วันที่ 25 ม.ค. 2566 นี้ ศาลจังหวัดพัทยานัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่สนธยา (สงวนนามสกุล) ประชาชนผู้มีความหลากหลายทางเพศวัย 28 ปี ถูกกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) จากการทวีตภาพถ่ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ที่ถูกพ่นสีสเปรย์เป็นข้อความอยู่ใต้ฐาน พร้อมข้อความประกอบว่า “พัทยากลางค่ะ” ในช่วงวันที่ 16 ต.ค. 2563
คดีนี้ มี พ.ต.ต.สุชาติ มานะการ เป็นผู้กล่าวหา โดยสนธยาถูกตำรวจเข้าตรวจค้นที่พักและจับกุมเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2563 โดยในตอนแรกไม่มีทั้งหมายค้นและหมายจับ ทั้งยังมีการตรวจยึดโทรศัพท์มือถือของเขาไว้ ก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองพัทยา จะไปขอออกหมายจับจากศาลจังหวัดพัทยามาในภายหลัง และมีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อสนธยา โดยไม่มีทนายความเข้าร่วมกระบวนการ
ต่อมาตำรวจมีการยื่นขอฝากขังและศาลจังหวัดพัทยาไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทำให้สนธยาถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษพัทยาเป็นเวลา 5 วัน ก่อนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว และได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2563
จากนั้นพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2563 ฐานนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) ด้วยการทวีตรูปภาพถ่ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ซึ่งมีผู้พ่นสีให้ปรากฏข้อความใต้ภาพถ่าย อันเป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ โดยจำเลยให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา
ในชั้นพิจารณาคดี ศาลทำการสืบพยานทั้งหมด 4 ปาก แบ่งเป็นพยานโจทก์ 3 ปาก ได้แก่ เพื่อนของจำเลยซึ่งเป็นประจักษ์พยาน พนักงานสอบสวน และตำรวจสืบสวนที่เป็นผู้กล่าวหาและผู้จับกุม ส่วนจำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน โดยจำเลยยอมรับว่าเป็นผู้ทวีตภาพและข้อความตามฟ้องจริง แต่ทำไปเพื่อแจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งตนผ่านไปพบเห็นว่าเกิดขึ้นจริงและแจ้งสถานที่เกิดเหตุเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนากระทำการใดตามข้อกล่าวหา
.
เพื่อนจำเลยเบิกความเห็นแต่เพียงจำเลยถ่ายภาพที่เกิดเหตุขณะขับรถผ่าน ส่วนตำรวจระบุ “เชิญตัว” จำเลยไปสอบ ก่อนมีหมายจับ
21 ก.ค. 2565 นัดสืบพยานวันแรก พยานปากแรกที่เข้าให้การต่อศาลคือเพื่อนของจำเลย ให้การว่า วันที่ 16 ต.ค. 2563 พยานและจำเลยนัดรับประทานอาหารกันที่พัทยากลาง และจะไปทะเลต่อ พยานจึงขับรถยนต์ไปพร้อมจำเลย แต่เมื่อเลี้ยวเข้าสู่ถนนพัทยาใต้แล้วรถติดมาก จึงตัดสินใจกลับรถเพื่อไปที่อื่น ระหว่างที่รถติดไฟแด พยานเห็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่ถูกพ่นข้อความด้วยสีสเปรย์ อยู่ในสวนสาธารณะที่แยกพัทยาใต้ เห็นจำเลยถ่ายภาพดังกล่าวพร้อมพูดบางอย่าง แต่จำไม่ได้ว่าพูดอะไร เมื่อสัญญาณไฟจราจรเป็นสีเขียว พยานก็เลี้ยวขวาเข้าถนนสุขุมวิท เพื่อไปหาดจอมเทียนทางถนนเทพประสิทธิ์แทน
พยานให้การต่อว่า หลังจำเลยถูกจับกุมได้ติดต่อมาหาพยานในคืนวันที่ 18 ต.ค. 2563 เพื่อขอให้นำอุปกรณ์กันหนาวไปให้ เมื่อพยานเดินทางไปถึง สภ.เมืองพัทยา เช้าวันที่ 19 ต.ค. 2563 จึงทราบว่าจำเลยถูกจับจากการถ่ายภาพพระบรมฉายาลักษณ์ แต่พยานไม่ทราบว่าจำเลยนำภาพไปทวีตหรือไม่ เพราะพยานไม่ได้ใช้ทวิตเตอร์ และจำเลยไม่เคยมีประวัติเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์
ต่อมา พ.ต.ท.ณัฐวรรธน์ เพลินจิตร พนักงานสอบสวน ขึ้นเบิกความต่อศาล ระบุว่า วันที่ 16 ต.ค. 2563 ประมาณ 23.00 น. ได้รับมอบหมายให้สืบสวนการเผยแพร่ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ที่ถูกพ่นสีข้อความบนทวิตเตอร์ ก่อนสืบทราบว่าผู้ใช้ทวิตเตอร์ดังกล่าวคือจำเลยในคดีนี้ ทวีตดังกล่าวมีผู้แชร์ส่งต่อและกดถูกใจจำนวนมาก เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ร.ต.อ.สุชาติ จึงมาแจ้งความต่อพยานไว้
