ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ คดีละเมิดอำนาจศาล “อะดิศักดิ์” แตะไหล่ผู้คุม ชี้ผู้ถูกกล่าวหาปกป้องสิทธิที่จะรับฟังการพิจารณาอย่างเปิดเผย

6 ก.ย. 2565 เวลา 9.30 น. ที่ศาลอาญา อะดิศักดิ์ สมบัติคำ อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ หนึ่งในจำเลยคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร พร้อมทนายความ เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีละเมิดอำนาจศาล จากกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าลุกจากเก้าอี้ในห้องพิจารณาและใช้มือแตะที่ไหล่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เนื่องจากเห็นว่าเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวได้ยืนบังการพิจารณาคดีจากมุมมองของตนอยู่ ในการพิจารณาเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2564

.

ศาลชั้นต้นลงโทษปรับ เห็นว่าเป็นการใช้กริยาก่อให้เกิดความไม่สงบฯ ในห้องพิจารณาคดี

คดีนี้เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2564 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษปรับ 500 บาท และตักเตือนผู้ถูกกล่าวหามิให้ประพฤติตนหรือแสดงกริยาใดๆ ที่ไม่สมควรในบริเวณศาลอันถือเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอีก เนื่องจากศาลเห็นว่า อะดิศักดิ์มีเจตนาที่จะใช้กำลังกระทำต่อร่างกายไพโรจน์ มนัสสิลา (เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์) ในลักษณะที่ไม่สมควรและไม่ให้เกียรติ ทั้งยังกระทำในขณะที่ผู้พิพากษากำลังนั่งพิจารณาคดี นับว่าเป็นการกระทำที่ไม่บังควรอย่างยิ่ง 

การกระทำของอะดิศักดิ์เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอันเป็นที่ประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมให้แก่ประชาชน ซึ่งบุคคลทั่วไปที่เข้ามาในบริเวณศาลย่อมมีความมั่นใจในความปลอดภัยว่าจะไม่ถูกล่วงละเมิดไม่ว่าในทางใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าพนักงานราชทัณฑ์มาปฏิบัติหน้าที่ควบคุมผู้ต้องขังในคดี ทั้งยังเป็นการใช้กริยาในทางที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในห้องพิจารณาคดี เป็นการขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดศาลอาญาว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา พ.ศ. 2564 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2564 อันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล 

จึงมีคำสั่งว่า ผู้ถูกกล่าวหามีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15

>> ศาลลงโทษปรับ 500 บาท คดีละเมิดอำนาจศาล ‘อะดิศักดิ์’ แตะไหล่ผู้คุมยืนบังการพิจารณา ระบุเป็นการกระทำไม่บังควร-ไม่ให้เกียรติ 

อย่างไรก็ตามทนายความได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2564 และศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันนี้

.

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ชี้เพียงแค่แตะไหล่บอกกล่าว จำเลยปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะรับฟังกระบวนพิจารณาอย่างเปิดเผย

เวลา 10.00 น. ศาลอ่านคำพิพากษาเนื้อหาโดยสรุปว่า คดีนี้เกิดขึ้น​ในนัดตรวจพยานหลักฐานคดี อ.287/2564 ระหว่าง พนักงานอัยการโจทก์ นายเพนกวิน ชิวารักษ์ กับพวก รวม 22 คน เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2564 ซึ่งคดีดังกล่าว มีจำเลยที่ถูกคุมขังและได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยมีนายไพโรจน์และนายสุวรรณ เจ้าพนักงานราชทัณฑ์ เป็นผู้ควบคุมตัวจำเลยที่ถูกคุมขังอยู่รวม 7 คน 

ขณะศาลดำเนินกระบวนพิจารณา นายไพโรจน์และนายสุวรรณได้ยืนอยู่บริเวณทางเดินระหว่างที่นั่งของจำเลยที่ถูกคุมขังและจำเลยที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งอาจบดบังการพิจารณาคดีของนายอะดิศักดิ์ซึ่งนั่งอยู่ด้านหลัง การที่นายอะดิศักดิ์ ลุกขึ้นเดินจากที่นั่งไปใช้มือสัมผัสที่ไหล่นายไพโรจน์ 1 ครั้ง และเดินกลับไปนั่ง เป็นการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะรับฟังกระบวนพิจารณาอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม 

ภาพจากกล้องวงจรปิด ปรากฏเป็นเพียงการเดินไปแตะไหล่หนึ่งครั้งเพื่อบอกกล่าวให้เจ้าหน้าที่ขยับไป โดยมิได้ทำให้ร่างกายของนายไพโรจน์สั่นไหว ไม่ได้ทำให้เกิดการบาดเจ็บอย่างที่ไพโรจน์กล่าวอ้าง และศาลยังคงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ โดยไม่ได้สนใจเรื่องที่เกิดขึ้น

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกคำสั่งลงโทษปรับ 500 บาท

.

