ศาลอุทธรณ์แก้โทษ “เบนจา-ณัฐชนน” ผิดละเมิดอำนาจศาล เหตุร่วมม็อบหน้าศาลอาญา 29 เม.ย. 64 เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังคนละ 1 เดือน

เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำสั่งของศาลอุทธรณ์ในคดี “ละเมิดอำนาจศาล” ของนักกิจกรรมและนักศึกษาธรรมศาสตร์ 2 ราย ได้แก่ เบนจา อะปัญ วัย 22 ปี และณัฐชนน ไพโรจน์ วัย 22 ปี เหตุจากการร่วมชุมนุมต่อเนื่องที่ด้านหน้าของศาลอาญาเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564

คดีนี้สืบเนื่องมาจากการชุมนุมหน้าศาลอาญา รัชดาฯ เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2564 ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการยื่นขอประกันตัว 7 ผู้ต้องขังคดีประมวลอาญามาตรา 112 ที่ถูกคุมขังอยู่ในขณะนั้น อาทิ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล 

ในวันดังกล่าว มีการจัดกิจกรรมยื่นหนังสือ “ราชอยุติธรรม” ต่ออธิบดีผู้พิพากษาอาญา ทว่า ไม่มีผู้พิพากษาคนใดลงมารับจดหมาย จึงมีการโปรยหนังสือพร้อมกับรายชื่อประชาชนกว่า 12,000 ราย ที่ลงนามต่อท้ายหนังสือดังกล่าว ที่บันไดหน้าศาลอาญา ก่อนที่ต่อมา ศาลจะอ่านคำสั่งไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องขังทั้ง 7 ในเย็นวันนั้น แม้มีการแจ้งว่าจะเลื่อนอ่านคำสั่งไปในวันถัดไป 

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ต่อมา ศาลอาญาได้ออกหมายเรียกนัดไต่สวนในคดีละเมิดอำนาจศาลต่อนักกิจกรรม 6 คน รวมถึงเบนจาและณัฐชนน โดยแต่ละคนถูกดำเนินคดีแยกกัน นอกจากนี้เอง ทั้ง 6 คน ยังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พหลโยธิน กล่าวหาว่ากระทำความผิดฐาน “ดูหมิ่นศาล” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 พร้อมกับข้อหาอื่นๆ รวม 6 ข้อหา และถูกออกหมายจับจากศาลอาญา แยกไปอีกคดีหนึ่ง

.

ศาลอุทธรณ์เปลี่ยนโทษจำคุก 6 เดือน เป็นจำคุก 1 เดือน ก่อนให้กักขังแทน แต่เบนจาเคยถูกขังระหว่างอุทธรณ์จนเกินโทษแล้ว จึงไม่ต้องถูกขังอีก

กรณีของเบนจา เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 ศาลชั้นต้นเคยมีคำสั่งไว้ว่า เบนจามีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ให้ลงโทษจำคุกมีกำหนด 6 เดือน ซึ่งเป็นอัตราโทษเต็มของข้อหานี้ แม้จะให้การรับข้อเท็จจริงว่าได้กระทำตามที่ถูกกล่าวหาจริงก็ตาม เนื่องจากศาลเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาได้ต่อสู้ว่าการกระทำของตนไม่เป็นความผิด อันเป็นการแสดงว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้สำนึกถึงการกระทำ ประกอบกับคำรับของผู้ถูกกล่าวหานั้นเป็นไปในทางจำนนต่อพยานหลักฐานที่ปรากฏแน่ชัด คำรับข้อเท็จจริงของผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่เป็นประโยชน์ในการพิจารณาอันจะเป็นเหตุบรรเทาโทษ

ทนายความจึงได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวใน 4 ประเด็นด้วยกัน ต่อมา วันนี้ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งโดยสรุป ดังนี้

ประเด็นที่ 1 ข้อกำหนดของศาลอาญา ออกโดยอาศัยอำนาจ ป.วิ. แพ่ง ม.30  ครอบคลุมเฉพาะเหตุต่อหน้าขณะออกนั่งพิจารณาคดี และให้อำนาจเฉพาะผู้พิพากษาในคดีนั้นๆ ที่สามารถกำหนดโทษ “ละเมิดอำนาจศาล” ไม่ใช่อธิบดีของศาล 

ประเด็นนี้ศาลอุทธรณ์ได้อ้างถึงข้อบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของผู้พิพากษา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ซึ่งได้บัญญัติหน้าที่ของอธิบดีผู้พิพากษาไว้ 7 ประการ ดังนี้

