ข้อหา “ดูหมิ่นศาล” กลายมาเป็นประเด็นน่าจับตา ภายหลังมีการดำเนินคดีต่ออานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ พ.ต.ท.สุภารัตน์ คำอินทร์ ได้เป็นผู้ไปแจ้งความต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) กล่าวหาต่ออานนท์กรณีโพสต์เฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาในคดีของ 7 นักศึกษาถูกกล่าวหาละเมิดอำนาจศาลโดยศาลจังหวัดขอนแก่น
ข้อกล่าวหานี้คืออะไร สำคัญอย่างไร และมีประเด็นอะไรที่แวดล้อมข้อหานี้อยู่บ้าง ต่อไปนี้เป็น 10 ข้อมูลเบื้องต้น เกี่ยวกับข้อหาดูหมิ่นศาล เพื่อช่วยทำความเข้าใจการดำรงอยู่และการใช้ข้อกล่าวหานี้ในปัจจุบัน
.
.
- ข้อหา “ดูหมิ่นศาล” อยู่ในประมวลกฎหมายอาญา ในลักษณะที่ 3 ความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม หมวดที่ 1 ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ในมาตรา 198 บัญญัติว่า
“ผู้ใดดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี หรือพิพากษาคดี หรือกระทำการขัดขวางการพิจารณาหรือพิพากษาของศาล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
- ข้อหา “ดูหมิ่นศาล” แตกต่างจากข้อหา “ละเมิดอำนาจศาล” โดยข้อหาหลังถูกบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในมาตรา 30-33 มีลักษณะที่มุ่งคุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดีให้เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล และเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปตามอย่างเที่ยงธรรมและรวดเร็ว มาตราเหล่านี้จึงให้อำนาจศาลในการออกข้อกำหนดใดๆ แก่คู่ความ (มาตรา 30) หรือให้อำนาจศาลสามารถมีคำสั่งห้ามการออกโฆษณาต่อประชาชน ซึ่งข้อความหรือความเห็นในกระบวนการพิจารณาคดี เพี่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ (มาตรา 32)
ผู้ที่ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลเหล่านั้น หรือประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ก็จะถูกพิจารณาเป็น “การละเมิดอำนาจศาล” ได้ ทั้งนี้ตามมาตรา 33 ได้กำหนดบทลงโทษผู้ละเมิดอำนาจศาลไว้ว่าศาลสามารถสั่งไล่ออกจากบริเวณศาล หรือให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ข้อหาดูหมิ่นศาลจึงมีโทษที่รุนแรงกว่าข้อหาละเมิดอำนาจศาล
ในขณะที่ข้อหา “ดูหมิ่นศาล” มีลักษณะที่มุ่งคุ้มครองสถานะและอำนาจของศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี ข้อหา “ละเมิดอำนาจศาล” มีลักษณะที่มุ่งคุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดีให้ดำเนินไปโดยสงบเรียบร้อยและรวดเร็ว หากแต่ในทางปฏิบัติก็ยังมีลักษณะคลุมเครือในการตีความขอบเขตการกระทำที่นับเป็นความผิดในทั้งสองข้อหา
ดูเพิ่มเติมในรายงาน ขอบเขตการกระทำที่เป็นการละเมิดอำนาจศาล: มองกฎหมายต่างประเทศแล้วย้อนดูไทย และรายงานโดยไอลอว์ ดูหมิ่นศาล-ละเมิดอำนาจศาล กฎหมายปกป้องศาลจากการวิจารณ์
.
.