พยานเบิกความต่อว่า ผู้กล่าวหา คือ ร.ต.อ.สุชาติ ไปเชิญตัวจำเลยมาสอบปากคำในฐานะพยานเมื่อ 17 ต.ค. 2563 โดยมีพนักงานสอบสวนท่านอื่นเป็นผู้สอบปากคำ ขณะนั้น จำเลยให้การในฐานะพยาน รับว่าเป็นผู้ทวีตภาพและข้อความเพื่อแจ้งข่าว ว่าภาพดังกล่าวอยู่ที่พัทยากลาง
พนักงานสอบสวนให้การอีกว่า ชุดสืบสวนที่ “เชิญตัว” จำเลยมาตรวจยึดโทรศัพท์ของจำเลย โดยตัวพยานเองเป็นผู้ร่วมตรวจโทรศัพท์ด้วย พบภาพถ่ายตามฟ้อง แต่ไม่มีภาพอื่นในทำนองเดียวกันอีก เมื่อรวบรวมพยานหลักฐานแล้วเห็นว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดจึงขอออกหมายจับ และจับกุมวันที่ 18 ต.ค. 2563 จากนั้นแจ้งข้อหา แจ้งสิทธิ และสอบสวนจำเลยในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
พ.ต.ท.ณัฐวรรธน์ เบิกความว่า จำเลยให้การว่า เห็นภาพดังกล่าวที่พัทยากลางจึงถ่ายไว้ แล้วมาเห็นอีกครั้งที่พัทยาใต้ เมื่อมีคนทวีตภาพพร้อมข้อความประกอบว่าพัทยาใต้ จำเลยจึงทวีตโต้ตอบทำนองว่าที่พัทยากลางก็มีภาพในทำนองเดียวกัน พยานอ่านบันทึกคำให้การให้จำเลยฟัง จำเลยลงลายมือชื่อต่อหน้าพยาน จากนั้นจึงทำบัญชีของกลาง และส่งโทรศัพท์มือถือไปตรวจว่าภาพดังกล่าวถ่ายจากโทรศัพท์ของจำเลยจริง แต่จำไม่ได้ว่าได้รับผลตรวจโทรศัพท์หรือไม่
พยานให้การต่อว่า ได้สอบปากคำเพื่อนของจำเลยที่เดินทางไปด้วยกันขณะเกิดเหตุ และมีความเห็นควรสั่งฟ้องจำเลย เนื่องจากจำเลยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้คนเข้าใจว่าเป็นการลดพระเกียรติรัชกาลที่ 10 เกิดความเสียหายต่อพระมหากษัตริย์ เป็นความผิดต่อความมั่นคง อย่างไรก็ตาม พยานตอบคำถามค้านทนายความจำเลยว่าภาพถ่ายตามฟ้องเป็นภาพถ่ายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
.
ผู้กล่าวหาระบุภาพที่จำเลยทวีตทำให้ ร.10 เสื่อมเสีย เกิดความไม่มั่นคง แต่เหตุการณ์พ่นสีเกิดขึ้นจริง
วันที่ 8 พ.ย. 2565 พ.ต.ต.สุชาติ มานะการ พยานโจทก์ เข้าเบิกความต่อศาลในฐานะผู้กล่าวหาและผู้จับกุม ใจความว่า ขณะเกิดเหตุพยานมียศเป็น ร.ต.อ. ตำแหน่งสารวัตรสืบสวน สภ.เมืองพัทยา เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 มีการชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผู้บัญชาการจึงมอบหมายให้พยานเฝ้าระวังเหตุชุมนุมในพื้นที่ และสืบสวนทางโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ก่อนในคืนดังกล่าวจะพบผู้โพสต์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ที่ถูกพ่นสีสเปรย์ในเฟซบุ๊กกลุ่ม “พัทยาทอล์ค” ต่อมาพบว่าเป็นเหตุที่เกิดขึ้นบริเวณพัทยาใต้
ประมาณ 23.00 น. พบผู้ใช้ทวิตเตอร์ได้ทวีตภาพลักษณะเดียวกัน แต่เป็นภาพที่พัทยากลาง โดยซูมภาพไปที่ข้อความ พร้อมข้อความประกอบว่า “พัทยากลางค่ะ” ทวีตดังกล่าวเป็นการดูหมิ่น ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติของรัชกาลที่ 10 ทำให้เกิดความไม่มั่นคง เพราะคนเกลียดพระองค์ท่าน เป็นข้อความที่บุคคลทั่วไปเข้าถึงได้ และมีการส่งต่อข้อความดังกล่าว
พยานโจทก์เบิกความอีกว่า หลังพบการโพสต์ข้อความบนโซเชียลมีเดีย พยานไปตรวจสอบพบพระบรมฉายาลักษณ์ที่เกาะกลางถนนใกล้แยกพัทยากลาง ถูกพ่นสีตามที่มีการทวีตข้อความจริง ต่อมาสืบทราบว่าผู้ทวีตคือจำเลย จึงเชิญตัวมาสอบปากคำเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2563 จำเลยรับว่าเป็นผู้ทวีตข้อความ ตรวจสอบโทรศัพท์ของจำเลยพบภาพที่นำไปทวีต จึงตรวจยึดโทรศัพท์ของจำเลยและทำบันทึกการตรวจยึด ก่อนนำหมายจับมาแสดงเวลา 23.00 น. ของวันที่ 17 ต.ค. 2563
ทั้งนี้ พ.ต.ต.สุชาติ ยอมรับว่า ที่จำเลยทวีตเป็นการทวีตตอบโต้กับบัญชีผู้ใช้อีกรายหนึ่ง ที่ไม่ทราบว่าเป็นใคร ส่วนที่สามารถสืบทราบตัวจำเลยได้เพราะจำเลยเคยเปิดเผยข้อมูลชื่อ ที่อยู่ ที่ทำงานของตนไว้บนทวิตเตอร์
.
