จับกุม “จินนี่” ดูหมิ่นศาลคดีที่ 2 เหตุปราศรัยหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ หลัง “ไบรท์-ชินวัตร” ถูกจับกุมในคดี 112 ก่อนศาลไม่ให้ประกัน ระบุเป็นอันตรายร้ายแรงต่อศาล

25 พ.ย. 2565 เวลา 13.55 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า จิรัชยา สกุลทอง หรือ “จินนี่” อายุ 54 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจาก สน.ยานนาวา รวม 8 นาย ได้สนธิกำลังเข้าจับกุมที่บริเวนหน้าห้างโรบินสัน ถนนเจริญกรุง ซึ่งขณะนั้นจิรัชยากำลังขับจักรยานยนต์กลับจากศาลอาญากรุงเทพใต้ หลังจากที่ไปติดตามเรื่องที่กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ยื่นถอนประกันนักกิจกรรมการเมืองที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ 

หลังให้จิรัชยาจอดรถแล้ว ตำรวจได้แสดงหมายจับและอ่านให้ฟัง ระบุว่า เป็นการจับกุมตามหมายจับที่ จ.677/2565 ออกโดยศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2565 ในข้อหา ดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี, หมิ่นประมาทโดยการโฆษณาฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ก่อนแจ้งว่าจะพาตัวไปทำบันทึกจับกุมที่ สน.ยานนาวา และได้ให้จิรัชยานั่งซ้อนท้ายจักรยานยนต์ของตำรวจเพื่อไปที่ สน.ยานนาวา

อย่างไรก็ตาม หลังจากเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมควบคุมตัวจิรัชยาไปถึง สน.ยานนาวา แล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งว่าจะพาจิรัชยาไปที่สโมสรตำรวจแทน ก่อนจะพาไปขึ้นรถกระบะสี่ประตู โดยมีตำรวจนอกเครื่องแบบนั่งประกบอยู่ในรถด้วย 

เวลา 14.05 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขับเปลี่ยนเส้นทางกลับมาที่ สน.ยานนาวา เหมือนเดิม โดยก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขับรถวนที่บริเวณถนนสาธรหลายครั้ง สืบเนื่องจากมีกลุ่ม ศปปส. อยู่จำนวนหนึ่งรออยู่บริเวณหน้า สน.ยานนาวา   

สำหรับบันทึกการจับกุมระบุว่า การจับกุมอยู่ภายใต้การอำนวยการของ พ.ต.อ วุฒิชัย ไทยวัฒน์ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 รักษาราชการแทน ผู้กำกับ สน.ยานนาวา โดยมีจุดจับกุมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.ยานนาวา รวมทั้งสิ้น 8 นาย

ในชั้นจับกุม จิรัชยาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และปฏิเสธจะลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม แต่ยอมรับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับจริง และประสงค์ให้มีทนายความอยู่ร่วมในกระบวนการด้วย 

เหตุการณ์ไลฟ์สดขณะจับกุม>>https://www.facebook.com/1000850904033

.

แจ้ง 3 ข้อหา เหตุปราศรัยวิจารณ์การทำงานของศาล เรียกร้องสิทธิการประกันตัว “ชินวัตร” ในคดีมาตรา 112 

สำหรับพฤติการณ์คดี พนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา บรรยายโดยสรุปว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ เจ้าหน้าที่ตํารวจได้จับกุมตัว “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  จากเหตุเข้าร่วมปราศรัยกิจกรรมเรียกร้องขอคืนสิทธิการประกันตัวให้ “บุ้ง-ใบปอ” นักกิจกรรมทะลุวัง โดยพนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา ได้ยื่นคําร้องขอฝากขังชินวัตรต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2565

ต่อมา จิรัชยาได้นําเหตุที่ศาลออกพิจารณาคําร้องฝากขังของพนักงานสอบสวน มากล่าวปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียงที่หน้าศาลแพ่งกรุงเทพใต้ มีข้อความบางตอนว่า

“ก็อยากเล่าให้ฟังนะคะ วันนี้เราเข้าไปที่ชั้น 4 ห้องพิจารณาคดี 404 ก็มาบอกเล่าเก้าสิบว่า ลูกชายของไบรท์ ชินวัตร ในวัยที่เค้ากําลังเรียกว่าเจริญเติบโต แต่เค้าเห็นพ่อเค้าโดนจับใส่ กุญแจมือออกมาจากกรงขัง เดินออกมาน้องก็งอแง ไม่เห็นพ่อแล้ว พอพ่อก็ไปห้องพิจารณาคดี น้องก็งอแง แล้วก็พยายามที่จะร้องไห้ตลอดเวลา สิ่งที่ ไบรท์ ชินวัตร ตอนนี้ได้รับก็คือมองแล้วรัดทด คือสิ่งที่ไม่เป็นธรรมสําหรับพวกเราเลย…”

“…แล้วตุลาการก็รับแจ้ง ตํารวจก็รับแจ้งความ นี่คือความอัปยศที่สุดตั้งแต่ขั้นตอนแรกแล้ว ที่พวกเหี้ยสารเลวทั้งหลายที่ไปแจ้งความในคดีนี้ ตั้งแต่ขั้นตอนแรกแล้วที่ตํารวจไม่ควรที่จะรับแจ้งความ สน.ยานนาวา นี่ตัวดี แต่ก็รับแจ้งความ ตุลาการสารเลวก็ตัวดี ไม่ได้คิดถึงวิชาชีพตัวเอง ไม่ได้คิดถึงจริยธรรมใดๆ เลยนะ เราเรียกร้องอยู่ทุกวันนี้ เรียกร้องเพื่อคนส่วนรวม เรียกร้องเพื่อสิทธิเสรีภาพของความเป็นคน ไม่ใช่ เฉพาะพวกเรา เป็นของทุก ๆ คน คนทุกคนมันมีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว การออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็น แบบไหน อย่างไร เค้ามีกฎหมายกันอยู่แล้ว แต่ที่พวกคุณทําอยู่ทุกวันนี้มันเป็นกฎหมา มันเป็นกฎหมายไม่ได้…”