- ในข้อหาละเมิดอำนาจ กรณีที่มีการละเมิดต่อหน้าศาล และศาลพบเห็นเอง ศาลสามารถสั่งลงโทษผู้กระทำผิดได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องมีการสอบสวนหรือฟ้องร้อง มีลักษณะที่ศาลใช้อำนาจโดยรวบรัด ข้อหานี้ยังมีลักษณะพิเศษคือเป็นกฎหมายในส่วนแพ่ง แต่มีกำหนดบทลงโทษทางอาญาคือจำคุกเอาไว้ด้วย แม้ในทางทฤษฎีจะถือว่าไม่ใช่โทษทางอาญาก็ตาม
ในขณะที่คดีดูหมิ่นศาล ถือเป็นคดีอาญา ยังต้องมีกระบวนการร้องทุกข์กล่าวโทษ สอบสวน ฟ้องร้อง และกระบวนการพิจารณาคดีเป็นไปตามขั้นตอนของวิธีพิจารณาความอาญาตามปกติ แต่ความผิดฐานดูหมิ่นศาลถือได้ว่าเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่สามารถยอมความกันได้ และยังเปิดโอกาสให้ใครก็ได้ไปแจ้งความกล่าวโทษได้ การต้องโทษในคดีดูหมิ่นศาลย่อมส่งผลต่อคุณสมบัติในการประกอบอาชีพหลายอาชีพ รวมถึงวิชาชีพทนายความ
ข้อหาดูหมิ่นศาลยังแตกต่างจากข้อหาหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา โดยข้อหาหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดานั้น ผู้เสียหายต้องเป็นฝ่ายไปดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ด้วยตนเอง และสามารถยอมความกันได้ แต่การแจ้งความในคดีดูหมิ่นศาล ผู้เสียหายคือผู้พิพากษาหรือศาลนั้นๆ ซึ่งเป็นผู้เสียหาย อาจไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยเลยด้วยซ้ำ
นอกจากนั้น ทั้งในคดีดูหมิ่นศาลและละเมิดอำนาจศาล ผู้พิจารณาพิพากษาคดีล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลซึ่งอยู่ในสถาบันศาลเอง ซึ่งอาจจะส่งผลถึงความเป็นอิสระและความเป็นกลางได้ในทางปฏิบัติ
.
.
- ภายหลังเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 คณะรัฐประหารในยุคนั้นได้ออกคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 แก้ไขเพิ่มอัตราโทษในข้อกฎหมายหลายมาตราที่เกี่ยวกับการหมิ่นประมาทและดูหมิ่น หนึ่งในนั้นคือข้อหา “ดูหมิ่นศาล” ตามมาตรา 198 นี้เอง ที่ถูกแก้ไขจากโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท ให้มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-14,000 บาท มาจนถึงปัจจุบัน
เช่นเดียวกับข้อหาหมิ่นประมาทและดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ในมาตรา 112 ก็ถูกแก้ไขเพิ่มโทษจากคำสั่งของคณะรัฐประหาร หลัง 6 ตุลาคม 2519 ฉบับนี้เช่นกัน การเปลี่ยนแปลงของกฎหมายในเรื่องเหล่านี้ จึงสัมพันธ์กับบริบททางการเมืองอย่างยิ่ง
- หากพิจารณาคำพิพากษาศาลฎีกา มีคดีในข้อหา “ดูหมิ่นศาล” ที่ปรากฏเผยแพร่อยู่เว็บไซต์ศาลฎีกาไม่มากนัก จำนวนไม่ถึง 10 คดี หลายคดีมีลักษณะเป็นกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหายื่นเรื่องต่อหน่วยงานต่างๆ ขอให้ตรวจสอบผู้พิพากษาบางราย เนื่องจากเห็นว่าดำเนินการพิจารณาคดีโดยไม่เป็นธรรม แต่ผู้ร้องเรียนกลับถูกกล่าวหาว่าดูหมิ่นศาล
อาทิเช่น คดีที่จำเลยทำหนังสือยื่นต่อนายกรัฐมนตรี โดยร้องเรียนให้มีการตั้งกรรมการสอบสวนผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ได้พิจารณาคดีที่จำเลยฟ้องกระทรวงยุติธรรม โดยหนังสือมีการกล่าวหาว่าผู้พิพากษาทำผิดวินัยทุจริตต่อหน้าที่ จงใจตัดสินคดีโดยแหวกแนวนอกเหนือกฎหมาย และตัดสินความโดยความโง่เขลาไม่รอบรู้กฎหมาย คดีนี้ศาลฎีกาลงโทษจำคุก 6 เดือน แต่ให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี (ฎีกาที่ 580/2505)
อีกคดีหนึ่ง จำเลยถูกกล่าวหาว่าได้พูดกับหน้าบัลลังก์ว่า “ไม่นึกเลยว่าสำนวนนี้จะมาตกอยู่แก่คนๆ นี้” ทั้งจำเลยและพวกยังทำหนังสือถึงอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ร้องเรียนผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีของตนว่าดำเนินกระบวนพิจารณาคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีอคติลำเอียงเข้าข้างโจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นการใส่ความผู้พิพากษาท่านนั้นให้เสียชื่อเสียง จึงลงโทษจำคุก 2 เดือน (ฎีกาที่ 1456/2506)
