‘สายน้ำ’ นักกิจกรรมเยาวชนวัย 18 ปี เข้ารับทราบข้อกล่าวหา “ต่อสู้ขัดขวางตำรวจ” จากกิจกรรมแต่งหมีพู ชูป้ายประท้วง APEC

วันที่ 28 พ.ย. 2565 เวลา 13.00 น. ที่ สน.ปทุมวัน “สายน้ำ” (นามสมมติ) นักกิจกรรมเยาวชน อายุ 18 ปี เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ในข้อหา ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานฯ และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานฯ จากกรณีร่วมกับ “ตะวัน — ทานตะวัน ตัวตุลานนท์” เดินชูป้ายคัดค้าน APEC 2022 และนโยบายจีนเดียว ที่บริเวณหน้าโรงแรมสยามแคมปินสกี้ เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2565 ซึ่งในวันนี้มีเพียงสายน้ำที่เดินทางรับทราบข้อกล่าวหา เนื่องจากตะวันยังไม่ได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวน

ย้อนดูคลิปที่ใช้แจ้งข้อกล่าวหา >>> ตำรวจรวบป้ายผ้าคัดค้านเอเปคของตะวัน – สายน้ำ

ในคดีนี้ สายน้ำได้รับหมายเรียกลงวันที่ 20 พ.ย. 2565 ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา โดยในหมายเรียกที่ออกโดย ร.ต.ท.กตัญญู ศรีตัญญา รองสารวัตร (สอบสวน) สน.ปทุมวัน ระบุว่า คดีดังกล่าวมี ร.ต.ท.กตัญญู ศรีตัญญา เป็นผู้กล่าวหาด้วย

เวลา 13.30 น. สายน้ำและทนายความได้เดินทางมาถึง สน.ปทุมวัน เพื่อเข้าพบ ร.ต.ท.กตัญญู โดยมีประชาชนและสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งร่วมเดินทางเข้าให้กำลังใจและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดที่บริเวณหน้า สน.

ร.ต.ท.กตัญญู แจ้งพฤติการณ์แห่งคดี มีใจความสำคัญสรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2565 สายน้ำและตะวัน ได้ชูป้ายแสดงสัญลักษณ์คัดค้านการประชุม APEC 2022 และนโยบายจีนเดียว (One China) ที่บริเวณหน้าโรงแรมสยามแคมปินสกี้ โดยขณะเกิดเหตุพื้นที่โรงแรมดังกล่าว เป็นพื้นที่ควบคุมเนื่องจากเป็นที่พักของผู้นำประเทศที่มาเข้าร่วมการประชุม APEC

โดยก่อนหน้านั้น พ.ต.อ. พันษา อมราพิทักษ์ ผู้กำกับ สน.ปทุมวัน และฝ่ายสืบสวน สน.ปทุมวัน ได้เจรจาให้ทั้งสองไปแสดงสัญลักษณ์ที่บริเวณอื่น แต่ทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม ยังคงเดินชูป้ายมายังบริเวณที่เกิดเหตุ พ.ต.อ.พันษา จึงพยายามเข้ายึดป้ายประท้วงของตะวัน อ้างว่าขอตรวจสอบข้อความในป้าย ระหว่างนั้นสายน้ำได้ใช้กำลังเข้าประทุษร้าย พ.ต.อ.พันษา ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในขณะนั้น เป็นเหตุให้ พ.ต.อ.พันษา ได้รับบาดเจ็บ ภายหัลงเกิดเหตุ พ.ต.อ.พันษา จึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน

ทั้งนี้  พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาสายน้ำรวม 4 ข้อหา ได้แก่

1.ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 ต่อสู้ ขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่

2.ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ใช้กําลังทําร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ

3.ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 296 ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน

4.ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 ร่วมกันไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน

อย่างไรก็ตาม สายน้ำได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พร้อมทั้งไม่ขอลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา และเขียนข้อความว่า ‘หมีพูหยุด APEC’ แทน โดยจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมภายในวันที่ 20 ธ.ค.2565

หลังเสร็จสิ้นกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหา สายน้ำได้เปิดเผยความรู้สึกต่อคดีนี้ว่าเป็นการแจ้งความเพื่อกลั่นแกล้งกัน “เขาทำให้เราเสียเวลา แล้วก็ทำให้คดีมันเพิ่มมาอีกคดี เขาต้องการให้เราหยุดเคลื่อนไหว” โดยเขาได้กล่าวอีกว่าไม่ได้รู้สึกกังวลในเรื่องข้อหามาก เนื่องจากไม่ใช่ข้อหาที่มีโทษหนัก และพร้อมที่เดินหน้าจะสู้ต่อไป

สำหรับสายน้ำ เขาเป็นหนึ่งในเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และคดีนี้จะเป็นคดีแรกที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาไม่ใช่ในฐานะเยาวชน ซึ่งคดีจะถูกพิจารณาที่ศาลแขวงปทุมวัน

X