อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี 4 นักกิจกรรมชุมนุมหน้ารัฐสภาปี 63 ชี้ไม่มีหลักฐานว่าประทุษร้ายเจ้าพนักงาน-สถานที่ไม่ถึงกับแออัด

พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 (ศาลแขวงดุสิต) ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาดในคดีของ 4 นักกิจกรรมทางการเมือง ที่ถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 อันเนื่องมาจากการร่วมชุมนุมของ “คณะราษฎร” ที่หน้ารัฐสภา เกียกกาย เพื่อติดตามการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ยื่นต่อสภา เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 หรือ #ม็อบ17พฤศจิกา 

คดีนี้มี พ.ต.อ.สุรเดช พจนาวงษ์พานิช อดีตผู้กำกับการ สน.บางโพ กับพวกรวม 3 คน เป็นผู้กล่าวหาเอาไว้ที่ สน.บางโพ โดยมีนักกิจกรรมที่ถูกแจ้งข้อหา 4 คน ตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2563-ต้นปี 2564 ได้แก่ ชลธิชา แจ้งเร็ว, เอกชัย หงส์กังวาน, ภาณุพงศ์ จาดนอก และวีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล

.

หลังผ่านไปเกือบ 2 ปี ล่าสุด พนักงานอัยการได้มีหนังสือแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องคดีลงวันที่ 8 ธ.ค. 2565 ถึงผู้กำกับการ สน.บางโพ แล้ว โดยคำสั่งไม่ฟ้องมีเนื้อหาโดยสรุปพิจารณาเห็นว่า แม้มีผู้กล่าวหากับพวกเป็นพยานประกอบรายงานการสอบสวนในสำนวน ยืนยันว่ามีผู้ร่วมชุมนุมคณะราษฎร 2563 ฝ่าแนวกั้น โดยรื้อลวดหนามและแนวแบริเออร์ ขว้างปาสิ่งของและก้อนหินใส่มวลชนกลุ่มไทยภักดีและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดึงลากรถเมล์ รถบัส ปล่อยยางรถตำรวจ รถน้ำ อันเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดยืนยันว่าผู้ต้องหาทั้งสี่อยู่ตำแหน่งใดในกลุ่มผู้ชุมนุมขณะเกิดเหตุ

เมื่อพิจารณาจากบริเวณที่เกิดเหตุที่มีบริเวณกว้าง และมีผู้ชุมนุมกว่า 2,000-6,000 คน โดยสภาพไม่อาจถือได้ว่าผู้ชุมนุมมีการแบ่งหน้าที่กันทำอย่างชัดเจน โดยเจตนาเอาการกระทำทุกอย่างของผู้ร่วมชุมนุมคนอื่นทุกๆ คน เป็นการกระทำของตนเอง ไม่ปรากฏพฤติการณ์บ่งชี้ว่า ผู้ต้องหาทั้งสี่เป็นผู้ใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าพนักงาน หรือก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง

ความผิดฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มุ่งหมายที่จะเอาผิดกับผู้จัดกิจกรรมหรือผู้ที่ทำให้กิจกรรมเกิดมีขึ้น ซึ่งไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาทั้งสี่ มีการขึ้นกล่าวปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียง และไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าผู้ต้องหาทั้งสี่เป็นผู้เขียนข้อความบนเฟซบุ๊ก “เยาวชนปลดแอก Free Youth” เชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปมาร่วมกิจกรรม หรือเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หรือแสดงออกโดยชัดเจนว่ามีการออกแบบ หรือจัดเตรียมสถานที่ชุมนุมมาตั้งแต่ต้น ทั้งไม่ปรากฏว่ารถบรรทุกเครื่องขยายเสียงที่ใช้ทำกิจกรรมมีความเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาทั้งสี่อย่างไร 

ผู้ต้องหาทั้งสี่จึงไม่ใช่ผู้ดูแลหรือผู้รับผิดชอบในการจัดการชุมนุม จึงไม่มีหน้าที่ขออนุญาตจัดการชุมนุมจากเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ และไม่มีหน้าที่โดยตรงในการจัดมาตรการป้องกันโรคเพื่อให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติ การกระทำของผู้ต้องหาทั้งสี่ไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากฯ และร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมรวมกลุ่มเพื่อการชุมนุมใดๆ โดยไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคฯ

ส่วนความผิดฐานร่วมกันชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นกฎหมายลำดับต่ำกว่าข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การพิจารณาว่าการกระทำใดเป็นความผิดตามประกาศต้องพิจารณาประกอบกฎหมายลำดับศักดิ์เหนือกว่า ซึ่งข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 1 ข้อ 5 บัญญัติว่าห้ามไม่ให้มีการชุมนุมการทำกิจกรรมหรือการมั่วสุม ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้จะต้องเป็นการชุมนุมหรือทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมในสถานที่แออัด ซึ่งหมายถึงเป็นสถานที่ที่มีผู้ชุมนุมอยู่หนาแน่นตลอดพื้นที่จนเป็นเหตุให้บุคคลที่เข้าร่วมชุมนุมในสถานที่ดังกล่าว ไม่สามารถเว้นระยะห่างระหว่างกันได้ ทำให้เกิดสภาพแออัดอันเสี่ยงต่อการสัมผัสใกล้ชิดสัมผัสและแพร่เชื้อโควิด-19

เมื่อบริเวณที่เกิดเหตุ มีลักษณะเป็นพื้นที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเท มีพื้นที่ว่างให้บุคคลสามารถยืนโดยเว้นระยะห่างเพียงพอ สถานที่ชุมนุมจึงไม่มีลักษณะเป็นสถานที่แออัด ไม่ถือว่าผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมในสถานที่แออัด แม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ต้องหาทั้งสี่เข้าร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุ ก็ไม่เป็นความผิดตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง

คำสั่งไม่ฟ้องลงนามโดย พ.ต.ท.ธรรมปพนธ์ วงศ์ชนะภัยพาล อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

.

ขณะเดียวกันกรณีจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 นั้น ยังมีอานนท์ นำภา และพริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่ถูกกล่าวหาแยกไปเป็นอีกคดีหนึ่ง โดยถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 เพิ่มเติมจากข้อหาเดียวกับนักกิจกรรมทั้งสี่คนข้างต้นด้วย และคดีนี้ถูกสั่งฟ้องที่ศาลอาญาไปแล้ว โดยอยู่ระหว่างรอการสืบพยานในช่วงปลายปี 2566

ทั้งนี้ การชุมนุมหน้ารัฐสภา บริเวณแยกเกียกกาย เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 เพื่อติดตามการพิจารณาลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ รวมถึงร่างฉบับประชาชนที่มีประชาชน 100,732 รายร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างนั้น เจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนได้ฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมี รวมทั้งมีการใช้แก๊สน้ำตา เข้าสลายการชุมนุมของประชาชน จนมีผู้ชุมนุมตลอดประชาชนที่เดินทางผ่านได้รับบาดเจ็บหลายราย  อีกทั้งระหว่างการชุมนุมยังมีการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มไทยภักดี ที่นัดหมายชุมนุมในพื้นที่เดียวกัน จนเกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมสองฝ่ายเป็นเวลาช่วงหนึ่ง โดยไม่มีเจ้าหน้าที่เข้าระงับเหตุ

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยภาพรวมจนถึงวันที่ 26 ธ.ค. 2565 มีคดีข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 ที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องไปแล้วอย่างน้อย 34 คดี

.

X