ในอีกคดีหนึ่ง จำเลยกับพวกถูกกล่าวหาว่าได้ทำหนังสือร้องเรียนต่อปลัดกระทรวงยุติธรรมว่าผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนที่พิจารณาคดีของพวกตน ได้ไปร่วมรับประทานอาหารเลี้ยงกับฝ่ายโจทก์ หลังได้พิพากษาให้ฝ่ายโจทก์ชนะคดี แม้จำเลยที่ถูกกล่าวหาจะยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความจริง แต่คดีนี้ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นความเท็จ จึงพิพากษาจำคุก 2 ปี (ฎีกาที่ 1124/2507)
จะเห็นได้ว่าคดีตัวอย่างเหล่านี้ มีลักษณะเป็นกรณีที่ประชาชนหรือคู่ความในคดีพยายามร้องเรียนตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้พิพากษาในศาล แต่มักจะถูกพิจารณาว่าเป็นข้อร้องเรียนที่ไม่เป็นความจริง ทำให้กลับกลายเป็นการดูหมิ่นศาลไปเสียเอง รวมทั้งในคดีเหล่านี้ ศาลด้วยกันเองทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินพิพากษาคดีเอง แม้จะไม่ใช่ผู้พิพากษารายที่ได้รับ “ความเสียหาย” จากการร้องเรียนนั้นๆ โดยตรงก็ตาม
- ในขณะที่ข้อหาหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา (มาตรา 326) มีการกำหนดข้อยกเว้นทั้งในเรื่องการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม (มาตรา 329) การพิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง (มาตรา 330) รวมทั้งคู่ความหรือทนายความของคู่ความ ซึ่งแสดงความคิดเห็นต่อกระบวนพิจารณาคดีในศาล เพื่อประโยชน์แก่คดีของตน (มาตรา 331) ทั้งหมดนี้ถือว่าไม่มีความผิดในฐานหมิ่นประมาท
หากแต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าข้อยกเว้นเหล่านี้ จะถูกนำมาใช้พิจารณาร่วมกับข้อหาหมิ่นประมาทและดูหมิ่นที่ถูกบัญญัติไว้หมวดอื่นๆ รวมทั้งการดูหมิ่นศาลด้วยหรือไม่ แต่หากพิจารณาข้อหาหมิ่นประมาท-ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 ก็ไม่เคยมีแนวทางที่ศาลใช้ข้อยกเว้นในส่วนความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดามาใช้ในการพิจารณาร่วมด้วยแต่อย่างใด
.
.
- ภายหลังรับทราบข้อหาดูหมิ่นศาล ทำให้ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2557 ทนายอานนท์ นำภา ถูกดำเนินคดีทางการเมืองเป็นคดีที่ 7 แล้ว โดยแยกเป็นถูกกล่าวหาเรื่องไม่แจ้งจัดการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะจำนวน 2 คดี ได้แก่ คดีจัดกิจกรรมยืนเฉยๆ เรียกร้องให้ปล่อยตัววัฒนา เมืองสุข ที่ถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษปรับ 1,000 บาท และคดีจัดกิจกรรมยืนเฉยๆ เรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มแอดมินเพจเรารักประยุทธ์ ที่ถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร คดีนี้ไปถึงชั้นศาลอุทธรณ์ ลงโทษปรับ 1,000 บาท
ถูกกล่าวหาเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 1 คดี จากการจัดกิจกรรมรำลึกลุงนวมทอง คดีนี้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 200 บาท
ถูกกล่าวหาเรื่องการฝ่าฝืนคำสั่งคสช. ห้ามชุมนุมทางการเมืองจำนวน 2 คดี ได้แก่ คดีกลุ่มพลเมืองโต้กลับจัดกิจกรรมเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก และคดีร่วมกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ทั้งสองคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาในศาลทหาร
และถูกกล่าวหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 1 คดี จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวช่วงปี 2558 คดีนี้ยังอยู่ในชั้นสอบสวน
บทบาททางการเมืองของอานนท์ และการถูกดำเนินคดีเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสะท้อนภาพของการใช้ “กฎหมาย” เป็นเครื่องมือปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบของประชาชน ภายใต้ยุคของ คสช.