พนักงานสอบสวนระบุว่า คำปราศรัยดังกล่าวมีข้อความที่เป็นการดูหมิ่นศาลหรือหมิ่นประมาทศาลหรือผู้พิพากษาที่ทำให้ได้รับความเสียหาย คือข้อความว่า “แล้วตุลาการก็รับแจ้ง ตํารวจก็รับแจ้งความ นี่คือความอัปยศที่สุดตั้งแต่ขั้นตอนแรกแล้ว ที่พวกเหี้ยสารเลวทั้งหลายที่ไปแจ้งความในคดีนี้ ตั้งแต่ขั้นตอนแรกแล้วที่ตํารวจไม่ควรที่จะรับแจ้งความ สน.ยานนาวา นี่ตัวดี แต่ก็รับแจ้งความ ตุลาการสารเลวก็ตัวดี ไม่ได้คิดถึงวิชาชีพตัวเอง ไม่ได้คิดถึงจริยธรรมใดๆ เลยนะ” และ “แต่ที่พวกคุณทําอยู่ทุกวันนี้มันเป็นกฎหมา มันเป็นกฎหมายไม่ได้”

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาจิรัชยา 3 ข้อหา ได้แก่ “ดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198, “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณาฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 และ “ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต” ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง มาตรา 4 

.

ตร.ยื่นฝากขัง ก่อนศาลไม่ให้ประกัน ระบุ “พฤติการณ์อันตรายร้ายแรงต่อศาลในการปฎิบัติหน้าที่”

หลังจากสอบคำให้การเสร็จสิ้นแล้ว จิรัชยาได้ถูกควบคุมตัวไว้ที่ สน.ยานนาวา 1 คืน ก่อนในวันที่ 26 พ.ย. 2565 พนักงานสอบสวนได้ยื่นขออำนาจศาลอาญากรุงเทพใต้ฝากขัง พร้อมคัดค้านการประกันตัวโดยระบุว่า คดีมีอัตราโทษสูง ผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีในความผิดลักษณะเดียวกันมาก่อน เกรงว่าจะหลบหนี และไปยุ่งเหยิงกับพยานบุคคลในคดีนี้

ด้านทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางเงินสดจำนวน 70,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ เป็นหลักประกัน

เวลา 13.13 น. ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระบุว่า 

“พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าการที่ผู้ต้องหากล่าวข้อความ ดูหมิ่นเหยียดหยาม และใส่ร้ายผู้พิพากษาหรือศาล ด้วยถ้อยคำหยาบคายและไม่เป็นจริง เพื่อประสงค์กดดันการทำงานของศาล ต้องการใช้กฎหมู่ให้อยู่เหนือกฎหมายในเรื่องการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว ทำให้เห็นว่าผู้ต้องหากระทำการโดยไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง ถือเป็นอันตรายร้ายแรงต่อศาลในการปฎิบัติหน้าที่ หากปล่อยตัวไปเกรงว่าจะไปก่อภัยอันตราย หรือสร้างความเสียหายที่เกิดจากการปล่อยชั่วคราว ทั้งคดีมีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวไปเกรงว่าจะหลบหนี จึงมีคำสั่งไม่อนุญาต ยกคำร้อง”

ลงนามโดย ไพบูลย์ ทองน่วม รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้

หลังศาลอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาและไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างสอบสวน ทำให้เย็นวันนี้จิรัชยาจะถูกส่งตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางทันที ซึ่งเป็นการหวนเข้าสู่เรือนจำครั้งที่ 2 หลังเคยถูกขังระหว่างสอบสวนอยู่นาน 9 วัน ในคดีดูหมิ่นศาลคดีแรก ระหว่างวันที่ 26 ส.ค. – 3 ก.ย. 2565   

อนึ่ง สำหรับคดีนี้นับเป็นคดี “ดูหมิ่นศาล” ที่จิรัชยาถูกกล่าวหาคดีที่ 2 แล้ว โดยก่อนหน้านี้เธอเคยถูกจับกุมและคุมขังในคคีดูหมิ่นศาล จากเหตุจากการปราศรัยวิจารณ์การทำงานของศาล ระหว่างกิจกรรมเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของ “บุ้ง-ใบปอ” ที่หน้าศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2565 ก่อนที่ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว และกำหนดเงื่อนไขห้ามผู้ต้องหาไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นในลักษณะเดียวกันนี้อีก 

ทั้งนี้ ข้อหา “ดูหมิ่นศาล” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 1-7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-14,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

การที่จิรัชยาไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างสอบสวนในวันนี้ ทำให้ตัวเลขของผู้ต้องขังทางการเมืองที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาเพิ่มขึ้นเป็น 10 ราย โดย 9 ราย ที่ถูกขังอยู่ก่อนหน้านี้ ได้แก่ คงเพชร, คทาธร, พรพจน์, สมบัติ, จตุพล, ณัฐพล, พลพล, วัชรพล และทัตพงศ์

.

ดูรายละเอียดเกี่ยวกับข้อหาดูหมิ่นศาล และสถิติคดีเพิ่มเติม

10 เรื่องควรรู้ว่าด้วยข้อหา “ดูหมิ่นศาล”

สถิติคดี “ละเมิดอำนาจศาล-ดูหมิ่นศาล” ปี 2564-65

X