  1. พิจารณาพิพากษาคดีของศาลนั้นหรือเมื่อได้ตรวจสำนวนคดีได้แล้วมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้
  2. สั่งคำร้องขอต่างๆ ที่ยื่นต่อตนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความ
  3. ระมัดระวังการใช้ระเบียบวิธีการต่างๆ ให้เป็นไปโดยถูกต้องเพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเสร็จโดยเร็ว
  4. ให้คำแนะนำแก่ผู้พิพากษาในศาลนั้น หากเกิดข้อขัดข้องในการปฏิบัติหน้าที่
  5. ร่วมมือกับเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองจัดวางระเบียบและการดำเนินการงานส่วนธุรการของศาล
  6. ทำรายงานการคดีและกิจการของศาลส่งตามระเบียบ
  7. มีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฏหมายกำหนด

โดยศาลอุทธรณ์เห็นว่าตำแหน่งอธิบดีของศาลนั้นถือเป็นตุลาการและยังมีอำนาจในการพิจารณาคดีอีกด้วย พื้นที่ของศาลนั้นถือเป็นอำนาจของอธิบดีศาลในการบังคับใช้ข้อกำหนดเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ให้คู่ความเกิดความเดือดร้อน รำคาญ หรือฟุ่มเฟือยเวลาในการพิจารณาคดี ในกรณีนี้จึงไม่ใช่การที่อธิบดีของศาลใช้อำนาจเกินขอบเขตของกฎหมายที่กำหนดไว้แต่อย่างใด 

ประเด็นที่ 2 สิทธิเสรีภาพฯ ชุมนุมโดยสงบต้องได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญฯ และประเด็นที่ 3 ชุมนุมโดยสงบ ไร้เหตุร้าย-อาวุธ-ความเสียหาย ไม่ได้รบกวนการพิจารณาคดี เป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญฯ 

ประเด็นนี้ศาลอุทธรณ์เห็นว่า พิเคราะห์จากคำเบิกความ พยานหลักฐานจากแผ่นซีดี ได้ข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกกล่าวหาให้การยอมรับว่าได้พูดโจมตีศาลและกระทำการตามที่ถูกกล่าวหาจริง ในวันเกิดเหตุผู้ชุมนุมได้มารวมตัวกันอยู่บริเวณบันไดทางขึ้นศาล มีการฝ่าแนวกั้นรั้วบริเวณหน้าบันได้ทางขึ้นศาลเข้าไป มีการหลบหลีกเจ้าหน้าที่ โปรยกระดาษ และตะโกนวิพากษ์วิจารณ์ศาล เห็นว่าเป็นการสร้างความรำคาญ สร้างความเดือดร้อน ส่งเสียงดัง มีการวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะว่าศาลไม่มีความยุติธรรม หวังผลให้กระทบต่อการพิจารณาคดีและเพื่อกดดันต่อศาล

การกระทำดังกล่าวทำให้ศาลไม่สามารถพิจารณาคดีได้ตามปกติ เนื่องจากในวันเกิดเหตุมีประชาชนจำนวนมากเดินทางมาเข้ารับการบริการที่ศาล ขณะเดียวกันผู้ชุมนุมในวันดังกล่าวก็มีจำนวนมากถึง 300 คน จึงกระทบต่อประชาชนผู้มาใช้บริการที่ศาลในวันดังกล่าว 

ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่าการกระทำดังกล่าวไปเป็นตามสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่มีความรุนแรง และไม่มีความเสียหายนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่าแม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จะบัญญัติให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุมในฐานะพลเมืองของประเทศ แต่ไม่ใช่ว่าสิทธิดังกล่าวจะถูกใช้ได้อย่างเสรี อาจถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขยกเว้นหลายประการ กรณีนี้เป็นการบังคับใช้ข้อกำหนดของศาลเพื่อความสงบเรียบร้อย  

ประเด็นที่ 4 ต่อสู้คดีตามสิทธิทางกฎหมาย ไม่ใช่ “ไม่สำนึก” ทั้งพฤติการณ์ไม่ร้ายแรง แต่ศาลลงโทษจำคุก “สูงสุด” ขัดหลักความได้สัดส่วน

ประเด็นนี้ศาลอุทธรณ์เห็นว่าขณะเกิดเหตุ ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเพียงนักศึกษากำลังจะขึ้นชั้นปีที่ 2 และต้องถูกคุมขังในคดีนี้เป็นเวลา 2 เดือน 13 วัน โทษที่ศาลชั้นต้นเคยพิพากษาจำคุก 6 เดือนนั้น ให้แก้เป็นจำคุก 1 เดือน ทั้งผู้ถูกกล่าวหาไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังเป็นเวลา 1 เดือนแทน 

