ตร.ชี้ 21 นักกิจกรรม ไม่ใช่แกนนำ – ไม่มีผู้ติดโควิด – ไม่พบเห็นเหตุรุนแรง ก่อนศาลภูเขียวนัดพิพากษา คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุมเรียกร้อง ตร.ขอโทษ

หลังต่อสู้คดีกันมากว่า 2 ปี วันที่ 27 มิ.ย. 2566 ศาลจังหวัดภูเขียวจะอ่านคำพิพากษาในคดีที่นักกิจกรรมรวม 22 ราย ถูกฟ้องตามข้อหา “ฝ่าฝืนข้อกําหนด ประกาศ คําสั่งที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยร่วมชุมนุมที่มีความแออัด และมั่วสุมในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่เฝ้าระวังสูง โดยไม่ได้รับอนุญาต” จากเหตุการณ์ชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 เรียกร้องตำรวจขอโทษที่ไปคุกคามครอบครัวนักเรียน 

ย้อนไปเมื่อช่วงต้นปี 2564 กลุ่ม “ราษฎร” จัดค่าย “ราษฎรออนทัวร์” เรียนรู้ปัญหาสังคมผ่านชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ ที่ อ.วังสะพุง จ.เลย ระหว่างวันที่ 29-31 ม.ค. 2564 โดยรับสมัครนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3-6 ใน อ.ภูเขียว จำนวน 30 คน  แต่แล้วระหว่างรับสมัครกลับมีตำรวจ รวมถึงครูฝ่ายปกครองเข้าพบกับผู้ปกครองนักเรียนที่ลงชื่อสมัครไปค่าย มีการพูดจาลักษณะไม่อยากให้นักเรียนเข้าร่วมค่าย หนำซ้ำขณะเดินทางไปค่ายยังปรากฏมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคอยติดตามการเดินทาง รวมถึงตั้งด่านสะกัดในช่วงก่อนเข้า อ.วังสะพุง อีกด้วย

จากสถานการณ์ดังกล่าว หลังกิจกรรมค่ายเสร็จสิ้น เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 กลุ่มนักกิจกรรมจึงจัดการปราศรัยที่หน้าโรงเรียนภูเขียว ก่อนขยับไปที่หน้า สภ.ภูเขียว ในช่วงสาย เพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์ของค่าย และเรียกร้องให้ตำรวจออกมาแสดงความรับผิดชอบด้วยการขอโทษต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับนักเรียน แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากตำรวจ การชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว จึงดำเนินต่อไป จนกระทั่งดึกทางตำรวจก็ยังไม่ออกมาขอโทษ การชุมนุมจึงยุติลงในช่วง 21.00 น. 

ภายหลังเหตุการณ์ นอกจากนักเรียนที่ถูกคุกคามไม่ได้รับการขอโทษแล้ว กลุ่มราษฎรและนักกิจกรรมรายอื่น ๆ รวม 26 ราย ยังถูกออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา ที่มากกว่านั้น 1 ใน 26 ราย คือ แซน (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 16 ปี เป็นนักเรียนที่ถูกตำรวจคุกคามและกดดันผู้ปกครองอีกด้วย 

โดยตำรวจแยกดำเนินคดีเป็น 3 คดี คดีแรก แซน เยาวชนถูกฟ้องข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ไปแล้ว, คดีที่ 2 “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ และ “ไมค์” ภาณุพงษ์ จาดนอก ที่นอกจากถูกฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาด้วยการใช้เครื่องขยายเสียงฯ ทั้งสามคนยังถูกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 และมาตรา 116 จากการปราศรัยอีกด้วย

ส่วนคดีนี้มีนักกิจกรรม 22 ราย ถูกฟ้องต่อศาลจังหวัดภูเขียวเฉพาะข้อหา ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกําหนด ประกาศ คําสั่ง ที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คำฟ้องของพนักงานอัยการจังหวัดภูเขียวระบุว่า จําเลยร่วมกันชุมนุม ทํากิจกรรม ที่มีการรวมคนในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยจําเลยกับพวกได้นำผู้เข้าร่วมชุมนุมจํานวนมากจัดเวทีปราศรัยและเล่นดนตรีผ่านเครื่องขยายเสียง โดยผู้เข้าร่วมชุมนุมไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่รักษาระยะห่างตามสมควร และไม่มีการคัดกรองตามมาตรการควบคุมโรค บริเวณหน้าโรงเรียนภูเขียวและหน้า สภ.ภูเขียว ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ประกาศห้ามการมั่วสุมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค และเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง โดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ 