สนธยาเบิกความเพียงต้องการทวีตแจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง โต้ตอบถึงสถานที่เกิดเหตุ
จากนั้น สนธยา อ้างตนเองเป็นพยาน เบิกความว่า 16 ต.ค. 2563 เวลาประมาณ 22.00 น. พยานรับประทานอาหารกับเพื่อนที่ร้านส้มตำในพัทยากลาง และติดตามข่าวสารทางทวิตเตอร์ พบข่าวการสลายการชุมนุมในกรุงเทพฯ หลังออกจากร้านอาหาร พยานพบพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ถูกพ่นข้อความอยู่ จึงถ่ายภาพไว้
สาเหตุที่ถ่ายเพราะระหว่างที่นั่งรถออกจากร้าน ในโซเชียลมีเดียกำลังถกเถียงว่ามีการพ่นสีสเปรย์ในพื้นที่พัทยา โดยในทวิตเตอร์ถกเถียงว่าภาพดังกล่าวอยู่ที่จุดใด พยานจึงทวีตภาพพร้อมข้อความว่า “พัทยากลางค่ะ” เพื่อโต้ตอบบัญชีดังกล่าว ในลักษณะแจ้งว่าเหตุเกิดที่พัทยากลาง และโต้ตอบภาพต้นเรื่องที่ทวีตว่าเป็นภาพที่พัทยาใต้ โดยหลังทวีตก็ไม่ได้เข้าไปดูอีกว่ามีใครมาโต้ตอบหรือไม่
จำเลยให้การต่อว่า ใช้บัญชีทวิตเตอร์มา 4 ปี ขณะเกิดเหตุมีบัญชีเดียว และเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ทั้งชื่อจริง การศึกษา หมายเลขโทรศัพท์ แต่ไม่รู้จักกับบัญชีที่เป็นต้นทวีตข้อความ โดยเคยให้การในชั้นสอบสวนยืนยันแล้วว่า ที่ทวีตเพียงต้องการยืนยันสถานที่ในภาพเท่านั้น
ต่อมา สนธยาตอบคำถามค้านของอัยการว่า ภาพที่ถูกคร็อปในโทรศัพท์ จำไม่ได้ว่าถ่ายคนละครั้งกับภาพเต็มหรือไม่ นอกจากนี้ พยานยังถ่ายภาพที่แยกพัทยาใต้ไว้ แต่ไม่ได้นำไปทวีต และไม่ได้เข้าไปดูในแฮชแท็กในช่วงดังกล่าวที่มีการกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 และรับว่าจากภาพหลักฐาน ทวีตของพยานมีคนรีทวีต 52 ครั้ง และกดถูกใจ 15 ครั้ง
หลังสืบพยานเสร็จสิ้น ศาลได้กำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 ม.ค. 2566 เวลา 9.00 น.
.
นอกจากคดีนี้ ยังมีคดีของ “พนิดา” ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้พ่นสีข้อความดังกล่าวที่ฐานของพระบรมฉายาลักษณ์สองจุดในเมืองพัทยา ทำให้ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 360 ด้วย โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2565 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดพัทยามีคำพิพากษาเห็นว่าพนิดามีความผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษจำคุก 2 กระทง กระทงละ 3 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษกระทงละกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกกระทงละ 1 ปี 6 เดือน รวมโทษจำคุก 2 ปี 12 เดือน โดยให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี (ดูเรื่องราวของพนิดา)
นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลว่านอกจากสนธยาแล้ว ยังมีประชาชนอีก 1 ราย ถูกดำเนินคดีเฉพาะข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการนำภาพถ่ายกรณีนี้ไปเผยแพร่ในโลกออนไลน์อีกด้วย
.