ในคดีนี้หลังศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ผู้ถูกกล่าวหาได้ถูกคุมขังเกินระยะเวลาของโทษดังกล่าวแล้ว ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาให้ไม่ต้องกักขังผู้ถูกกล่าวหาอีก และให้ปล่อยตัวไป 

นอกจากนี้ศาลอุทธรณ์ยังได้กลับคำสั่งในส่วนที่ขอให้นับโทษในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีละเมิดอำนาจศาล ลศ.12/2564 ซึ่งเป็นเหตุจากการเรียกร้องสิทธิการประกันตัว หน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2564 ซึ่งเป็นเหตุต่อเนื่องจากคดีนี้อีกด้วย เนื่องจากศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีการตรวจสอบว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นคนเดียวกันหรือไม่

ทั้งนี้ ขณะศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำคุกในคดีนี้ เบนจาได้ถูกคุมขังอยู่ในคดีอื่นอยู่แล้ว โทษจำคุกของศาลชั้นต้นในคดีนี้จึงได้ถูกนับตั้งแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ซึ่งในขณะนั้นเบนจาถูกคุมขังอยู่เป็นระยะเวลานานถึง 2 เดือน 13 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 ถึงวันที่ 13 ม.ค. 2565

.

ศาลอุทธรณ์เปลี่ยนโทษจำคุก 4 เดือน เป็นจำคุก 1 เดือน ก่อนให้กักขังแทน โดยศาลอนุญาตให้ประกันตัวณัฐชนนในระหว่างฎีกา

กรณีของณัฐชนน เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 ศาลชั้นต้นเคยมีคำสั่งไว้ว่า การที่ณัฐชนนเข้าร่วมในการชุมนุมและพูดตะโกนผ่านเครื่องขยายเสียงด้วยพฤติกรรมที่ก้าวร้าว ขู่ตะคอก เอะอะโวยวายร่วมกับผู้ชุมนุมอื่น มิใช่การแสดงความคิดเห็นเพียงอย่างเดียว แต่มีลักษณะเข้าร่วมกับมวลชนกดดันศาลให้ใช้ดุลพินิจไปตามความต้องการของตนกับพวก ไม่มีความเคารพความเห็นต่างของผู้อื่นดังเช่นผู้มีอารยะทางความคิดในแนวเสรีประชาธิปไตยพึงกระทำ และการกระทำดังกล่าวยังกระทบต่อความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ให้ลงโทษจำคุกมีกำหนด 4 เดือน ต่อมาศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว โดยมีวงเงินประกัน 50,000 บาท

ทนายความจึงได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวใน 2 ประเด็นด้วยกัน โดยต่อมาศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งโดยสรุป ดังนี้

ประเด็นที่ 1 ผู้ถูกกล่าวหากระทำไปเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้ปล่อยเพื่อนนักศึกษาเท่านั้น การกระทำดังกล่าวเป็นเพียงการใช้เสรีภาพในการแสดงออกความคิดเห็น และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 34 และมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ .2560 มิใช่เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล               

ศาลวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่ามีกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมมาชุมนุมบริเวณหน้าศาลอาญา ผู้ถูกกล่าวหาและกลุ่มผู้ชุมนุมมายื่นจดหมาย อ่านบทกลอนตุลาการภิวัตน์ผ่านเครื่องขยายเสียง และตะโกนว่า “ชนาธิปออกมารับจดหมาย” หลายครั้ง

ผู้ถูกกล่าวหาอุทธรณ์ว่า การชุมนุมสืบเนื่องมาจากศาลอาญาไม่อนุญาตให้ประกันตัวสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม พริษฐ์อดอาหารประท้วง มีอาการทรุดและร่างกายเริ่มย่อยกระเพาะตัวเอง มีการขับถ่ายเป็นชิ้นเนื้อ จึงทำให้มารดาของพริษฐ์ และทนายความเดินทางไปยื่นประกันตัวในวันที่ 29 เม.ย. 2564 ผู้ถูกกล่าวหาและกลุ่มผู้ชุมนุมจึงนำหนังสือพร้อมรายชื่อประชาชนที่ร่วมรณรงค์มายื่นต่ออธิบดีศาลอาญา โดยไม่มีอาวุธ ไม่ได้มีการใช้กำลังทำร้ายชีวิต เสรีภาพ หรือทรัพย์สิน ไม่ได้มีลักษณะกดดันให้ศาลต้องมีคำสั่งไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ได้เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล

