แจ้ง “บุกรุก-ทำให้เสียทรัพย์” 3 อาจารย์-นักศึกษา ทวงคืนหอศิลป์ หลัง มช.มอบอดีตคณบดีวิจิตรศิลป์แจ้งความ – ชุลมุน ตร.ยึดงานศิลป์ทีมให้กำลังใจบาดเจ็บ 2

วันที่ 10 พ.ย. 2565 ที่สถานีตำรวจภูธรภูพิงคราชนิเวศน์ ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ และทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ บัณฑิตจากคณะเดียวกับอาจารย์ทั้งสอง เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกผู้ต้องหาฐาน ร่วมกันเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นฯ ในคดีที่มี อัศวิณีย์ หวานจริง อดีตคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ เป็นผู้กล่าวหา

เวลาประมาณ 13.00 น. บรรยากาศก่อนการรับทราบข้อกล่าวหาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้วางกำลังทั้งในและนอกเครื่องแบบราว 40 นาย ล้อมรอบพร้อมกับมีการตั้งรั้วเหล็กรอบอาคารสถานีตำรวจ ด้านนักศึกษา, นักกิจกรรม และอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาทิ ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์คณะสังคมศาสตร์, อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ และสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ได้เดินทางมาให้กำลังใจราว 30 คน

ต่อมานักศึกษาและนักกิจกรรมมีการแสดงออกด้วยการติดป้ายข้อความ เช่น หากไร้ซึ่งเสรีจะมีศิลปะไว้ทำไม, ศิลปะสั้นคดีนั้นยืดยาว, เสรีภาพปิดทำการ เป็นต้น จากนั้นจะมีการแสดงของกลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรม แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ามายึดอุปกรณ์ศิลปะและป้ายข้อความโดยไม่แจ้งสาเหตุ กลุ่มนักศึกษาจึงได้ยื้อแย่งป้ายข้อความคืนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจนเกิดเหตุชุลมุน ระหว่างนั้นเองตำรวจได้ใช้กำลังควบคุมตัวนักศึกษารายหนึ่งและพยายามกดลงกับพื้นก่อนที่จะมีผู้เข้าไปห้ามปราม

หลังจากนั้นปรากฎว่านักศึกษารายดังกล่าวมีบาดแผลบริเวณเอวด้านซ้ายพร้อมกับรอยขีดข่วนจากเล็บบริเวณแขนทั้งสองข้าง นอกจากนี้ประชาชนที่เข้าไปห้ามปรามตำรวจก็ถูกตำรวจกระชากตัวจากด้านหลังโดยมือไปโดนบริเวณหน้าอกด้วย ผู้เสียหายทั้งสองคนจึงได้ทำการลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้กำลัง ทำให้ทั้งสองได้รับบาดเจ็บจากการกระทำของเจ้าหน้าที่

ภาพขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปยึดป้ายผ้าของนักศึกษา
ภาพนักศึกษาที่ได้รับบาดเจ็บ

หลังเหตุการณ์ชุลมุนสิ้นสุดลง อาจารย์และบัณฑิตผู้ได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย พร้อมด้วยทนายความและอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เดินทางมาเป็นร่วมรับฟังการสอบสวน ได้เดินทางขึ้นไปยังห้องประชุมชั้น 3 ของ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดไว้ โดยมี ร.ต.ท.เมธาสิทธิ์ อาจองค์ และคณะพนักงานสอบสวนทำการแจ้งข้อกล่าวหา โดยแจ้งพฤติการณ์คดีโดยสรุปว่า

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2564 อัศวิณีย์ หวานจริง ได้เข้าแจ้งความว่า เมื่อเวลาประมาณ 13.30 น. ของวันที่ 16 -24 ต.ค. 2564 ต่อเนื่องกัน ทัศนัย เศรษฐเสรี พนักงานมหาวิทยาลัยประจําคณะวิจิตรศิลป์กับพวก ร่วมกันตัดโซ่ที่คล้องประตูรั้วทางเข้า-ออกหอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบริเวณหอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมฯ อีกทั้งร่วมกันตัดโซ่ที่คล้องประตูอาคารสํานักงานภายในหอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมฯ และร่วมกันบุกรุกเข้าไปภายในอาคารสํานักงานฯ เป็นเหตุให้ทรัพย์สินภายในหอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมฯ ได้รับความเสียหาย ได้แก่ โซ่และแม่กุญแจในบริเวณประตูรั้วทางเข้า กุญแจประตูหอศิลป์ (ทั้งด้านหน้า-ด้านหลัง) ประตูห้องควบคุมไฟฟ้า (ด้านหลังหอศิลป์) ผนังห้องภายในห้องนิทรรศการ กล้องวงจรปิด พื้นอิฐบล็อกที่จอดรถ โดยไม่ได้รับอนุญาต

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทําของ ทัศนัย เศรษฐเสรี กับพวกข้างต้นเป็นความผิดฐาน ร่วมกันบุกรุก โดยกระทําความผิดตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป และร่วมกันทําให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 362 และ 365 ทําให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับความเสียหายและเป็นผู้เสียหายจากการกระทําดังกล่าว จึงประสงค์แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดําเนินคดีกับทัศนัย เศรษฐเสรี กับพวก และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดดังกล่าวตามกฎหมาย โดยมีหนังสือจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แต่งตั้งและมอบอํานาจให้ อัศวิณีย์ หวานจริง คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ และกิตติ มาลีพันธุ์ ผู้ช่วยคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน รวมทั้งดําเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้องเพื่อให้พนักงานสอบสวนดําเนินการตามกฎหมาย

ด้านพนักงานสอบสวนแจ้งว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐาน “ร่วมกันเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการ ครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทําการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครอง อสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข โดยกระทําความผิดตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป และร่วมกันทําให้เสียหาย ทําลาย ทําให้เสื่อมค่าหรือทําให้ไร้ประโยชน์ฯ”

ศรยุทธ, ทัศนัย และยศสุนทร ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา พร้อมกับให้การถึงสถานะความเป็นอาจารย์และนักศึกษาที่มีสิทธิในการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว ส่วนรายละเอียดอื่นๆ จะขอให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อพนักงานสอบสวนภายในวันที่ 13 ธ.ค. 2565 ต่อไป หลังพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรมและลงบันทึกประจำวัน อาจารย์และบัณฑิตคณะวิจิตรศิลป์ทั้งสามพร้อมผู้ให้กำลังใจก็เดินทางกลับออกจาก สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ โดยพนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวไว้แต่อย่างใด

อ่านที่มาของคดี

ตร.ออกหมายเรียก 2 อาจารย์ – 1 นศ. รับทราบข้อหา เหตุเข้าทวงคืนหอศิลป์ มช. แสดงงานศิลปะเมื่อปี 2564

X