ศาลยกฟ้องทุกข้อหา คดี ม.110 “ขัดขวางขบวนเสด็จพระราชินี” ชี้ทุกฝ่ายเข้าใจคลาดเคลื่อนกัน – ตร.จัดการเส้นทางเสด็จไม่เรียบร้อยเอง

วันที่ 28 มิ.ย. 2566 เวลา 09.30 น. ศาลอาญา รัชาดาฯ นัดฟังคำพิพากษาในคดีของนักกิจกรรมและประชาชนรวม 5 ราย ได้แก่ เอกชัย หงส์กังวาน, “ฟรานซิส” บุญเกื้อหนุน เป้าทอง, “ตัน” สุรนาถ แป้นประเสริฐ และประชาชนอีก 2 คน ที่ถูกฟ้องในข้อหาประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110, ข้อหามั่วสุมกันโดยใช้กำลังประทุษร้ายทำให้เกิดการวุ่นวายในบ้านเมืองฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, กีดขวางทางสาธารณะ และกีดขวางการจราจร

คดีนี้มี ศรายุทธ สังวาลย์ทอง และ พ.ต.ท.พิทักษ์ ลาดล่าย เป็นผู้กล่าวหา มูลเหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 ระหว่างการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ของ “คณะราษฎร63” ราว 17.00 น. ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มหลักกำลังเคลื่อนขบวนจากบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทำเนียบรัฐบาล บริเวณถนนพิษณุโลก ด้านหน้าของทำเนียบรัฐบาล มีกลุ่มผู้ชุมนุมรวมตัวกันจำนวนหนึ่งเพื่อรอคอยขบวนใหญ่ที่กำลังเดินทางมา ได้เกิดเหตุที่ขบวนเสด็จของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ ผ่านเข้ามาในที่ชุมนุม ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้น จนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้ามากั้นแนวระหว่างผู้ชุมนุมและรถขบวนเสด็จ ก่อนขบวนจะผ่านไปได้ แต่ภายหลังมีผู้ถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์นี้จำนวน 5 คน

หลังจากอัยการสั่งฟ้องคดีเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2564 ต่อมาศาลอาญาได้นัดสืบพยานรวมทั้งหมด 16 นัด แยกเป็นพยานโจทก์ 13 นัด และพยานจำเลย 3 นัด ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2565 ถึงเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ก่อนนัดฟังคำพิพากษาเป็นวันนี้

วันนี้ ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 904 ตั้งแต่เวลาเช้ามีประชาชนให้ความสนใจเดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษาจำนวนประมาณ 20 คน ทั้งยังมีผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตประเทศเยอรมนี เบลเยียม และแคนาดา เดินทางมาสังเกตการณ์อีกด้วย เมื่อถึงเวลานัดหมาย 09.30 น. พบว่า ห้องพิจารณามีความหนาแน่นจนไม่สามารถรองรับประชาชนได้อีก ทำให้ประชาชน สื่อมวลชน และนักกิจกรรมจำนวนหนึ่ง ต้องยืนรออยู่บริเวณด้านหน้าห้องพิจารณาคดี

ศาลอ่านคำพิพากษาโดยสรุปความว่า จากการสืบพยานในคดีนี้รับฟังข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้ว พิเคราะห์ได้ว่า มีการประกาศกำหนดการว่า ในวันที่ 14 ต.ค. 2563 สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาและเจ้าฟ้าทีปังกรฯ จะเป็นตัวแทนพระมหากษัตริย์เสด็จไปถวายกฐินที่วัดราชโอรสารามและวัดอรุณราชวราราม แต่ไม่ได้มีการประกาศว่าจะใช้เส้นทางใดในการเสด็จไปและกลับ ซึ่งโดยปกติข้อมูลนี้จะเป็นความลับ จะไม่มีการประชาสัมพันธ์แจ้งเส้นทางที่ใช้เสด็จอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นเหตุผลเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย

