ยกฟ้องคดี พ.ร.บ.คอมฯ “สนธยา-ประชาชนอีกราย” ศาลชี้โจทก์ไม่บรรยายว่าข้อมูลที่นำเข้าเป็นความผิดฐานใด ไม่ชอบด้วยป.วิ.อาญา ไม่ปรากฎว่ารูปถูกตัดต่อ 

วันที่ 25 ม.ค. 2566 เวลา 10.00 น. ศาลจังหวัดพัทยานัดฟังคำพิพากษาในคดี “สนธยา” (สงวนนามสกุล) ประชาชนผู้มีความหลากหลายทางเพศวัย 28 ปี ซึ่งถูกกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการทวีตภาพถ่ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ที่ถูกพ่นสีสเปรย์เป็นข้อความ “กษัตริย์[…]” อยู่ใต้ฐาน พร้อมข้อความประกอบว่า “พัทยากลางค่ะ” ในช่วงวันที่ 16 ต.ค. 2563

คดีนี้ มี พ.ต.ต.สุชาติ มานะการ เป็นผู้กล่าวหา โดยสนธยาถูกตำรวจเข้าตรวจค้นที่พักและจับกุมเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2563 โดยในตอนแรกไม่มีทั้งหมายค้นและหมายจับ ทั้งยังมีการตรวจยึดโทรศัพท์มือถือของเขาไว้ ก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองพัทยา จะไปขอออกหมายจับจากศาลจังหวัดพัทยามาในภายหลัง และมีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อสนธยา โดยไม่มีทนายความเข้าร่วมกระบวนการ 

ต่อมาตำรวจมีการยื่นขอฝากขังและศาลจังหวัดพัทยาไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทำให้สนธยาถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษพัทยาเป็นเวลา 5 วัน ก่อนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว และได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2563 

จากนั้นพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2563 ฐานนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) ด้วยการทวีตรูปภาพถ่ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ซึ่งมีผู้พ่นสีให้ปรากฏข้อความใต้ภาพถ่าย อันเป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ โดยจำเลยให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา

ในชั้นพิจารณาคดี ศาลทำการสืบพยานทั้งหมด 4 ปาก แบ่งเป็นพยานโจทก์ 3 ปาก ได้แก่ เพื่อนของจำเลยซึ่งเป็นประจักษ์พยาน พนักงานสอบสวน และตำรวจสืบสวนที่เป็นผู้กล่าวหาและผู้จับกุม ส่วนจำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน โดยจำเลยยอมรับว่าเป็นผู้ทวีตภาพและข้อความตามฟ้องจริง แต่ทำไปเพื่อแจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งตนผ่านไปพบเห็นว่าเกิดขึ้นจริงและแจ้งสถานที่เกิดเหตุเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนากระทำการใดตามข้อกล่าวหา

นอกจากคดีนี้ ยังมีคดีของประชาชนอีก 1 ราย  ซึ่งถูกกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) และ (3) จากการเผยแพร่ภาพถ่ายเหตุการณ์เดียวกันกับสนธยาบนเฟซบุ๊ค พร้อมข้อความประกอบว่า “แยกพัทยาใต้” ซึ่งมีนัดฟังคำพิพากษาในวันเดียวกันกับสนธยาอีกด้วย

สนธยาเล่าให้ฟังว่า ตนรู้จักกับประชาชนอีกรายซึ่งโดนฟ้องคดีในลักษณะเดียวกัน เนื่องจากถูกควบคุมตัวมาที่ สภ.เมืองพัทยา ในวันเดียวกัน 

.

อ่านบันทึกการสืบพยานเพิ่มเติม >>> จับตา ฟังคำพิพากษาคดี “สนธยา” พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ทวีตข้อความรูป ร.10 ถูกพ่นสี จำเลยยันเพียงทวีตแจ้งเหตุการณ์

.

ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 7 เวลา 10.00 น. ศาลออกนั่งพิจารณา ศาลสอบถามถึงสนธยาและประชาชนอีกรายซึ่งมีนัดฟังคำพิพากษาพร้อมกัน แต่ประชาชนอีกรายยังเดินทางมาไม่ถึงห้องพิจารณา ศาลจึงขอให้สนธยานั่งรอก่อน เนื่องจากคดีของทั้งสองมีลักษณะเดียวกัน ศาลจะอ่านคำพิพากษาให้ฟังพร้อมกัน 

ในระหว่างนั้น เจ้าหน้าที่ศาลเข้ามาใส่กุญแจมือสนธยาก่อนที่จะมีคำพิพากษา เมื่อประชาชนอีกรายเดินทางมาถึงห้องพิจารณา เจ้าหน้าที่ศาลก็จะเข้ามาใส่กุญแจมือเช่นเดียวกัน แต่ศาลได้กล่าวว่าจำเลยเป็นผู้หญิงไม่จำเป็นต้องใส่กุญแจมือก็ได้

เมื่อทนายความสอบถามเรื่องการใส่กุญแจมือ เจ้าหน้าที่ศาลตอบว่าเป็นระเบียบของศาลจังหวัดพัทยา โดยจะใส่กุญแจมือก่อนอ่านคำพิพากษา แล้วค่อยปลดออกในภายหลัง

.