>>ยื่นฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว “ราษฎรออนทัวร์” ชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว ก่อนศาลให้ประกันมีเงื่อนไขห้ามทำอีก “ทราย” ชี้กระบวนการใช้ กม. “ไม่สม่ำเสมอ”  

แต่ในนัดสอบคำให้การเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2565  ณัฐพล โชคสวัสดิ์ ตัดสินใจให้การรับสารภาพ เนื่องจากตั้งใจจะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ก่อนศาลพิพากษาให้รอการกำหนดโทษเป็นเวลา 1 ปี ส่วนอีก 21 ราย ยืนยันต่อสู้คดีต่อ 

ต่อมาศาลจังหวัดภูเขียว โดย ขจรธรรม ธรรมฤาชุ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้น ทำการสืบพยานในเดือนเมษายน 2566 เป็นพยานฝ่ายโจทก์ 11 ปาก ที่มีตั้งแต่ตำรวจสืบสวนและปราบปราม สภ.ภูเขียว, พ่อค้าในตลาด, รอง ผอ.โรงเรียนภูเขียว, ปลัดอำเภอ, ผู้ช่วยสาธารณสุขอำเภอภูเขียว และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิ ส่วนพยานจำเลยมี 2 ปาก ได้แก่ วันชัย สุธงสา หนึ่งในจำเลย และภรณ์ทิพย์ สยมชัย ชาวบ้านนาหนองบง อ.วังสะพุง จ.เลย พื้นที่จัดค่ายราษฎรออนทัวร์ โดยแนวทางต่อสู้คดีของจำเลย คือ ไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม จึงไม่มีความผิดข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

.

ตำรวจรับ  จุดชุมนุมเป็นสถานที่โล่งกว้าง ไม่แออัด – ทั้ง 21 ราย เพียงร่วมชุมนุม

พยานโจทก์ซึ่งเป็นตำรวจฝ่ายปราบปรามและสืบสวน รวมทั้งพนักงานสอบสวนเบิกความถึงเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ในทำนองเดียวกันว่า เวลาประมาณ 08.00 น. มีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 10 กว่าคน รวมกลุ่มและปราศรัยหน้ารั้วโรงเรียนภูเขียว

เวลาประมาณ 10.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางมาชุมนุมที่หน้า สภ.ภูเขียว เพื่อเรียกร้องและสอบถามถึงสาเหตุที่ตํารวจห้ามนักเรียนโรงเรียนภูเขียวไปร่วมค่ายราษฎรออนทัวร์ ผู้กํากับการ สภ.ภูเขียว และ พ.ต.ท.อภิรักษ์ ดวงใจ รองผู้กำกับการป้องกันและปราบปราม จึงเข้าเจรจากับแกนนำผู้ชุมนุม คือ ไผ่ ดาวดิน  ทราบว่า กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องให้ตํารวจขอโทษกรณีที่มีตำรวจไปห้ามไม่ให้นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย โดยให้แถลงขอโทษอย่างเป็นทางการในเวลา 18.00 น. 

ช่วงบ่ายกลุ่มผู้ชุมนุมได้นําป้ายข้อความ “SAVE เมียนม่า” และ “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” มาติดบริเวณรั้วและบันไดทางขึ้น สภ.ภูเขียว และผู้ชุมนุมผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัย มีผู้ฟังการปราศรัยกว่า 20 คน จนกระทั่งถึงเวลาประมาณ 20.00 น. แกนนําได้อ่านแถลงการณ์ และยุติการชุมนุม แต่ยังรออยู่ที่หน้า สภ.ภูเขียว เพื่อให้ผู้กำกับมาขอโทษ แต่ราว 23.30 น. ตํารวจได้ทยอยปลดป้ายผ้าออก และแจ้งให้ผู้ชุมนุมออกจากบริเวณ สภ.ภูเขียว 

ตำรวจที่สังเกตการณ์ตลอดการชุมนุม ระบุว่า ผู้ชุมนุมมีทั้งที่สวมและไม่สวมหน้ากากอนามัย บางช่วงเวลามีการยืนหรือนั่งใกล้ชิดกัน ไม่มีจุดคัดกรองโรค โดยจำเลยในคดีนี้ปรากฏภาพว่าร่วมชุมนุมด้วย

อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.อภิรักษ์ ผู้กล่าวหา และ ร.ต.อ.รังสรรค์ เอี่ยมไธสง พนักงานสอบสวน เบิกความตอบทนายจำเลยรับว่า ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้นิยามความหมายของผู้จัดการชุมนุมและความเสี่ยงต่อการแพร่โรคไว้ว่า ต้องมีลักษณะแบบใด อย่างไร นอกจากนี้ ตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ข้อ 4 กำหนดให้เฉพาะผู้จัดการชุมนุมต้องขออนุญาตผู้ว่าราชการจังหวัดก่อน ซึ่งผู้ที่เป็นแกนนำการชุมนุมครั้งนี้คือ จตุภัทร์, ภาณุพงศ์ และอรรถพล ไม่ใช่จำเลยในคดีนี้

พ.ต.ท.อภิรักษ์ ยังรับว่า ตามรายงานสืบสวนปรากฏว่า ค่ายราษฎรออนทัวร์เป็นค่ายแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องปัญหาสังคมไทยและสังคมในอุดมคติในมุมมองของเยาวชน ซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมาย รวมทั้งเนื้อหาที่ปราศรัยในการชุมนุมก็เกี่ยวกับการเมือง ศาสนา และเศรษฐกิจทั่วไป

อีกทั้งตลอดการชุมนุมไม่ปรากฏรายงานว่า ตรวจค้นอาวุธได้จากกลุ่มผู้ชุมนุม และไม่ปรากฏว่า มีการใช้ความรุนแรง หรือมีทรัพย์สินของทางโรงเรียนภูเขียวหรือ สภ.ภูเขียว เสียหาย

พ.ต.ท.อภิรักษ์ และตำรวจอีก 3 นาย เบิกความตอบทนายจำเลยด้วยว่า ที่หน้า สภ.ภูเขียว กลุ่มผู้ชุมนุมมีประมาณ 40 คน ซึ่งอาจรวมถึงประชาชนทั่วไปด้วย สถานที่เกิดเหตุทั้งหน้าโรงเรียนภูเขียวและหน้า สภ.ภูเขียว เป็นสถานที่โล่งกว้าง ไม่ใช่สถานที่แออัด รองรับคนได้ถึง 200-300 คน ผู้ชุมนุมและประชาชนเคลื่อนย้ายไปยังจุดต่างๆ ได้สะดวก แม้มีภาพจำเลยบางคนไม่สวมหน้ากากอนามัย แต่ก็เป็นบางช่วงที่ไม่ได้อยู่ใกล้คนอื่น เช่น ขณะปราศรัย หรือเป็นการลดหน้ากากอนามัยชั่วขณะเพื่อถ่ายรูป ซึ่งในชีวิตประจำวันก็อาจมีการผ่อนคลายโดยถอดหน้ากากอนามัยบ้างเป็นบางเวลา

พ.ต.ท.วันชัย จีนคำ ระบุกับทนายจำเลยอีกว่า หลังการชุมนุมไม่พบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนตำรวจชุดสืบสวน 2 ปาก อย่าง ร.ต.อ.ปุระเชษฐ์ ตั้งพร้อมทรัพย์ และ ร.ต.ต.ชูชาติ ชำนาญวงศ์ ต่างเบิกความสอดคล้องกับ พ.ต.ท.อภิรักษ์ ว่าแกนนำการชุมนุมครั้งนี้ มีเฉพาะ จตุภัทร์, ภาณุพงศ์ และอรรถพล ทั้งระบุว่า การปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงการติดป้ายผ้าก็เป็นการแสดงออกทางการเมืองที่ทำได้

.

2 พ่อค้าตลาดภูเขียว ไม่พบเห็นเหตุรุนแรง ช่วงเกิดเหตุเปิดขายของตามปกติ ร้านค้าทั่วไป-สภ.ภูเขียว มีเจลแอลกอฮอล์ให้บริการ 

ประเสริฐ คุ้มครอง พ่อค้าขายเสื้อผ้าในตลาดสดภูเขียว ซึ่งอยู่ตรงข้าม สภ.ภูเขียว เบิกความว่า วันเกิดเหตุ มีผู้ชุมนุม 20-30 คน เดินทางมาชุมนุมที่หน้า สภ.ภูเขียว มีการตั้งเต็นท์ กล่าวปราศรัย ติดป้ายข้อความต่างๆ โดยไม่มีการใช้ความรุนแรง กลุ่มผู้ชุมนุมนั่งกระจัดกระจาย ทั้งนี้ ตนไม่รู้จักและไม่ทราบชื่อกลุ่มผู้ชุมนุม และเพียงแต่ดูเหตุการณ์อยู่ที่ร้านของตนเองเท่านั้น