ก่อนขบวนเสด็จของพระราชินีจะเคลื่อนผ่านบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ก็ไม่พบพยานหลักฐานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประกาศแจ้งเตือนให้กับผู้ชุมนุมได้รับทราบ อีกทั้งตลอดเส้นทางที่ขบวนเสด็จใช้ ก็ไม่พบองค์ประกอบของการเป็นเส้นทางขบวนเสด็จตามปกติด้วย เช่น พสกนิกรที่มายืนรอรับเสด็จ, สัญลักษณ์ธงประจำพระองค์, การวางกำลังรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ทุก 50 เมตร เป็นต้น ผู้ชุมนุมจึงไม่อาจรู้ได้เลยว่าขบวนเสด็จจะเคลื่อนผ่านขณะที่กำลังรวมกลุ่มทำกิจกรรมกันอยู่

ในวันเกิดเหตุคดีนี้ เมื่อขบวนเสด็จพระที่นั่งของพระราชินีจะเคลื่อนผ่านบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีกลุ่มผุ้ชุมนุมรวมตัวกันอยู่จำนวนหนึ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังจัดการความเรียบร้อยของเส้นทางและพื้นผิวถนนไม่แล้วเสร็จ โดยพบว่า บนท้องถนนยังมีรถยนต์จอดกีดขวางอยู่ ที่บนสะพานชมัยมรุเชฐมีรถตู้ที่ตำรวจใช้ขวางกั้นผู้ชุมนุมจอดกีดขวางอยู่ และมีเจ้าหน้าที่ คฝ. อยู่จำนวนมากในบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลดังกล่าว ซึ่งตามปกติเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องจัดการพื้นผิวถนนและเส้นทางให้โล่งก่อนที่ขบวนเสด็จจะเคลื่อนผ่าน อย่างน้อย 30 นาที

เมื่อรถพระที่นั่งของพระราชินีเคลื่อนมาถึงหน้าทำเนียบรัฐบาลที่มีผู้ชุมนุมยืนรวมกลุ่มกันอยู่ เหตุการณ์ก็ยังปกติ ไม่พบว่ามีผู้ใดเข้าขัดขวางขบวนเสด็จ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ คฝ. ตั้งแนวกำลังเข้าชักล้อมรถพระที่นั่ง   ทำให้ผู้ชุมนุมเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามจะสลายการชุมนุม ผู้ชุมนุมจึงประท้วงด้วยการแสดงออกชู 3 นิ้ว และตะโกนโวยวาย ซึ่งไม่ใช่การประท้วงต่อขบวนเสด็จของพระราชินีแต่อย่างใด

ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ยืนอยู่บริเวณด้านข้างของถนน ส่วนผู้ชุมนุมที่ยืนอยู่ด้านหน้าขบวนเสด็จมีอยู่ แต่มีจำนวนน้อยมาก โดยบางส่วนเป็นสื่อมวลชนที่พยายามทำการถ่ายรูปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่พบว่ามีผู้ใดเข้าไปกระทำการขัดขวางขบวนเสด็จ รวมถึงไม่มีผู้ใดขว้างปาสิ่งของใส่ขบวนเสด็จ แต่ทำให้ขบวนเสด็จของราชินีเคลื่อนตัวล่าช้าลง โดยขบวนเสด็จต้องใช้เวลาประมาณ 6 นาที และหากนับเฉพาะรถยนต์พระที่นั่งก็ใช้เวลาประมาณ 4 นาที จึงจะสามารถผ่านจุดที่มีผู้ชุมนุมอยู่ไปได้

ศาลเห็นว่า เหตุการณ์ข้างต้นนั้นเกิดขึ้นจากการที่ทุกฝ่ายเข้าใจคลาดเคลื่อนกัน การรับรู้ของผู้อยู่ในเหตุการณ์แต่ละคนไม่เท่ากัน แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ คฝ. ในแถวที่กำลังทำหน้าที่อยู่ในที่เกิดเหตุก็เพิ่งทราบว่าจะมีขบวนเสด็จเคลื่อนผ่านเมื่อขบวนเสด็จใกล้ถึงจุดเกิดเหตุแล้ว ทั้งยังไม่ทราบว่าเป็นขบวนเสด็จของพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดด้วย 

