ยกฟ้อง! พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ‘ 21 นักกิจกรรม’ ชุมนุมเรียกร้อง ตร.ภูเขียว ขอโทษที่คุกคามนักเรียน ศาลระบุ การปราศรัย-เล่นดนตรี ไม่ใช่การมั่วสุม จำเลยเพียงร่วมชุมนุม ไม่มีหน้าที่ขออนุญาต

วันที่ 27 มิ.ย. 2566 นักกิจกรรม 21 ราย เดินทางไปที่ศาลจังหวัดภูเขียว ในนัดฟังคำพิพากษาคดีที่ถูกฟ้องในข้อหา “ฝ่าฝืนข้อกําหนด ประกาศ คําสั่งที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยร่วมชุมนุมที่มีความแออัด และมั่วสุมในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่เฝ้าระวังสูง โดยไม่ได้รับอนุญาต” จากเหตุการณ์ชุมนุมราษฎรออนทัวร์ หน้า สภ.ภูเขียว เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 เรียกร้องตำรวจขอโทษที่ไปคุกคามครอบครัวนักเรียน 

>>>ตร.ชี้ 21 นักกิจกรรม ไม่ใช่แกนนำ – ไม่มีผู้ติดโควิด – ไม่พบเห็นเหตุรุนแรง ก่อนศาลภูเขียวนัดพิพากษา คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุมเรียกร้อง ตร.ขอโทษ

เนื่องจากจำเลยในคดีนี้มีจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ศาลจึงแจ้งเปลี่ยนจากห้องพิจารณาที่ 3 เป็นห้องพิจารณาที่ 5 ที่มีขนาดกว้างกว่า กระทั่งจำเลย ได้แก่ “ทราย” อินทิรา เจริญปุระ, ปนัดดา ศิริมาศกูล, ทรงพล สนธิรักษ์, ปาริชาติ เลิศอัคระรัตน์, หรรษชีวิน เกศรินหอมหวล, วันชัย สุธงษา, เมยาวัฒน์ บึงมุม, นภาวดี พรหมหาราช, กิตติภูมิ ทะสา, ณพกิตติ์ มะโนชัย, เกรียงไกร จันกกผึ้ง, ขนุน (นามสมมติ), ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์, จตุพร สุสวดโม้, จิตริน พลาก้านตง, ชาติชาย แกดำ, ชาติชาย ไพรลิน, ณัชพล ไพรลิน, เกษราภรณ์ แซ่วี, วชิรวิชญ์ ลิมปิธนวงศ์ และปวริศ แย้มยิ่ง เดินทางมาศาลครบทุกคนในเวลา 10.00 น.   

ขจรธรรม ธรรมฤาชุ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดภูเขียว เจ้าของสำนวน อ่านคำพิพากษา มีใจความโดยสรุป ดังนี้ เห็นว่า สำหรับความผิดร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความแออัด ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ภายในเขตพื้นที่ควบคุม  พื้นที่เฝ้าระวังสูง หรือพื้นที่เฝ้าระวัง โดยไม่ได้รับการอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด ตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ในส่วนของการควบคุมกิจกรรมการชุมนุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 การชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีความแออัดและเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่เฝ้าระวังสูง ให้ผู้จัดการชุมนุมต้องขออนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด โดยประกาศดังกล่าวเป็นเรื่องที่ว่าด้วยความผิดทางอาญา กฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด จะตีความให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยไม่ได้ 

โดยกฎหมายไม่ได้ระบุการห้ามชุมนุมไว้อย่างชัดเจน และห้ามชุมนุมเฉพาะพื้นที่ควบคุมสูงสุดเท่านั้น แต่เมื่อพื้นที่เกิดเหตุเป็นเพียงพื้นที่เฝ้าระวังสูง การกระทำที่จะเข้าข่ายเป็นความผิดก็คือ เป็นผู้จัดการชุมนุม โดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่า จำเลยทั้งหมดเป็นผู้จัดการชุมนุม ทั้งได้ความจากพยานว่า แกนนำในการชุมนุมครั้งนี้ที่มีหน้าที่ต้องไปขออนุญาต มี จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, ภาณุพงษ์ จาดนอก และอรรถพล บัวพัฒน์ ซึ่งโจทก์นำสืบว่า จำเลยเป็นเพียงผู้ร่วมชุมนุมเท่านั้น จำเลยทั้งหมดจึงไม่มีความผิดฐานดังกล่าว 

