อบ18ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย วันที่ 18 ต.ค. 2563 ระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำในคดีมาตรา 112, คดีของธัชพงศ์ แกดำ ในการชุมนุมเดียวกันนี้, คดีคาร์ม็อบจังหวัดกระบี่ 2 คดี และคดีชุมนุม #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ รวมทั้งมีคดีคาร์ม็อบปัตตานี 2 คดี ที่ศาลยกฟ้องจำเลย 2 ราย แต่เห็นว่าจำเลยรายหนึ่งยังมีความผิดอยู่

ขณะที่คดีจากการชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง ตั้งแต่ปี 2561 อย่างคดี ARMY57 ในส่วนของแกนนำ 10 คน ที่มีข้อหาหลักตามมาตรา 116 นั้น ศาลอาญาก็เพิ่งมีคำพิพากษายกฟ้องไป หลังการต่อสู้คดีกว่า 4 ปีแล้ว โดยวินิจฉัยว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบ และเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ

จะเห็นได้ว่า แม้สุดท้ายคดีจำนวนมากจะสิ้นสุดโดยผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิดใด แต่ก็ต้องใช้ระยะเวลาการต่อสู้อย่างต่ำ 1 ปี ขึ้นไป ยิ่งเป็นคดีที่มีผู้ถูกกล่าวหาจำนวนมาก หรือมีการอุทธรณ์-ฎีกาในศาลสูงขึ้นไป ก็มีระยะเวลาต่อสู้ยาวนานขึ้นไปอีก สร้างภาระทั้งด้านระยะเวลา ค่าใช้จ่าย ต้นทุนในชีวิต ให้กับนักกิจกรรมหรือประชาชนที่ต่อสู้คดี 

กระบวนการยุติธรรมที่ปล่อยให้คดีเช่นนี้ดำเนินไปจำนวนมาก จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้อำนาจปราบปรามในสังคม น่าจะสะท้อนถึงปัญหาการใช้และตีความกฎหมายให้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง และปัญหาเชิงระบบที่ไม่มีกลไกหยุดยั้งกระบวนการใช้อำนาจรัฐเช่นนี้ ซึ่งต้องถูกพิจารณาเป็นโจทย์สำคัญเพื่อแก้ไขต่อไป

.

X