ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำคุก “เลิศศักดิ์-ไดโน่” คดีละเมิดอำนาจศาล 1 เดือน รอลงอาญา 1 ปี กรณีชุมนุมหน้าศาลอาญาให้กำลังใจ 18 แกนนำคดี #19กันยา

เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดี “ละเมิดอำนาจศาล” ของ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ แกนนำเครือข่าย People Go Network และ “ไดโน่” นวพล ต้นงาม นักกิจกรรมหมู่บ้านทะลุฟ้า เหตุร่วมชุมนุมเพื่อให้กำลังใจแกนนำในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร บริเวณหน้าศาลอาญา รัชดาฯ เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2564  

คดีนี้สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2564 พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องแกนนำและนักกิจกรรมในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร รวม 18 คน ต่อศาลอาญา อาทิ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก ระหว่างรอฟังคําสั่งในการขอปล่อยตัวชั่วคราวมีประชาชนที่มาติดตามและให้กำลังใจได้รวมตัวกันบริเวณหน้าศาลอาญา ซึ่งเป็นพื้นที่นอกรั้วศาล ประมาณ 100 คน โดยนวพลและเลิศศักดิ์ได้ปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 18 ราย 

ต่อมาทั้งสองถูกผู้อํานวยการสํานักอํานวยการประจําศาลอาญากล่าวหาว่า มีเจตนาที่จะให้มีเสียงดังก่อให้เกิดความรําคาญ ขัดขวางเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของศาล เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยภายในบริเวณศาลอาญา และกระทําการฝ่าฝืนข้อกําหนดของศาลอาญาเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยในศาล และบริเวณรอบศาล ศาลจึงตั้งเรื่อง “ละเมิดอำนาจศาล” กับทั้งสองขึ้น

ศาลได้นัดไต่สวนไปรวม 2 นัด ระหว่างวันที่ 15 มิ.ย. และ 22 ธ.ค. 2564 จากนั้นในนัดสุดท้ายศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาลงโทษในข้อหาละเมิดอำนาจศาล ให้จำคุกคนละ 1 เดือน พร้อมกับปรับคนละ 500 บาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้เป็นเวลา 1 ปี เนื่องจากทั้งสองไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน รวมถึงไม่ปรากฏความเสียหายอย่างอื่น เลิศศักดิ์และไดโน่ได้ชำระค่าปรับต่อศาลอาญาด้วยเงินของตัวเอง คนละ 500 บาท 

ต่อมา ทนายความได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นใน 2 ประเด็นหลักด้วยกัน ได้แก่

  1. คำร้องของผู้กล่าวหาอาศัยประกาศศาลอาญา เรื่องข้อกำหนดของศาลอาญามาร้องว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการละเมิดอำนาจศาล ผู้ถูกกล่าวหาเห็นว่า การออกประกาศศาลอาญาเรื่องดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาไม่มีอำนาจออกประกาศดังกล่าว การใช้ประกาศศาลอาญามาพิจารณาเพื่อลงโทษผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดข้อหาละเมิดอำนาจศาลจึงเป็นการพิจารณาพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย
  1. การกระทำของผู้กล่าวหาทั้งสองเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษผู้กล่าวหาในพฤติการณ์ที่ไม่ได้มีการบรรยายไว้ในคำกล่าวหาในคดีนี้ อันเป็นการพิจารณาพิพากษานอกเหนือคำกล่าวหาที่ศาลไม่อาจพิจารณาพิพากษาลงโทษได้ 

ศาลอุทธรณ์ชี้การกระทำของ “ไดโน่-เลิศศักดิ์” ไม่ใช่การใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ พิพากษายืน จำคุก 1 เดือน ปรับ 500 บาท และให้รอลงอาญา 1 ปีตามศาลชั้นต้น 

ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 809 เวลา 10.00 น. หลังผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองเดินทางมาถึง ได้นั่งรอศาลพิจารณาคดีอื่นก่อนนานประมาณ 20 นาที จากนั้นศาลจึงได้เริ่มอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ 

ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาโดยสรุปว่า การกระทำของจำเลยไม่ใช่การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ จะอ้างว่าเป็นการกระทำตามสิทธิอันพึงมีไม่ได้ เพราะสิทธิดังกล่าวมีข้อยกเว้นว่า จะต้องไม่ไปขัดขวางหรือรบกวนสิทธิของผู้อื่น เนื่องจากการกระทำของผู้ถูกกล่าวมีลักษณะทำให้ศาลถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ก่อให้เกิดความรำคาญ ขัดขวาง เป็นอุปสรรคในการพิจารณาคดี และการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ศาล และทำให้ประชาชนเข้าใจว่าผู้พิพากษาไม่มีความเป็นกลางในการพิจารณาคดี

ส่วนประเด็นอุทธรณ์ที่ว่า ผู้กล่าวหาอาศัยประกาศศาลอาญา เรื่องข้อกำหนดของศาลอาญา ซึ่งออกโดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มาร้องว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการละเมิดอำนาจศาลนั้นไม่ชอบด้วยกฏหมาย ศาลอุทธรณ์ได้แย้งว่า ตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาของศาลนั้นถือเป็นตุลาการและยังมีอำนาจในการพิจารณาคดีอีกด้วย พื้นที่ของศาลนั้นถือเป็นอำนาจของอธิบดีผู้พิพากษาในการบังคับใช้ข้อกำหนดเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ให้คู่ความเกิดความเดือดร้อน รำคาญ หรือฟุ่มเฟือยเวลาในการพิจารณาคดี ในกรณีนี้จึงไม่ใช่การที่อธิบดีผู้พิพากษาของศาลใช้อำนาจเกินขอบเขตของกฏหมายที่กำหนดไว้แต่อย่างใด และได้อ้างถึงข้อบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของผู้พิพากษา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ซึ่งได้บัญญัติหน้าที่ของผู้พิพากษาไว้ 7 ประการอีกด้วย

ศาลอุทธรณ์เห็นชอบแล้วกับศาลชั้นต้นที่ให้ลงโทษในฐานความผิด ละเมิดอำนาจศาล พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่ให้จำคุก 1 เดือน ปรับ 500 บาท และให้รอลงอาญาไว้เป็นเวลา 1 ปี 

ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษาจบ ทั้งนวพลและเลิศศักดิ์จึงไม่ต้องวางเงินประกัน และเดินทางกลับโดยทันที 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เปิดเนื้อหาไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล “เลิศศักดิ์-ไดโน่” เหตุร่วมให้กำลังใจแกนนำในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร

สั่งจำคุก 1 เดือน ปรับ 500 บาท รอลงอาญาไว้ 1 ปี ‘เลิศศักดิ์-ไดโน่’ คดีละเมิดอำนาจศาล เหตุชุมนุมให้กำลังใจแกนนำราษฎร หน้าศาลอาญา 

X