สำหรับฐานความผิดฝ่าฝืนคำสั่งที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค เป็นกรณีที่ห้ามเฉพาะการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคเท่านั้น ไม่ได้ห้ามการชุมนุมหรือทำกิจกรรมอื่น ทั้งนี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ระบุว่าคำว่า มั่วสุม หมายถึง ชุมนุมเพื่อกระทำการไม่ดี เช่น มั่วสุมเล่นการพนัน 

เมื่อทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่า การชุมนุมของจำเลยกระทำไม่ดีอย่างไร เพียงปรากฏว่า กลุ่มผู้ชุมนุมร่วมกันจัดเวทีปราศรัยและเล่นดนตรีผ่านเครื่องขยายเสียง โดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรง และเป็นสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 ซึ่งบัญญัติรับรองไว้ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

ข้อเท็จจริงของโจทก์ไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งหมดร่วมกันมั่วสุม จำเลยทั้งหมดจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง กรณีไม่อาจต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำการอันเสี่ยงต่อการแพร่โรคหรือไม่  พิพากษายกฟ้อง 

สำหรับเหตุในคดี ย้อนไปเมื่อช่วงต้นปี 2564 กลุ่ม “ราษฎร” จัดค่าย “ราษฎรออนทัวร์” เรียนรู้ปัญหาสังคมผ่านชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ ที่ อ.วังสะพุง จ.เลย ระหว่างวันที่ 29-31 ม.ค. 2564 โดยรับสมัครนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3-6 ใน อ.ภูเขียว จำนวน 30 คน  แต่แล้วระหว่างรับสมัครกลับมีตำรวจ รวมถึงครูฝ่ายปกครองเข้าพบกับผู้ปกครองนักเรียนที่ลงชื่อสมัครไปค่าย มีการพูดจาลักษณะไม่อยากให้นักเรียนเข้าร่วมค่าย หนำซ้ำขณะเดินทางไปค่ายยังปรากฏมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคอยติดตามการเดินทาง รวมถึงตั้งด่านสะกัดในช่วงก่อนเข้า อ.วังสะพุง อีกด้วย

จากสถานการณ์ดังกล่าว หลังกิจกรรมค่ายเสร็จสิ้น เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 กลุ่มนักกิจกรรมจึงจัดการปราศรัยที่หน้าโรงเรียนภูเขียว ก่อนขยับไปที่หน้า สภ.ภูเขียว ในช่วงสาย เพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์ของค่าย และเรียกร้องให้ตำรวจออกมาแสดงความรับผิดชอบด้วยการขอโทษต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับนักเรียน แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากตำรวจ การชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว จึงดำเนินต่อไป จนกระทั่งดึกทางตำรวจก็ยังไม่ออกมาขอโทษ การชุมนุมจึงยุติลงในช่วง 21.00 น. 

ภายหลังเหตุการณ์ นอกจากนักเรียนที่ถูกคุกคามไม่ได้รับการขอโทษแล้ว กลุ่มราษฎรและนักกิจกรรมรายอื่น ๆ รวม 26 ราย ยังถูกดำเนินคดี ที่มากกว่านั้น 1 ใน 26 ราย คือ แซน (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 16 ปี เป็นนักเรียนที่ถูกตำรวจคุกคามและกดดันผู้ปกครองอีกด้วย 

คดีนี้แรกเริ่มมีผู้ถูกดำเนินคดี 22 ราย ในนัดสอบคำให้การเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ณัฐพล โชคสวัสดิ์ ตัดสินใจให้การรับสารภาพ เนื่องจากตั้งใจจะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ก่อนศาลพิพากษาให้รอการกำหนดโทษเป็นเวลา 1 ปี  จึงเหลือนักกิจกรรมที่สู้คดีต่ออีก 21 ราย  

นอกจากนี้ การชุมนุมครั้งนี้ตำรวจยังมีการดำเนินคดีอีก 2 คดี คดีแรก แซน เยาวชนถูกฟ้องข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ไปแล้ว และคดีที่ 2 “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ และ “ไมค์” ภาณุพงษ์ จาดนอก ที่นอกจากถูกฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาด้วยการใช้เครื่องขยายเสียงฯ ทั้งสามคนยังถูกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 และมาตรา 116 จากการปราศรัยอีกด้วย โดยคดีของทั้ง 3 ราย ศาลจังหวัดภูเขียวจะเริ่มสืบพยานช่วงเดือนเมษายน ปี 2567

X