ก่อนตอบทนายจำเลยว่า บริเวณหน้า สภ.ภูเขียว และโดยรอบเป็นที่โล่ง คนสามารถเดินสัญจรไปมาได้โดยสะดวก วันเกิดเหตุตลาดสดและร้านค้าโดยรอบ สภ.ภูเขียว เปิดให้บริการตามปกติ แต่พยานไม่ทราบว่า หน้าตลาดสดหรือร้านค้ามีจุดให้บริการเจลแอลกอฮอล์หรือไม่

ส่วนอังคณา ลาภเงิน พ่อค้าขายอาหารตามสั่งข้าง สภ.ภูเขียว เบิกความถึงเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุสอดคล้องกับประเสริฐ โดยพยานขายอาหารอยู่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมด้วย อังคณาระบุด้วยว่า ผู้ชุมนุมสวมหน้ากากอนามัยบ้าง ไม่สวมบ้าง และไม่เห็นว่า มีการตั้งจุดคัดกรองโรค

ขณะตอบทนายจำเลยว่า บริเวณ สภ.ภูเขียว เป็นที่โล่งแจ้ง จุคนได้หลายร้อยคน วันเกิดเหตุประชาชนรวมทั้งผู้ชุมนุมสามารถเดินเข้าออกได้สะดวก ร้านค้าก็เปิดขายตามปกติ โดยช่วงเกิดเหตุร้านค้าทั่วไป รวมถึงร้านของพยาน และหน้าอาคาร สภ.ภูเขียว จะมีเจลแอลกอฮอล์ให้บริการ

.

ปลัดอำเภอ-รอง ผอ.โรงเรียน อ้างไม่มีการขออนุญาตชุมนุม แต่รับว่า ตลาดสด-โรงเรียนที่มีคนจำนวนมากเปิดตามปกติ

ณัฐวุฒิ เพียเกษม ปลัดอำเภอภูเขียว เบิกความว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 08.45 น. ขณะพยานขับรถผ่านหน้าโรงเรียนภูเขียว เห็นกลุ่มคน ไม่ทราบจำนวนยืนอยู่หน้าโรงเรียน บริเวณนอกรั้ว ก่อนทราบในภายหลังว่า เป็นการชุมนุมของกลุ่มราษฎร ซึ่งในช่วงเกิดเหตุมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หากจัดชุมนุมหรือจักกิจกรรมจะต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่ออำเภอก่อน พยานเป็นคณะกรรมการดังกล่าวด้วย ซึ่งไม่ปรากฏว่า มีกลุ่มผู้ชุมนุมมาขออนุญาต

จากนั้นปลัดอำเภอได้ตอบทนายจำเลยว่า ตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ผู้ที่มีหน้าที่ขออนุญาตจัดการชุมนุมคือ แกนนำ ไม่ใช่ผู้เข้าร่วมชุมนุม ซึ่งพยานไม่ทราบว่า ใครเป็นแกนนำในการชุมนุมครั้งดังกล่าว และทางอำเภอภูเขียวก็ไม่ได้เข้ายับยั้งการชุมนุม นอกจากนี้ ช่วงเกิดเหตุ โรงเรียนมีการเรียนการสอน และตลาดสดหน้า สภ.ภูเขียว ก็เปิดค้าขายตามปกติ

ด้านหัฐพงษ์ ชาติไทย รอง ผอ.โรงเรียนภูเขียว เบิกความว่า วันเกิดเหตุขณะพยานพูดคุยกับนักเรียนที่เข้าแถวหน้าเสาธง โดยมีนักเรียนประมาณ 2,900 คน ได้มีกลุ่มคนมาชุมนุมที่นอกรั้วโรงเรียน มีการปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียง โดยไม่ได้มาขออนุญาตปราศรัย เมื่อเสร็จกิจกรรมหน้าเสาธง พยานได้แจ้งให้นักเรียนแยกย้ายกันเข้าเรียน แต่มีนักเรียนประมาณ 60-80 คน ไปนั่งฟังกลุ่มผู้ชุมนุมปราศรัยอยู่ด้านในรั้วโรงเรียน ภายหลังผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนออกไป ไม่พบว่ามีทรัพย์สินของโรงเรียนเสียหาย

