มกราคม 2566: จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองยอดรวม 1,890 คน ใน 1,169 คดี

ผ่านเดือนแรกของปี 2566 สถานการณ์คดีทางการเมืองยังเป็นไปอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการที่ศาลสั่งถอนประกันตัว “ใบปอ-เก็ท” ในคดีมาตรา 112 ติดตามมาด้วยการยื่นขอถอนประกันตัวเองของ “ตะวัน-แบม” ที่นำไปสู่การถกเถียงเรื่องสิทธิการประกันตัวและปัญหาในกระบวนการยุติธรรม ขณะที่ศาลชั้นต้นยังทยอยมีคำพิพากษาคดีต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งคดีมาตรา 112 จำนวน 6 คดี, คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก 8 คดี พร้อมกับการที่ตำรวจยังดำเนินคดีมาตรา 112 คดีใหม่เพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 4 คดี 

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,890 คน ในจำนวน 1,169 คดี  

ในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 284 ราย ใน 211 คดี โดยแยกเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 41 คน และเยาวชนอายุระหว่าง 15-18 ปี จำนวน 243 คน

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนธันวาคม 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 2 คน คดีเพิ่มขึ้น 4 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) โดยเป็นเด็กเยาวชนรายใหม่ 1 ราย

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,772 ครั้ง

สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 228 คน ในจำนวน 247 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 128 คน ในจำนวน 40 คดี

3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,467 คน ในจำนวน 663 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง) 

หมายเหตุ จำนวนคนลดลงจากเดือนธันวาคม 2565 จำนวน 2 ราย เนื่องจากทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเพิ่งพบการนับสถิติคลาดเคลื่อน โดยพบผู้ถูกดำเนินคดีที่ถูกกล่าวหาหลายคดี ไม่ได้ถูกนับจำนวนซ้ำ จึงปรับแก้ไขสถิติใหม่

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 132 คน ในจำนวน 76 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 159 คน ในจำนวน 179 คดี

6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 36 คน ใน 20 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 27 คน ใน 8 คดี

จากจำนวนคดี 1,169 คดีดังกล่าว มีจำนวน 301 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 868 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่างๆ

.

.
แนวโน้มเกี่ยวกับการดำเนินคดีในช่วงเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา มีสถานการณ์สำคัญ ดังต่อไปนี้

คดี ม.112 เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4 คดี จับตาสถานการณ์ตำรวจย้อนแจ้งข้อหาเหตุตั้งแต่ช่วงปี 2563-64

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เท่าที่ทราบข้อมูล เพิ่มขึ้นในเดือนที่ผ่านมาจำนวน 3 ราย ใน 4 คดี ได้แก่ คดีของ “อาเล็ก” โชคดี ร่มพฤกษ์ ศิลปินเพลงราษฎร ที่ถูกแจ้งข้อหาที่ สน.นางเลิ้ง จากการร้องและไลฟ์สดเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” ของวงไฟเย็น ระหว่างกิจกรรมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 คดีนี้นับเป็นคดีที่ 3 แล้ว ที่มีที่มาจากการร้องเพลงนี้

นอกจากนั้น ยังมีคดีของ “ตี๋” นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ถูกตำรวจ สภ.เมืองพิษณุโลก แจ้งข้อหาทั้งที่ไปพบโดยหมายเรียกพยาน จากการเผยแพร่หนังสือรวมบทคำปราศรัยคัดสรรคดี 112 ในระหว่างงานรับปริญญาช่วงปลายปี 2564 โดยที่เหตุการณ์เกิดขึ้นมากว่า 1 ปี เศษ แต่ตำรวจกลับเพิ่งมีการดำเนินคดี 

เช่นเดียวกับคดีของ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ ที่ถูกตำรวจ สน.นางเลิ้ง ย้อนแจ้งข้อกล่าวหาจากการปราศรัยตั้งแต่การชุมนุมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 หลังจากผ่านมากว่า 2 ปี โดยคดีมี ปารีณา ไกรคุปต์ เป็นผู้กล่าวหา 

สถานการณ์ดังกล่าวจึงต้องจับตาแนวโน้มของการที่ตำรวจนำคดีที่มีเหตุจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงปี 2563-64 มาย้อนแจ้งข้อกล่าวหา 

ขณะเดียวกัน ยังมีกรณีของเด็กหญิงวัย 14 ปี ที่ได้รับหมายเรียกของ สน.สำราญราษฎร์ โดยยังไม่ทราบเหตุที่ถูกกล่าวหา เพราะขอเลื่อนการรับทราบข้อหาออกไป แต่กรณีนี้นับได้ว่าเป็นเด็กอายุน้อยที่สุดเท่าที่ทราบข้อมูลว่าถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ในขณะนี้

.

.

