วันที่ 18 ม.ค. 2566 ที่ ศาลอาญา รัชดาฯ มีนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีละเมิดอำนาจศาล ของ “ณัฐชนน ไพโรจน์” นักกิจกรรมและนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากการเรียกร้องสิทธิการประกันตัว หน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2564 ในระหว่างที่ “สุรียรัตน์ ชิวารักษ์” กำลังยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ซึ่งกำลังถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีมาตรา 112 และอดอาหารทวงคืนสิทธิประกันตัวมาเป็นเวลาเกือบ 3 เดือน
ในวันเกิดเหตุ ณัฐชนนเข้าร่วมชุมนุมบริเวณหน้าศาลอาญาและได้ปราศรัยโดยใช้โทรโข่ง กล่าวว่า “ให้ปล่อยเพื่อนเรา”, “ชนาธิปออกไป” และบอกให้ “ชนาธิป เหมือนพะวงศ์” รองอธิบดีศาลอาญา ออกมารับฟังเสียงประชาชน ไม่ใช่ดำเนินคดีกับประชาชน และกลุ่มมวลชนยังมีการชูป้ายกระดาษต่อว่าศาลอีกด้วย
เหตุในคดีนี้ ต่อเนื่องมาจากการชุมนุมหน้าศาลอาญา เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัว เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงโทษจำคุกณัฐชนน 4 เดือน ไม่รอลงอาญา จึงอุทธรณ์คดี และวานนี้ (17 ม.ค. 2566) มีคำสั่งศาลอุทธรณ์ เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 4 เดือนนั้น เป็นโทษที่หนักเกินไป ไม่เหมาะสมกับพฤติการณ์ ศาลอุทธรณ์จึงลงโทษจำคุก 1 เดือน และให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขัง 1 เดือน
.
ศาลอุทธรณ์เปลี่ยนโทษจำคุก 2 เดือน เป็นจำคุก 15 วัน ก่อนให้กักขังแทน โดยศาลอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างฎีกา
สำหรับคดีนี้ณัฐชนนถูกดำเนินคดีร่วมกับเบนจา อะปัญ ย้อนไปเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2564 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคดีนี้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30, 31 (1), 33 และประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และ 180 โดยศาลสั่งลงโทษจำคุก ณัฐชนน เป็นระยะเวลา 2 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และลงโทษปรับเบนจาเป็นเงิน 500 บาท
ทนายความจึงยื่นอุทธรณ์เฉพาะในส่วนของณัฐชนน 4 ประเด็นด้วยกัน โดยต่อมาศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งโดยสรุป ดังนี้
ประเด็นที่ 1 ข้อกำหนดของศาลอาญา ออกโดยอาศัยอำนาจ ป.วิ.พ. มาตรา 30 ครอบคลุมเฉพาะเหตุต่อหน้าขณะออกนั่งพิจารณาคดี และให้อำนาจเฉพาะผู้พิพากษาในคดีนั้นๆ ที่สามารถกำหนดโทษ “ละเมิดอำนาจศาล” ไม่ใช่อธิบดีของศาล
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า อธิบดีศาลชั้นต้นต้องดูแลรักษาบริเวณศาลให้มีความสงบเรียบร้อย โดยมีอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ซึ่งได้บัญญัติหน้าที่ของอธิบดีผู้พิพากษาไว้ 7 ประการ ดังนี้
- พิจารณาพิพากษาคดีของศาลนั้นหรือเมื่อได้ตรวจสำนวนคดีได้แล้วมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้
- สั่งคำร้องขอต่างๆ ที่ยื่นต่อตนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความ
- ระมัดระวังการใช้ระเบียบวิธีการต่างๆ ให้เป็นไปโดยถูกต้องเพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเสร็จโดยเร็ว
- ให้คำแนะนำแก่ผู้พิพากษาในศาลนั้น หากเกิดข้อขัดข้องในการปฏิบัติหน้าที่
- ร่วมมือกับเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองจัดวางระเบียบและการดำเนินการงานส่วนธุรการของศาล
- ทำรายงานการคดีและกิจการของศาลส่งตามระเบียบ
- มีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฏหมายกำหนด
ศาลอุทธรณ์จึงเห็นว่า อธิบดีศาลชั้นต้น นอกจากจะมีตำแหน่งบริหาร ยังถือว่ามีตำแหน่งเป็นตุลาการ มีอำนาจในการพิจารณาคดี ดังนั้นเพื่อให้กระบวนการพิจารณาคดีเกิดความเป็นธรรม การออกข้อกำหนดของศาลอาญา โดยอาศัยป.วิ.พ. มาตรา 30 จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้อำนาจเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด อุทธรณ์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นที่ 2 การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาไม่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล และประเด็นที่ 3 สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบต้องได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า แม้ณัฐชนนจะอ้างว่าไม่เกี่ยวข้องกับป้ายต่อว่าศาลยุติธรรมที่มวลชนถือ แต่ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติกรรมใช้เครื่องขยายเสียงปลุกระดมมวลชน และมวลชนก็ให้การสนับสนุน ผู้ถูกกล่าวหาจึงรู้เห็นกับมวลชน การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทำให้เกิดความไม่สงบ เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
การที่ณัฐชนนอ้างว่าชุมนุมอยู่แค่บริเวณหน้าศาล ไม่ได้เข้าไปในอาคาร และเวลาเกิดเหตุก็หมดเวลาราชการแล้ว ศาลเห็นว่า ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1) ระบุว่า การขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลว่าด้วยการรักษาความเรียบร้อย หรือประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ซึ่ง ‘บริเวณศาล’ หมายถึงทั้งภายในและนอกอาคาร
ในประเด็นที่ว่า เสรีภาพในการชุมนุมและแสดงออกต้องได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ศาลเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหากดดันการใช้ดุลยพินิจของศาลชั้นต้น ในเรื่องการประกันตัว ไม่ต้องถึงขั้นข่มขู่ ก็เป็นความผิดละเมิดอำนาจศาล และการใช้สิทธิและเสรีภาพแสดงความคิดเห็นและชุมนุม มีข้อจำกัดคือต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เมื่อการกระทำเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ก็จำต้องรับผิด อุทธรณ์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นที่ 4 การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 2 เดือน เป็นการใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกสูงเกินกว่าเหตุ เกินความจำเป็น ขัดหลักความได้สัดส่วน และมีเหตุขอให้ศาลอุทธรณ์ลงโทษในสถานเบาที่สุด
ในประเด็นนี้ คำอุทธรณ์ได้ระบุว่า พฤติการณ์ของณัฐชนนไม่ใช่พฤติการณ์แห่งคดีร้ายแรงหรือเป็นอาชญากรร้ายแรง การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 2 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ และไม่ลดโทษให้ ทั้งที่ผู้ถูกกล่าวหาให้การเป็นประโยชน์ เป็นการใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกสูงเกินกว่าเหตุ เกินความจำเป็น ขัดหลักความได้สัดส่วน
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ในขณะเกิดเหตุ ผู้ถูกกล่าวหาศึกษาอยู่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้มีความรู้สูง มีวุฒิภาวะดีพอที่จะรู้ว่าควรทำหรือไม่ทำอะไร แต่กลับปลุกระดมมวลชน นำไปสู่ความวุ่นวาย ใช้คำดูหมิ่น ด้อยค่าศาล จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ
การที่ศาลชั้นต้นไม่ลดโทษให้ผู้ถูกกล่าวหา เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล คำให้การที่เป็นประโยชน์นั้น ศาลได้จากพยานโจทก์ การที่ผู้ถูกกล่าวหายอมรับเพียงว่าได้กระทำการตามคำกล่าวหาจริง ไม่สามารถเป็นเหตุลดโทษได้
อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ในขณะเกิดเหตุ ผู้ถูกกล่าวหาและกลุ่มผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ ไม่ได้ความรุนแรงเกิดขึ้น จึงมีเหตุสมควรให้ลงโทษสถานเบา อุทธรณ์ในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน จึงมีคำสั่งลงโทษจำคุก 15 วัน และแก้โทษจำคุกเป็นโทษกักขังเป็นระยะเวลา 15 วัน แทน และให้นับโทษในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีละเมิดอำนาจศาลของณัฐชนน เหตุเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2564
หลังฟังคำสั่ง ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวณัฐชนนในระหว่างฎีกาคดี
ต่อมาในเวลา 16.00 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวณัฐชนน โดยทนายความได้ยื่นคำร้องขอวางหลักประกันในจำนวนที่ต่ำตามสัดส่วนโทษ ศาลจึงอนุญาตให้วางหลักประกันเป็นเงินจำนวน 15,000 บาทตามที่ร้องขอ จากเดิมที่เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าต้องวางหลักประกันเป็นเงินจำนวน 50,000 บาท โดยได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์
.