เวลา 10.10 น. ศาลอ่านคำพิพากษาของทั้งสองคดีต่อเนื่องกัน สามารถสรุปคำพิพากษาทั้งสองคดีได้ดังนี้

ศาลยกฟ้องคดี “สนธยา” ชี้ฟ้องโจทก์ไม่บรรยายให้เข้าใจว่าเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรฐานใด ไม่ชอบด้วยวิ.อาญา

ศาลวินิฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร จำเลยให้การปฏิเสธตามที่โจทก์ฟ้อง 

โจทก์ต้องบรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่าจำเลยนำเข้าข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตราใด เนื่องจากความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์มีตั้งแต่ มาตรา 107 ถึงมาตรา 112

เมื่อคำฟ้องของโจทก์ไม่บรรยายให้เข้าใจเพียงพอว่าจำเลยนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรฐานใด ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) 

ศาลพิพากษายกฟ้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ให้คืนของกลางที่ยึดไว้ซึ่งเป็นโทรศัพท์มือถือ

.

ศาลยกฟ้องประชาชนอีกราย ชี้เพิ่มไม่ปรากฎว่ารูปภาพถูกตัดต่อโดยจำเลย ไม่เป็นการนำเข้าข้อความอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

ศาลวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) และ (3) ในความผิดฐานนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงราชอาณาจักร ซึ่งประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้ตั้งแต่ มาตรา 107 ถึง มาตรา 112 แต่ละฐานความผิดแตกต่างกัน โจทก์ต้องบรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่าข้อมูลที่จำเลยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เป็นความผิดฐานใด

เมื่อโจทก์ไม่บรรยายฟ้องให้เข้าใจว่าข้อมูลที่จำเลยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เป็นความผิดฐานใด ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ศาลพิพากษายกฟ้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง

ในความผิดฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) ศาลรับฟังได้เพียงยุติว่า บุคคลไม่ทราบชื่อพ่นสเปรย์ “กษัตริย์[…]” บนพระบรมฉายาลักษณ์ จำเลยเพียงถ่ายภาพและเผยแพร่ลงเฟซบุ๊ก มีข้อความประกอบว่า “แยกพัทยาใต้” ลงเฟซบุ๊ก

ในส่วนข้อความประกอบ โจทก์ไม่ได้บรรยายมาในฟ้อง ในส่วนรูปภาพ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ไม่ปรากฎว่าถูกตัดต่อ ข้อความ “กษัตริย์[…]” เป็นข้อความที่ปรากฎจริงบนรูปพระบรมฉายาลักษณ์ ไม่ได้ถูกตัดต่อโดยจำเลย จึงไม่เป็นการนำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ศาลพิพากษายกฟ้อง

.

หลังจากที่ศาลอ่านคำพิพากษายกฟ้องทั้งสองคดีเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่ศาลก็เดินมาปลดกุญแจมือออกจากข้อมือสนธยา ก่อนออกจากห้องพิจารณาคดี ศาลได้อธิบายเพิ่มเติมให้จำเลยทั้งสองฟังดังนี้

1. คดีนี้อยู่ในศาลชั้นต้น อัยการอาจอุทธรณ์ และฎีกาต่อไปอีก ถ้ามีนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา จำเลยยังคงต้องเดินทางมาตามนัดศาล

2. ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ขอให้จำเลยไปศึกษาเหตุผลที่ยกฟ้องให้ดี การยกฟ้องไม่ได้หมายถึงว่าจำเลยมิได้กระทำความผิด แต่ศาลยกฟ้องด้วยเหตุผลตามกฎหมาย หากอัยการบรรยายฟ้องมาแบบอื่น หรือตำรวจแจ้งข้อหาอื่น การกระทำของจำเลยอาจเป็นความผิดก็ได้ อย่าตัดตอนคำพิพากษาให้บุคคลอื่นเข้าใจผิด

ศาลยังอธิบายเพิ่มเติมว่า ตอนนี้แม้ศาลจะยกฟ้อง แต่จำเลยจะมีประวัติติดตัว ถ้ากระทำความผิดครั้งหน้า จะสามารถบ่งชี้ได้ชัดเจนว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาเช่นไร ให้ระมัดระวังการกระทำในลักษณะเดียวกันนี้ในครั้งหน้า

ทั้งนี้ ที่ศาลจังหวัดพัทยา ยังมีคดีของ “พนิดา” ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้พ่นสีข้อความดังกล่าวที่ฐานของพระบรมฉายาลักษณ์สองจุดในเมืองพัทยา ทำให้ถูกดำเนินคดีในข้อหาตาม ป.อ. มาตรา 112 และมาตรา 360 ด้วย โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2565 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดพัทยามีคำพิพากษาเห็นว่าพนิดามีความผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษจำคุก 2 กระทง กระทงละ 3 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษกระทงละกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกกระทงละ 1 ปี 6 เดือน รวมโทษจำคุก 2 ปี 12 เดือน โดยให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี (ดูเรื่องราวของพนิดา)

X