ซึ่งต่อมาหัฐพงษ์เบิกความตอบทนายจำเลยว่า วันเกิดเหตุโรงเรียนมีการตั้งจุดคัดกรองนักเรียนตามปกติ ดังนั้นนักเรียนทุกคนในโรงเรียนจึงผ่านการคัดกรองโควิดแล้ว ด้านหน้าโรงเรียนและสนามหน้าเสาธงก็เป็นที่โล่งแจ้ง ทั้งยังมีกิจกรรมเข้าแถวหน้าเสาธงตามปกติทุกวัน ทั้งนี้ นักเรียนที่เข้าแถวมีจำนวนมากกว่าที่นั่งฟังปราศรัย

.

สาธารณสุขจังหวัด-อำเภอ ยืนยัน หลังชุมนุมไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อโควิดในชัยภูมิ ทั้งชุมนุมในที่โล่งเสี่ยงแพร่โควิดน้อยกว่าห้องปิด

พีรยศ ย่อมสูงเนิน  ผู้ช่วยสาธารณสุขอำเภอภูเขียว และคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ เบิกความว่า ในช่วงเกิดเหตุยังมีการระบาดของโควิด-19 มีการประกาศให้จังหวัดชัยภูมิเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง หากมีบุคคลที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมจะต้องแจ้งผู้นำหมู่บ้านหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข รวมทั้งหากต้องการจะชุมนุม ต้องขออนุญาตจากที่ว่าการอำเภอก่อน

วันเกิดเหตุพยานพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ไปที่หน้าโรงเรียนภูเขียวซึ่งมีการชุมนุม เพื่อสอบถามว่า มีใครมาจากพื้นที่ควบคุม เช่น กรุงเทพมหานคร เพื่อลงชื่อในระบบ พร้อมทั้งคัดกรองและวัดไข้ แต่มีคนกันไม่ให้เข้าไป พยานและเจ้าหน้าที่จึงเดินมายืนอยู่กับกลุ่มตำรวจเพื่อสังเกตการณ์ โดยพบว่า ผู้ชุมนุมมีประมาณ 10 กว่าคน มีบางคนไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่เว้นระยะห่าง และไม่เห็นว่ามีจุดคัดกรอง  จึงมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค จากนั้นพยานไม่ได้ติดตามผู้ชุมนุมไปหน้า สภ.ภูเขียว

ก่อนตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า พยานทราบว่าช่วง 17.00 น. เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลภูเขียวเข้าไปให้บริการคัดกรองผู้ชุมนุมที่หน้า สภ.ภูเขียว โดยหลังการชุมนุมไม่ปรากฏว่ามีผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นในอำเภอภูเขียว ทั้งนี้ การรวมกลุ่มกันในห้องปิดมีความเสี่ยงมากกว่าในที่โล่ง อีกทั้งบริเวณทางเข้าโรงเรียนและหน้าทางเข้าอาคาร สภ.ภูเขียว มีจุดคัดกรอง ซึ่งผู้ชุมนุมจะไปคัดกรองที่จุดดังกล่าวหรือไม่ พยานไม่ทราบ

ขณะที่วชิระ บถพิบูลย์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิ เบิกความว่า ช่วงเกิดเหตุเป็นช่วงที่มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ แล้ว แต่การจัดกิจกรรมยังต้องขออนุญาตจากผู้ว่าฯ ก่อน เกี่ยวกับคดีนี้ พยานเพียงดูจากวีดีโอเหตุการณ์ชุมนุม พบว่า ผู้ชุมนุมมีการเว้นระยะห่างกันประมาณครึ่งเมตรถึง 1 เมตร บางคนไม่สวมหน้ากากอนามัย พยานจึงมีความเห็นทางวิชาการว่า มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 ในระดับหนึ่ง แต่สถานที่ชุมนุมเป็นที่โล่งแจ้ง จึงมีความเสี่ยงน้อยลง โดยภายหลังชุมนุมไม่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดชัยภูมิ

.