- ไม่นานมานี้ ยังมีทนายความสิทธิมนุษยชนด้านแรงงานอีกท่านหนึ่ง ได้แก่ ทนาย “สหรัถ” (นามสมมติ) ถูกดำเนินคดีถึง 2 คดี ทั้งในข้อหาละเมิดอำนาจศาล และข้อหาดูหมิ่นศาล-พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยถูกกล่าวหาว่าเขาและลูกความซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงานหลายคน รวมตัวกันแสดงความไม่พอใจที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีด้วยเหตุที่เขาไม่มาศาลในวันนัด เพราะเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่โทรศัพท์ไปแจ้งเลื่อนคดีแล้ว เมื่อได้เข้าพบผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน “สหรัถ” ถูกกล่าวหาว่าได้พูดจาแสดงความไม่พอใจว่าจะร้องเรียนศาล และต่อมาได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะว่า “วันนี้รู้แล้วว่าศาลแรงงานรับใช้นายทุน…”
ในคดีข้อหาดูหมิ่นศาล ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาพิพากษาให้ “สหรัถ” มีความผิด แต่ให้รอการกำหนดโทษไว้ 2 ปี ขณะที่ข้อหาละเมิดอำนาจศาลถูกดำเนินคดีโดยศาลแรงงานภาค 1 (สระบุรี) มีการต่อสู้ไปถึงชั้นศาลฎีกา และได้ถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 3 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ แม้ในคดีนี้ทางฝ่ายจำเลยจะพยายามต่อสู้ว่าการกระทำความผิดที่ถูกกล่าวหากระทำความผิดกรรมเดียว ไม่ควรต้องรับโทษสองครั้งก็ตาม
ดูเพิ่มเติมในฐานข้อมูลโดยไอลอว์ “สหรัถ”: ทนายแรงงานละเมิดอำนาจศาล
.
วัฒนา เมืองสุข เป็นอีกหนึ่งคนที่ถูกดำเนินคดีทั้งข้อหาดูหมิ่นศาล และละเมิดอำนาจศาล (ภาพจากวอยซ์ทีวี)
.
- นอกจากทนายอานนท์ที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาไปแล้ว ภายหลังการรัฐประหาร เท่าที่ปรากฏ ยังมีกรณีของนายวัฒนา เมืองสุข นักการเมืองพรรคเพื่อไทย ที่ถูกกล่าวหาด้วยข้อหา “ดูหมิ่นศาล” และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เช่นเดียวกัน โดยถูกกล่าวหาจากการโพสต์ในเฟซบุ๊กของตน มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์คสช. และวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำนวน 2 ข้อความ ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2560
คดีนี้วัฒนาถูกแจ้งข้อกล่าวหาโดย บก.ปอท. เช่นเดียวกัน โดยมีพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ รับมอบอำนาจจาก คสช. เป็นผู้แจ้งความกล่าวโทษ และยังอยู่ระหว่างการต่อสู้คดีเช่นกัน
.
ภาพอาจารย์สุดสงวน สุธีสร ถูกดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาล (ภาพจากมติชนสุดสัปดาห์)
.
- ขณะเดียวกันในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ข้อหา “ละเมิดอำนาจศาล” ที่อยู่ในกฎหมายแพ่ง ก็ถูกนำมาใช้กล่าวหาและดำเนินคดีนักการเมือง นักกิจกรรม หรือนักวิชาการ ที่มีบทบาททางการเมือง อย่างเข้มข้นขึ้นด้วยเช่นกัน
อาทิเช่น กรณีของวัฒนา เมืองสุข ที่ถูกกล่าวหาด้วยคดีละเมิดอำนาจศาลอีกถึง 2 คดี จากการเฟซบุ๊กไลฟ์ในศาลอาญา และจากการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหน้าศาลอาญา หรือกรณีที่ 7 นักศึกษา ถูกกล่าวหาโดยศาลขอนแก่นจากการทำกิจกรรมนอกรั้วศาล เพื่อให้กำลังใจ ‘ไผ่ ดาวดิน’ รวมทั้งกรณีที่ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำคุก 1 เดือน ต่อสุดสงวน สุธีสร อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรณีที่กลุ่มคนเสื้อแดงร่วมวางพวงหรีดหน้าศาลแพ่งรัชดาฯ คัดค้านคำสั่งศาลที่ห้ามใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับการชุมนุมของ กปปส.
ปรากฏการณ์ที่ทั้งคดีละเมิดอำนาจศาลและดูหมิ่นศาล กลายมาเป็นประเด็นในสังคม เกิดขึ้นภายใต้บริบทของการที่องค์กรตุลาการมีส่วนสำคัญในการเข้าไปรับรอง และยกเว้นการตรวจสอบอำนาจของคณะรัฐประหารกับระบบกฎหมายของคณะรัฐประหาร รวมทั้งการใช้อำนาจต่างๆ ที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งด้วยบทบาททางการเมืองของศาลภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 10 ปีเศษที่ผ่านมา ทำให้สังคมเองยังมีการวิพากษ์วิจารณ์บทบาทขององค์กรตุลาการอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้นด้วย
ดูเพิ่มเติมในรายงาน “อภินิหารทาง ‘กฎหมาย’ สถาบันตุลาการกับรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557: บทวิเคราะห์ 3 ปีรัฐประหารของ คสช.”