ในเดือนที่ผ่านมา ยังมีผู้ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 ระหว่างพิจารณา เพิ่มขึ้นถึง 5 ราย ทั้งกรณีของการที่ถูกศาลถอนประกันตัวอย่างเก็ทและใบปอ และกรณีของตะวันและแบม สองผู้ยื่นขอถอนประกันตัวเอง เพื่อเรียกร้องต่อกระบวนการยุติธรรม นอกจากนั้นยังมีกรณีของสิทธิโชค ไรเดอร์ ผู้ถูกคุมขังหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำคุก 2 ปี 4 เดือน โดยเขาไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คดี

เดือนที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นยังมีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ออกมาอีก 6 คดี โดยมีคดีที่ศาลลงโทษจำคุกสูงที่สุดในยุคหลังปี 2563 คือคดีของ “บัสบาส” มงคล ถิระโคตร ที่ถูกศาลจังหวัดเชียงรายพิพากษาจำคุก 28 ปี จากการโพสต์ข้อความที่ศาลเห็นว่ามีความผิด 14 ข้อความ หากกรณีของบัสบาสแตกต่างจากคดีของสิทธิโชค ที่ยังได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์

ขณะที่ยังมีคดีที่ศาลพิพากษายกฟ้องใน 3 คดี โดยเป็นคดีที่จังหวัดลำปาง 2 คดี ได้แก่ คดีของ “ไลลา” บัณฑิตจากธรรมศาสตร์ที่ถูกกล่าวหาว่าได้ร่วมกันปลดพระบรมฉายาลักษณ์ระหว่างการชุมนุมในมหาวิทยาลัยเมื่อปี 2563 และคดีของ 5 ประชาชนที่ถูกกล่าวหาจากการแขวนป้ายข้อความ “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID19” ที่ศาลเห็นว่าไม่ได้เข้าองค์ประกอบมาตรา 112 แต่อย่างใด

นอกจากนั้นยังมีคดีของ “นคร” ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษายกฟ้อง เพราะเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่น่าเชื่อถือ พิสูจน์ไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดจริง

การต่อสู้คดีและคำพิพากษาของศาลที่จะทยอยออกมาในคดีมาตรา 112 ตลอดปีนี้ รวมถึงปัญหาการประกันตัวในระหว่างชั้นอุทธรณ์-ฎีกา จึงยังเป็นสถานการณ์ที่ต้องจับตาใกล้ชิดต่อไป

.

.

คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลยกฟ้องต่อเนื่องทั้งเดือน 6 คดี ขณะที่สยามพารากอนกล่าวหาคดีนักกิจกรรมบุกรุก

เดือนที่ผ่านมา มีคดีที่เกี่ยวเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองเพิ่มขึ้น 1 คดี ได้แก่ กรณีที่มีนักกิจกรรมและประชาชนไปทำกิจกรรมประณามการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ในการสลายการชุมนุมช่วงประชุม APEC2022 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ในห้างสยามพารากอน ทำให้ทางห้างได้มอบอำนาจให้มีการแจ้งความดำเนินคดีฐานบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้ายและทำให้เสียทรัพย์ ที่ สน.ปทุมวัน โดยมีรายงานผู้ถูกดำเนินคดีถึง 9 ราย ซึ่งได้ทยอยเข้ารับทราบข้อกล่าวหาไปแล้ว 6 ราย

ขณะที่คดีจากการชุมนุมจำนวนมากที่ถูกฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังคงดำเนินต่อไปในศาล นักกิจกรรมและประชาชนหลายคนมีภาระต้องต่อสู้คดีเหล่านี้ตลอดปีที่ผ่านมา และในปีนี้ก็เช่นกัน โดยแนวโน้มส่วนใหญ่ศาลยังมีคำพิพากษายกฟ้อง ในเดือนมกราคม 2566 ก็มีคดีที่ศาลยกฟ้องเพิ่มอีก 6 คดี 

ที่น่าสนใจได้แก่ คดีของ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว ที่ถูกฟ้องจากเหตุการชุมนุมใหญ่ #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 16 ส.ค. 2563 เนื่องจากเป็นผู้แจ้งจัดการชุมนุม ศาลแขวงดุสิตได้พิพากษายกฟ้องทุกข้อกล่าวหา โดยวินิจฉัยไปถึงประเด็นว่าการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องเป็นไปเพื่อการป้องกันการแพร่กระจายของโควิด-19 ไม่ใช่เพื่อปราบปรามผู้ชุมนุมหรือการชุมนุมอย่างไร้เหตุผล โดยในระดับการป้องกันโควิด ในพื้นที่ชุมนุมขณะเกิดเหตุนั้น เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ยังไม่ถึงขนาดเสี่ยงต่อการแพร่โรค และสถานการณ์ติดเชื้อในขณะนั้นก็เป็นศูนย์