จำเลยระบุมีมาตรการป้องกันโรค วัดอุณหภูมิ-ใช้เจลแอลกอฮอล์-สวมหน้ากากอนามัย

วันชัย สุธงสา หนึ่งในจำเลย เบิกความเป็นพยานจำเลยว่า พยานเห็นเฟซบุ๊กเพจคณะราษฎรโพสต์ว่า จะมีการจัดกิจกรรมบริเวณหน้าโรงเรียนภูเขียว เหตุเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจคุกคามนักเรียน ในวันที่ 1 ก.พ. 2564 ตนจึงมาร่วมกิจกรรม โดยร่วมฟังปราศรัยอยู่ข้างโรงเรียนภูเขียว ซึ่งเป็นที่โล่งแจ้ง โดยมีนักเรียนประมาณ 50 คน  นั่งฟังปราศรัยอยู่ภายในเขตโรงเรียน ห่างจากรั้วโรงเรียนประมาณ 2 เมตร จากนั้นตนไปร่วมฟังปราศรัยที่หน้า สภ.ภูเขียว ด้วย

นอกจากนั้งฟังปราศรัย พยานไม่มีหน้าที่หรือบทบาทใด ๆ ในการชุมนุม พยานมีการป้องกันโควิด โดยการวัดอุณหภูมิบริเวณทางเข้า สภ.ภูเขียว ใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และสวมหน้ากากอนามัย

พยานทราบว่า เหตุที่มีการไปชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว เนื่องจากไม่พอใจการกระทำของตำรวจ ที่ไปคุกคามนักเรียนที่ไปออกค่ายราษฎรออนทัวร์ ซึ่งค่ายดังกล่าวเป็นการพาเด็กนักเรียนไปศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของเหมืองแร่ทองคำที่จังหวัดเลย

ส่วนที่ปรากฏภาพตนเองและผู้ร่วมชุมนุมถอดหน้ากากอนามัย เป็นภาพขณะถ่ายรูป ซึ่งเมื่อถ่ายรูปเสร็จก็สวมหน้ากากอนามัยกลับทันที ตามภาพนั้นจะเห็นว่า ตนยังคงถือน้ากากอนามัยไว้ที่มือ

.

พยานชาวบ้าน เผย นักศึกษา-นักวิชาการเดินทางไปศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นประจำ รวมถึงช่วงเกิดเหตุและช่วงแพร่ระบาดโควิด

ภรณ์ทิพย์ สยมชัย เกษตรกร อ.วังสะพุง จ.เลย เบิกความว่า เมื่อประมาณปี 2549 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เข้ามาทำเหมืองแร่ทองคำที่บ้านนาหนองบง อยู่ใกล้บ้านและที่ดินทำกินของตน ซึ่งการทำเหมืองแร่ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในชุมชน มีสารโลหะหนักไหลลงแม่น้ำ มีการปนเปื้อนของแหล่งน้ำ น้ำบริเวณดังกล่าวไม่สามารถนำมาใช้อุปโภคหรือบริโภคได้

มีนักศึกษาและนักวิชาการเดินทางไปศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เป็นประจำ ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 กลุ่มราษฎรก็ได้จัดค่ายราษฎรออนทัวร์ มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ รวมทั้งวิถีชีวิตของคนในชุมชน ตนทราบว่ากลุ่มเป้าหมายของค่ายคือ เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่สนใจ ซึ่งตนมีหน้าที่ทำอาหารและเป็นวิทยากรให้ความรู้ 

ภรณ์ทิพย์ระบุว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เป้าหมายอยู่ในความสนใจของตำรวจอยู่แล้ว มีการตั้งด่านตรงทางเข้าออกหมู่บ้าน มีการตรวจค้นรถ ตรวจบัตรประชาชน รวมถึงตรวจคัดกรองโรค

นอกจากนี้บริเวณที่จัดค่ายราษฎรออนทัวร์เป็นทุ่งนาโล่งกว้าง ผู้จัดมีการคัดกรองโรคโดยตรวจ ATK แจกหน้ากากอนามัย แจกเจลแอลกอฮอล์ โดยมี อสม.เข้ามาช่วยด้วย โดยในระหว่างจัดกิจกรรมและภายหลังจัดกิจกรรมไม่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมหรือชาวบ้านติดเชื้อโควิด

.