คำเบิกความของผู้อำนวยการศาลอาญากล่าวว่า มีข้อกำหนดศาลอาญา ห้ามประพฤติตนในทางที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และห้ามใช้เครื่องขยายเสียง ติดบริเวณหน้าศาลอาญา บุคคลที่ขึ้นบันไดศาลย่อมเห็นได้ชัดเจน และมีการอ่านข้อกำหนดให้ผู้ชุมนุมฟัง 5-6 ครั้ง แต่กลุ่มผู้ชุมนุมก็ฝ่าแนวแผงเหล็ก รวมตัวกันบนบันไดศาล เห็นได้ชัดว่าทราบข้อกำหนด แต่ยืนยันฝ่าฝืน

ศาลชี้ว่า แม้เรื่องความเป็นอิสระของตุลาการที่อ้างมาในอุทธรณ์จะถูกต้อง แต่ผู้พิพากษาไม่สามารถฝักใฝ่ฝ่ายใดในทางการเมือง แม้จะมีหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่การวินิจฉัยการปล่อยชั่วคราวต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา 

ทั้งไม่มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่าบทบัญญัติละเมิดอำนาจศาลนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ การโต้แย้งคำสั่งศาลต้องเป็นไปตามวิธีทางกฎหมาย ไม่ใช่การใช้มวลชนเข้ากดดัน และใช้เครื่องขยายเสียง ไม่เป็นการกระทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ตามวิถีทางประชาธิปไตย การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดศาลอาญา เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น

ประเด็นที่ 2 การที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษจำคุก 4 เดือน เป็นการใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกสูงเกินกว่าเหตุ เกินความจำเป็น ไม่ชอบด้วยหลักความได้สัดส่วนพอสมเหตุสมผลตามพฤติการณ์แห่งคดี และมีเหตุขอให้ศาลอุทธรณ์ลงโทษในสถานเบาที่สุด 

ในประเด็นนี้ คำอุทธรณ์ได้ระบุว่าพฤติการณ์ของณัฐชนนไม่ใช่พฤติการณ์แห่งคดีร้ายแรงหรือเป็นอาชญากรร้ายแรง ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหา 4 เดือน จึงเป็นการใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกสูงเกินกว่าเหตุ เกินความจำเป็น ไม่ชอบด้วยหลักความได้สัดส่วนพอสมเหตุสมผลตามพฤติการณ์แห่งคดี และให้การต่อศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี ถือว่ามีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา

เหตุผลที่ขอให้ศาลอุทธรณ์ลงโทษในสถานเบาซึ่งระบุในอุทธรณ์มี 2 เหตุ ได้แก่

  1. ณัฐชนนยังเป็นนักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีภาระหน้าที่จะต้องเข้าเรียน จัดทำรายงานในรายวิชา และเข้าสอบตามที่คณะและมหาวิทยาลัยกำหนด การถูกลงโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษย่อมทำให้ผู้ถูกกล่าวหามีประวัติอาชญากรรมทำให้เสียโอกาสในการสมัครเข้าทำงานหรือประกอบอาชีพในอนาคตได้ 
  1. ณัฐชนนประสบอุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์ได้รับอันตรายแก่กาย จนทำให้ขาทางด้านขวาขาด หากต้องถูกพิพากษาลงโทษจำคุก การใช้ชีวิตในเรือนจำย่อมจะทำให้ได้รับความเดือดร้อน

อย่างไรก็ตาม ศาลเห็นว่า การที่จำเลยเข้าร่วมชุมนุมดังกล่าว โห่ร้องหน้าศาล เป็นการกดดันศาลให้ใช้ดุลยพินิจตามแต่พวกของตนเอง เป็นเรื่องร้ายแรง และเหตุผลที่ระบุมาในอุทธรณ์เป็นเหตุผลส่วนตัว ไม่เพียงพอให้รอการลงโทษ แต่การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 4 เดือนนั้น เป็นโทษที่หนักเกินไป ไม่เหมาะสมกับพฤติการณ์ ศาลอุทธรณ์ให้ลงโทษจำคุก 1 เดือน เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขัง 1 เดือน

หลังฟังคำสั่ง ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวณัฐชนนในระหว่างฎีกาคดี ต่อมาในเวลา 16.20 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวณัฐชนนในระหว่างฎีกา โดยให้วางหลักทรัพย์จำนวน 50,000 บาท ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ 


ทั้งนี้ ณัฐชนนยังมีคดีละเมิดอำนาจศาลอีกคดีหนึ่ง จากการเรียกร้องสิทธิการประกันตัว หน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2564 ซึ่งเป็นเหตุต่อเนื่องจากคดีนี้ โดยศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงโทษจำคุก 2 เดือน ไม่รอลงอาญา ณัฐชนนจึงยื่นอุทธรณ์คดี และมีนัดฟังคำสั่งในวันพรุ่งนี้ (18 ม.ค. 2566)

X