วันที่ 12 มิ.ย. 2566 เวลา 10.00 น. ศาลอาญาตลิ่งชันนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “โด่ง” ประสงค์ โคตรสงคราม ชาวจังหวัดลพบุรี วัย 28 ปี ที่ถูกอัยการฟ้องคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากกรณีโพสต์และแชร์เฟซบุ๊กรวม 2 กระทง เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564
คดีนี้ ประสงค์ถูกจับกุมตามหมายจับเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2564 จากบ้านในอำเภอเมืองลพบุรี ก่อนถูกนำตัวไปยัง สน.บางพลัด เจ้าของคดี โดยพบว่าว่าคดีมี ฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ เป็นผู้กล่าวหา โดยฐิติวัฒน์อ้างว่าได้เปิดดูเฟซบุ๊กของกลุ่มบุคคลที่มักจะโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จนพบเห็นข้อความของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งมีลักษณะดังกล่าว จึงมาแจ้งความดำเนินคดี
ภายหลังถูกจับกุม ศาลอาญาตลิ่งชันเคยไม่อนุญาตให้ประกันตัวประสงค์ในระหว่างสอบสวน ทำให้เขาถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำชั่วคราวทุ่งน้อย จ.นครปฐม ซึ่งอยู่ภายในพื้นที่เรือนจำมณฑลทหารบกที่ 11 เป็นเวลา 21 วัน ก่อนจะถูกกักตัวต่อ เนื่องจากผู้ต้องขังในห้องเดียวกันติดโควิด-19 จนกระทั่งศาลอนุญาตให้ประกันตัว ในวันที่ 4 ส.ค. 2564 ทำให้เขาต้องถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำชั่วคราวทุ่งน้อยรวมทั้งสิ้น 27 วัน ก่อนพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาตลิ่งชัน 1 จะมีคำสั่งฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2564
วันนี้ (12 มิ.ย.2566) เวลา 10.05 น. จำเลยได้เดินทางมาพร้อมทนาย ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 6 โดยมี “ป้าเป้า” และมวลชนอีก 1 คน ได้เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย บรรยายกาศค่อนข้างมีความวุ่นวาย เนื่องมาจากว่ามีคดีที่ศาลจะต้องพิจารณาเยอะ
ศาลได้เรียกให้ประสงค์แสดงตัว ก่อนจะเริ่มอ่านคำพิพากษา มีใจความโดยสรุปว่า คดีนี้ศาลได้สั่งให้เจ้าพนักงานคุมประพฤติ ได้ทำการสืบเสาะพฤติการณ์จำเลย มีรายงานปรากฏว่า จำเลยถูกรับเลี้ยงดูเป็นลูกบุญธรรม โดยอาศัยอยู่ในชุมชนเมือง ในจังหวัดลพบุรี ซึ่งได้รับการศึกษาเล่าเรียนจนจบปริญญาตรี ไม่มีประวัติทางการเรียนเสื่อมเสีย
ทั้งนี้ ในรายงานสืบเสาะยังได้ปรากฏอีกว่า ประสงค์เป็นคนเก็บตัว ไม่ชอบสุงสิงกับใคร และไม่ได้มีพฤติการณ์ก้าวร้าว ไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และไม่เคยมีประวัติอาชญากรรมมาก่อน ซึ่งพนักงานคุมประพฤติลงความเห็นว่าสมควรให้รอการลงโทษจำเลยไว้
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลได้อ่านคำบรรยายฟ้องของอัยการ ซึ่งระบุว่า ประสงค์ได้ทำการโพสต์และแชร์ข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ และพิเคราะห์รวมกับคำร้องประกอบคำรับสารภาพของจำเลย พบว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) ทั้งนี้การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษตัวบทกฎหมายที่หนักที่สุด โดยลงโทษตามมาตรา 112 ให้จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุให้บรรเทาโทษ จึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 3 ปี ไม่มีเหตุให้รอลงอาญา
ภายหลังการฟังคำพิพากษา ประสงค์ได้ถูกนำตัวลงไปใต้ถุนศาลเพื่อรอการประกันตัว ซึ่งทนายได้ยื่นขอประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ต่อทันที
ต่อมาเวลา 14.29 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกราชอาณาจักร และให้วางหลักทรัพย์ประกันเพิ่มเติมเป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท จากเดิมที่เคยวางไว้ในชั้นพิจารณา 150,000 บาท รวมเป็นหลักทรัพย์ประกันทั้งสิ้น 200,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์
ทั้งนี้ ในการได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน ศาลยังกำหนดให้ประสงค์ติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์หรือ EM ด้วย และเขาเพิ่งได้รับอนุญาตให้ถอดกำไลเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2566 รวมระยะเวลาราว 1 ปีครึ่งที่เขาต้องใช้ชีวิตกับเครื่องมือดังกล่าว
.
ย้อนอ่านเรื่องของประสงค์
บันทึกทนายเยี่ยม “ประสงค์” ผู้ต้องขัง ม.112 : ผมอยากกลับบ้านไปกินข้าวกับแม่แล้ว