มิถุนายน 2566: จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองยอดรวม 1,916 คน ใน 1,226 คดี

เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สถานการณ์การดำเนินคดีจากการแสดงออกทางเมือง ไม่มีคดีใหม่เพิ่มขึ้นมากนัก แต่ยังเต็มไปด้วยการต่อสู้คดีเดิมที่ดำเนินอยู่ ศาลมีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ออกมาเดือนเดียวไม่น้อยกว่า 12 คดี โดยมีทั้งคดีที่ศาลยกฟ้อง ลงโทษจำคุก หรือให้รอลงอาญา และนำไปสู่การมีผู้ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาในคดีข้อหานี้เพิ่มขึ้น 2 ราย  ส่วนคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลก็มีคำพิพากษาออกมาอีก 8 คดี โดยมีทั้งคดีที่ศาลยกฟ้องและเห็นว่ามีความผิดสลับกันไปมา

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,916 คน ในจำนวน 1,226 คดี

ในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 286 ราย ใน 215 คดี 

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2566 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 2 คน คดีเพิ่มขึ้น 8 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) 

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,860 ครั้ง

สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 252 คน ในจำนวน 271 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 130 คน ในจำนวน 41 คดี

3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,469 คน ในจำนวน 663 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง) 

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 148 คน ในจำนวน 80 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 178 คน ในจำนวน 196 คดี

6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 36 คน ใน 20 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 34 คน ใน 10 คดี

จากจำนวนคดี 1,226 คดีดังกล่าว มีจำนวน 371 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 855 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่างๆ

.

.
แนวโน้มการดำเนินคดีในช่วงเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา มีสถานการณ์สำคัญ ดังต่อไปนี้

ผู้ถูกดำเนินคดี ม.112 เพิ่มขึ้น 2 คดี ศาลมีคำพิพากษาออกมาเดือนเดียว 12 คดี ผู้ถูกคุมขังระหว่างพิจารณา 4 ราย

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เท่าที่ทราบข้อมูล เพิ่มขึ้นในเดือนที่ผ่านมาอย่างน้อย 2 คน ใน 2 คดี กรณีหนึ่ง ได้แก่ คดีของ “เวฟ”  ประชาชนจากนนทบุรีวัย 30 ปี ซึ่งถูก นพดล พรหมภาสิต เลขาศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) เป็นผู้กล่าวหา จากกรณีการแชร์และโพสต์ข้อความประกอบในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับเรื่องการผลิตวัคซีนจากภาษีประชาชน ตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค. 2564  คดีนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเพิ่งรับทราบข้อมูลคดีก่อนอัยการมีคำสั่งฟ้องต่อศาลอาญา ในส่วนอีกคดีหนึ่งเป็นคดีของประชาชนที่ยังไม่ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา

ขณะที่คดีมาตรา 112 ที่ดำเนินอยู่ในชั้นศาล ในช่วงเดือนที่ผ่านมานับได้ว่าเป็นเดือนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาออกมาในปริมาณมาก คืออย่างน้อยถึง 12 คดีในเดือนเดียว ในจำนวนนี้เป็นคดีที่จำเลยต่อสู้คดี 4 คดี และให้การรับสารภาพอีก 8 คดี

ในคดีที่จำเลยต่อสู้คดี พบว่าศาลมีคำพิพากษายกฟ้องข้อหามาตรา 112 ใน 2 คดี ได้แก่ คดีของศิระพัทธ์ กรณีปลดพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมกรอบรูปไปจากป้อมยามหน้าหมู่บ้าน แล้วนำกรอบรูปไปทิ้งลงคลอง ศาลจังหวัดนนทบุรีเห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยเป็นเพียงเจตนาที่ต้องการลักขโมยของยามวิกาลเท่านั้น ฟังมิได้ว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษที่ดูหมิ่นกษัตริย์อย่างไร

อีกคดีหนึ่ง ได้แก่ คดีของชูเกียรติ แสงวงค์ ซึ่งถูกกล่าวหาแปะกระดาษที่มีข้อความ “ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล!” บนรูปรัชกาลที่ 10 ศาลอาญายกฟ้องข้อหามาตรา 112 เนื่องจากยังมีข้อสงสัยในพยานหลักฐานโจทก์ ซึ่งมีประจักษ์พยานเพียงคนเดียว และเป็นการเห็นเพียงข้างหลัง ไกลจากที่เกิดเหตุ 10 เมตร ส่วนภาพกล้องวงจรปิดเป็นมุมจากระยะไกล ยังมีข้อสงสัยอยู่พอสมควร

.

.

ขณะที่อีกสองคดีที่ศาลเห็นว่ามีความผิด ได้แก่ คดีของทีปกร กรณีแชร์โพสต์เฟซบุ๊กตั้งคำถามถึงคุณค่าของสถาบันกษัตริย์ ศาลอาญาลงโทษจำคุก 3 ปี และคดีของชูเกียรติ-วรรณวลี กรณีปราศรัยใน #ม็อบ6ธันวา63 ศาลอาญาธนบุรีลงโทษจำคุกคนละ 2 ปี 8 เดือน โดยคดีแรกหลังพิพากษา ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ ขณะที่ในคดีหลัง ศาลอนุญาตให้ประกันตัว

ในคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ พบว่ามีถึง 6 คดี ที่ศาลพิพากษาให้รอการลงโทษจำคุกไว้ แม้แต่คดีของ “พงษ์” กรณีถูกฟ้องจากการโพสต์เฟซบุ๊ก 6 ข้อความ ที่ศาลอาญาลงโทษจำคุก 18 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 6 ปี 36 เดือน โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 