เปิดข้อต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ของอะดิศักดิ์

สำหรับคำร้องที่อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น ซึ่งอะดิศักดิ์และทนายความได้ยื่นต่อศาลระบุโดยสรุปว่า

1. การกระทำของอะดิศักดิ์มิได้จงใจใช้กริยาที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และมิได้มีเจตนาที่จะกระทำการอันเป็นการละเมิดอำนาจศาล 

เหตุการณ์ในคดีนี้ อะดิศักดิ์ได้ใช้มือแตะที่ไหล่ของนายไพโรจน์เพียง 1 ครั้ง เพื่อเป็นการเรียกให้รู้ตัวและหันกลับมามองผู้ถูกกล่าวหาด้านหลัง เพื่อบอกให้นายไพโรจน์ได้ทราบว่า ได้ยืนบังการพิจารณาคดีจนผู้ถูกกล่าวหาและจำเลยคนอื่นๆ ซึ่งนั่งฟังการพิจารณาคดีอยู่ด้านหลัง ไม่สามารถมองเห็นการพิจารณาคดีของศาลเท่านั้น 

ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมีบทลงโทษทางอาญา กล่าวคือ โทษปรับและโทษจำคุก อันเป็นโทษจำกัดอิสรภาพของบุคคล จึงต้องตีความอย่างเคร่งครัด จากข้อเท็จจริงการกระทำของผู้ถูกกล่าวหา ในวันเวลาเกิดเหตุคดีนี้ไม่ปรากฏว่ามีความวุ่นวายเกิดขึ้นในห้องพิจารณาคดีหรือในบริเวณศาล และไม่มีการรบกวนขัดขวางหรือกระทบต่อกระบวนวิธีพิจารณาของศาลแต่อย่างใด และศาลสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาไปได้ด้วยความเที่ยงธรรมและรวดเร็ว 

เหตุการณ์ในคลิปวิดีโอตั้งแต่นายอะดิศักดิ์ลุกจากเก้าอี้เดินไปหานายไพโรจน์และกลับมานั่งที่เดิม แล้วมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อีกคนหนึ่งเดินเข้ามาสอบถามผู้ถูกกล่าวหา เป็นช่วงเหตุการณ์สั้นๆ เพียงไม่ถึง 1 นาที ไม่มีความวุ่นวายเกิดขึ้น 

เมื่อผู้ถูกกล่าวหามิได้มีเจตนาและการกระทำมิได้ร้ายแรงถึงขนาดเกิดความวุ่นวายหรือเกิดความไม่สงบเรียบร้อยในห้องพิจารณาคดีหรือในบริเวณศาล จนไปรบกวนขัดขวางหรือกระทบต่อกระบวนวิธีพิจารณาของศาล จึงไม่ควรถือเป็นการละเมิดข้อกำหนดของศาลอาญา และไม่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

.

2. พยานหลักฐานของผู้กล่าวหายังมีข้อสงสัยตามสมควร

2.1 คำเบิกความพยาน

ในการไต่สวน ไม่มีพยานผู้กล่าวหาปากใดเบิกความยืนยันว่า ผู้ถูกกล่าวหาตบบริเวณไหล่ขวานายไพโรจน์ 1 ครั้ง จนเกิดเสียงดังและทำให้นายไพโรจน์รู้สึกเจ็บและการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลร้ายแรงถึงขนาดเกิดความวุ่นวายหรือเกิดความไม่สงบเรียบร้อยในห้องพิจารณาคดีหรือในบริเวณศาล 

พยานผู้กล่าวหา นางสาวชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุเป็นเพียงพยานบอกเล่า ดังนั้น คำพยานของนางชวัลนาถจึงไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังได้ 

ส่วนพยานผู้กล่าวหาปากนายไพโรจน์ มนัสสิลา ซึ่งเป็นประจักษ์พยาน เบิกความตอบศาลไว้ว่า “…ผู้ต้องหาเดินมาทางหลังข้าฯ แล้วใช้มือตบที่ไหล่ข้าฯ รู้สึกเจ็บเล็กน้อย ข้าฯ คิดว่าผู้ถูกกล่าวหาคงจะตบไม่แรงนัก…” และเบิกความเพียงว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการก่อกวน สร้างความวุ่นวายและรบกวนการปฏิบัติหน้าที่ของนายไพโรจน์เท่านั้น ทั้งเบิกความตอบทนายผู้ถูกกล่าวหาถามค้านว่า “…ขณะเกิดเหตุ ข้าฯไม่รู้สึกโกรธผู้ถูกกล่าวหา แต่ในขณะนั้นข้าฯ คิดว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการก่อความวุ่นวายและไม่ให้เกียรติข้าฯ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่มาปฏิบัติหน้าที่ในห้องพิจารณาที่เกิดเหตุ…”

แม้คดีนี้จะมีนางสาวชวัลนาถ ทองสม เป็นผู้กล่าวหา แต่ในทางข้อเท็จจริงนายไพโรจน์กับนายอะดิศักดิ์เป็นคู่กรณีโดยตรง จนเป็นเหตุในการตั้งสำนวนละเมิดอำนาจศาลเป็นคดีนี้ คำให้การของนายไพโรจน์จึงไม่มีน้ำหนักที่ศาลจะรับฟังเป็นโทษกับผู้ถูกกล่าวหาได้