ขณะที่มีคำพิพากษาในเดือนมกราคม เพียง 2 คดี ที่ศาลเห็นว่ามีความผิดตามฟ้อง ได้แก่ คดีของสิทธิโชค ที่ถูกวินิจฉัยว่าฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ่วงไปกับข้อหามาตรา 112 และคดีของ “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ กรณีตั้งเวทีให้กำลังใจผู้ถูกดำเนินคดี 112 ที่หน้า สน.ยานนาวา ซึ่งศาลแขวงพระนครใต้วินิจฉัยไปในแนวว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ทำให้เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วย ให้ลงโทษปรับ 2,000 บาท ทั้งที่ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ นั้นระบุไว้อย่างชัดเจนว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่บังคับใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ

แม้จะไม่มีสถานการณ์ฉุกเฉินและสถานการณ์โควิด-19 ก็ลดระดับลงไปแล้วก็ตาม แต่คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง อีกไม่น้อยกว่า 540 คดี ยังไม่สิ้นสุดลง ในหลายคดี แม้ศาลยกฟ้อง แต่อัยการยังคงอุทธรณ์ต่อ และหลายคดีอัยการก็ยังคงมีคำสั่งฟ้องเป็นระยะ หากไม่มีความเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย คดีที่มาจากการเรียกร้องทางการเมืองเหล่านี้ ก็ยังดำเนินอยู่ต่อไป

.

ดนัย อุศมา ศิลปินผู้ถูกดำเนินคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และต่อสู้คดีมาเกือบ 3 ปีแล้ว

.

ศาลมีคำพิพากษาต่อเนื่องทั้งคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ – ละเมิดอำนาจศาล

คดีจากการแสดงออกอีกส่วนหนึ่ง ที๋ศาลมีคำพิพากษาออกมาหลายคดีในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้แก่ คดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และคดีละเมิดอำนาจศาลจากการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2564

ที่น่าสนใจ ได้แก่ คดีของดนัย อุศมา ศิลปินกราฟฟิตี้ภูเก็ต ซึ่งถูกกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) จากการโพสต์ข้อความว่าได้เดินทางกลับจากประเทศสเปน โดยที่ไม่พบเจ้าหน้าที่มาตรวจคัดกรองผู้โดยสารที่สนามบินสุวรรณภูมิ ในช่วงโควิดแพร่ระบาดเดือนมีนาคม 2563 แม้ก่อนหน้านี้ ศาลอาญาได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีไปแล้ว แต่อัยการโจทก์ได้อุทธรณ์คดีต่อ และศาลอุทธรณ์ได้กลับคำพิพากษา โดยเห็นไปแนวว่าภาพและข้อความของจำเลยอาจทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกได้ ทั้งที่จำเลยต่อสู้มาตลอดว่าโพสต์ข้อความตามที่เห็นว่าเกิดขึ้นจริง ไม่ได้มีเจตนาเผยแพร่ข้อมูลเท็จหรือสร้างความตื่นตระหนก โดยคดีนี้ฝ่ายจำเลยจะได้ฎีกาคำพิพากษาต่อไป

นอกจากนั้น ยังมีคดีของสมบัติ ทองย้อย กรณีถูกตัวแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปแจ้งความฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน และตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 16 จากการโพสต์เฟซบุ๊ก 2 ข้อความ ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้พิพากษาว่าจำเลยมีความผิด โดยเห็นว่าไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์อันมีมูลเหตุมาจากข้อเท็จจริง แต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยข้อมูลเท็จ โดยให้ลงโทษจำคุก 8 เดือน 20 วัน ไม่รอลงอาญา

ขณะเดียวกัน ก็มีคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตามมาตรา 14 (3) ที่ศาลยกฟ้องในเดือนที่ผ่านมา ได้แก่ คดีของประชาชน 2 คน ที่ศาลจังหวัดพัทยา กรณีทวีตภาพถ่ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ที่ถูกพ่นสีสเปรย์ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 โดยเห็นว่าโจทก์ไม่ได้บรรยายให้เข้าใจว่าเพียงว่าจำเลยนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรฐานใด

.

.

ในส่วนคดีละเมิดอำนาจศาล ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาใน 4 คดีรวด เหตุจากการชุมนุมบริเวณศาลในช่วงปี 2564 โดยทั้งหมด ศาลยังคงเห็นว่าจำเลยมีความผิด แต่ให้ลดอัตราโทษลง มีทั้งคดีของเบนจา, ณัฐชนน 2 คดี, คดีของเลิศศักดิ์และนวพล โดยมีกรณีของณัฐชนนที่ศาลพิพากษาให้กักขัง 1 เดือน และ 15 วัน ตามลำดับ ทำให้เขายังต้องประกันตัวออกมาสู้คดีในชั้นฎีกาต่อไป

สถานการณ์การดำเนินคดีดังกล่าว ทำให้ยังต้องจับตาการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และข้อหาอย่างละเมิดอำนาจศาล ที่ยังถูกใช้ดำเนินคดีต่อผู้แสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความอึดอัดคับข้องของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมและการใช้อำนาจรัฐของหน่วยงานต่างๆ

.

X