ขณะที่มี 2 คดี ที่ศาลพิพากษาโดยไม่รอลงอาญา ได้แก่ คดีของประสงค์ กรณีโพสต์สองข้อความ ที่ศาลอาญาตลิ่งชันลงโทษจำคุก 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา และคดีของวารุณี กรณีโพสต์พระแก้วมรกต ที่ศาลอาญาลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา โดยกรณีหลัง ศาลอุทธรณ์ยังไม่อนุญาตให้ประกันตัวอีกด้วย

นอกจากนั้น ศาลอาญายังมีคำพิพากษายกฟ้องทุกข้อกล่าวหาในคดี “ขัดขวางขบวนเสด็จ” ของ 5 ประชาชน ซึ่งถูกฟ้องข้อหาตามมาตรา 110 อันมีอัตราโทษสูงกว่ามาตรา 112 โดยเห็นว่าจากพยานหลักฐานทั้งหมด จำเลยทั้งหมดไม่ได้มีเจตนาขัดขวางขบวนเสด็จ แต่เกิดจากความเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนจะเข้าสลายการชุมนุม ขณะที่การจัดการเส้นทางเสด็จของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เป็นไปโดยไม่เรียบร้อยอย่างเห็นได้ชัด

.

.

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน มีผู้ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 ระหว่างพิจารณาเท่าที่ทราบข้อมูลอย่างน้อย 4 ราย ได้แก่ เวหา (ขังระหว่างอุทธรณ์), วุฒิ (ขังระหว่างต่อสู้คดีในศาลชั้นต้น, ทีปกร (ขังระหว่างอุทธรณ์) และวารุณี (ขังระหว่างอุทธรณ์)

ควรกล่าวด้วยว่า เดือนที่ผ่านมา มีสถานการณ์การสืบพยานคดีมาตรา 112 ในคดีของ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว ที่ศาลอาญาดำเนินการสืบพยานโดยไม่มีทนายความ หลังมีการเลื่อนนัดคดีให้เร็วขึ้นเอง แม้ทนายความจะยืนยันว่ามีนัดคดีอื่นในวันดังกล่าวแล้วก็ตาม และศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีออกไป ทำให้ชลธิชาปฏิเสธกระบวนการที่เกิดขึ้น จนในภายหลัง ศาลให้เลื่อนคดีก่อนการสืบพยานจำเลย และให้เรียกพยานโจทก์มาให้ทนายความถามค้านต่อไป

.

.

คดีชุมนุม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลทั้งยกฟ้อง-เห็นว่ามีความผิด สลับไปมา

ในเดือนที่ผ่านมา ไม่มีรายงานการดำเนินคดีจากการชุมนุมในคดีใหม่เพิ่มเติม แต่มีคดีเดิมที่มีการแจ้งข้อหาเพิ่มเติมต่อผู้ต้องหารายใหม่ ได้แก่ คดีจากการเดินขบวนในวันแรงงานสากล เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2566 ซึ่งเดิมมีการดำเนินคดีต่อผู้เข้าร่วม 3 ราย แต่ในเดือนที่ผ่านมา ตำรวจ สน.ปทุมวัน ได้แจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียง เพิ่มต่อนักกิจกรรมอีก 2 ราย ได้แก่ สมยศ พฤกษาเกษมสุข และ ธนพร วิจันทร์

ส่วนคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมในช่วงปี 2563-65 มีทั้งคดีที่ศาลยกฟ้องเพิ่มเติมอีก 3 คดี ได้แก่ คดีของนักกิจกรรม 21 ราย ชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว เรียกร้องให้ตำรวจขอโทษจากการคุกคามนักเรียน, คดีนักกิจกรรมและประชาชน 18 ราย สาดสีหน้า สน.ทุ่งสองห้อง (แต่ให้รอลงอาญาเฉพาะนักกิจกรรม 2 ราย ในข้อหาทำให้ทรัพย์สาธารณะเสียหาย)

อีกคดีหนึ่ง ได้แก่ คดีชุมนุมเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 ซึ่งมีผู้ถูกฟ้อง 12 ราย คดีนี้ศาลอาญายกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่เห็นว่ามีความผิดในข้อหามาตรา 116, มาตรา 215, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.จราจรฯ โดยให้ลงโทษจำคุก 2 เดือน แต่ให้รอลงอาญา

ขณะที่มีคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลเห็นว่ามีความผิด 4 คดี โดยมีสองคดีที่ศาลลงโทษปรับ และอีกสองคดีที่ศาลลงโทษจำคุก แต่ให้รอลงอาญา รวมทั้งยังมีคดีที่ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ซึ่งเคยยกฟ้องคดี กลับมาเป็นเห็นว่ามีความผิด แต่ให้ลงโทษปรับ ได้แก่ คดีคาร์ม็อบโคราช เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564

แนวโน้มคำวินิจฉัยในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองนั้น พบว่าแตกต่างไปสองแนวอย่างชัดเจน ระหว่างศาลที่พิจารณาเน้นการห้ามการชุมนุมอย่างเด็ดขาดในสถานการณ์โรคระบาด กับศาลที่พิจารณาสร้างความสมดุลระหว่างการใช้เสรีภาพในการชุมนุมกับสถานการณ์เรื่องโควิด-19 โดยแนวคดีที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องนั้น ยังมีปริมาณมากกว่าคดีที่ศาลเห็นว่ามีความผิด

.

X