จำเลยคาดหวังได้รับความยุติธรรม เสียเวลา-งงที่ถูกดำเนินคดี

ในบรรดานักกิจกรรม 21 รายที่รอฟังคำพิพากษา ได้แก่ ทั้ง อินทิรา เจริญปุระ, ปนัดดา ศิริมาศกูล, ทรงพล สนธิรักษ์, ปาริชาติ เลิศอัคระรัตน์, หรรษชีวิน เกศรินหอมหวล, วันชัย สุธงษา, เมยาวัฒน์ บึงมุม, นภาวดี พรหมหาราช, กิตติภูมิ ทะสา, ณพกิตติ์ มะโนชัย, เกรียงไกร จันกกผึ้ง, ขนุน (นามสมมติ), ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์, จตุพร สุสวดโม้, จิตริน พลาก้านตง, ชาติชาย แกดำ, ชาติชาย ไพรลิน, ณัชพล ไพรลิน, เกษราภรณ์ แซ่วี, วชิรวิชญ์ ลิมปิธนวงศ์ และปวริศ แย้มยิ่ง ระหว่างถูกดำเนินคดีส่วนใหญ่ต่างล้วนอยู่ในช่วงระหว่างเป็นนักศึกษาอยู่

ขนุน (นามสมมติ) ที่ขณะนั้นอายุ 18 ปี เป็นสมาชิกภาคีนักเรียน KKC ถูกดำเนินคดีเพียงเพราะไปติดตามสัมภาษณ์แซน นักเรียนที่ถูกคุกคาม โดยขณะนี้ขนุนศึกษาต่ออยู่ที่ประเทศไต้หวัน กล่าวถึงคดีที่ยืดเยื้อมานานโดยคาดหวังว่า ศาลจะยกฟ้อง เธอได้เล่าถึงเหตุการณ์โดยรวมและประสบการณ์การโดนคดีให้เพื่อนต่างชาติฟังที่งาน Milk Tea Alliance ซึ่งเป็นงานที่พูดถึงความหวังและการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ และยังเล่าให้เพื่อนสนิทฟังโดยทั่วไปถึงสถานการณ์การเมืองประเทศไทยที่ระบบยุติธรรมค่อนข้างเละเทะ ซึ่งเธอรู้สึกหดหู่ที่เรายังย่ำอยู่กับที่ไม่ไปไหน ในขณะที่ต้องใช้ชีวิตในประเทศที่พัฒนารุดหน้าไปกว่าประเทศนี้มาก เมื่อตั้งคำถามต่อการถูกดำเนินคดีว่าเธออยากได้อะไรกลับคืน ขนุนกล่าวว่า “เวลาค่ะ คดียืดเยื้อเหลือเกิน ตั้งแต่อายุ 18 ปี จนตอนนี้จะ 21 ปี เสียดายเวลามาก”

ทางด้านเกรียงไกร อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล เขต 3 จ.ชัยภูมิ ที่ถูกดำเนินคดีเพราะมาช่วยเก็บอุปกรณ์ชุมนุมที่หน้า สภ.ภูเขียว เล่าว่า วันนั้นทราบว่ามีการชุมนุมของกลุ่มราษฎรซึ่งไปจัดกิจกรรมที่เหมืองแร่เมืองเลยมา ตนอยู่ที่อำเภอคอนสาร ทำงานประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเหมือนกันเลยตามไปหน้า สภ.ภูเขียว ในช่วงเย็น เพราะอยากไปเยี่ยมนักกิจกรรม ถึง สภ.ภูเขียว ราวๆ 2-3 ทุ่ม เป็นช่วงกิจกรรมเสร็จสิ้นแล้ว ทางตำรวจชัยภูมิที่รู้จักกันโทรมาบอกว่า อาจมีการสลายชุมนุม ตนจึงไปช่วยเก็บของออกจากสถานีตำรวจ แล้วจึงกลับที่พัก เกรียงไกรเล่าอีกว่า เป็นคดีที่เขาตั้งคำถามกับตัวเองตลอดว่าโดนได้ไง และหวังว่าจะได้รับผลการตัดสินที่เป็นธรรมเช่นเดียวกับคนอื่นๆ

.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

หนัก!! ตำรวจดำเนินคดีผู้ชุมนุมแทบทุกราย ไม่เว้นนักเรียน-เยาวชน 15 ปี หลังชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว เรียกร้องตำรวจขอโทษ 

แจ้งข้อหาเพิ่ม 10 นักกิจกรรม กรณี #ชุมนุมราษฎรออนทัวร์ หน้า สภ.ภูเขียว ตร.เร่งรัดส่งสำนวนให้อัยการ

.

X