2.2 ภาพและเสียงในห้องพิจารณา

ภาพและเสียงเหตุการณ์จากกล้องวงจรปิดในห้องพิจารณาคดีซึ่งผู้กล่าวหาอ้างส่งศาล แม้จะสามารถเห็นภาพเหตุการณ์ในวันเวลาเกิดเหตุคดีนี้ และปรากฏภาพผู้ถูกกล่าวหาลุกจากเก้าอี้เดินเข้าไปหานายไพโรจน์แล้วใช้มือแตะที่ไหล่ของนายไพโรจน์ 1 ครั้ง แต่ไม่สามารถได้ยินเสียงขณะใช้มือแตะที่ไหล่ของนายไพโรจน์ได้ 

ทั้งนายไพโรจน์ ผู้กล่าวหา และบุคคลที่อยู่ในภาพเหตุการณ์จากกล้องวงจรปิดทุกคนสวมใส่หน้ากากอนามัยปิดจมูกปาก เห็นเพียงหน้าผากและลูกตา จึงยังไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะเห็นใบหน้าจนทราบอารมณ์ความรู้สึกของผู้ที่อยู่ในภาพเหตุการณ์ได้

พยานหลักฐานยังมีข้อสงสัยว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการจงใจใช้กริยาที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้ผู้ถูกกล่าวหา และมีคำสั่งหรือคำพิพากษายกคำกล่าวหาผู้กล่าวหา

.

3. ศาลชั้นต้นรับฟังพยานหลักฐานคลาดเคลื่อนไปจากพยานหลักฐานในสำนวนคดี 

คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น เป็นการรับฟังพยานหลักฐานคลาดเคลื่อนไปจากพยานหลักฐานในสำนวนคดี  เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้แสดงอาการฮึดฮัด พร้อมทั้งโบกมือในลักษณะไม่พอใจนายไพโรจน์ 

หากศาลอุทธรณ์พิจารณาจากพยานหลักฐานผู้กล่าวหา จากภาพและเสียงเหตุการณ์จากกล้องวงจรปิดในห้องพิจารณาคดี จะเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหากำลังทำท่าทางโบกมือลงด้านล่างในลักษณะบอกให้นายไพโรจน์ขยับไปด้านข้าง ซึ่งนายไพโรจน์และเจ้าหน้าที่อีกคนที่ยืนติดกันก็ได้ขยับไปด้านข้าง จนพื้นที่ช่องทางเดินตรงกลางมีพื้นที่ว่างเพิ่มขึ้น เป็นการแสดงภาษาท่าทางเพื่อบอกให้นายไพโรจน์ขยับออกไปด้านข้าง 

และช่วงที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่ยืนที่พื้นที่ว่างฝั่งขวาได้เดินมายังที่ผู้ถูกกล่าวหานั่ง และได้มีการพูดคุยกับผู้ถูกกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหาได้ทำท่าชี้ไปที่ตัวเองและชี้ไปทางด้านหน้าห้องพิจารณาสลับกันไปด้วย ก็เป็นการแสดงภาษาท่าทางเพื่อประกอบการพูดว่า นายไพโรจน์ยืนบังผู้ถูกกล่าวหาจนมองไม่เห็นการพิจารณาเท่านั้น โดยผู้ถูกกล่าวหาและเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไม่ได้พูดคุยส่งเสียงดัง และเป็นระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น

นอกจากนี้ ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ใช้กำลังกระทำตบไหล่ขวานายไพโรจน์จนเกิดเสียงดัง หากผู้ถูกกล่าวหาใช้กำลังกระทำการดังกล่าวจริง จำเลยคนอื่นๆ ซึ่งนั่งอยู่ด้านหลังจะต้องหันไปดูหรือสนใจเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว แต่ปรากฏว่าไม่มีใครหันไปดูเหตุการณ์นั้น ซึ่งผิดปกติวิสัยของคนทั่วไปที่หากอยู่ในเหตุการณ์ที่มีการใช้กำลังตบจนเกิดเสียงดังต้องหันไปดูหรือสนใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นรับฟังว่าผู้ถูกกล่าวหาแสดงอาการฮึดฮัดพร้อมทั้งโบกมือในลักษณะไม่พอใจนายไพโรจน์ จนกระทั่งมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อื่นเดินจากอีกฝั่งหนึ่งเข้ามาสอบถาม จึงเป็นการรับฟังพยานหลักฐานคลาดเคลื่อนไป ในประเด็นที่เกี่ยวกับพฤติการณ์การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาอันเป็นสาระสำคัญ

.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ไต่สวนละเมิดอำนาจศาล ‘อะดิศักดิ์’ หนึ่งในจำเลยคดี 19 ก.ย. ยันเพียงแตะไหล่จนท.ราชทัณฑ์ เพราะยืนบังการพิจารณา

.

X