โดยเมื่อผู้ชุมนุมทราบแล้วว่าขบวนรถดังกล่าวเป็นขบวนเสด็จของพระบรมวงศานุวงศ์ก็ได้ล่าถอยไป จากนั้นสถานการณ์จึงได้คลี่คลายในเวลาต่อมา 

เมื่อพิจารณาหลักฐานทั้งสองฝ่าย ขณะที่ขบวนเสด็จเดินทางไปวัด ไม่มีการประกาศเส้นทาง ก่อนขบวนเสด็จมาถึงตำรวจยังจัดการไม่เรียบร้อย มีรถบัส 4 คัน รถตู้ควบคุมฝูงชน 12 คัน ไม่มีสัญลักษณ์สื่อว่าเป็นเส้นทางเสด็จ และไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่ามีการประกาศเส้นทาง ประกอบกับเมื่อพิจารณาภาพถ่ายของพยานโจทก์ที่ถ่ายจากมุมในแนวระนาบก็ไม่สามารถมองข้ามแนว คฝ. เห็นขบวนเสด็จด้านหลังได้ พยานหลักฐานรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งห้าเจตนาขัดขวางขบวนเสด็จ

จำเลยทั้งห้าจึงไม่มีความผิดฐาน “ประทุษร้ายเสรีภาพราชีนี” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และ “มั่วสุมกันโดยใช้กำลังประทุษร้ายทำให้เกิดการวุ่นวายในบ้านเมืองฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215

ส่วนความผิดฐาน “กีดขวางทางสาธารณะ” และ “กีดขวางการจราจร” นั้น ศาลเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จอดรถตู้กีดขวางถนนเพื่อกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในพื้นที่ทำเนียบรัฐบาลอยู่แล้ว ฉะนั้นเมื่อตำรวจเป็นผู้กีดขวางทางสาธารณะและการจราจรเสียเอง จำเลยทั้งห้าจึงไม่มีความผิดฐานกีดขวางทางสาธารณะและกีดขวางการจราจร ให้ยกฟ้องทุกข้อหา

หลังศาลอ่านคำพิพากษาแล้วเสร็จ บุญเกื้อหนุนและเอกชัยได้ลุกขึ้นแถลงขอบคุณศาลที่ให้ความเป็นธรรม บุญเกื้อหนุนระบุว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้เราเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสลายการชุมนุม จึงได้แสดงออกชู 3 นิ้วและตะโกนประท้วง แต่ขอขอบคุณศาลที่วันนี้ได้อำนวยความยุติธรรมให้กับพวกเรา 

ส่วนเอกชัยกล่าวว่า ตนเองนั้นถูกดำเนินคดีทางการเมืองหลายคดีด้วยกัน ก่อนหน้านี้มีประชาชนตั้งข้อสงสัยและเคลือบแคลงในการทำหน้าที่ของศาลว่ามีเป็นกลางจริงหรือไม่ แต่วันนี้ศาลได้มอบความยุติธรรมให้แล้ว เชื่อว่าศาลจะเป็นที่พึ่งของประชาชนคนอื่นๆ ต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ ในชั้นสอบสวน ศาลอาญามีการออกหมายจับจำเลยที่ 1-3 ตามคำร้องของตำรวจ ทำให้กรณีของเอกชัยถูกตำรวจขอฝากขังและถูกคุมขังในเรือนจำอยู่รวมระยะเวลา 18 วัน ขณะที่สุรนาถถูกคุมขังอยู่รวม 13 วัน ทั้งยังถูกนำตัวไปแยกขังเดี่ยวที่เรือนจำบางขวางอีกด้วย ส่วนบุญเกี้อหนุนได้รับการประกันตัวโดยไม่ถูกคุมขัง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

บันทึกสืบพยานคดีประวัติศาสตร์ “ขัดขวางขบวนเสด็จพระราชินี” ม.110 สู่วันฟังคำพิพากษา

เปิดคำฟ้องคดี ม.110 “ประทุษร้ายเสรีภาพพระราชินี” ก่อนศาลอาญาอนุญาตให้ประกันตัว 5 จำเลย

X